สภาสูงทำงานด่วนจี๋เคาะ พ.ร.ก. 3 ฉบับภายในวันเดียว “พรเพชร” แบะท่าไม่เอา กมธ.ส.ว. แต่บรรดาสมาชิกแนะต้องมี “คำนูณ” ชี้มี 2 กรรมการกลั่นกรองส่อหมิ่นเหม่ขัดกฎหมาย “พปชร.” หมดแรงต้านพลิกให้ตั้งกรรมาธิการตรวจสอบแล้ว สุดอึ้ง! รองหัวหน้าก้าวไกลอภิปรายเรื่องใช้เงิน 80 ล้านบาทซื้อตัว ส.ส.ผ่านพระราชกำหนดแค่ฟังข่าวเมาธ์มอยมาไม่มีหลักฐาน สภาวางไทม์ไลน์ 4 มิ.ย. ถกกฎหมายโอนงบ 8 หมื่นล้าน
เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ได้นัดพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563, พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และ 3.พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเสร็จแล้ว
โดยก่อนประชุม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า วุฒิสภาวางกรอบการอภิปราย พ.ร.ก.ไว้ 2 วัน โดยวันแรกจะพิจารณาทั้ง 3 ฉบับ โดยมี ส.ว.ขอใช้สิทธิอภิปราย 48 คน รวมเวลาประมาณ 9 ชั่วโมง จากนั้นจะลงมติทีละฉบับ ส่วนในวันที่ 2 จะพิจารณา พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเที่ยง
“การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อตรวจสอบการใช้เงินตาม พ.ร.ก.นั้น ต้องรอการอภิปรายของ ส.ว.ก่อน แต่คิดว่ารัฐบาลดำเนินการตรวจสอบตามกลไกของรัฐบาล ขณะเดียวกันได้รับทราบมาว่าสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาตั้งคณะ กมธ.วิสามัญเช่นกัน” นายพรเพชรกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. วุฒิสภาได้เปิดประชุมเรื่องดังกล่าว โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเสนอหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุม และมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มาร่วมรับฟังด้วย
ต่อมานายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า เข้าใจว่าในการแก้ไขปัญหานั้น ในรัฐธรรมนูญให้อำนาจฝ่ายบริหารออก พ.ร.ก. ซึ่งไม่ได้ติดใจ แต่ห่วงใยเรื่องความโปร่งใสที่จะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนได้รู้ว่าเป็นการทำเพื่อส่วนรวม จึงอยากเสนอว่าหากกระทรวงการคลังจะมารายงานต่อสภาต้องมีรายละเอียดของการใช้เงินกู้ด้วย เพราะหากรัฐบาลเปิดเผยความชัดเจน จะทำให้เกิดความเบาใจว่ารัฐบาลได้ใช้เงินตามความจำเป็น ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เชื่อว่าคนจะไม่กล้าทำผิดและฉวยโอกาสหาประโยชน์
“การตั้ง กมธ.วิสามัญของสภาอาจยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ เพราะฝ่ายที่เข้าไปตรวจสอบก็มี ส.ส.รัฐบาลด้วย ดังนั้นเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของ ส.ว.เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ โดยให้คณะ กมธ.ของ ส.ว.เข้ามาตรวจสอบเพื่อช่วยรัฐบาล”
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายถึงคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากส่วนราชการ ส่วนที่เหลือจะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้นเพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกลั่นกรอง ผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเป็นกรรมการควรมาจากภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ส่วนกรณีปัญหาเกี่ยวกับความโปร่งใสของการใช้จ่ายเงินกู้นั้น ต้องยึดหลักการ 3 ประการ 1.หลักการเศรษฐกิจพอเพียง 2.หลักการความโปร่งใส คุ้มค่าและตรวจสอบได้ 3.หลักการให้ประชาชนร่วมตรวจสอบและกลั่นกรองแผนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ชี้2กรรมการขัดคุณสมบัติ
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.อภิปรายว่าถึง พ.ร.ก.หุ้นกู้ที่มีอายุ 5 ปีว่า มีคำถามที่สำคัญ คือขณะนี้มีปัญหากับผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ได้แก่คนที่ 1 เป็นอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อปี 2562 แม้พระราชกำหนดจะไม่ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามเอาไว้ แต่ พ.ร.ก.นี้จะไปยกเว้นลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.ยังพ้นจากตำแหน่งไม่ครบ 2 ปีเต็ม ซึ่งมาตรา 22/1, 22/2 และ 267/1 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ว่าด้วยการกำหนดให้ภายใน 2 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการจะประกอบธุรกิจไม่ได้ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รมว.การคลังในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย มั่นใจหรือไม่ว่าได้ทำถูกกฎหมายแล้ว ซึ่งเคยมีกรณีเทียบเคียงมาแล้วจากกรณีบอร์ดการบินไทยคนหนึ่งได้ลาออกจากตำแหน่ง เพราะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีมาไม่ถึง 2 ปี
“คนที่ 2 เป็นกรรมการกำกับตลาดทุนตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้กรรมการกำกับตลาดทุนต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการในธุรกิจหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นเรื่องนี้สมควรคลายปมสงสัย ถ้ารัฐบาลมั่นใจว่าไม่ขัดต่อกฎหมายต้องตอบคำถามนี้ เพราะมิเช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการดำเนินการต่อไปของคณะกรรมการกำกับกองทุน และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงขอทักท้วงเอาไว้”
นายคำนูณยังกล่าวถึงผู้ทรงคุณวุฒิใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่าอยากเสนอเพื่อสร้างความมั่นใจ โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แต่งตั้งบุคคลจากภาคประชาชนที่ทำงานต่อต้านทุจริตและเศรษฐกิจชุมชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพราะจุดอ่อนที่สำคัญของกฎหมายกู้เงิน คือ เป็นการกู้เงินนอกงบประมาณและจ่ายเงินตามกระบวนการที่รัฐบาลออกระเบียบ ซึ่งไม่ได้ผ่านนิติบัญญัติตามหลักการใช้จ่ายเงินแผ่นดินตามระบบงบประมาณปกติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจ รัฐบาลจะต้องตั้งภาคประชาชนเข้ามา และเห็นด้วยกับการให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและเสนอแนะมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
ขณะที่นายอุตตมกล่าวถึงการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของการใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ว่าจะไม่ล่าช้า เพราะหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมโครงการตามกรอบที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดไว้ และต้องส่งแผนโครงการกลับมาที่คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
ทั้งนี้ สำหรับการลงมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ดังกล่าวของวุฒิสภา จะมีขึ้นในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะพิจารณา พ.ร.ก.ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 อีก 1 ฉบับต่อไป
พปชร.ไฟเขียวตั้ง กมธ.
ด้านความคืบหน้าของการตั้ง กมธ.ตรวจสอบการใช้เงินในส่วนของ ส.ส.นั้น ล่าสุด นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า จะหารือในที่ประชุมวิปครั้งหน้า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้ตั้ง กมธ.ชุดนี้ หลังจาก 2 พรรคได้ยื่นญัตติไปแล้วคือ ภูมิใจไทย (ภท.) กับประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรค พปชร.ก็ไม่ขัดข้อง ส่วนที่ให้สัมภาษณ์คัดค้านก่อนหน้านี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น โดยเชื่อว่าจะตั้ง กมธ.ได้ในวันที่ 10 หรือ 11 มิ.ย. คงไม่ทันในการประชุมสภาสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีวาระที่ต้องพิจารณาเรื่องด่วนของรัฐบาลคือ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาทก่อน และยืนยันว่าไม่มีปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากการลงมติที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเสียงของรัฐบาลก็มีความเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งไม่เชื่อว่าจะเกิดปัญหาภายในจนทำให้รัฐบาลระส่ำระสาย
ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงภาพรวมการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงินว่า ประชาชนที่ติดตามการอภิปรายจะเห็นว่า ส.ส.พรรค พท.และพรรคร่วมฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้อย่างดี ในขณะที่รัฐบาลไม่มีรายละเอียด แม้ ส.ส.รัฐบาลจะลุกขึ้นมาช่วยก็มีข้อจำกัด สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้คือ รัฐบาลจะฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจที่จีดีพีมีโอกาสติดลบ 6-9% คนตกงาน 10 ล้านคนอย่างไร เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลสารภาพว่าไม่เก่งเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ตัดพ้อว่าเบื่อเต็มทน ซึ่งหนี้เงินกู้ ภาระคนทั้งชาติ รัฐบาลผิดพลาดเศรษฐกิจ แต่โยนโควิดรับบาป จบอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ต้องส่งคำตอบว่าต่อจากนี้จะตัดสินใจโดยยึดเอาผลประโยชน์ของใครเป็นสำคัญ ถ้าเลือกเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ เมื่อรู้ตัวว่าไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการฟื้นฟูเยียวยาแก้ไขเศรษฐกิจได้ ต้องลาออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน
นายการุณ โหสกุล ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรค พท. กล่าวว่า ในการประชุมสภาที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านได้ท้วงติง และมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการใช้เงินกู้จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลไม่ตั้งใจฟัง การพิจารณาจึงเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น รวมทั้งยังไม่มีรายละเอียดการใช้เงิน ไม่มีแผนงานรองรับ เชื่อขนมกินได้ว่าอาจแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และทำประเทศทรุดหนักกว่าเดิม ทางออกที่ดีที่สุดคือให้สภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนตั้ง กมธ.ติดตามและตรวจสอบการใช้เงินของประชาชน
รับแค่ฟังเขาเมาธ์มา
ขณะที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองหัวหน้าพรรค กล่าวถึงกรณีการออกมาแฉมีการแบ่งงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทให้ ส.ส. คนละ 80 ล้านบาท ว่าได้ยินมาเมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 พ.ค. โดยเป็นการพูดคุยระหว่าง ส.ส.ด้วยกัน ทั้งในพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลว่าจะมีการจัดสรรงบประมาณให้ 80 ล้านบาทสำหรับ ส.ส.แต่ละคน ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ไม่มี แต่มีมานานแล้วที่เรียกว่างบ ส.ส. ซึ่งเมื่อครั้งที่เป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ประเด็นนี้ก็มีเรื่องเข้าหูเหมือนกัน ในครั้งนั้นมีการพูดคุยในลักษณะนี้ว่ามีการแบ่งปันงบ ส.ส.ตัวเลขอยู่ที่ 20-30 ล้านบาท แต่ตอนนั้นเราทำอะไรไม่ได้ เพราะขณะนั้นพรรคอนาคตใหม่ไม่มีส่วนร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับงบ ส.ส.ดังกล่าว แต่ครั้งนี้เมื่อได้ยินก็คิดว่าจำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นพูดประเด็นนี้กลางสภา เพราะอย่างน้อยให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น
นายพิจารณ์กล่าวว่า จริงๆ แล้วงบลักษณะนี้เคยมีมาอยู่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเอาไว้ แต่สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการบัญญัติในมาตรา 144 ว่าการที่ ส.ส.จะผันงบลงพื้นที่ตนเองทำไม่ได้ ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมาย เมื่อมีงบลงไปแล้วทำให้ ส.ส.สามารถเลือกใช้ได้ว่าจะใช้อย่างไรกับโครงการไหน มีโอกาสสูงมากว่าโครงการที่ดีๆ มาจากหน่วยงานข้าราชการ และโครงการที่ตอบสนองท้องถิ่นจริงอาจไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ตรงกับผลประโยชน์นักการเมืองบางคนบางกลุ่มในท้องถิ่น โดยงบเหล่านี้จะไปถึงตัว ส.ส.โดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องพูด และ ส.ส.พรรคอื่นหลายคนก็อยากพูดตีแผ่ในเรื่องนี้ แต่พูดไม่ได้ เพราะเป็นการขัดผลประโยชน์กับเพื่อน ส.ส.ด้วยกัน
“แม้สิ่งที่ผมพูดไปจะไม่มีหลักฐาน แต่เชื่อว่าการที่ออกมาพูดลักษณะนี้ อย่างน้อยจะเป็นการป้องปรามหยุดยั้งสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น สำคัญที่สุดคือเราต้องตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อตรวจสอบเงินกู้เหล่านี้” นายพิจารณ์กล่าว
ถามต่อว่า หากสามารถสาวไปถึงตัวบุคคลได้ พรรคจะดำเนินการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนหรือไม่ นายพิจารณ์กล่าวว่า เราจะดำเนินการให้ถึงที่สุด แต่ตอนนี้ขอใช้กลไกจาก กมธ.วิสามัญก่อน จึงขอให้ประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ส่งข้อมูลมายังพรรค เรายินดีนำไปดำเนินการ
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “อย่าหนีการตรวจสอบ! ตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจใช้งบประมาณและมาตรการสู้โควิด ป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน-ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน” โดยมีเนื้อหาเรียกร้องให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล ร่วมสนับสนุนให้ตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติโควิด-19 จะเป็นบทพิสูจน์ความโปร่งใสของรัฐบาลชุดนี้ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งคงต้องขอความร่วมไม้ร่วมมือ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันลงมติให้เกิดขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากญัตติด่วนนี้ถูกตีตกไป ไม่มีการตั้งขึ้น ก็คงต้องขอเดาเอาไว้ก่อนเลยว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นแน่ๆ
4 มิ.ย.ถกโอนงบฯ
วันเดียวกัน ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ที่มีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน มีวาระพิจารณาเตรียมความพร้อมประชุมสภาในวันที่ 4 มิ.ย. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 พ.ศ.... วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง โดยเฉพาะกรณีที่องค์กรอิสระ ศาล รวมถึงรัฐสภาที่ไม่ถูกตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งผู้ชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า องค์กรอิสระที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว ถือว่าเป็นหน่วยงานอิสระที่สำนักงบประมาณไม่สามารถลดงบที่ได้รับจัดสรรระหว่างปีงบประมาณได้ เช่นเดียวกับเงินนอกงบประมาณ ก็ไม่สามารถเรียกคืนได้เช่นกัน ยกเว้นแต่งบประมาณที่ขอจัดสรรไม่ถูกนำไปใช้จ่ายหรือเบิกแล้วไม่ได้ใช้จริง และวิธีที่จะให้หน่วยงานส่งคืนเงินได้นอกจากสิ้นปีงบประมาณคือ ทำเรื่องว่าเป็นเงินเบิกเกินและส่งคืนได้
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กำหนดพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 4 มิ.ย. หากไม่แล้วเสร็จจะต่อเนื่องวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งการพิจารณาจะรับหลักการ และตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ โดยใช้เวลาพิจารณา 7 วัน ส่วนก่อนหน้านี้ที่วิปฝ่ายรัฐบาลต้องการเร่งพิจารณาและให้ตั้ง กมธ.เต็มสภานั้น ได้หารือและทำความเข้าใจแล้วว่า หากพรรคฝ่ายค้านไม่ยกมือให้กรณีเร่งรัด ด้วยตั้งกรรมาธิการเต็มสภาไม่สามารถเกิดขึ้นได้แน่นอน
ขณะที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิปรัฐบาลมีข้อสรุปเรื่องเวลาอภิปรายทั้งสิ้น 10 ชั่วโมง แบ่งเป็นของ ส.ส.ฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง และ ส.ส.รัฐบาลรวมกับ ครม. 4 ชั่วโมง และจะเริ่มพิจารณา วันที่ 4 มิ.ย. เวลา 09.30-20.00 น. โดยจะพิจารณารับหลักการในวันเดียวกัน จากนั้นให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ มีกรอบพิจารณา 7 วัน จากนั้นจะนำกลับเข้าสู่ที่ประชุมสภาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาวาระสองและวาระสามในวันที่ 11 มิ.ย.นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |