เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
อย่าให้ถูก เหลือบมาสูบ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอดเกือบ 3-4 วันที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันออกมาเพื่อรองรับการแก้ปัญหาวิกฤติไวรัสโควิด-19 จะพบว่าพระราชกำหนดที่มี ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านอภิปรายกันมากที่สุด ก็คือ “พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563” หรือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
ที่พบว่า ส.ส.หลายคนอภิปราย แสดงความกังวลในประเด็นเรื่องความโปร่งใสในการอนุมัติโครงการที่อาจเปิดช่องให้มีการทุจริต-การแบ่งเค้ก โดยมีการแทรกแซงการอนุมัติโครงการจากฝ่ายการเมืองไปยัง “คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้” ที่กรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ รวมถึงเกรงจะมีการอนุมัติโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และไม่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนกลายเป็นการใช้งบแบบสูญเปล่า
“ประมนต์ สุธีวงศ์-สมาชิกวุฒิสภาและ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” ย้ำแนวทางการสกัดการทุจริต ในการอนุมัติโครงการและงบประมาณที่รัฐบาลกันงบไว้ร่วม 1 ล้านล้านบาทว่า เงินดังกล่าวซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก เป็นเงินภาษีประชาชน ที่จะเป็นภาระให้กับลูกหลานในอนาคต ดังนั้นการใช้เงิน การอนุมัติโครงการ ควรต้องทำอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้มีตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมอนุมัติ-ตรวจสอบด้วย เพราะการจะไปคิดว่า ไม่ต้องทำอะไร เพราะมีองค์กรอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงาน ป.ป.ช.คอยกำกับดูแลตรวจสอบการใช้เงินอยู่แล้ว ก็อาจสายเกินไป เพราะสิ่งสำคัญคือต้องมีการป้องกันไว้ก่อน เพราะหากปล่อยให้ทุจริตแล้วค่อยไปตรวจสอบ ก็อาจช้าเกินไป
“ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” ย้ำในหลักการว่า พ.ร.ก.ที่รัฐบาลออกมาทั้งสามฉบับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในสัปดาห์ที่ผ่านมาและจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาในสัปดาห์หน้านี้ จะพบว่าเป็นการออกมาบังคับใช้ในช่วงที่ประชาชนทั้งประเทศ มีความเดือดร้อนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็เจอกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งหากถามถึงความจำเป็นในการออกพระราชกำหนดของรัฐบาล ก็ถือว่ามีเหตุผล เพราะว่ารัฐบาลก็มีความจำเป็นในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อน ส่วนเมื่อทำแล้ว จะเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร เป็นประเด็นที่จะตามมาหลังจากนี้
สำหรับกรอบวงเงินที่วางไว้ตาม พ.ร.ก.ทั้งสามฉบับ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศไทย และขนาดหนี้สินที่มีอยู่ ก็ถือว่าเป็นกรอบวงเงินที่มาก ส่วนจะมากเกินไปหรือไม่ คงตอบยาก เพราะในส่วนที่จัดสรรไว้เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชนโดยตรง เช่นการมอบเงินช่วยเหลือเดือนละ 5 พันบาทต่อเดือน ที่ให้เป็นเวลา 3 เดือน งบประมาณที่ใช้ก็ร่วม 500,000-600,000 แสนล้านบาทแล้ว ก็เกือบครึ่งหนึ่งของกรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือก็คงใช้ในการดูแลเรื่องสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งวงเงินที่ใช้ตาม พ.ร.ก.ทั้งสามฉบับ ก็คงเหมาะสมกับขนาดของเศรษฐกิจบ้านเราที่พอจะรับได้ เพราะหากใช้กรอบวงเงินมากกว่านี้ ก็อาจทำให้เกิดภาระในอนาคตในเรื่องหนี้สิน แต่หากน้อยไปไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง
“ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” กล่าวถึงกรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทดังกล่าว แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรก 45,000 ล้านบาท เป็นงบเพื่อใช้ในด้านการสาธารณสุข ที่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็เข้าใจเพราะหากเราไม่ได้ระบบสาธารณสุขของประเทศที่เข้มแข็ง การที่จะดูแลประชาชนไม่ให้เจ็บป่วย ก็อาจลำบาก จึงเป็นกรอบวงเงินที่คงไม่ค่อยมีใครติงเท่าใด
ส่วนอีก 5 แสนกว่าล้านบาท จะเป็นงบที่ใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับกระทบในด้านต่างๆ จากวิกฤติครั้งนี้ เช่น คนที่ตกงาน คนที่ไม่มีรายได้ เช่นการให้เงินช่วยเหลือประชาชนเดือนละ 5,000 บาท ก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล
“ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 400,000 ล้านบาท ตรงนี้ เป็นวงเงินที่ดูแล้วยังไม่มีกรอบการใช้เงินที่ชัดเจน เพราะในตัวพระราชกำหนดเขียนไว้เพียงกว้างๆ ว่าเพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหา ขาดรายได้จากสภาวะเศรษฐกิจ ก็มองว่ากรอบวงเงินดังกล่าว 400,000 ล้านบาท ควรต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดในเรื่องการใช้งบประมาณ” ประมนต์ สมาชิกวุฒิสภาตั้งข้อสังเกต
“ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” กล่าวต่อไปถึงข้อเสนอการให้มีระบบตรวจสอบการอนุมัติเงินกู้ที่จะทำผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ว่า จะพบว่าตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินดังกล่าว บัญญัติให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ แต่ว่าที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเสนอก็คือต้องการให้มีการตั้งตัวแทนของภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งในพระราชกำหนด กำหนดไว้ว่า นายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิไปร่วมเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้ไม่เกินห้าคน
..องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ก็อยากเห็นมีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าไป โดยคนที่เข้าไป ต้องเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ที่หลากหลาย เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนพอสมควร เพื่อที่จะได้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ดังกล่าว เพราะงานของกรรมการที่สำคัญคือการกลั่นกรองการเสนอโครงการที่จะส่งเรื่องเข้ามา เพราะวงเงิน 400,000 ล้านบาท การขอทำโครงการ จะต้องมีการเสนอมาว่า จะใช้เงินอย่างไร ใช้ที่ไหน ใช้กับใคร จึงเห็นว่าการใช้เงินดังกล่าวต้องมีความเท่าเทียม มีความเป็นธรรม
"เท่าเทียมและเป็นธรรมดังกล่าว ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันก็หวังว่าประชากรของเราทั่วประเทศจะได้รับการสนับสนุนจากกรอบวงเงินดังกล่าวเท่าเทียมกัน คือไม่ใช่ไปอยู่แค่ที่ใดที่หนึ่ง และเป็นธรรม ก็คือ ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ก็ควรได้รับการดูแลตามสัดส่วนที่เหมาะสม"
..รวมถึงการให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการและเบิกจ่ายเงิน ที่อาจเป็นชุดเดียวกันกับคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ก็ได้ ก็คือ พอมีการกลั่นกรองโครงการที่เสนอมาแล้วมีการเห็นชอบ ก็มีการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินหรือไม่ อาจตั้งเป็นกรรมการชุดพิเศษหรือตั้งอนุกรรมการขึ้นมา เพื่อไปคอยดูในเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติเพื่อให้เป็นไปโดยถูกต้อง และพยายามไปดูสิ่งที่อาจเกิดเป็นปัญหา โดยไม่ควรรอให้เกิดปัญหาก่อน เช่น กรรมการที่ตั้งขึ้นมา ก็ต้องไปดูว่า เมื่อมีการทำโครงการอะไรไปแล้ว จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นหรือไม่ จะได้มีการเตรียมการป้องกันไว้ก่อน
- ในพ.ร.ก.กู้เงินฯ เขียนล็อกไว้ว่า ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ และให้มีกรรมการ เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง, ผอ.สำนักงบประมาณ, ผอ.สำนักบริหารหนี้สาธารณะ ที่ส่วนใหญ่พบว่า โครงสร้างกรรมการกลั่นกรองเป็นข้าราชการประจำ หลายคนจึงเป็นห่วงเรื่องที่กรรมการอาจถูกแทรกแซง การอนุมัติเงินและอนุมัติโครงการได้?
ก็เป็นไปได้ เพราะว่าเวลาเป็นข้าราชการประจำ ก็อาจมีโอกาสที่จะถูกผู้มีอำนาจ หรือว่านักการเมืองมากดดัน แล้วตัวเองจะทนไม่ไหว เราถึงเสนอว่า ถ้ามีผู้แทนจากภาคประชาสังคมเข้าไป ก็อาจจะเป็นคนที่ไปช่วยคัดค้าน ทัดทานได้บ้าง เรื่องที่จะถูกกดดันก็อาจเบาบางลง
โดยตัวแทนที่เสนอไป เราใช้คำว่าภาคประชาสังคม คือใครก็ได้ที่เป็นคนซึ่งมีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์ เป็นที่ประจักษ์ในสังคม เชื่อว่ามีผู้ใหญ่ในสังคมหลายคนที่เอ่ยชื่อมาแล้ว หลายคนบอกว่าใช่ ก็คงเป็นประเภทนั้น เราขอเพียงให้บุคคลเหล่านั้นที่จะเข้าไปต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เป็นคนที่มีประวัติอย่างน้อยเข้าใจสังคม และเป็นคนที่ยอมรับของประชาชน หากเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ จะเป็นใครก็ได้
เมื่อถามว่าหากมีการมาทาบทามตัวนายประมนต์หรือคนในองค์กรต่อต้านคอรัปชัน เข้าไปร่วมเป็นกรรมการชุดใดชุดหนึ่ง “ประมนต์” ออกตัวว่า ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาคงลำบากหน่อย แต่ถ้าในมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เราก็ต้องหารือกันก่อน แต่ก็มีคนที่มีคุณสมบัติจะไปช่วยงานได้ เพราะองค์กรเราก็ถือว่ามีผลงานที่คนก็ยอมรับ ทำงานมาแล้วเกิดประโยชน์
ต้องไม่เกิดทุจริตเชิงนโยบาย
- มีเสียงทักท้วงมากเรื่อง ตีเช็คเปล่า เพราะใน พ.ร.ก. ไม่มีรายละเอียดใดๆ มากนักในเรื่องการใช้เงินกู้?
คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ คือสิ่งสำคัญ เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะมาพิจารณาข้อเสนอที่เสนอเข้ามาในการจะขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.ดังกล่าว จะนำเงินไปใช้ที่ไหน ใช้ทำอะไร ผมยกตัวอย่างที่เราไม่อยากเห็นคือ จะมีการใช้ไปในทางที่อาจจะเป็นประโยชน์เฉพาะคน มันมีในอดีตที่บอกว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย” คำว่า ทุจริตเชิงนโยบายก็คือ จะมีกลุ่มบุคคลที่ตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แล้วก็นำเงินนี้ไปใช้โดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมเท่าใดนัก อันนี้ที่เราเป็นห่วง หรือว่าอาจเป็นโครงการประเภทที่ว่าไม่ได้มีสาระสำคัญ แต่เป็นโครงการประเภทที่มีผู้ใหญ่บางคนอยากจะทำ แล้วจะมาใช้เงิน อันนี้เราก็ไม่อยากเห็น
เพราะฉะนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จึงมีความสำคัญ เพราะเขาจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าโครงการที่มานำเสนอให้ประโยชน์กับท้องถิ่นจริงๆ
ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ยังได้เสนอแนวทางการสร้างความโปร่งใสในการใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทว่า การเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการ ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างความโปร่งใส ที่สามารถทำได้ด้วยการเปิดเผยผ่าน “เว็บไซต์เฉพาะกิจ” โดยเราต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลการใช้เงินเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าถึงข้อมูลได้ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่อนุมัติให้ใช้เงินเป็นโครงการอะไร ใช้เงินเท่าใด ใช้ทำโครงการที่จุดไหน จนถึงข้อมูลการประมูลโครงการว่าใครคือผู้ประมูลได้ และประมูลไปด้วยการเสนอราคามาเท่าใด ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้หากมีการเปิดเผยทั้งหมดจะทำให้มีความโปร่งใส ทำให้คนที่อยากรู้ข้อมูลเข้ามาค้นคว้าได้ และเป็นการปรามการทุจริต เพราะหากข้อมูลถูกเปิดเผย คนที่จะทำการทุจริตก็ต้องกลัวว่าถ้าถูกตรวจสอบขึ้นมาก็มีหลักฐาน จะไปทำอุบอิบไม่ได้ ก็เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งที่เราต้องการสร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูล
ตลอดจน อยากให้ไปศึกษาโครงการเงินกู้ก่อนหน้านี้ คือ โครงการเงินกู้ยืมมิยาซาวาแพลน ปี 2542 ที่เป็นโครงการกู้เงินที่เกิดขึ้นหลังประเทศเราเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งรัฐบาลเวลานั้นมีการกู้เงินมา 50,000 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบในปัจจุบัน หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ โครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 ก็อยากให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไปศึกษาดูว่าในการใช้เงินกู้ทั้งสองโครงการดังกล่าวเวลานั้น เมื่อกู้เงินมาแล้วนำไปทำอะไรบ้าง ทำดี-ทำไม่ดีอย่างไร ทำแล้วเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ จะได้นำมาเป็นข้อมูลที่ใช้ในการอนุมัติการใช้เงินในรอบนี้
ประมนต์-สมาชิกวุฒิสภา ยังกล่าวหลังถามถึงข้อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบติดตามการใช้เงินกู้ฯ ดังกล่าวของรัฐสภา เพราะ พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านการตรวจสอบจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณฯ โดยมองว่า ถามว่าเรื่องนี้มีประโยชน์ไหม ก็ต้องตอบว่ามีประโยชน์ เพราะหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในลักษณะดังกล่าว ก็สามารถไปติดตามการทำงานตามโครงการต่างๆ ได้ แต่ผมคิดว่าคณะกรรมาธิการประเภทนี้มันจะช้าไป เพราะต้องเกิดทุจริตขึ้นเสียก่อนถึงจะค่อยมารายงาน
ข้อเสนอของผมที่เสนอในเรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณตามพระราชกำหนดที่ออกมา นอกจากเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้แล้ว ผมถึงได้เสนอให้ควรมี “คณะกรรมการอิสระในเรื่องการตรวจสอบ” โดยมีลักษณะการทำงานเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษเลย เพื่อตรวจสอบเรื่องต่างๆ เหล่านี้ โดยที่แนวทางการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระฯ จะต้องทำงานตรวจสอบในเชิงรุก คือ ไม่ใช่ให้เกิดเรื่องทุจริตก่อน แต่เป็นคณะกรรมการที่มองปัญหาทั้งหมด เช่น ต้องดูว่าอาจจะมีการทุจริตตรงจุดไหน ก็ต้องไปป้องกันไว้ โดยพยายามวางมาตรการที่จะป้องกันการทุจริต เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต มันจะดีกว่าที่จะปล่อยให้เกิดการทุจริต ซึ่งคณะกรรมการอิสระฯ ตามที่เสนอใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ไม่ได้เขียนให้ตั้งเอาไว้ แต่เป็นข้อเสนอที่ผมฝากไปว่าขอให้พิจารณาให้มีคณะกรรมการอิสระมาตรวจสอบโดยให้ทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการกลั่นกรองฯ โดยเท่าที่เห็นทางรัฐบาลคงพูดแต่เรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่อาจจะเปิดโอกาสให้มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ มามีส่วนร่วม แต่สำหรับคณะกรรมการอิสระฯ ยังไม่เห็นมีการกล่าวถึง ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ได้เสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่ยังไม่มีการบอกว่าจะสนับสนุน
คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้จะคอยพิจารณาว่างบประมาณใน พ.ร.ก.กู้เงินฯ 4 แสนล้านบาทจะใช้ทำอะไรบ้าง ก็อยากให้มีคณะกรรมการอิสระอย่าง คณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการและเบิกจ่ายเงินมาตรวจสอบ ที่ศักดิ์ศรีก็ไม่ด้อยกว่าคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ โดยกรรมการอิสระก็จะมาคอยดูแลว่าการใช้จ่ายเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินหรือไม่ หรือหากกรรมการอิสระฯ เป็นห่วงว่าอาจจะเกิดการทุจริตที่จุดไหนก็ไปหาวิธีการที่จะป้องปรามเสียก่อน โดยให้ทำงานแบบขนานควบคู่ไปกับคณะกรรมการชุดแรก เพราะถ้าไม่เตรียมการล่วงหน้าแล้วเกิดการทุจริต ไปตามจับก็อาจจะเสียเวลาเปล่าๆ
- บทบาทองค์กรอิสระอย่าง สตง.-ป.ป.ช. คาดหวังได้หรือไม่ กับการตรวจสอบป้องกันการทุจริตเงิน 1 ล้านล้านบาท?
องค์กรอย่าง ป.ป.ช.ก็น่าจะมีบทบาทในการติดตาม ป้องกันการทุจริต แต่บทบาทขององค์กรเหล่านี้ที่ผ่านมามักจะเข้าไปตรวจสอบเมื่อเกิดการทุจริตแล้ว มีผู้ร้องเรียนแล้วถึงจะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งมันช้าไป เราไม่อยากเห็นว่ามีคนทุจริตแล้วเราไปตามจับ แต่เราควรมีวิธีการที่คอยดูเสียก่อนว่าอาจจะมีทุจริตตรงไหน แล้วหาวิธีการป้องกันไว้ก่อน โดยหาก ป.ป.ช.-สตง.เขามีประสบการณ์ในเรื่องนี้ แล้วให้ข้อคิด ก็จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันป้องกัน
...ประชาชนมีความสำคัญมากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในท้องถิ่น เช่น สมมุติคนที่อยู่ต่างจังหวัด แล้วมีโครงการไปลงในพื้นที่ เช่น ขุดสระน้ำ สร้างถนน ประชาชนต้องมีโอกาสรับรู้และไปติดตามว่ามีการใช้เงินตามที่ได้รับอนุมัติโครงการมาจริงหรือไม่ มีการยักยอก มีการสมยอม หรือมีทุจริตหรือไม่ คนในท้องถิ่นจะได้เข้าไปมีส่วนร่วม ไปตรวจสอบ ทำให้ประชาชนที่ต้องการดูแลตรวจสอบก็จะได้เข้าไปมีบทบาทได้
หากเกิดทุจริต จะสะเทือนเครดิตบิ๊กตู่
- หากมีข่าวในทางลบ ออกมาไม่ดีเกี่ยวกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลหรือไม่?
ก็คงสั่นสะเทือน เพราะเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีก็กำกับการมาตลอด อย่างการต่อสู้ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดฯ ก็ได้ผลดี คนก็ชื่นชม แต่เวลานี้เมื่อต่อไปจะต้องมีการฟื้นตัว ต้องมีการเยียวยา ที่หากทำไปแล้วเกิดไม่ดี ทำแล้วเสียหาย ทำแล้วทุจริต คะแนนที่ได้มาก็คงจะสูญเสียไปเยอะพอสมควร เรื่องนี้นายกฯ ก็คงรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อถามถึงว่า ตอนนี้เงินกู้เพื่อทำโครงการต่างๆ ในงบ 4 แสนล้านบาทยังไม่ออกมา แต่ตอนนี้ก็มีข่าวเรียกเก็บค่าหัวคิวจากเจ้าของโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ของรัฐ (State Quarantine) จ.ชลบุรี ประเด็นนี้ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ตอบว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวที่จังหวัดลำพูน ที่ท้องถิ่นคือ อบต.-อบจ.ไปซื้อของในการป้องกันโรคโควิดฯ โดยจัดซื้อในราคาแพงและไม่จำเป็น ก็เป็นการทุจริตประเภทหนึ่ง ส่วนการเรียกรับค่าหัวคิวจากโรงแรมที่เป็น State Quarantine ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงว่า ขนาดเงินที่ไม่มากก็มีพวกที่รอจังหวะแบบนี้ คือ พวกนี้ตามน้ำ พอเห็นโอกาสก็ฉวยโอกาส หากเข้าทางเขาก็ได้เงินไป มันมีพวกนี้เยอะ ที่เดี๋ยวนี้พูดกันแค่ 10-20 ล้านบาทเป็นเศษเงิน แต่อันนี้ที่จะทำคือหมื่นล้าน แสนล้านบาท
ประมนต์ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ยังกล่าวถึงบทบาทของ ส.ว.ในการมีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าวว่า วุฒิสภาก็มีหน้าที่คล้ายเป็นสภาพี่เลี้ยง อย่างเรื่องกฎหมาย ก็คอยดูว่ากฎหมายที่ออกมาแล้วส่งมาที่วุฒิสภาเป็นอย่างไร ทาง ส.ว.ก็ท้วงติงได้ อย่างพระราชกำหนดต่างๆ ที่ออกมาดังกล่าวก็น่าจะเป็นบทบาทที่สำคัญที่ทางสมาชิกวุฒิสภาสามารถสะท้อนความเป็นห่วงหรือความกังวลของประชาชนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีสมาชิกวุฒิสภาหลายคนก็ทำไปแล้ว มีสมาชิกวุฒิสภาหลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าเขาเป็นห่วงในประเด็นใดบ้าง
ถามปิดท้ายถึงบทบาทของมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ต่อจากนี้ และที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีให้ความร่วมมืออย่างไรบ้าง ประมนต์ ย้ำว่า องค์กรก็พยายามมองในเรื่องความโปร่งใสเป็นหลัก เราก็พยายามขับเคลื่อนให้ประเทศเรามีคอร์รัปชันน้อยที่สุด โดยตัวนายกรัฐมนตรีเองก็คงไม่ต้องการเห็นการทุจริตเกิดขึ้น ที่โดยส่วนตัวเราก็ยอมรับ แต่เวลาที่อยู่ในวงการที่มีคนเยอะๆ คนใกล้ตัว ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มันก็มีปัญหาในตัวของมันเอง เพราะว่าตัวผู้นำเอง อาจไม่ทุจริต แต่คนใกล้ตัวเองบางทีก็ไว้ใจไม่ได้เหมือนกัน
“พระราชกำหนดทั้งสามฉบับ จำเป็นที่จะต้องออกมา คนส่วนใหญ่ก็เห็นความจำเป็น เพียงแต่เมื่อจะใช้เงินก็ขอให้มีประโยชน์จริงจัง เต็มที่ ไม่ตกไม่หล่น เพราะทั้งหมดคือเงินภาษีของประชาชน ที่เราก่อไว้ให้ลูกหลานของเรา มันต้องใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ อย่าให้ตกหล่น อย่าให้ถูกเหลือบสูบ ก็อยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรอง จะต้องดูว่าอย่าให้เกิดอะไรขึ้น” ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันสรุปตอนท้าย.
ข้าราชการประจำก็อาจมีโอกาสที่จะถูกผู้มีอำนาจ หรือว่านักการเมืองมากดดัน แล้วตัวเองจะทนไม่ไหว เราถึงเสนอว่า ถ้ามีผู้แทนจากภาคประชาสังคมเข้าไป ก็อาจจะเป็นคนที่ไปช่วยคัดค้าน ทัดทาน ...เมื่อจะใช้เงินก็ขอให้มีประโยชน์จริงจัง เต็มที่ ไม่ตกไม่หล่น เพราะทั้งหมดคือเงินภาษีของประชาชนที่เราก่อไว้ให้ลูกหลานของเรา มันต้องใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ อย่าให้ตกหล่น อย่าให้ถูกเหลือบสูบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |