ระบบ'เพื่อนช่วยเพื่อน'? ตั้งสนช.เป็นป.ป.ช.ส่อขัดรธน.


เพิ่มเพื่อน    

       

      “ส.ว.มีไว้ทำไม” ถูกนำมาพูดถึงอีกหลายครั้ง หลังถูก ส.ส.ฝ่ายค้าน และสังคมภายนอกออก ออกมาตั้งคำถามหลังทำงานมาเป็นเวลา 1 ปี พร้อมดูแคลนว่ามีหน้าที่ลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เท่านั้น ท่ามกลางข้อกล่าวหาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ “บิ๊กตู่” สืบทอดอำนาจถูกต้องตามกฎหมายได้สำเร็จ

        ล่าสุดการใช้อำนาจของ วุฒิสภา ร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมท้าทายหลักกฎหมายขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ หลังได้ลงมติเห็นชอบให้ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ในการประชุมลับเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปี 2561

        เนื่องจาก นายสุชาติ (ขณะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์) เคยได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 และพ้นจากตำแหน่ง สนช.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 นับถึงปัจจุบันพ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปี เท่ากับพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี อันเป็นการขัดต่อลักษณะต้องห้ามที่กฎหมายบัญญัติ

        ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 11 (18) บัญญัติว่ากรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่มีลักษณะต้อง ห้ามดังนี้ “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา”  ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

        และที่สำคัญ รธน.2560 มาตรา 263 บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตาม รธน.นี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตาม รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รธน.นี้ ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับ ตามบทบัญญัติแห่ง รธน.นี้ และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตาม รธน.นี้”

        อนึ่ง ในการประชุมลับของวุฒิสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. 2 คน ได้แก่ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อดีตผู้ตรวจอัยการและอัยการอาวุโส ได้ 224 คะแนน และ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข  อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ ได้ 219 คะแนน แต่กรณีนายณัฐจักรไม่ขัดต่อลักษณะต้องห้าม 

        ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาตามมาจนเกิดเป็น “วิกฤติวุฒิสภา” ประธานวุฒิสภาควรระงับหรือชะลอการทูลเกล้าฯ รายชื่อนายสุชาติไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติที่สังคมยอมรับได้

        ด้านแหล่งข่าวจากรัฐสภากล่าวว่า หลังจากวุฒิสภาลงมติเห็นชอบนายสุชาติและนายณัฐจักรเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ผ่านไป 3 วัน ในวันที่ 29 พฤษภาคม กรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ได้ประชุมและพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครเป็น กสม. 36 คน ปรากฏว่าได้ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ให้ตัดออกไป 2 คน ได้แก่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หรือ “บิ๊กแป๊ะ” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม เพราะเคยเป็น สนช.จากการแต่งตั้งของ คสช. และพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี  

        โดยเฉพาะในรายของ พล.อ.นิพัทธ์ นั้น คณะกรรมการสรรหาเคยเพิกถอนสิทธิการเป็นผู้สมัคร กสม.มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อกลางปีที่แล้ว ด้วยมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว แต่ก็ยังมาสมัครอีก อาจเห็นว่านายสุชาติซึ่งเคยเป็น สนช.มาด้วยกัน ยังผ่านการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.มาได้

        แหล่งข่าวกล่าวว่า กรรมการสรรหา กสม.ได้อภิปรายแสดงความเห็นยืนยันต้องตัดชื่อ พล.อ.นิพัทธ์ และ น.ส.จินตนันท์ออกไป เพราะมีลักษณะต้องห้าม ขัดต่อ รธน.และกฎหมายประกอบ รธน.ว่าด้วย กสม. ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 10 (18) ด้วยถ้อยคำเดียวกันกับกฎหมายประกอบ รธน.ว่าด้วยป.ป.ช. แม้ว่าวุฒิสภาเพิ่งลงมติเห็นชอบเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาให้นายสุชาติเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ถือว่ากรณีนี้เป็นเรื่องหลักการ ความเป็นอิสระ ไม่ฝักใฝ่การเมืองเป็นคุณสมบัติสำคัญ การเป็น สนช.ปฏิเสธไม่ได้ว่า คสช.แต่งตั้ง และปัจจุบันคนใน คสช.และ สนช.มาดำรงตำแหน่งเป็นคณะรัฐมนตรี เป็น ส.ว.  หากคนเหล่านี้มาเป็นกรรมการองค์กรอิสระอาจปกป้องช่วยเหลือกันเอง การยืมนาฬิกาเพื่อนราคาแพงลิบลิ่วเกือบ 30 เรือนมาใส่ตั้งนานยังไม่มีความผิด เป็นกรณีตัวอย่างที่สังคมเห็นๆ กันอยู่

        บทบัญญัติของ รธน.ก็ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า สนช.เปรียบได้กับ ส.ส. ส.ว. ทำหน้าที่ในนาม ส.ส. ส.ว.ในกฎหมายประกอบ รธน. ก็ห้าม สนช.ไปเป็นกรรมการ ป.ป.ช. กสม. แต่ทำไมวุฒิสภาจึงลงมติเลือกอดีต สนช.ไปเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และหาก สนช. 2 คนที่ลงสมัครเป็น กสม.ผ่านคณะกรรมการสรรหาไปได้ รับรองได้เลยว่า ส.ว.ต้องลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นทหารและเคยเป็น สนช.มาแล้ว เรียกว่าพวกกันทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นเอ็นจีโอ หรือเป็นสื่อมวลชน วุฒิสภาชุดนี้จะลงมติคว่ำสถานเดียว

        ด้าน นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 60 (กรธ.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 263 ให้อำนาจ สนช.ทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว. ทั้งนี้หากตีความ สนช.เป็น ส.ส.และ ส.ว.ด้วย ก็จะเข้าลักษณะต้องห้ามตาม รธน. มาตรา 216 ประกอบ 202 (4) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองในระยะเวลา 10 ปี ไม่สามารถเป็นองค์กรอิสระได้ แต่หากตีความมาตรา 263 ว่า สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.เฉยๆ ไม่ถือว่าเป็น ส.ส.และ ส.ว.นั้น ก็ไม่เข้าลักษณะต้องห้าม

        ทั้งนี้ ในความเห็นของตัวเองคิดว่า สนช.ทำหน้าที่เหมือน  ส.ส.และ ส.ว. มีสวัสดิการเงินเดือนเทียบเท่าทุกอย่าง และอีกด้านหนึ่งก็เป็นข้าราชการการเมืองอีกด้วย จึงถือว่าผู้ที่เคยเป็น สนช.ยังไม่พ้นระยะเวลา 10 ปี ไม่สามารถเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้ เพราะหากไม่เข้าช่อง ส.ส.หรือ ส.ว. ก็ไม่พ้นข้าราชการการเมืองอยู่ดี และสุดท้ายหากสังคมยังไม่คลายความสงสัยอาจต้องมีการยื่นตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

      "ถือว่าเป็นเรื่องน่าคิด เพราะรัฐธรรมนูญ 60 เปิดโอกาสให้คนเป็น สนช.สามารถเป็นวุฒิสภาได้ และสุดท้ายก็มี สนช.ได้เป็นวุฒิสภาจำนวนมาก และต่อมามี อดีต สนช.มาลงสมัครองค์กรอิสระ และสุดท้ายมีมติได้รับเลือก ก็แสมือนกับเพื่อนช่วยเพื่อน ถือว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ แม้สุดท้ายอาจไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องน่าวิเคราะห์ต่อไปว่าเหมาะสมหรือไม่"  อดีตที่ปรึกษา กรธ.ให้ความเห็นปิดท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"