เข้าใจเข้าถึงความเจ็บปวด "เด็ก...ในโลกยุคผันผวน"


เพิ่มเพื่อน    

 

ปัจจุบันปัญหาความเจ็บปวดทางใจในเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะนึกไม่ถึง หรือไม่มีเวลาที่จะทันสังเกต ทั้งที่ "เจ็บในใจ" นี้ เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะบานปลายหรือสะสมกลายเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ อาทิ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อีกทั้งเสี่ยงต่อโรคติดเชื้ออย่างโรคโควิด-19 ก่อนวัยอันควรอีกด้วย

ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 6 ปี 2563 “Childhood Trauma in Disruptive World : early intervention, the sooner the better ความเจ็บปวดของเด็กในโลกผันผวน : รู้จักเข้าใจความเจ็บปวดของเด็กในโลกยุคผันผวน และเรียนรู้วิธีการเยียวยาและป้องกัน” ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล มาให้มุมมองและวิธีการแก้ไขป้องกันปัญหาบาดแผลทางใจในเด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ขวบไว้น่าสนใจ

(รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์)

รศ.นพ.อดิศักดิ์ อธิบายว่า “เนื่องจากสังคมในปัจจุบันนั้นเป็นระบบทุนนิยม จึงทำให้สังคมมีการแข่งขันสูง ประกอบกับระบบของครอบครัวในปัจจุบันเริ่มอ่อนแอลง เห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาการหย่าร้างของผู้ปกครองนั้นสูงขึ้น นั่นจึงส่งผลเสียต่อเด็กมากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ที่แยกทางกันจะปล่อยให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย อีกทั้งเมื่อตรวจสอบย้อนกลับไป จะพบว่าผู้ปกครองนั้นมีประวัติก่ออาชญากรรม ติดยา ถูกทำร้ายจากผู้ปกครองในอดีต นั่นจึงทำให้มีสุขภาพที่ไม่สมบรูณ์ หรือแม้แต่การที่พ่อแม่ท้องก่อนวัยอันควร กระทั่งทำให้เกิดความเครียดและความรู้สึกกดดันในการใช้ชีวิต และทำร้ายบุตรหลานในลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีทั้งการทำร้ายร่างกายเด็ก ดุด่า ทอดทิ้งเด็กให้อยู่กับปู่ย่าตายาย ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก หรือแม้แต่การที่พ่อแม่ละเลยเรื่องของโภชนาการ ทำให้เด็กขาดสารอาหาร ที่ไปกระตุ้นการพัฒนาหรือการเจริญเติบโตของสมอง ทำให้สมองทำงานได้ลดน้อยลง หรือแม้แต่การที่เด็กเล็กเห็นพ่อแม่ติดยาและเสพยาเสพติด กระทั่งพ่อแม่ที่ตีกันทำร้ายร่างกายกัน ก็จะทำให้หัวใจของเด็กเต้นเร็ว และทำให้ระบบโลหิตไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ไม่ดี และเมื่อเขาโตขึ้นมาเป็นวัยกลางคน ก็จะทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อ หรือโรค NCDs (โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ฯลฯ) ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเร็วกว่าวัยอันควรนั่นเอง

“จากที่มีการศึกษาเกี่ยวกับการเฝ้าระวังเรื่องประสบการณ์เลวร้ายในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ขวบเกิน 4 ข้อ จะส่งผลกระทบต่อเด็กในกลุ่มดังกล่าว ตั้งแต่ 1.พัฒนาการในเด็กเกิดความล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน 2.เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียนก็จะทำให้เรียนได้ไม่ดี 3.เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน หรือมีอาการซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือติดยาเสพติด กระทั่งปัญหาการท้องก่อนวัยอันควร เป็นต้น อีกทั้งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่นั้น ก็จะทำให้การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ไม่ดี หรือเกิดความไม่สร้างสรรค์ในที่ทำงาน หรือแม้แต่ละทิ้งการทำงานไปโดยไม่มีความรับผิดชอบ 4.จากภาวะบาดแผลทางใจในเด็ก โดยการถูกกระทำจากพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น จะทำให้เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจได้ ในกลุ่มของเด็กที่เห็นพ่อแม่ทำร้ายร่างกายกันและกัน หรือการที่เด็กเห็นพ่อแม่เสพยาเสพติด เป็นต้น”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกอีกว่า อันที่จริงแล้วปัญหาบาดแผลทางใจที่เด็กได้รับจากการถูกกระทำโดยคนในครอบครัว มีสาเหตุมาจากจุดวิกฤติทางสังคม 4 เรื่องหลักๆ คือ 1.เศรษฐกิจในโลกยุคผันผวน หรือเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เรื่องการทำมาหากินของผู้ปกครองยุคใหม่ ทำให้เกิดความเครียดและการขาดแคลน ที่ก่อให้ผู้ปกครองยุคใหม่เกิดความเครียดสูง 2.ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โรคระบาด หรือปัญหาโลกร้อน 3.เทคโนโลยี หรือสื่อโซเชียล ที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรอย่างมหาศาลให้ผู้ผลิต โดยไม่มีการถดถอย หรือถอยหลัง เนื่องจากเทคโนโลยีสร้างความบันเทิงให้กับผู้ใหญ่ อีกทั้งอินเทอร์เน็ตได้ทำร้ายเด็กและเยาวชนโดยไม่มีการแก้ไข หรือการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย 4.ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ โลกร้อนจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนโรงงานผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น และทั้งหมดที่กล่าวมานั้นถือเป็นสภาพสังคมที่เกิดความผันผวนหรือเปลี่ยนแปลงในบ้านเรา ที่ส่งผลต่อผู้ปกครอง และต่อเนื่องมายังเด็กและเยาวชนในยุคนี้

“ทั้งนี้ วิธีสังเกตเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 8 ขวบที่ได้รับบาดแผลทางใจซึ่งควรจะได้รับการแก้ไขนั้น มีวิธีสังเกตดังนี้ 1.มีพฤติกรรมไม่เหมือนเด็กทั่วไป หรือมีภาวะซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด 2.ก้าวร้าว 3.ทำสิ่งต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จตามวัยของเด็ก 4.เด็กควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ 5.การเรียนรู้ถดถอยหรือถอยหลัง ล่าช้า 6.เข้ากลุ่มกับผู้อื่นไม่ได้ และชอบแยกตัวเอง เป็นต้น”

ส่วนแนวทางในการแก้ไขภาวะบาดแผลทางใจของเด็กนั้น ต้องเริ่มจาก 1.การประเมินตัวเองของผู้ปกครองว่ายังสามารถดูแลบุตรหลานได้หรือไม่ หรือถ้าหากยังสามารถดูแลเด็กได้ ก็ให้พูดคุยและปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตรหลานของตัวเองให้เป็นไปในเชิงบวก เพื่อให้เกิดผลดีกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตในเด็ก เช่น การให้เวลากับลูกหลานด้วยการเล่นกับเด็ก เพื่อสร้างความอบอุ่นและใกล้ชิดกัน อีกทั้งยังทำให้เด็กเล็กไม่รู้สึกว่าเขาถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ ทั้งนี้ อาจมีทีม อสม.ในการเยี่ยมบ้าน เพื่อช่วยปรับพฤติกรรม ให้พ่อแม่เล่นกับลูกให้มากขึ้น

2.หากประเมินแล้วว่าผู้ปกครองไม่สามารถดูแลลูกได้ หรือผลการประเมินแล้วต่ำกว่าเกณฑ์ หรือเด็กไม่ปลอดภัยเมื่อต้องอยู่กับครอบครัว ตรงนี้สังคมภายนอกต้องรีบเข้าไปแทรกแซง หรือช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยอาศัยความเป็นชุมชนที่เข้มแข็งคอยช่วยกันสอดส่องดูแล เช่น การใช้กลุ่ม อสม.หรือกลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน ตลอดจนครูในศูนย์เด็กเล็กในชุมชน ทำการเยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจผู้ปกครองในการเลี้ยงดูลูกเล็ก หรือเด็กช่วงประถมวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 8 ขวบอย่างถูกต้อง 3.หากกลุ่มอาสาสมัครในชุมชนลงพื้นที่ให้ความรู้กับผู้ปกครองแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จนั้น ก็จำเป็นต้องแยกเด็กออกจากผู้ปกครอง โดยทางสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวของเราก็มีสายฮอตไลน์ของบ้านพักเด็กและครอบครัวอยู่ ในการช่วยดูแลเด็กกลุ่มนี้ หรือช่วยประสานงาน เพื่อนำเด็กได้ที่ได้ผลกระทบจากการครอบครัวไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัว หรือแม้แต่การที่ชุมชนซึ่งบางพื้นที่มีบ้านพักเด็กในชุมชนอยู่ ผู้นำชุมชน หรือทีม อสม. ก็ต้องแยกตัวเด็กที่ได้รับบาดแผลทางใจออกมาดูแลเบื้องต้น เพราะอย่าลืมว่าอันที่จริงเรามีหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้ เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว บ้านสงเคราะห์เด็ก บ้านคุ้มครองเด็ก ในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากผู้ปกครองที่ไม่พร้อมดูแลบุตร เนื่องจากพ่อแม่ประสบปัญหาที่บีบคั้น

 รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกอีกว่า ที่ผ่านมาทางสถาบันเด็กฯ ของเราก็ได้มีบูรณาการชุมชน โดยการจัดทำเครื่องมือเพื่อตรวจวัดวิกฤติในครอบครัว ตั้งแต่เรื่องความยากจน การเลี้ยงดูบุตรหลานช่วงประถมวัยที่ไม่เหมาะสม โดยการลงพื้นไปสำรวจ อีกทั้งเราได้ทำงานร่วมกับชุมชนในอีก 4 จังหวัด สำหรับครอบครัวที่เลี้ยงดูเด็กแบบมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ โดยการจัดตั้งทีมอาสาสมัครเพื่อลงไปประเมินและกระตุ้นการพัฒนา อีกทั้งนำมาสู่การเรียนรู้ของครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่เด็กอยู่กับปู่ย่าตายายเนื่องจากผู้ปกครองติดคุก เป็นต้น เพื่อให้มีความรู้ในการดูแลเด็กประถมวัยอย่างถูกต้อง และทางสถาบันเด็กฯ ก็ได้นำเด็กในกลุ่มดังกล่าวจำนวน 30 คนมาเรียนรู้ผ่านฐานกิจกรรม สร้างพัฒนาการที่เราได้จัดทำขึ้น โดยมีทีมของผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะในการกระตุ้นพฤติกรรมเด็กมาเป็นผู้ให้ความรู้ กระทั่งที่สถาบันของเรารับตัวเด็กจากบ้านพักเด็กฉุกเฉินต่างๆ ช่วงอายุ 1 ขวบครึ่งจนถึง 6 ขวบ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะมีภาวะช็อกจากการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ มาร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะพฤติกรรมที่เราได้จัดเตรียมไว้ แม้ว่าภายในบ้านพักเด็กจะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อเด็กได้ทำ แต่อย่าลืมว่ากิจกรรมที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และจากที่จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น พบว่าเด็กกลุ่มนี้เริ่มที่จะพูดคุย ร้องเพลง และกล้าพูดคุยกับผู้อื่นได้มากขึ้น แม้ว่าจะมาร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะ กระตุ้นพฤติกรรม (การเข้าสังคม และการสื่อสารกับผู้อื่น พัฒนาการด้านต่างๆ ทั่วไป สุขภาพ และการควบคุมตัวเอง) ได้ไม่เกิน 7 วันก็ตาม

ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว บอกอีกว่า “ในอนาคตแนวโน้มของเด็กที่มีบาดแผลทางใจนั้น มีแนวโน้มพบได้มากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างแข่งขัน เร่งรีบ อีกทั้งสังคมค่อนข้างมีความเหลื่อมล้ำกันสูงระหว่างคนรวยคนจน อีกทั้งครอบครัวยุคใหม่หย่าร้างกันค่อนข้างสูง พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง กระทั่งเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตที่ทำร้ายเด็ก โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับช่วงวัย อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ต่างก็กระตุ้นให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่เป็นลบ และส่งผลต่อสุขภาพจิตใจในช่วงประถมวัย อีกทั้งเมื่อย้อนกลับไปดูก็พบว่าผู้ปกครองก็มีประวัติได้รับความรุนแรง อีกทั้งได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม และนำมาสู่การเลี้ยงดูบุตรที่เป็นลบเช่นเดียวกัน

“ทั้งนี้ สิ่งที่จะแก้ไขภาวะบาดเจ็บทางใจหรือแผลทางใจให้กับเด็กแรกเกิดกระทั่งอายุ 6 ขวบนั้นคือ “ความสัมพันธ์ที่ดีกับบุตรหลาน” โดยใช้วิธีการเล่นกับเด็ก ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองสร้างได้ หากว่าพ่อแม่สามารถพูดคุยหยอกล้อกับคนอื่นได้ หรือพูดตลกเพื่อให้คนอื่นหัวเราะได้ คุณก็สามารถที่จะเล่นกับลูกได้ เพื่อสร้างความรักความผูกพัน และเด็กจะรับรู้ได้โดยที่ผู้ปกครองไม่จำเป็นไปตีกรอบให้กับบุตรหลานรู้สึกว่าพ่อแม่รักเขา หรือแม้แต่การกอดลูก ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้อย่างง่ายๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ลดปัญหาสุขภาพจิตดังกล่าวในเด็กได้เช่นกัน”

นอกจากพ่อแม่แล้ว ปู่ย่าตายายก็สามารถกระชับความอบอุ่นให้กับลูกหลานด้วยวิธีดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะนั่นไม่เพียงลดช่องว่างระหว่างวัย แต่การเล่น การกอดหอมเด็กเล็ก ถือเป็นวิธีสร้างความรักความผูกพันที่ถือว่าเป็นยาที่สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้เด็กเล็กได้ดีที่สุด.

 

 

วิธีเล่นกับลูกที่พ่อแม่สามารถฝึกได้!!!

1.อ่านนิทานให้ลูกฟัง โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องไปคาดคั้น แต่ควรตั้งคำถามเพื่อให้เด็กเรียนรู้การตอบคำถาม และสุดท้ายก็จะนำมาซึ่งการทำตาม ทั้งนี้ ผู้ปกครองสามารถที่จะเปลี่ยนมาเป็นการอ่านหนังสือการ์ตูนให้ลูกฟัง และตั้งคำถามเพื่อให้ลูกตอบก็ได้เช่นกัน นั่นจึงถือว่าเป็นการใช้เวลาว่างด้วยกัน ทำให้เด็กไม่ถูกทอดทิ้งทางอารมณ์

2.ประดิษฐ์ของเล่นจากกระดาษ สำหรับครอบครัวที่ฐานะยากจน เพราะการที่ผู้ปกครองสอนเด็กทำของเล่น นั่นแปลว่าคุณจะต้องเล่นกับลูกเป็นอย่างแน่นอน หรือหากเล่นไม่เป็นก็สามารถฝึกได้ รวมถึงปู่ย่าตายายที่เลี้ยงลูกหลาน ก็สามารถชวนหลานทำของเล่นสมัยวัยเยาว์ได้เช่นกัน

3.เลี้ยงดูลูกหลานด้วยความเข้าใจ โดยการกอด การปลอบ การให้กำลังใจ มากกว่าดุด่าหรือทำร้ายร่างกายเด็ก อีกทั้งเวลาที่เด็กเล็กทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้ ก็ต้องไม่คาดคั้นหรือตีเด็ก เพราะทุกอย่างต้องใช้วิธีการสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น สุดท้ายเด็กจะซึมซับในสิ่งที่ผู้ใหญ่สอน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"