คลายล็อกเฟส 3 ลดแรงกดดัน ต่อลมหายใจ-ผ่อนกระแสโควิด ด่านต่อไปโจทย์ใหญ่รัฐบาล “บิ๊กตู่”


เพิ่มเพื่อน    

"โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจึงมีทั้งเรื่องการจัดวางมาตรการให้สมดุล ระหว่างการควบคุมพฤติกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด กับความรู้สึกของคนที่ต้องถูกจำกัดกิจกรรมจนส่งผลกระทบต่อปากท้อง ยิ่งสถานการณ์ตามความเป็นจริงยังต้องใช้เวลาอีกยาวกว่าจะได้ข้อยุติ"

 

 

        ประเทศไทยผ่านสถานการณ์โควิด-19 กว่า 3 เดือนมาได้ด้วยการผสมผสานสูตรจากหลายประเทศที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาตรการรับมือเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม โดยคัดสรรจุดแข็งที่ประเทศต่างๆ มีและนำมาใช้ เพื่อให้คนไทยปลอดภัยจากโรคอุบัติใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยคำนึงถึงศักยภาพของระบบสาธารณสุข รวมถึงทรัพยากรในมือที่จะบริหารจัดการในภาวะของโรคที่ต้องทอดระยะเวลายาวเป็นปีจนกว่าสถานการณ์โลกจะเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนและยารักษาโรคได้แล้ว  

        เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ว่า แม้รัฐบาลจะได้รับความพึงพอใจในการรับมือกับโรคระบาดได้ดีพอควร แต่ถึงระยะเวลาหนึ่งย่อมมีกระแสเรียกร้องให้รัฐเลิกควบคุมกิจการ กิจกรรม ที่ส่งผลต่อการหาเลี้ยงชีพ และรายได้ของคนในสังคม เพราะหากยังอยู่ในสถานการณ์ที่คนยังออกไปประกอบอาชีพได้ไม่เต็มที่ ธุรกิจหลายสาขาอาจะต้องหยุดกิจการ ส่งผลต่อตัวเลขของคนตกงานอีกจำนวนมาก กลายเป็นลูกโซ่ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และสภาพสังคมที่ต้องเจอกับปัญหาด้านอื่นตามมา

        กลายเป็นปมที่รัฐต้องมาตามแก้ไขปัญหาที่สืบเนื่องจากโควิด-19 อีกมากมาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสภาพจิตจากสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก กลายเป็นความเครียดส่วนบุคคล และส่งต่อไปยังความขัดแย้งในครอบครัว ที่ทำงาน และชุมชน ทำให้เกิดคดีทางด้านอาชญากรรมเกิดขึ้นตามมา ไม่นับความคับแค้น อึดอัดในใจที่คิดไม่ตก แก้ไขไม่ได้ เกิดเป็นความเครียดสะสม นำไปสู่การใช้ความรุนแรงเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวและเริ่มก่อตัวมากขึ้นจากภาพข่าวรายวัน

       สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลคงประเมินแล้วว่าจะจัดไทม์ไลน์การคลายล็อกอย่างไร เพื่อไม่ให้คนในสังคมเกิดภาวะกดดันจากการที่รัฐควบคุมกิจการ-กิจกรรมมากเกินไป 

เดือนมิถุนายนนี้จึงเริ่มมีการผ่อนคลายในเฟส 3 ที่ก่อนหน้านี้กิจการบางอย่างเปิดแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำได้ทุกกิจกรรมก็สามารถเปิดให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งร้านทำผม และร้านนวด เลยไปถึงโรงภาพยนตร์ และอีก 2 สัปดาห์ก็คาดว่าจะมีการคลายล็อกในเฟสที่ 4 ที่มีการพิจารณาเปิดผับ บาร์ จะทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในสังคมเป็นเหมือนเดิมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

        นอกจากนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ยังมีมติให้ขยับเวลาเคอร์ฟิวให้ลดลงอีก 1 ชั่วโมง โดยลดช่วงเวลาเช้ามืดจากตี 4 เป็นตี 3 เนื่องจากผู้ค้าในตลาดต้องมีการรับสินค้าจากรถขนส่งเพื่อนำไปวางขายในตลาดในห้วงเวลาดังกล่าว การขยับเวลาจึงช่วยให้การทำการค้ามีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น และทำให้สภาพการค้าในตลาดกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม และคาดว่าในเฟส 4 ซึ่งเกี่ยวพันกับการเปิดผับ-บาร์ น่าจะอนุญาตให้เปิดบริการได้อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจกลางคืนได้เริ่มหายใจหายคอได้บ้าง

จากนั้นก็จะสู่เส้นแบ่งระหว่างเดินกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติคือต้นเดือนกรกฎาคมที่มีการเปิดโรงเรียน และเปิดน่านฟ้า-พรมแดน ให้มีการทำการเข้า-ออกในประเทศ โดยใช้กฎหมายปกติแทนการใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่น่าจะได้ประกาศยกเลิกในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ แต่อาจจะมีการคงมาตรการในการกักตัว และการคัดกรองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ที่แน่นอนว่าความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในระยะ 2 มีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

การยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องปล่อยอำนาจกฎหมายกว่า 40 ฉบับที่บังคับใช้ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ออกจากมือ ซึ่งระหว่างนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยมี พล.อ.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน น่าจะเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้กฎหมายปกติมาบังคับใช้ กำกับ ดูแล

สภาพปัญหาเศรษฐกิจถือว่าเป็นปมใหญ่ที่จะทำให้เกิดผลพวงต่อเนื่องไปอีกหลายปี แม้สถานการณ์ของโรคสงบแล้วในปีหน้า และจากการที่รัฐบาลใช้ แนวทางหมอ ในการตัดสินใจกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการพิสูจน์ แนวทางเศรษฐกิจ ในการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

        ความคาดหวังจากประตูบานแรกที่จะผ่านร่างพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ ที่มีความจำเป็นในการนำเม็ดเงินและสภาพคล่องในระบบไปสู่คนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังการแบ่งสรรปันส่วนระหว่างกลุ่มคนในสังคม

        ความแร้นแค้นนำมาซึ่งความอ่อนไหว และอาจนำไปสู่ ความคับแค้นใจ หากเงินเหล่านั้นบริหารแล้วไปกระจุกตัวอยู่ที่นายทุน คนรวย มากกว่าคนหาเช้ากินค่ำ ประกอบกับ ฝ่ายค้านคนรุ่นใหม่ที่มุ่งตรวจสอบในมุมการกระจายความเท่าเทียมให้กับคนในสังคมพร้อมที่จะนำไปขยายผล ประจานขยะใต้พรมที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์ของประเทศไทยอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว 

        ยังไม่นับประเด็นที่สังคมจับตามองคือ ปัญหาการบริหารเงินไม่ให้รั่วไหล หรือเกิดปัญหาเรื่องการทุจริต เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ทำให้รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือมากที่สุดคือ ข้อครหาจากการกระทำของพวกพ้อง คนใกล้ชิดที่แอบอ้าง เข้าไปพัวพันกับค่าหัวคิว และผลประโยชน์ส่วนเกินจากมาตรการการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้ากากอนามัย หรือการเลือก State Quarantine

        “โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล” จึงมีทั้งเรื่องการจัดวางมาตรการให้สมดุล ระหว่างการควบคุมพฤติกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด กับความรู้สึกของคนที่ต้องถูกจำกัดกิจกรรมจนส่งผลกระทบต่อปากท้อง ยิ่งสถานการณ์ตามความเป็นจริงยังต้องใช้เวลาอีกยาวกว่าจะได้ข้อยุติ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาดในระลอกที่ 2 เช่นหลายประเทศ

แต่ไทยก็คงใช้สูตรการระบาดในระลอกที่ 2 มาเตรียมไว้ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของเรารองรับได้ทัน รวมถึงการเตรียมพร้อมที่จะกลับมาใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้ง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอกย้ำคำแนะนำ คำเตือน และสมมุติฐานสถานการณ์โควิด-19 มาตลอด โดยกล่าวว่ามาตรการในการป้องกันการเดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องไม่ให้มีรูรั่ว หรือถ้าจะลอดมาแล้วต้องหาให้เจอ การค้นหาสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นเรื่องยากพอสมควรอย่างที่เคยบอก เราวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร แล้วถึงเส้นชัย

“ขณะนี้วิ่งมาเพียงไม่กี่กิโลเมตร ทางยังอีกยาวไกล การผ่อนปรนเพื่อให้มีทางหายใจ ก็มีความจำเป็น ไม่เช่นนั้นก็จะวิ่งไม่ถึงจุดหมาย สิ่งสำคัญจะต้องอยู่บนจุดสมดุล ไม่ให้เกิดโรคจำนวนมากหรือการระบาดขึ้น และทุกคนมีทางหายใจได้ เพื่อให้ถึงเป้าหมายในระยะทางอีกไกล การจะเกิดรอบสองหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันอย่างเต็มที่เต็ม 100% หนทางต่อไปนี้จะหนักหนากว่ารอบแรกแน่นอน” หมอยงระบุ

        เหตุปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ของไทยอยู่ในระดับที่ดีมีปัจจัยจากหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือของคนในสังคม ที่ตื่นตัวในการป้องกันตนเอง ความร่วมมือของกิจการต่างๆ ที่ตระหนักถึงความยุ่งยากหากต้องรับเชื้อ อีกทั้งสภาพแวดล้อมของภูมิอากาศ ที่ 2-3 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงอากาศร้อน

        แต่ “รัฐบาล” ในรัฐสมัยใหม่ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลประชาชน บริหารจัดการปัญหาสาธารณะ ก็ต้องมีประสิทธิภาพ ภายใต้คณะผู้บริหารที่มีศักยภาพ รวมถึงผู้นำที่เฉียบคมสามารถบริหารจัดการปัญหาได้ในยามวิกฤติ สามารถปรับใช้แนวทางที่เหมาะสมจากประสบการณ์ของประเทศอื่นที่ประสบมา ลดอัตตาในการยึด “หลักกู” ในการแก้ไขปัญหา

        ด่านต่อไปยังมีตัวแปรอีกมากมายที่ยังไม่มีใครรู้ว่า จะส่งผลให้สถานการณ์เดินไปในทิศทางใด แต่แน่นอนว่าปัญหายังไม่ยุติในเวลาอันใกล้ สิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้าคือการบริหารจุดแข็งและลดจุดอ่อน จนทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย และลดปัญหาความเดือดร้อนลงได้

พร้อมยืนระยะมาตรการแบบผ่อนหนัก-ผ่อนเบา ไปจนกว่าคนในสังคมจะเห็นแจ้งในแนวทางการดำรงชีวิตของตนเองที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพโลกที่เปลี่ยนไปในที่สุด!!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"