เพ้อ!ชงตั้ง'แม้ว'คุมกลั่นกรองงบเงินกู้


เพิ่มเพื่อน    


     ถก พ.ร.ก.กู้เงินวันที่สาม ส.ส.ฝ่ายค้านชำแหละงบฟื้นฟู 4 แสนล้านเป็นเบี้ยหัวแตก แจกทุกกระทรวง ไร้รายละเอียดเหมือนตีเช็คเปล่า เชื่อไม่มีทางบรรลุเป้าหมาย ส.ส.ปชป.จับตาปัดฝุ่นโครงการเก่าฮั้วผู้รับเหมา พท.ยื่นญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบ พรรคร่วมรัฐบาลเสียงแตก! "เทพไท" ยกมติ ปชป.เคยเสนอวิปตั้ง กมธ.วิสามัญชี้เป็นภาพลักษณ์ที่ดี ขณะที่ ส.ส.พปชร.โดดขวาง นายกฯ โบ้ยไม่เกี่ยวเป็นเรื่องฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน “จิรายุ” ตั้งฉายา "ลุงตู่นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา" แรมโบ้โต้กลับกู้มาให้ปชช. ดีกว่าผู้นำในอดีตที่กู้มาโกง
    ที่รัฐสภา เวลา 09.30 น. วันที่ 29 พฤษภาคม มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เกี่ยวกับการกู้เงินจำนวน 3 ฉบับ ต่อเนื่องเป็นวันที่สาม 
    โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า มาตรการป้องกันของรัฐบาลที่ผ่านมาทำถูกต้องแล้ว แต่ผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นและสำคัญมากคือมาตรการเหล่านั้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดลงโดยสิ้นเชิง เมื่อมาตรการเหล่านี้เกิดขึ้นในระยะหนึ่ง ก็ถึงเวลาใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นที่มาของการออก พ.ร.ก.เพื่อนำมาใช้ การจะทำให้ พ.ร.ก.มีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ ต้องสัมพันธ์กับการผ่อนคลาย และต้องทำให้เกิดผลทันที โดยมีโครงการเป็นตัวชี้วัด แต่ข้อสังเกต คือ ใน พ.ร.ก.กำหนดกรอบโครงการไว้กว้างๆ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องตอบ ที่ผ่านมาเลขาฯ สภาพัฒน์ชี้แจงไว้ชัด มีแต่เพียงกำหนดแนวปฏิบัติโดยให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้เสนอไม่เกินเดือน มิ.ย.เท่านั้น
    “ขอให้ระวังอย่าให้เป็นจังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา หรือนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่น งบประมาณสี่แสนกว่าล้านเมื่อเฉลี่ยทุกจังหวัดตกจังหวัดละห้าพันกว่าล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล มากกว่างบประมาณปกติ ซึ่งเราจะต้องทำให้ทุกโครงการก่อให้เกิดรายได้ รัฐบาลนี้ควรทำเว็บไซต์ แสดงว่าสี่แสนล้านทำอะไรไปบ้าง สถานะโครงการเป็นอย่างไร ใครได้”
    นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า เพื่อให้โปร่งใสมากขึ้น เสนอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อติดตามการใช้จ่ายเงิน พ.ร.ก.นี้ เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองเปิดเผยในเว็บไซต์แล้ว ก็ให้ส่งข้อมูลนั้นมาที่ กมธ.นี้ด้วย ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอีกครั้ง แต่ถ้าปฏิเสธว่าใน พ.ร.ก.มีเขียนไว้อยู่แล้ว โดยให้นำเสนอต่อรัฐสภา 60 ปี นับจากวันสิ้นปีงบประมาณ แปลกว่าปีละครั้งเท่านั้นเอง ทั้งนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าวเกี่ยวพันกับชีวิตคนและหนี้สินที่เกิดขึ้นกับลูกหลานในอนาคต ดังนั้นการพิจารณาจึงต้องรอบคอบและติดตามการใช้เงินอย่างรอบคอบ
    จากนั้น นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับกรณีฝ่ายค้านและพรรค ปชป.เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญฯ เพื่อตรวจสอบงบฯ 1.9 ล้านล้านบาท เพราะสภามี กมธ.สามัญถึง 35 คณะทำหน้าที่อยู่แล้ว ยังเห็นว่างบฟื้นฟูจำนวน  4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 แสนล้าน ไว้แก้ปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนล้านบาทไปช่วยคนว่างงาน และเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 1,000 บาท
    ต่อมา 14.45 น. น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือ 555,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน แต่มีข้อสังเกตว่าทำไมรัฐบาลใช้เงินเยียวยาถึงล่าช้า ไม่เร่งด่วนสมกับที่ออกเป็น พ.ร.ก. นอกจากนี้ เงื่อนไขในการเข้าถึงเงินก็มีจำนวนมาก ต้องพิสูจน์ความจน ความเดือดร้อนให้วุ่นวาย ถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ รัฐบาลจะอ้างว่าแจกเงิน 5,000 บาทเป็นบุญคุณไม่ได้ เพราะนี่คือเงินของประชาชน ที่สำคัญรัฐบาลไม่ได้แจกฟรี แต่เป็นการให้โดยแถมหนี้ 1 ล้านล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย
ชำแหละงบเบี้ยหัวแตก
    น.ส.จิราพรกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญรัฐบาลต้องวางแผนฟื้นฟูในระยะยาว แต่ที่ผ่านมาการแจกเงิน 5,000 บาทที่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด รัฐบาลยังทำให้ดีไม่ได้ แล้วตอนนี้จะนำเงินกว่า 40,000 ล้านบาทมาฟื้นฟู สงสัยว่ารัฐบาลจะใช้เงินก้อนนี้ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนได้อย่างไร การใช้เงินกู้ก้อนนี้ต้องมีทิศทาง แผนงานและโครงการที่จะใช้ฟื้นฟูล้วนเป็นแผนงานที่รัฐบาลเคยดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น การใช้งบ 4 แสนล้านบาท ขอเรียกว่างบเบี้ยหัวแตก แจกทุกกระทรวง รัฐบาลเปิดให้ทุกกระทรวงเสนอโครงการให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ จนอดคิดไม่ได้ว่าคือการตีเช็คเปล่าให้รัฐบาลแบ่งเค้กงบประมาณหรือไม่ ทราบว่ากระทรวงเกษตรฯ เสนอแก้ภัยแล้งด้วยวงเงิน 3,400 ล้านบาท แต่เมื่อตรวจสอบการใช้งบแก้ภัยแล้งบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนี้ ตั้งแต่ปี 57-63 รวม 5 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่างบฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดทั้งก้อน ซึ่งก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ อยากถามว่ามีแผนงานอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาระบบน้ำในประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ขนาด 6 ปีที่ผ่านมาใช้งบมากกว่าที่เสนอรอบนี้เกือบ 15เท่าตัวยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
    ต่อมาเวลา 16.45 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายว่า ผลงานการควบคุมการระบาดโควิด-19 ของประเทศไทยได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นผลงานของรัฐบาลและคนไทยทุกๆ คนร่วมกันหลักสำคัญอยู่ที่ฝีมือของแพทย์ไทย มีหมออนามัยและ อสม. กระจายอยู่ทุกชุมชนทั่วประเทศ หมออนามัยเป็นพี่เลี้ยงของ อสม. คอยทำงานเชิงรุก คือป้อมปราการที่เข้มแข็งสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย แต่หมออนามัยถูกมองข้าม เสมือนเป็นลูกเมียน้อยมาโดยตลอด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ 2 เรื่องสำคัญคือ การบรรจุเป็นข้าราชการ และเรื่องค่าตอบแทนวิชาชีพ ที่เรียกร้องมาหลายปี แต่ไม่เคยสำเร็จ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการบรรจุข้าราชการ 45,684 อัตราพร้อมกันเลย อนุมัติค่าตอบแทนวิชาชีพให้ หมออนามัยทั่วประเทศ หวังว่าหมออนามัยจะไม่เป็นขุนพลที่ถูกฆ่าหลังเสร็จศึกโควิด ด้วยเหตุผลว่างบประมาณหมด ต้องรอต่อไป
    จากนั้น นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การเยียวยาที่ผ่านมาไม่สำเร็จ และการจัดสรรการเยียวยาในอนาคตก็มีแนวโน้มไม่เพียงพอ ตนจึงเสนอว่าแผนฟื้นฟูที่ดีต้องมีการสร้างงานให้ได้ และทำให้เห็นว่าเป้าหมายของประเทศจะเดินหน้าไปทางไหน โดยงานที่รัฐจะจัดสรรให้ต้องตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศให้คนมีชีวิตหลังโควิดที่ดีขึ้นรัฐบาลที่คิดแบบเดิมไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ จึงขอเรียกร้องการปฏิรูปที่มาของฝ่ายบริหาร คือรัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน เพราะโครงสร้างของรัฐธรรมนูญและอำนาจขององค์กรอิสระทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่กล้าทำงานเพราะกลัวผิดระเบียบ ปฏิรูประบบราชการให้ยึดโยงกับประชาชน คืนอำนาจงบ และคนให้กับท้องถิ่น และให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นให้มีผู้บริหารที่มาจากประชาชน กระจายอำนาจและตรวจสอบการทำงานของรัฐไปด้วยกัน
    น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะพลิกฟื้นประเทศไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ แต่เมื่อตนได้ฟังเลขาฯ สภาพัฒน์แถลง ทำให้ตนฝันสลาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าแผนที่วางไว้สามารถรองรับให้คนมีงานทำได้ประมาณ 2 ล้านอัตรา แต่ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน เนื่องจากแผนนี้ยังคงเป็นแบบเดิมตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนวิกฤติโควิดได้ แล้วจะเอาอะไรมาการันตีว่าจะใช้เงิน 4 แสนล้านบาทมาพัฒนาเศรษฐกิจได้ และถ้าเป็นเพราะแผนยุทธศาสตร์ชาติ ขอแนะนำว่าให้ฉีกแผนทิ้งไปได้เลย เพราะว่าแผนนี้คงจะอยู่ไม่ถึง 20 ปี หากไม่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ การประเมินโครงการเงินกู้ในรอบ 3 ปีที่ตนไปตรวจสอบดูก็เป็นการประเมินแบบหยาบๆ และไม่มีการถอดบทเรียน พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้ไม่มีรายละเอียดให้พิจารณา เหมือนคิดไปทำไป เหมือนไม่ให้เกียรติประชาชนที่เป็นเจ้าของเงิน และไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้ 
นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา
    “เชื่อว่าปีหน้าก็จะมีหนี้สาธารณะเกินเพดานแน่นอน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เกิน แต่อยู่ที่ว่าเราจะสามารถจ่ายหนี้คืนได้หรือไม่ ยกตัวอย่างประเทศกรีซ เปรียบเทียบกับญี่ปุ่นในปี 2556 ทั้งที่ญี่ปุ่นมีหนี้สูงถึง 224% กรีซ 199% แต่สัดส่วนในการชำระดอกเบี้ยต่างกัน ญี่ปุ่น 11% และกรีซ 33% ไม่มีเงินมาใช้จ่ายในด้านนต่างๆ จึงเห็นต่างกับฝ่ายค้านด้วยกันว่าหากมีความจำเป็นต้องกู้ก็ควรกู้มากกว่านี้ เพื่อให้คุ้มค่ากับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและทำให้ได้จริง”น.ส.ศิริกัญญากล่าว
    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ​พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ สะท้อนการบริหารงานของรัฐบาล และแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ที่ล้มเหลว และเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มฉวยโอกาสในวิกฤติสร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง ถึงขั้นรวยจนลืมบ้านเลขที่ อาทิ เปิดเต็นท์หน้าโรงพยาบาลหรือที่จอดรถของโรงพยาบาลเอกชน ที่ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิดฟรี สวมรอยตรวจโควิดให้ประชาชน สำหรับฉายาที่ตนตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ คือนักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะตลอดการบริหารประเทศ 6 ปีที่ผ่านมา และรวมถึงการกู้เงินช่วงโควิด-19 มียอดรวมการกู้เงินที่ 4 ล้านล้านบาท ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนต้องร่วมชดใช้หนี้ถึง 80 ปี ขณะที่การแจกเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทให้ประชาชน เท่ากับว่าประชาชนเข้าไปอยู่ในอวยของรัฐบาลแล้ว เพราะคนที่ลงทะเบียนหรือเข้าโครงการของรัฐจะถูกรีดภาษีขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศให้ชัดเจนว่าภายในสิ้นปีนี้หรือปีหน้า จะไม่รีดภาษีกับประชาชนที่ลงทะเบียนหรือเข้าโครงการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ
    “การกู้เงินเป็นเรื่องปกติ หากเครดิตดี แต่รอบนี้กู้สูงเกินเพดาน หากมีวิกฤติจะไม่สามารถกู้ได้อีก ดังนั้น สภาอย่าอวยจนเกินไป ซึ่งผมกังวลว่าปลายปีหากมีวิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติโรคระบาดอื่น รัฐบาลจะใช้ศักยภาพด้านไหนกู้เงินมาใช้จ่ายอีก สำหรับคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ขอให้นายกฯ ตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ หากไม่โกรธแค้นกันเกินไป หรือมองเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ใครที่มีปัญญาดีๆ ก็ตั้งมาทำงานบ้าง ไม่ใช่ตั้งแต่พวกตัวเอง อวยกันเอง รวมทั้งจะไม่ทำให้เงินกู้อยู่ที่พรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเชื่อว่าจะกินแกลบแทนข้าวแล้ว” นายจิรายุกล่าว
    จากนั้นเวลา 19.00 น. นายจุรินทร์ชี้แจงเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงสถานการแพร่ระบาดไวรัส กระทั่งเวลา 19.20 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ สั่งพักการประชุม โดยให้สมาชิกมาประชุมต่อในวันที่ 30 พ.ค. เวลา 09.30 น.
    วันเดียวกัน เวลา 11.00 น. ที่ห้องแถลงข่าวอาคารรัฐสภา  นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่, น.ส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ร่วมยื่นหนังสือที่สมาชิกได้ลงนามขอให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญตรวจสอบการใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ โดย นพ.ชลน่าน ผู้เสนอญัตติกล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับต่างๆ ไม่มีรายละเอียด แผนงานในโครงการ ในส่วนของการกู้เงินใน พ.ร.ก.ฉบับแรก วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เราไม่ได้ติดใจวงเงิน 6 แสนล้านบาทที่จะนำมาเยียวยา และ 4.5 หมื่นล้านบาทที่จะมาใช้ในด้านสาธารณสุข แต่วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ระบุให้เป็นงบฟื้นฟู ก็มีแต่เพียงแผนงาน จึงทำให้น่าสงสัยว่างบที่จะนำไปพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ในเรื่องเศรษฐกิจชุมชนฐานราก หรือการจะนำมากระตุ้นที่เกี่ยวกับภาคเอกชน ภาคประชาชน เป็นอย่างไร ซึ่งเราเป็นห่วงการใช้เงิน 
ดันตั้ง กมธ.วิสามัญ-แก้พรก.
    นพ.ชลน่านกล่าวว่า เนื่องจากการกู้เงิน ที่ในเดือน มิ.ย.จะมีการอนุมัติเงิน เดือน ก.ค.เริ่มมีการใช้เงิน และจะต้องใช้ให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ย.2564 โดยไม่เป็นงบผูกพัน การที่ ส.ส.ร่วมลงนามเสนอให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อจะเสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมตรวจสอบ และได้มีสมาชิกลงนาม 42 คน เป็นไปตามข้อบังคับสภาข้อที่ 50 และหวังว่าสภาจะบรรจุญัตติให้เป็นเรื่องด่วน จากการอภิปราย มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางคนก็มีท่าทีขอร่วมตรวจสอบด้วย หวังว่าทั้งส.ส.ฝ่ายค้านและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะให้ความร่วมมือในการตั้งกมธ.ในชุดดังกล่าว
    นพ.ชลน่านกล่าวด้วยว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมเสนอพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนด โดยจะมีเนื้อหาสาระ ให้มีกลไกในการป้องกันการใช้เงินเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยจะมีการเสนอหลังจากนี้ ประเด็นที่จะเสนอให้มีการแก้ไขมีหลายประเด็น อาทิ คณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อให้เกิดความสุจริต โปร่งใส ในคณะกรรมการนั้นต้องกำหนดคุณสมบัติเงื่อนไขของผู้ทรงคุณวุฒิเอาไว้ให้ชัดเจน
    ส่วนนายสุทินกล่าวว่า จะเสนอให้เพิ่มจำนวน ส.ส.เข้าไปร่วมทำหน้าที่ในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินด้วย และจะเสนอให้มีการแก้ไขการประมูลจากเดิมที่จะไม่ใช้การประกวดราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-biding) ต้องให้ประกวดราคาผ่าน e-bidding เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และให้มีการรายงานในรายละเอียดการใช้เงินต่อสภา 3 เดือนต่อครั้ง
    ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวถึงแนวทางการลงมติใน พ.ร.ก. 4 ฉบับว่า วิปฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านจะหารือร่วมกันในวันที่ 30 พ.ค. แต่เชื่อว่าจะไม่ใช่การฟรีโหวต ไม่กังวลว่าจะมีงูเห่าในฝ่ายค้าน เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากพอแล้ว ทำให้งูเห่าตกงาน และรัฐบาลเองก็ไม่เลี้ยงงูเห่าแล้ว ทุกคนจึงอยู่ในที่ตั้ง สำหรับความเป็นไปได้ในการตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อตรวจสอบการใช้เงินกู้ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วย ก็สามารถตั้ง กมธ.วิสามัญได้ เท่าที่ฟังการอภิปราย มีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วย แต่ไม่แน่ใจ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลคนอื่นๆจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะหากใช้เสียงฝ่ายค้านเพียงอย่างเดียวจะไม่พอ 
    ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรค ปชป.เห็นชอบการตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้งบประมาณกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการหยิบยกประเด็นนี้ในที่ประชุม ส.ส.ของพรรค โดยถือจุดยืนของพรรคคือ การทำงานสุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เป็นคนร่างญัตติตั้ง กมธ. เนื่องจากการกู้เงินก้อนนี้เป็นจำนวนที่เยอะมาก ยกตัวอย่างโครงการมิยาซาวา เมื่อปี 2542 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ พรรค ปชป.เองก็เป็นคนเสนอตั้ง กมธ.ตรวจสอบ แม้จำนวนเงินจะไม่มากเท่าครั้งนี้ก็ตาม 
    “ถ้ารัฐบาลบริสุทธิ์ใจ ใจกว้าง และเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ก็ควรจะให้ตั้ง กมธ. ทาง ส.ส.พรรค ปชป.เองเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี แต่คนรอบข้างนายกฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ และหากอ้างว่ามี กมธ.สามัญที่สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว เห็นว่าติดเรื่องบุคลากรที่มาจาก ส.ส.หลากหลายพรรค ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเพียงพอ แต่ถ้าตั้ง กมธ.วิสามัญจะสามารถดึงนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อ เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ ก่อนหน้านี้มีการนำมติที่ประชุม ส.ส.พรรคไปหารือกับวิปรัฐบาลแล้ว เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะตั้ง กมธ.ได้ และคิดว่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลไม่เห็นด้วย คงจะต้องมาคุยกัน และคงจะตอบคำถามยาก เพราะการตั้ง กมธ.ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากพรรคประชาธิปัตย์เสนอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญ ทาง ส.ส.ของพรรคก็จะลงมติไปในทิศทางเดียวกัน" นายเทพไทกล่าว
ย้ำมีกลไกตรวจสอบอยู่แล้ว
      เมื่อเวลา 15.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางมาร่วมประชุมสภาฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมถึงกรณีที่ฝ่ายค้านมีความเป็นห่วงการใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาท ซึ่งต้องการตั้งคณะกมธ.วิสามัญเพื่อตรวจสอบการใช้เงินว่า ยืนยันว่าไม่มีอะไรต้องชี้แจง เพราะการใช้งบประมาณทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนตามปกติของกฎหมาย ซึ่งในการจัดทำแผนงานของโครงการภายหลังจากที่มีกรอบใหญ่มาแล้ว ก็จะเป็นไปตามหลักการและวัตถุประสงค์ตามกรอบการใช้งบประมาณที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลต้องมีการคัดกรอง รับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่ระดับล่างเหมือนกับโครงการอื่นๆ ทั่วไป โดยมีกลไกตรวจสอบการใช้งบประมาณอยู่แล้ว เช่น สตง., ป.ป.ช., ปปง. เป็นต้น ซึ่งโครงการที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าต้องเสนอขึ้นมาตามลำดับ โดยผ่านคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ กนจ. ไม่ใช่ตนเองไปตั้งหน่วยงานเอง ต้องไปไล่ดูว่าก่อนที่จะมาถึงรัฐบาลมีการทำงานกันอย่างไร ขออย่าให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปยุ่งกับเขาก็แล้วกัน
    “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผม เป็นเรื่องของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล  ผมไม่มีสิทธิ์ไปชี้ ไม่ยุ่ง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเมื่อถามว่าแสดงว่านายกฯ ไม่ต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบการใช้เงินใช่หรือไม่ 
    วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ได้ติดตามพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ในสภามา 2 วันกว่า รู้สึกผิดหวังกับการนำเสนอของพลเอกประยุทธ์ ที่ไม่เห็นความสำคัญของอำนาจประชาชน รวมทั้งตัวแทนประชาชนอย่างสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่เงินกู้จำนวนมหาศาลที่ประชาชนชาวไทยจะต้องใช้หนี้กันไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมเสนอแผนงานและรายละเอียด ให้ตัวแทนของประชาชนได้พิจารณา สภาผู้แทนไม่ใช่ สภาตรายาง ที่จะมาอนุมัติ ตีเช็คเปล่าให้รัฐบาล โดยไม่ต้องมีรายละเอียดการใช้เงิน หรือตรวจสอบไม่ได้ การชี้แจงตอบข้อซักถาม พลเอกประยุทธ์และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ก็ตอบไม่ชัดเจน เหมือนถามไปไหนมา กลับตอบสามวาสองศอก เสมือนไม่เห็นหัวประชาชน อีกปัญหาคือคนตกงานประมาณ 8-10 ล้านคน รัฐบาลจะดูแลพวกนี้อย่างไร จะเอาอะไรให้พวกเขากิน ในเมื่อเงินเยียวยาจะหมดในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว เราอยากเห็นรัฐบาลลงมือทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างจริงจัง ไม่ใช่สักแต่แก้ตัวไปวันๆ            
    ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเพื่อไทยได้ประเมินการอภิปรายช่วง 2 วันที่ผ่านมา รู้สึกเป็นกังวลต่อ พ.ร.ก.กู้เงิน ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาทที่จะทำให้คนเป็นหนี้ในอนาคต ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์มีฉายาว่า ลุงตู่นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์บริหารดีมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 2557 ตั้งงบประมาณอย่างสมดุล 1 แสนล้านบาทต่อปี ช่วงระยะเวลา 6 ปีก็จะมีเงินถึง 6 แสนล้านบาท ดังนั้นจะมีเงินโดยที่ไม่ต้องกู้ หรือถ้ากู้จะกู้เพียง 2-3 แสนล้านบาทเท่านั้น ในส่วนของรัฐมนตรีที่ลุกมาอภิปรายชี้แจงนั้น นอกจากจะสอบตกแล้ว ยังต้องไล่ออกด้วย เพราะไม่เคยบอกว่าจะหาเงินมาใช้หนี้ได้อย่างไร 
    ด้านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบโต้นายจิรายุว่า การกู้ของรัฐบาลเป็นการกู้เพื่อใช้หนี้ให้กับรัฐบาลในอดีตที่สร้างหนี้ไว้ โดยเฉพาะหนี้สินที่ค้างหนี้ชาวนาในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและหนี้สินอื่นๆ ที่รัฐบาลในอดีตทิ้งค้างไว้อย่างมากมาย ตลอดจนเป็นการกู้มาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำมาแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด-19 เพื่อป้องกันและเยียวยารักษาประชาชน ให้อยู่รอดปลอดภัยจากไวรัสร้าย ซึ่งทุกคนก็ทราบดี
     "การกู้เงินมีมาทุกยุคทุกสมัย รัฐบาลในอดีตก็เคยกู้เงินมาอย่างต่อเนื่องไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่การกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายเยียวยาช่วยเหลือประชาชนเพื่อคนยากคนจนที่เดือดร้อนดีกว่าการกู้มาโกง กู้มาเพื่อหากินใส่กระเป๋าตัวเองหรือพวกพ้อง หรือแจกจ่ายให้ บรรดาวงศาคณาญาติตนเอง ดังนั้นคิดว่าลุงตู่นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาประชาชนชื่นชอบ เพราะลุงตู่กู้เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายอย่างทั่วถึง ดีกว่าผู้นำคนบางคนในอดีตของพวกท่านเป็นนักโกงแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา นักกู้มาโกง นักกู้มากินมาเก็บใส่กระเป๋าตัวเอง โดยไม่เผื่อแผ่ประชาชน อย่างนี้ประชาชนสาปแช่งนะครับ" นายสุภรณ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"