งานศิลป์ส่งต่อพลังบวก เยียวยาทั้งผู้ให้และผู้รับ


เพิ่มเพื่อน    

"รอยยิ้มใต้หน้ากาก” โดยศิลปิน คณิต ปัญญา

 

 

     แม้กลุ่มศิลปินอิสระจะเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากเป็นอาชีพที่ไม่มีที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง ไม่มีสถานที่จัดแสดงผลงานและทำกิจกรรมด้านศิลปะ แกลลอรีปิดจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดก่อนหน้านี้ ทำให้ขาดรายได้ ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง แต่ก็น่าปลื้มศิลปินอิสระหลายกลุ่มมีน้ำใจใช้งานศิลปะส่งพลังสู่นักรบชุดขาวที่ทำงานหนักมาตลอด 3-4 เดือนนี้

      อย่างเช่นเครือข่ายศิลปินภาคเหนือรวมพลังเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจำนวน 63 ภาพ เพื่อถ่ายทอดความคิดต่อเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 พร้อมกับส่งกำลังใจให้ทีมแพทย์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข “หยุดเชื้ออยู่บ้าน สร้างงานศิลป์เพื่อแผ่นดิน สู้วิกฤตโควิด-19” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ซึ่งเวลานี้ศิลปิน 63 คน ตามจำนวนปี พ.ศ.2563 ที่เกิดโรคอุบัติใหม่ ได้รับเฟรมผ้าใบนำกลับไปสร้างงานศิลปะร่วมสมัยที่บ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หวังใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงขับดันสังคมก้าวผ่านวิกฤติ  ส่งพลังแห่งความสุขให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทุกหน่วยรวมถึงผู้ป่วยโควิด–19 ในโรงพยาบาลศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด–19 ในภาคเหนือ อีกทั้งเป็นการเพิ่มพลังบวกให้แก่สังคมไทย ศิลปินใช้เทคนิคตามความเชี่ยวชาญสร้างงานเท่ากับปีที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  

 

ผลงานศิลปะมีแรงบันดาลใจจากโควิด-19

 

      รศ.ลิปิกร มาแก้ว ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และผู้อำนวยการเฮินศิลป์ใจ๋ยอง กล่าวถึงที่มาว่า สถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลมีนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ส่งผลกระทบกับศิลปินอิสระมาก ขณะที่กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษาจบการศึกษาในช่วงโควิด-19 หลายคนตกงานทันที ประกอบกับกลุ่มอาจารย์ในสถาบันการศึกษาทำการสำรวจผลกระทบศิลปินจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดผ่านระบบออนไลน์  พบปัญหากลุ่มศิลปินอิสระและต้องการความช่วยเหลือ นำมาสู่กิจกรรมสร้างงานศิลปะนี้ เพื่อสนับสนุนเหล่าศิลปินอิสระ และส่งพลังแห่งความสุขให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทุกหน่วย รวมถึงผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิดในภาคเหนือ

      ศิลปินล้านนา มองว่า ในสถานการณ์โควิด-19 เราเห็นโอกาสของคนที่จะเป็นผู้ให้และผู้รับ อีกสิ่งที่สำคัญ โควิดเป็นแรงบันดาลใจของศิลปินในการบันทึกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเล่าแง่บวกส่งต่อความหวังและพลังใจ เขียนเรื่องราวความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การดูแลซึ่งกันและกัน การแบ่งปัน แม้กระทั่งวิถีชีวิตในยุคสมัยนี้ เราให้เวลาศิลปินทำงาน เปิดกว้างทุกเทคนิคตามความถนัด ก่อนรวบรวมชิ้นงานจัดทำสูจิบัตรออนไลน์ และกลางเดือนกรกฎาคมนี้จะแสดงผลงานที่เฮินศิลป์ใจ๋ยอง แหล่งเรียนรู้ศิลปะร่วมสมัย ก่อนจะมีพิธีมอบผลงาน 63 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมราชมงคลล้านนา มทร.ล้านนา ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ มี 4 แห่ง ได้แก่ รพ.มหาราช, รพ.สันกำแพง, รพ.นครพิงค์ และ รพ.ประสาทเชียงใหม่ ส่วน จ.ลำพูน 1 แห่ง และ จ.ลำปาง 1 แห่ง ตลอดจนการเผยแพร่ผ่านออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และเพจของกลุ่มศิลปิน  วิกฤติยังเป็นโอกาสให้เครือข่ายศิลปินรวมตัวเข้มแข็ง เช่น ขัวศิลปะ จ.เชียงราย, เชียงใหม่อาร์ตนิว เป็นต้น

 

."เราจะผ่านไปด้วยกัน” ผลงาน มานพ สีละแปง ชวน  ปชช.ส่งต่อกำลังใจในชิ้นงาน

 

      ส่วนศิลปินหน้าใหม่ที่ร่วมสร้างงานศิลป์ให้สถานพยาบาล ผู้อำนวยการเฮินศิลป์ใจ๋ยองกล่าวว่า เป็นการหนุนบัณฑิตใหม่ ทำให้มีเวทีสร้างงาน และการเสนอผ่านสื่อออนไลน์จะส่งต่อไปยังทั่วโลก ทุกวันนี้จะเห็นว่า หอศิลป์ต่างๆ เชิญชวนศิลปินร่วมแสดงนิทรรศการศิลปะออนไลน์ เป็นการปรับเปลี่ยนตามสภาวการณ์

     อย่างไรก็ตาม  การเสพงานทัศนศิลป์หากมองด้วยตาจะสัมผัสถึงความสุนทรีย์ แต่นิทรรศการออนไลน์ถือเป็นประตูเปิดให้เราเข้าไปศึกษาหรือทำความรู้จักก่อน หลังจากโรคระบาดสงบลง  ศิลปินยังสร้างสรรค์งานศิลปะต่อไป แต่การใช้ชีวิตปรับเข้าสู่นิวนอร์มอล หันมาเสนอผลงานผ่านสื่อดิจิตอล ส่วนกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานศิลป์ภาคเหนือ เชื่อว่าจะกลับมาคึกคัก ขัวศิลปะเชียงราย มี อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นหัวเรือใหญ่ อีกฟากเชียงใหม่อาร์ตมิวเซียม ซึ่งมีพื้นที่กว่า 50 ไร่ มีทั้งสตูดิโอของศิลปินและพื้นที่ส่วนกลางแสดงงานศิลป์ โดยระดมเงินก่อสร้างผ่านการประมูลงานศิลปะ

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"