1 มิ.ย.63 - สำนักงานปลัดกระทรวงโหม จัดโครงการสัมมนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิ.ย. 2563 มีพล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ที่ห้องพินิตประชานารถ ในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมจัดที่นั่งเว้นระยะห่าง และให้กำลังพล”เช็คอิน-เช็คเอ้าท์” ผ่านเว็บไซต์ “ไทยชนะ” ก่อนเข้าห้องสัมมนา ทั้งนี้ได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจฯ
พันเอก วันชนะ สวัสดี วิทยากรจิตอาสา 904 กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “พระราชกรณียกิจ ด้านทหาร และ โครงการจิตอาสาพระราชทาน” กล่าวว่า การถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์นั้น บุคคลแวดล้อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะกองทัพ และ กำลังพลที่อยู่ในกองทัพ ต้องเข้มแข็ง มีระเบียบวินัย ไม่ทำตัวให้เสื่อม หรือ ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งไม่ดี เช่น ยาเสพติด อิทธิพลมืด ทุจริต เพราะการปฏิบัติตัวจะกระทบถึงพระองค์ด้วย โดยเฉพาะหน่วยในพระองค์แล้วยิ่งต้องตระหนักมากขึ้นไปอีก ในส่วนของสมเด็จพระราชินีฯ นั้น พระองค์ท่านทรงปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์อย่างมุ่งมั่นในการถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ ตั้งมั่นในการถวายรักษาความปลอดภัยด้วย ผ่านการฝึกฝนทางทหาร มีความเข้มแข็ง อดทน และมีวินัยอย่างยิ่ง
ในวันที่ 11พ.ค.2559 ซึ่งสมเด็จพระราชินีฯ ทรงทำหน้าที่ผู้บังคับกองผสมฯ ในการแสดงราชวัลลภเริงระบำ ต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ใช้เวลาการแสดง 48-50 นาที มีทั้งหมด 3 บทของการฝึก บางบทมี 6 กลุ่มท่า บางบทมี 7 กลุ่มท่า กลุ่มท่าต่างๆ ประกอบด้วย การแทรกขบวน มีทั้งท่านั่ง ทางยืน ท่าเดิน ซ้ายหัน ขวาหัน รวมถึงท่าแทรกขบวนขณะเคลื่อนที่ ท่าการใช้อาวุธในการแสดงความเคารพ ท่าเคลื่อนที่ทางการทหารโดยถือปืนไปด้วย ท่าตรวจอาวุธประจำหมวด ทั้งปืนกล ปืนเล็กยาว ปืนสั้น สิ่งที่เห็นทั้งหมด พระองค์ท่านได้ฝึกซ้อมอย่างหนักทุกวันด้วยมาตรฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ทหารด้วยกันจะรู้ความรู้สึกของการฝึกดีว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่ซ้อมจริง ทำออกมาแบบนี้ไม่ได้ มีหลายคนคิดว่าพระองค์ท่านไม่ได้ฝึกจริงจัง แล้วก็ได้ประกาศ ได้วุฒิบัตร ได้เข็มมา ทั้งที่ความจริงต้องฝึกหนัก และการฝึกเพื่อถวายความปลอดภัยนั้น เป็นไปตามมาตรฐานของในหลวงทั้งหมด “
พ.อ.วันชนะ กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงที่สมเด็จพระราชินี ทำหน้าที่ราชองครักษ์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงดำรงตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชฯ ในพิธีตอกหมุด และ ถวายธงชัยเฉลิมพล 63ธง ภาพที่เห็นคือทรงนั่งคุกเข่าอยู่ข้างพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ระยะเวลาที่กองทหารเข้ารับธงชัยเฉลิมพลฯ เฉลี่ยหน่วยละ 1 นาที รวม 63 หน่วย เท่ากับว่าต้องนั่งอยู่ประมาณ 1 ชม. ในแต่ละช่วงของการนั่ง จะมีการคุกเข่าสูงขึ้นมา รับธงชัยเฉลิมพลที่มีน้ำหนักพอสมควร และยื่นให้ในหลวง และก็ต้องนิ่ง นี่คือความอดทน และความมุ่งมั่นของพระองค์ ในการถวายความปลอดภัย และ ถวายพระเกียรติให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สำหรับประวัติของพระองค์นั้น การพระราชทานยศทางทหารไม่ได้มีการข้ามยศ หรือ รวดเร็วเกินไป เริ่มต้นจากการเป็นนายทหารยุทธการ และก่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับกองพันฯ ก็ต้องไปเรียนชั้นนายร้อยฯ ชั้นนายพันฯ หลักสูตร 3 เดือน ที่ศูนย์การทหารราบ จากนั้นเป็นขึ้นตามลำดับชั้นจาก ผู้บังคับกองพันฯ รองผู้บังคับการกรมฯ ขึ้นเป็น ผู้บังคับการกรมโรงเรียนทหารมหาดเล็กฯ จากนั้นเป็นฝ่ายเสนาธิการ และ ปี 2558 เป็นราชองครักษ์ ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา ได้เข้ารับการฝึกทางทหารหลายหลักสูตร หลังจากผ่านเคยผ่านหลักสูตรทหารมหาดเล็กฯ มาแล้ว ก็เข้ารับการอบรมหลักสูตรการยิงปืนพก รวมถึงหลักสูตรของทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ Jungle Warfare เหมือนกับหลักสูตรจู่โจมของกองทัพบก ผสมกับ หลักสูตรทหารเสือราชินี
นอกจากนั้น ยังผ่านหลักสูตรโดดร่มของศูนย์สงครามพิเศษ ของ ทบ. การโดดร่มของนาวิกโยธินที่โดดร่มลงทะเล ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้กระโดด การเทสต์ร่างกายต้องว่ายน้ำ 300 เมตร ซึ่งทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การทำหน้าที่ราชองครักษ์ในการถวายความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากนั้นยังผ่านหลักสูตรการบินในปี 2553-2555 โดยเป็นศิษย์การบินของโรงเรียนศูนย์การบินทหารบก เป็นศิษย์การบินโรงเรียนการบินกำแพงแสนกองทัพอากาศ และ สอบนักบินเครื่องบินพาณิชย์ได้ใบอนุญาตจากยุโรป
“นี่คือสมเด็จพระราชินีที่พวกเรารักจากพระอัจฉริยภาพ และ พระราชอัธยาศัย ความ ความอ่อนน้อมที่เป็นกันเอง จากรอยยิ้มที่พวกเราเห็นจากข่าวพระราชสำนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่พระองค์เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย”
ส่วนงานที่ได้รับมอบหมายคือ “โคกหนองนาโมเดล”ฟาร์มตัวอย่าง ในโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัยโควิด -19 ที่พระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ กับสมเด็จพระราชินีฯเป็นการสืบสาน รักษาต่อยอดจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 10 มีการจัดทำฟาร์มสาธิตขึ้นในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ( ร.11 รอ.) ซึ่งไม่ใช่แค่การขุดบ่อ เลี้ยงปลา ปลูกพืช ผัก แต่มีการออกแบบทางวิศวกรรม มีการปลูกพืชไม่เหมือนกัน แต่มีหลักการทางวิศวกรเช่นเดียวกัน ว่าขุดบ่อตรงไหน ขุดคลองไส้ไก่ให้น้ำไหลผ่านต้นไม้อะไรบ้าง แบ่งพื้นที่ปลูกพืชอย่างไร
โดยมีการกระจายไปทำในพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า เช่น น่าน เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าเมื่อทำไปแล้วจะเห็นความชุ่มชื้นของป่าคืนป่า และ เห็นผลผลิตใน 1-3 ปี คนที่ทำก็จะได้รายได้กลับเข้ามาสู่ตนเอง พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าปีที่5-6 จะได้รายได้ต่อปีเท่าไร เมื่อก่อนนี้ใช้แนวคิดพลังจอบเปลี่ยนโลก ลงแขกช่วยแรงกัน ด้วยแรงคน แต่ในปัจจุบันพระองค์ให้หน่วยทหารทั่วประเทศ ไปสนับสนุนในเรื่องเครื่องมือเจาะ ขุด ลงไปได้ ให้ขุดเลย ก็จะเป็นฟาร์มที่เกิดเร็วขึ้น เห็นผลดีขึ้น กุศโลบาย คือให้เกิดผลแห่งความสามัคคีของคนในชาติ โดยทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วย เราเห็นถึงค และเรื่องราวในอัจฉริยะภาพของท่านต่อไป
“หลังจากนี้พวกเราในฐานะทหารมีหน้าที่ 3 ประการ 1.เรียนรู้อย่างถ่องแท้ 2.นำสิ่งที่เรียนรู้ประชาสัมพันธ์ให้เกิดผล 3.บอกต่อถ่ายทอดต่อส่วนรวม เพื่อ รักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่กับสังคมไทยต่อไป การบรรยายให้เข้าใจในเหตุการณ์ในแต่ละยุคเป็นเรื่องที่ยาก ทหารอีก20 ปีข้างหน้าก็จะเปลี่ยนจากปัจจุบันนี้ ดังนั้นแนวความคิด บริบทสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เราพากเพียรอธิบายให้คนรุ่นหลังได้รู้บางครั้งต้องอาศัยวิธีการ เราจะอธิบายให้ลูกหลานให้ฟังแบบที่เป็นพวกเดียวกันรู้เรื่องคงไม่ได้ เพราะบริบทและสิ่งแวดล้อมของเขาต่างจากเรา จึงเป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องใช้อธิบายต่อไปให้คนรุ่นหลังฟัง” พ.อ.วันชนะกล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |