ข้อพิพาทเรื่อง โครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ มีความพยายามหาทางออกในเรื่องนี้ในส่วนของ ศาลยุติธรรม และ ฝ่ายรัฐบาล-ความมั่นคง ที่จะเกิดขึ้นในวันเดียวกันคือจันทร์ที่ 9 เม.ย.
ฝั่งแรก พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้นัดตัวแทนของศาลอุทธรณ์ภาค 5 และกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักเชิงดอยสุเทพมาคุยกันที่ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ โดยกองทัพภาคที่ 3 จะทำหน้าที่เป็นคนกลางเพื่อรับทราบทั้งท่าทีและข้อมูลจากปากทั้ง 2 ฝ่ายโดยตรง จากนั้นจะนำข้อมูลส่งไปให้พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช.เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป
อีกฟากหนึ่งจะมีการประชุม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) เพื่อหาทางออกโครงการดังกล่าวเช่นกัน หลังกระแสคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ตลอดจนนักอนุรักษ์ เอ็นจีโอยังมีต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลและทหารก็แสดงท่าทีอยากยุติเรื่อง โดยต้องการให้ปรับพื้นที่โครงการเอาไปใช้ในทางสาธารณประโยชน์
โดยคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมที่มี ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธาน ก.บ.ศ.โดยตำแหน่ง ได้นัดประชุมกันในช่วงเช้าเพื่อหารือว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป
หลัง สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการ ก.บ.ศ.โดยตำแหน่ง ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อสุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ทั้งหมดต้องให้ที่ประชุม ก.บ.ศ.ที่เปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรีของศาลชี้ขาดในวันที่ 9 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ ก.บ.ศ.ทำหน้าที่เสมือน ครม.ศาล เพราะหน้าที่หลักคือ บริหารงานทั้งหมดของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะ "งบประมาณ" ของศาลยุติธรรมทั่วประเทศในแต่ละปี รวมถึงหน้าที่อื่นๆ เช่น กำกับดูแลการบริหารราชการของสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจสั่งยับยั้งการบริหารราชการที่ไม่ถูกต้องได้
ปัจจุบัน ก.บ.ศ.มีกรรมการดังนี้ ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง และมีกรรมการบริหารศาลยุติธรรมชั้นศาลฎีกา คือ สู่บุญ วุฒิวงศ์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา, อาเล็ก จรรยาทรัพย์กิจ ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ชาติชาย กริชชาญชัย ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ส่วน ก.บ.ศ.ศาลอุทธรณ์มี นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ, สิทธิโชติ อินทรวิเศษ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3, เศกสิทธิ์ สุขใจ ประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์, ฉัตรชัย ไทรโชต ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
สำหรับ ก.บ.ศ.ศาลชั้นต้นมี ทัศน์พงษ์ เหล่ารักวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7, คมกริช วรรณไพบูลย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้, พรสักก์ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9, สุรพล กล่อมจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา และ ก.บ.ศ.ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ อดีตผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ, สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง, ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และมีสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง
รัฐบาล-คสช.-ศาลยุติธรรม จะมีทางออกเรื่องดังกล่าวอย่างไรเพื่อจบเรื่องโดยเร็ว และเป็นการจบโดยยึดหลักทั้งความถูกต้องตามกฎหมาย รัฐไม่เสียประโยชน์ ทุกฝ่ายพอใจ ต้องจับตา โดยเฉพาะท่าทีของ "ชีพ-ก.บ.ศ." ที่หากมีมติอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาคงไม่พ้นถูกวิจารณ์ตามมาแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |