ศบค.คลายล็อกเฟส 3 เริ่ม 1 มิ.ย. ลดเคอร์ฟิวเหลือ 5 ทุ่มถึงตี 3 ผ่อนปรน 14 กิจการ/กิจกรรม โรงหนัง-ร้านนวด-ฟิตเนส-สนามพระ-เปิดห้างถึง 3 ทุ่ม "บิ๊กตู่" สั่งทุกกิจการที่ผ่อนคลายมาตรการต้องเข้มข้น ตั้ง "วิษณุ" คุม คกก.รองรับหลังเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ก.ค. สธ.ออกแบบห้องเรียนแบบใหม่ คู่ขนานกับเรียนออนไลน์ ปลดล็อกบางแสนให้เล่นน้ำทะเลได้
ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
ต่อมาเวลา 11.50 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 11 ราย ทั้งหมดเดินทางกลับมาจากคูเวต และอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ เป็นทั้งผู้ป่วยที่มีอาการและไม่มีอาการ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,076 ราย หายป่วยสะสม 2,945 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงที่ 57 ราย
อย่างไรก็ตาม การไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศวันนี้ ถือเป็นสถานการณ์ที่เข้ากับมาตรการในประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่การผ่อนคลายในระยะที่ 3 ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อใหม่ 115,572 ราย เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 5,905,415 ราย เสียชีวิต 362,024 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ นายกฯ ได้ขอบคุณคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือในการควบคุมและป้องกันโรคจนผลลัพธ์ออกมาแบบนี้ ทำให้ได้รับคำชมจากต่างประเทศ ขณะที่เช้าวันเดียวกัน นายกฯ ได้เยี่ยมชมนวัตกรรมของศูนย์นวัตกรรมของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อาทิ รถตู้โมบายล์ ระบบตรวจจับอุณหภูมิ ตู้เก็บเชื้อความดันลบ เครื่องช่วยหายใจแบบพกพา ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ และชื่นชมว่าเป็นการสร้างนวัตกรรม ลดต้นทุน เพราะผลิตและพัฒนาใช้เองได้ ต่อไปถ้าสามารถจำหน่ายได้จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่า
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการขยายเวลาประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ว่ามีเหตุผลเพื่อให้การบริหารสถานการณ์ในภาพรวมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เอกภาพ และอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงเจตนาของการขยายเวลาการประกาศใช้ ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็จะนำไปสู่การผ่อนปรนระยะที่ 4 และจะนำไปสู่การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป แต่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีความต่อเนื่อง ราบรื่น ควบคุมสถานการณ์ได้ ต้องมีมาตรการรองรับ โดยใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อและกฎหมายอื่นๆ ที่จะมาแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เชื่อมต่อการทำงานในวันที่ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ในที่ประชุม ศบค.ได้พิจารณาประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการเมื่อเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 3 ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณานานพอสมควร โดยประเด็นสำคัญของกิจการ/กิจกรรม ที่ได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ที่เป็นกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางไปถึงสูง ต้องมีมาตรการคัดกรองพนักงานและผู้ใช้บริการที่มีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย จาม หรือเป็นหวัด ต้องรายงานหน่วยงานรับผิดชอบกรณีพบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด และทุกกิจการ/กิจกรรม ต้องมีการลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ เพิ่มมาตรการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ หรือใช้การบันทึกข้อมูลหากไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการติดตามและควบคุม อีกทั้งยังให้พิจารณานวัตกรรมการลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ เช่น การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว ซึ่งต้องทำทุกกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายในรอบนี้ ต้องเข้มข้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังได้หารือถึงการเปิดการเรียนการสอนตามที่มีการกำหนดไว้ในวันที่ 1 ก.ค. ขณะนี้ยังยึดกรอบเวลาดังกล่าวอยู่ แต่ให้พิจารณาเปิดการเรียนการสอนในบางโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีอัตราการระบาดของโรคไม่มาก หรือห้องเรียนที่มีจำนวนผู้เรียนไม่มาก รวมถึงมีการพูดคุยถึงโรงเรียนเอกชน ขณะที่โรงเรียนในเมืองอาจให้พิจารณาเหลื่อมเวลาเรียน 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งที่พิจารณากันตรงนี้เป็นส่วนของเด็กโต ไม่ใช่เด็กเล็กที่ยังมีประเด็นว่าต้องอยู่กันอย่างใกล้ชิด ยังต้องมีเวลานอนด้วยกันอยู่ อาจเป็นความเสี่ยงได้ ส่วนเรื่องโรงเรียนนานาชาติที่มีการร้องเรียนว่าควรเปิดเรียนเร็วเพื่อให้ทันกระแสของโลกและมาตรฐานของต่างประเทศนั้น ยังไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้ นายกฯ มอบให้ รมว.ศึกษาธิการไปศึกษาหาข้อสรุปของแต่ละเรื่องมานำเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป
คลายล็อก 14 กิจการ
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงว่า ศบค.ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในการผ่อนปรนในระยะที่ 3 โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปในประเด็นแรกคือ การผ่อนผันการใช้อาคารโรงเรียน สถานศึกษา เพื่อใช้สอบคัดเลือกและอบรมระยะสั้น แต่ยังไม่ได้เปิดให้มีการเรียนการสอน ส่วนโรงเรียนนอกระบบเฉพาะเอกชน ให้เปิดเฉพาะวิชาชีพ ศิลปะ และการกีฬา
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้ผ่อนปรนกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ได้แก่ 1.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการจนถึงเวลา 21.00 น. 2.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ จำกัดพื้นที่รวมไม่เกิน 20,000 ตารางเมตร และให้ปิดไม่เกินเวลา 21.00 น. 3.สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง สามารถเปิดบริการได้ แต่ต้องห้ามให้มีคนมาชุมนุมหนาแน่นและไร้ระเบียบ 4.ร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม สำหรับบุรุษหรือสตรี ซึ่งการให้บริการที่จะทำได้เพิ่มนั้น คือ การทำสีผม รายละไม่เกิน 2 ชั่วโมง และห้ามมีผู้นั่งรอในร้าน 5.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน เปิดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประกอบอาหารสำหรับเด็ก เพื่อแจกจ่ายเครื่องดื่มและอาหารกลางวันให้ผู้ปกครองนำกลับไปให้เด็ก
รวมทั้งมีมติผ่อนปรนกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ ได้แก่ 1.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สัก หรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สามารถทำได้ทั้งตัว จากเดิมที่อนุญาตให้ทำตั้งแต่คอลงไป โดยในระยะที่ 3 จะเปิดให้ทำใบหน้าได้ แต่ยังมีความกังวลการสัมผัสใบหน้าที่อาจจะแพร่เชื้อได้ จึงแนะนำผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยระหว่างรับบริการ ขณะที่การสักคิ้วยังพอทำได้ แต่อย่าเพิ่งไปทำศัลยกรรมจมูก 2.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย สามารถเปิดได้ นวดฝ่าเท้าได้ แต่งดการอบตัว อบสมุนไพร อบไอน้ำแบบรวม นวดใบหน้า ส่วนกิจการอาบน้ำ กิจการอาบอบนวด ก็ยังไม่ผ่อนคลายให้เปิดได้
3.สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ให้เปิดสถานที่ออกกำลังกายฟิตเนสทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า โดยผ่อนคลายให้สามารถทำกิจกรรมได้ทั้งหมด แต่มีข้อจำกัดระยะเวลาในการใช้บริการ และจำนวนผู้ใช้บริการ 4.สนามกีฬา เพื่อออกกำลังกายหรือฝึกซ้อม ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล โดยไม่มีการแข่งขัน และมีรวมกิจกรรมไม่เกิน 10 คนไม่นับผู้เล่น รวมถึงมวยอนุญาตให้เปิดค่ายฝึกซ้อมกับอุปกรณ์โดยไม่มีคู่ซ้อม 5.สถานที่เล่นโบว์ลิง สเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน เปิดเฉพาะการออกกำลังกายหรือการฝึกซ้อม 6.สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ
7.สระน้ำ เพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็ตสกี ไคท์เซิร์ฟ บานาน่าโบ๊ต ซึ่งต้องไม่เป็นการแข่งขัน และต้องจำกัดจำนวนผู้เล่นและมีมาตรการการทำความสะอาด ซึ่งยังไม่รวมถึงกิจกรรมตามชายทะเล 8.โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ ซึ่งการฉายภาพยนต์แต่ละเรื่องต้องมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 200 คน ส่วนโรงมหรสพแบบเฉพาะลิเก ลำตัด การแสดงพื้นบ้าน งดแสดงดนตรี คอนเสิร์ต และ 9.สวนสัตว์ หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ จำกัดผู้ร่วมกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่ม อย่างไรก็ตาม เราทราบดีว่ากิจกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงแพร่เชื้อค่อนข้างสูง มาตรการที่ต้องทำควบคู่ไปก็คือ ต้องสวมหน้ากากอนามัย การวัดไข้ เว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคน เป็นต้น
ลดเคอร์ฟิว 5 ทุ่มถึงตี 3
ส่วนมาตรการบังคับด้านกฎหมาย ยังควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก เรือ และอากาศ ทุกช่องทางยังเข้มข้นเหมือนเดิม แต่คนที่เดินทางเข้ามาอาจมีเชื้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล ขณะที่มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานนั้น จะมีการผ่อนคลายตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป โดยปรับลดเวลาเป็น 23.00-03.00 น. เพื่อผ่อนปรนให้ 1 ชั่วโมง เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงกิจกรรมบางอย่างให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ สำหรับการเดินทางห้ามจังหวัดนั้น อนุญาตให้เดินทางข้ามได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป แต่ไม่ถือว่าเสรีมาก เพราะเห็นว่าบ้านยังเป็นที่ปลอดภัยที่สุด แต่การเดินทางมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของทางราชการ เจ้าหน้าที่สามารถสอบถามถึงเหตุผล ความจำเป็นในการเดินทางและระยะเวลาที่จะใช้ ทั้งนี้ กรณีที่ประชาชนเริ่มมีการจองที่พักตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ถือว่ามีความเหมาะสมแค่ไหนในช่วงเวลานี้นั้น ก็ต้องไปดูว่าไปเที่ยวที่ไหน ถ้าไปชายทะเลยังไม่เปิด แต่ถ้าเป็นสถานที่ทางวัฒนธรรมเปิดให้บริการแล้ว
“เหตุผลที่ยังไม่ยกเลิกเคอร์ฟิว เพราะมีเรื่องสำคัญตอนนี้เรายังห้ามดื่มสุราในร้านอาหาร แต่ให้ซื้อกลับไปกินที่บ้าน เนื่องจากมีคนบางกลุ่มใช้ช่วงเวลานี้มั่วสุมทำไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรค จึงต้องมีเคอร์ฟิวกำกับ อาจจะไม่สะดวก แต่จำเป็นในช่วงเวลานี้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเราพยายามลดลงไปเรื่อยๆ" เลขาธิการ สมช.ระบุ
พล.อ.สมศักดิ์เปิดเผยด้วยว่า หลังประชุม ศบค. ได้เสนอนายกฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาศึกษาเพื่อรองรับกรณีหากยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หลังมีการขยายการบังคับใช้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. โดยนายกฯ เห็นชอบหลักการด้วย ซึ่งจะมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่พิจารณาว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. หากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว และสมมติจะมีการเปิดประเทศ จะใช้กฎหมายฉบับใดมาใช้แทน เพราะต้องมีมาตรการดูแลป้องกันดูแลที่เหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับรายชื่อคณะกรรมการนายวิษณุ จะนำเสนอนายกฯ เพื่อแต่งตั้งต่อไป
ขณะที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานต่อที่ประชุม ศบค. ถึงพฤติกรรมการป้องกันตัวเองของประชาชน โดยพบว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นการใส่หน้ากากที่ประชาชนยังให้ความสำคัญ ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนเดินทางออกนอกจังหวัดถึง 26% และมีกิจกรรมในการพบปะรวมกลุ่มกันมากขึ้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีคนไทย 11% ไปร่วมกิจกรรมทางสังคม ทั้งนี้ ว่าคนส่วนใหญ่จะยังคงเดินทางไปแค่สถานที่ซึ่งมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ ตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ทำงาน สถานพยาบาล ร้านอาหาร และร้านตัดผม และจากการสำรวจพบว่า การจัดมาตรการป้องกันของแต่ละสถานที่ยังทำได้ไม่ดี ควบคุมได้เพียง 57% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่นันทนาการ และศาสนสถาน ทำได้น้อยกว่า 50% ส่วนความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีน ขณะนี้ไทยกำลังทดลองในสัตว์ คาดว่าผลของการการทดสอบ 10 แบบ ใน 5 ประเทศ จะใช้เวลา 6-12 เดือน
พล.อ.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รายงานการปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงว่าภาพรวมการตรวจ และการดำเนินการของชุดตรวจ พบว่าจับกุมผู้กระทำความผิด ฝ่าฝืนได้น้อยลง ประชาชน ร้านค้า ให้ความร่วมมืออย่างดี มีกิจกรรมมั่วสุมลดลง
90% ร่วมมือป้องโควิด
นายเฉลิม พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานการปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนว่า ได้ดูแลผู้ถูกกักตัวใน State Quarantine ที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถรองรับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น และรายงานถึงกิจกรรมที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการจำนวน 47,164 แห่ง อนุญาตให้เปิดกิจการ/ กิจกรรมได้ 291,394 แห่ง ทั้งนี้ จากการประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ประชาชนให้ความร่วมมือตามมาตรการป้องกันโรคเกิน 90%
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานภาพรวมการใช้งาน Platform “ไทยชนะ” ว่ามียอดสะสมร้านค้าใช้งาน 125,408 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 15,592,611 คน ตั้งแต่ 17-28 พ.ค. ส่วนผลการประเมินกิจการ/กิจกรรม ตามมาตรการ ผลคะแนนเกิน 90% ในทุกประเภทธุรกิจ เช่น การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ธนาคาร คลินิกเสริมความงาม
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับให้ทุกหน่วยในสังกัดบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง ทหาร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมในเฟส 3 กรณีโรงภาพยนตร์ว่า ขณะนี้ได้มีการซักซ้อมความพร้อมของการเปิดชมภาพยนตร์แล้ว นอกจากเรื่องการทำความสะอาดหลังสิ้นเสร็จแต่ละรอบการชมภาพยนตร์แล้ว ยังมีข้อกำหนดเรื่องของการนั่งชมภาพยนตร์ด้วย โดยให้นั่งชมติดกันได้มากสุดแค่ 2 คน จากนั้นเว้นระยะห่าง 3 ที่นั่ง เพื่อให้ได้ระยะห่างที่เหมาะสม 1-2 เมตร และแต่ละแถวที่นั่งในโรงภาพยนตร์ยังต้องนั่งเยื้องสลับกันเพื่อให้เกิดความห่าง ไม่ใกล้ชิด สิ่งสำคัญในระหว่างการชมภาพยนตร์ที่ต้องขอความร่วมมือเด็ดขาด คือการห้ามรับประทานน้ำดื่มและป๊อปคอร์นโดยเด็ดขาด เนื่องจากต้องถอดหน้ากากอนามัยและอาจสัมผัสใบหน้า ละอองฝอยน้ำลายอาจกระเด็นออกมาได้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
พญ.พรรณพิมลยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค. ว่าบทเรียนการเปิดภาคเรียนในต่างประเทศช่วงโควิด-19 ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่รัฐบาลเป็นผู้ประกาศล่วงหน้าให้มีการเปิดโรงเรียนและแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กทำความสะอาดมือบ่อยๆ การรักษาระยะห่าง สุขอนามัยของระบบในโรงเรียน สลับช่วงเวลาพักของนักเรียน ในส่วนของญี่ปุ่นเน้นเปิดโรงเรียนในชั้นเรียน ที่มีความจำเป็นในการสอบเพื่อขึ้นชั้นเรียน โดยมีการจดการเรียนแบบกลุ่มเล็กๆ ใช้หลายห้องคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียนช่วงหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงกีฬาแบบกลุ่ม ส่วนฝรั่งเศสกับเกาหลีใต้ เป็น 2 ประเทศที่ไทยต้องระมัดระวังอย่างมาก โดยฝรั่งเศสพบว่าเมื่อเปิดเรียนแล้วมีนักเรียนติดเชื้อ 70 รายในเนิร์สเซอรีกับประถม หลังจากอนุญาตให้มีการเปิดเรียน
ทดลองเรียนแบบใหม่
สำหรับขณะนี้มีคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้จัดทำร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้มีการเข้าไปทดลองในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งว่า การคัดกรองนักเรียนตอนเช้าเป็นอย่างไร อีกทั้งพบว่าความร่วมมือของเด็กในการสวมหน้ากากอนามัยค่อนข้างดี ซึ่งครูเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนที่จะทำให้การจัดการเกิดขึ้นได้ ส่วนการล้างมือจะให้เด็กมีการล้างมือทุกครั้งเวลาเปลี่ยนชั้นเรียน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนการเว้นระยะห่าง โรงเรียนจะมี 3 พื้นที่หลักคือ ห้องเรียน โดยมีการเว้นระยะห่างของโต๊ะนักเรียนส่งผลให้มีเด็กที่เรียนในห้องจาก 40 คนเหลือ 20 กว่าคน ซึ่งเด็กครึ่งหนึ่งจะไม่สามารถใช้ห้องเรียนได้ในเวลาเดียวกัน จึงต้องมีการออกแบบว่าจะเชื่อมโยงการเรียนการสอนกับเด็กอย่างไร โดยทางเลือกมีหลายรูปแบบ ทั้งการทำพื้นที่ชั่วคราวในโรงเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนแบบคู่ขนานกัน หรือเรียนออนไลน์แล้วผลัดกันมาเรียน
ส่วนมาตรการในการรับ-ส่งนักเรียน แม้ว่าผู้ปกครองจะมีการตกลงกันเองในเรื่องของการจัดการรถรับ-ส่งนักเรียน แต่จะต้องมีการลงทะเบียนแจ้งให้โรงเรียนทราบ และมีการซักซ้อม รวมถึงจัดการทำความสะอาดภายในรถทุกวันก่อนออกมารับนักเรียนแต่ละคน และในรถรับ-ส่งจะต้องมีผู้ดูแลนักเรียนนอกจากพนักงานขับรถ รวมถึงจัดเว้นระยะห่างของนักเรียน สวมใส่หน้ากาก และงดการเล่น แตะ หรือสัมผัสกัน
เมื่อถามถึงการใส่หน้ากากอนามัยของนักเรียน อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย แต่เด็กที่ไปโรงเรียนส่วนใหญ่จะอายุเกิน 2 ขวบครึ่งขึ้นไป ซึ่งจะมีหน้ากากที่มีขนาดของเด็กที่ใส่แล้วพอดีกระชับ โดยจากการคุยกับเด็กเล็กเขาก็มีความเข้าใจ และบอกว่าแม้อึดอัดก็ต้องใส่ ถ้าผู้ปกครองสนับสนุนเด็กจะใส่หน้ากากอนามัยได้
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดของโรคในโรงเรียนแม้ว่าพบนักเรียนที่ติดเชื้อแค่ 1 ราย ก็ต้องให้ความสำคัญ จะต้องมีการสอบสวนโรคว่าเด็กติดเชื้อกันเองในโรงเรียนหรือนำเชื้อมาจากที่บ้าน เพื่อสามารถจัดการการแพร่ระบาดได้อย่างท่วงที ส่วนจะต้องมีการปิดโรงเรียนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละราย ถ้าเด็กไม่ได้มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมกับนักเรียนห้องอื่นๆ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะปิดโรงเรียน แต่อาจจะปิดแค่ห้องเรียนที่พบเชื้อ
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มีกลุ่มผู้ประกอบการรถทัวร์ท่องเที่ยวทั่วไทย และเจ้าของรถทัวร์ท่องเที่ยวทั่วไทย หรือรถบัสรับจ้างไม่ประจำทาง ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือหลังจากได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยให้คณะรัฐมนตรีเยียวยาและลดหย่อนผ่อนผันในบางกรณี
ขณะที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยภายหลังนำเสนอผลงานนวัตกรรมทั้ง 7 ชิ้นให้แก่นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย รถตู้โมบายล์ ระบบตรวจจับอุณหภูมิด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อน เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตโอโซนสำหรับฆ่าเชื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตู้ตรวจเชื้อแบบความดันบวก ตู้ตรวจเชื้อแบบความดันลบ และหุ่นยนต์ลำเลียงอาหารและเวชภัณฑ์ ว่ามีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัย และพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือวิกฤติโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ที่ จ.ชลบุรี นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข ได้รับการอนุมัติจากนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ชลบุรี เห็นชอบให้เปิดชายหาดทะเลบางแสน จึงมีปรับภูมิทัศน์ และเร่งจัดระเบียบเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินลงไปเล่นน้ำทะเลได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้พ่อค้าแม่ค้าไปขายอาหารได้ ซึ่งต้องมีการจัดล็อกเตียงผ้าใบให้เข้าระบบแบบใหม่ New normal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19
นายณรงค์ชัยเปิดเผยว่า ชายหาดบางแสนคาดว่าจะเปิดได้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ เฉพาะนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเล่นน้ำได้ แต่ยังไม่เปิดให้ขายอาหาร ส่วนวันที่ 2 และ 4 มิ.ย. จะให้ผู้ประกอบการทดสอบนำล็อกเตียงมาตั้งแบบใหม่ จากนั้นในวันที่ 5 มิ.ย. จะเปิดให้ขายอาหารได้ และเที่ยวเต็มระบบแบบใหม่ อย่างไรก็ตามหาดบางแสนจะหยุดขายอาหารทุกวันจันทร์ แต่นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้ แต่ถ้าตรงกับวันหยุดชดเชยหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์จะเลื่อนวันหยุดเป็นวันอังคารแทน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |