ขยับเคอร์ฟิว5ทุ่ม-ตี3 ชงศบค.เคาะคลายล็อกโรงหนัง-นวด/สถานบันเทิง-มวยรอก่อน


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กตู่" ประชุม "ศบค.ย่อย" ถกคลายล็อกเฟส 3 ก่อนชงชุดใหญ่เคาะ 29 พ.ค.นี้ ขยับเคอร์ฟิวเหลือ 5 ทุ่ม-ตี 3 ห้างเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ผ่อนปรนโรงหนัง-โรงละคร-ร้านนวด เสริมสวยให้เพิ่มทำสีผม "สถานบันเทิง-มวย" เสี่ยงสูงรอก่อน "เทวัญ" ชง "วิษณุ" เยียวยาวัด ยึดโมเดลพระ 3 จว.ชายแดนใต้  "หมอทวีศิลป์" เผยไทยพบติดเชื้ออีก 11 ราย
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 พ.ค. เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรียกประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดเล็ก เพื่อหารือถึงแนวทางการผ่อนปรนระยะ 3 และการลดเวลาเคอร์ฟิวเพิ่มเติม ภายหลังในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน ได้มีการประชุมและได้พิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของกิจกรรมและกิจการที่จะผ่อนปรน รวมถึงแนวโน้มที่จะลดเวลาเคอร์ฟิวลงอีก  1 ชั่วโมง ก่อนที่จะเคาะสรุปส่ง ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 29 พ.ค.นี้
    ทั้งนี้ บุคคลที่มาร่วมประชุมประกอบด้วย พล.อ.สมศักดิ์, นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค ฯลฯ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ ศบค.ชุดเล็กใช้เวลาเพียง 40 นาที จากนั้น พล.อ.สมศักดิ์​ได้เดินมายังตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพบกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย คาดว่าจะหารือเกี่ยวกับข้อกำหนดการผ่อนคลาย
    พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า การประชุม ศบค.คณะใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานในวันที่ 29 พ.ค.นี้ จะพิจารณาลดเวลาห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ลงอีก 1 ชั่วโมง ซึ่งตอนนี้ตนยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเริ่มตั้งแต่กี่โมงและสิ้นสุดกี่โมง นอกจากนี้จะมีผลสรุปว่ากิจกรรมและกิจการใดบ้างที่จะได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 3 ซึ่งน่าจะเป็นการเปิดให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมเพิ่มเติมในกิจการที่ได้รับการผ่อนคลายไปแล้วก่อนหน้านี้ อาทิ อาจจะผ่อนปรนให้โรงภาพยนตร์ในและนอกห้างสรรพสินค้า รวมถึงโรงละคร​ โรงมหรสพด้วย ส่วนการเปิดกิจการนวดแผนโบราณต้องปรับรูปแบบการให้บริการ การให้ประชาชนเดินทางไปต่างจังหวัดได้ 
    เมื่อถามว่าจะผ่อนปรนให้โรงเรียนกวดวิชา สวนน้ำ และสวนสนุกด้วยหรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า กิจการเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอยู่ จึงยังไม่น่าจะได้รับการอนุญาตให้เปิดทำการ และต้องรอการพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ขอให้รอความชัดเจนจากที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ส่วนตัวคิดว่าประเภทกิจการและกิจกรรมต่างๆ จะทยอยได้รับการผ่อนคลายหมดภายในเดือน มิ.ย.นี้
ขยับเคอร์ฟิวร้านนวดเฮ
    จากนั้นเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้บันทึกเทปคำกล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรม High-Level  Event on Financing for Development in the Era of COVID-19 and Beyond (การเงินเพื่อการพัฒนาในยุคโควิด-19) ที่จัดขึ้น ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของนายกฯ แคนาดา  นายกฯ จาเมกา และเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่จัดประชุมทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยเทปถ้อยแถลงดังกล่าวจะเผยแพร่ในเวลา 10.17 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนิวยอร์ก ซึ่งตรงกับเวลา 21.17  น.ของไทย) วันที่ 29 พ.ค.
    พล.อ.ประยุทธ์ใช้โอกาสนี้พูดถึงความร่วมมือว่า โลกจะต้องปรับตัวต่อ new normal ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน ทั้งเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ 
    กระทั่งเวลา 14.23 น. พล.อ.ประยุทธ์เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ไปร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินในวันที่สอง โดยก่อนเข้าร่วมประชุม พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงการปรับลดเวลาเคอร์ฟิว ใช้เพียงการพยักหน้าตอบ
    ซักว่าการเตรียมผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 จะอนุญาตให้กิจการขนาดใหญ่เปิดได้ใช่หรือไม่  นายกฯ ตอบสั้นๆ ว่าขอให้รอฟังวันที่ 29 พ.ค.นี้
    มีรายงานว่า การผ่อนคลายมาตรการระยะ 3 นั้น เบื้องต้นจะมีการปรับลดเวลาเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักร จากเดิมที่ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 23.00-04.00 น. มาเป็น 23.00-03.00 น. การปรับเวลาปิดห้างสรรพสินค้า จากเดิมที่ให้ปิดในเวลา 20.00 น. มาเป็น 21.00 น. โดยจะมีร้านค้าภายในห้างที่จะได้กลับมาเปิดบริการเพิ่มเติม รวมถึงอนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารภายในร้าน สำหรับกลุ่มที่มาด้วยกันตั้งแต่ 4-6 คน 
    นอกจากนี้ จะมีการอนุญาตให้ร้านนวดแผนไทยกลับมาเปิดกิจการได้ ขณะเดียวกันในส่วนของร้านตัดผม จากเดิมในการผ่อนปรนระยะ 2 อนุญาตผู้ประกอบการให้บริการเฉพาะ ตัด สระ ซอย แต่งผม นั้น ในระยะต่อไปจะอนุญาตเพิ่มเติมให้ทำสีผมได้ภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงการให้จัดงานแสดงสินค้าในพื้นที่ไม่เกิน 2 หมื่นตารางเมตร เพื่อให้ธุรกิจหรือโรงแรมสามารถเดินต่อไปได้​
    "ในส่วนของสถานบันเทิง ผับ บาร์ มวย รวมถึงกิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อสูงนั้นยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ" แหล่งข่าวระบุ
    พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า วันที่ 29 พ.ค.จะมีการประชุมและประกาศมาตรการที่จะผ่อนปรนออกมา ซึ่งฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงสาธารณสุขได้หารือร่วมกันแล้ว โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรถึงจะป้องกันการแพร่ระบาดให้ได้ ยืนยันรัฐบาลให้ความสนใจและเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่รัฐบาลกังวลมากที่สุด
    "ถ้าเราร่วมมือกันอย่างนี้ก็จะเดินหน้าต่อไปในระยะที่ 4 ซึ่งอยากให้ไปถึงระยะที่ 4 ให้เร็วที่สุด แต่ต้องระมัดระวังเพราะเหตุการณ์ในต่างประเทศก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งรัฐบาลพยายามปลดล็อกในระยะที่ 3  ให้ได้มากที่สุด เว้นแต่บางอย่างที่มีความจำเป็นและมีความเสี่ยงสูงอยู่ก็ต้องเจ็บปวดไปด้วย ผมก็เจ็บปวดเหมือนพวกท่านเพราะมีหน้าที่ดูแลประชาชนโดยรวม ผมก็ไม่สบายใจนักหรอก ผมเห็นใจตรงนี้ แต่ถ้าเราปลดทีเดียวก็ยุ่ง เพราะคนที่มาจากต่างประเทศอีกเป็นหมื่นก็กำลังทยอยเข้ามา ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเข้าสถานที่กักกัน คิดว่านี่คือหลักการที่เราต้องร่วมมือกันปฏิบัติ ข้อสำคัญการ์ดอย่าตก อย่าถอดหน้ากาก หรืออยู่ระยะใกล้กันเกินไป อันตราย" นายกฯ กล่าว
    ด้านนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาเยียวยาวัดที่ได้รับผลกระทบว่ากำลังพิจารณาอยู่ ตัวอย่างในปี 2552 ตอนนั้นพระใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บิณฑบาตไม่ได้เพราะมีเหตุการณ์ยิงพระ ครม.จึงได้ให้ค่าบิณฑบาตและค่าอาหารพระวันละ 100 บาทต่อ 1 รูป จึงจะใช้โมเดลนี้ในการคิดเรื่องเยียวยา ได้นำเรียนนายกฯ ทุกอย่างแล้ว ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้ผมพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยได้ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงการคลังแล้ว โดยสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)" นายเทวัญกล่าว
    "วัดทั่วประเทศมีทั้งหมดกว่า 4 หมื่นวัด และพระเกือบ 3 แสนรูปที่ได้รับความเดือดร้อน คาดว่าใช้งบประมาณตกเดือนละ 400-500 ล้าน โดยจะให้เงินแต่ละวัดไปบริหารจัดการเองตามจำนวนพระที่มี  อย่างไรก็ตามเรื่องการเยียวยาจะต้องหารือกับนายวิษณุ ในฐานะผู้กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หากจะใช้โมเดลในกรณีเหมือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะเหมาะสมหรือไม่อย่างไร" นายเทวัญกล่าว
พบผู้ป่วยใหม่ 11 ราย
    ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยประจำวันว่า​ มีผู้ป่วยรายใหม่ 11 ราย ทั้งหมดอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,065 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 14 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,945 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 63 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงที่ 57 ราย 
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 11 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นหญิงไทย  อายุ 32 ปี 1 ราย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาจากอินเดียเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เข้าพักในสถานกักตัวของรัฐที่ จ.สมุทรปราการ ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 25 พ.ค. โดยไม่มีอาการป่วย และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ กลุ่มที่ 2 มี 6 ราย แบ่งเป็นชาย 5 ราย เป็นพนักงานนวด และหญิง 1  ราย เป็นแม่บ้าน เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เข้าพักในสถานกักตัวของรัฐที่ กทม. ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ซึ่ง 3 ใน 6 รายมีอาการลิ้นรับรสไม่ได้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น เจ็บคอ มีเสมะ อีก 3 รายไม่มีอาการ 
    "ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อีโอซี) มีการวิเคราะห์ถึงกรณีพบเชื้อในกลุ่มพนักงานนวดที่เดินทางกลับมาจำนวนมากว่า ยังไม่อยากให้มีการสรุปว่าพนักงานนวดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับที่อยู่หรือการเดินทางไปชุมชน เรายังไม่รู้ กระบวนการสอบสวนโรคต้องมีมากกว่าซักถามประวัติ ไม่อยากให้รีบเหมารวม โดยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพระบุว่าเหตุในต่างประเทศเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การนวดเพื่อการรักษานั้นไทยมีมาตรการที่ถูกกำหนดไว้สูงอยู่แล้ว ส่วนการนวดผ่อนคลายจะต้องทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่ง สธ.ต้องรีบบอกก่อน เพราะเดี๋ยวจะมีการไปเชื่อมโยงกับกิจการ/กิจกรรมที่กำลังจะเปิดของไทย" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    นอกจากนี้ กลุ่มที่ 3 เป็นชายไทย จำนวน 4 ราย ทำงานอยู่ในแคมป์ของบริษัทต่างชาติ เดินทางกลับจากมาจากคูเวตเมื่อวันที่ 24 พ.ค. พักอยู่ในสถานกักตัวของรัฐที่ กทม. ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่  26 พ.ค. มีอาการปวดศีรษะ จมูกไม่ได้กลิ่น มีไข้ มีน้ำมูก เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน กทม.
    ถามถึงข่าวจะมีกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง และถูกจัดให้อยู่ในระยะที่ 4 จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 มีกรอบการพิจารณาอย่างไร และสนามมวย ร้านนวดจะเปิดได้หรือไม่ โฆษก ศบค.กล่าวว่า  จนถึงนาทีนี้ยังไม่มีข้อสรุป จนกว่าจะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานในวันที่  29 พ.ค. ตอนนี้มีการคิดกันอยู่ แต่ถือว่าเจ้าของกิจการที่มีความเสี่ยงสูงมีความตื่นตัวกันดี ซึ่งเจ้าของกิจการที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องเสนอตัวเองขึ้นมา เพื่อให้สังคมได้รับฟังว่าผู้ให้บริการจะมีวิธีการ แนวทาง และมาตรการอย่างไร ให้ผู้ใช้บริการมั่นใจว่าเมื่อเปิดกิจการที่มีความเสี่ยงแล้วจะไม่เกิดการระบาดอีกรอบ 
    "สนามมวย ร้านนวดยังไม่มีข้อสรุป อาจจะเป็นเพียงข่าวแต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ที่พอจะบอกได้คือกลุ่มก้อนกว้างๆ คือ 1.ร้านรวงต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า ที่มีระบบดูแลที่ดี 2.กีฬา ซึ่งพยายามจะเปิดให้มากขึ้น โดยเฉพาะการซ้อมของนักกีฬา 3.เคอร์ฟิว มีแนวโน้มที่จะลดเวลาลงแน่ๆ แต่เวลาเท่าไรให้รอที่ประชุม ศบค.วันที่ 29 พ.ค. และ 4.กิจการใดที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 จะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะทั้งหมด รวมถึงผู้ใช้บริการก็ต้องเช็กอินและเช็กเอาต์ผ่านแอปดังกล่าว เพราะกิจการในระยะที่ 3 นี้มีความเสี่ยงในเกณฑ์ปานกลางถึงสูงทั้งสิ้น ส่วนกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 29 พ.ค.จะพิจารณา ซึ่ง ผอ.ศบค.บอกว่าจะพยายามเปิดให้มากที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับการติดตามแบบนี้" โฆษก ศบค.กล่าว
เล็งนำร่องเปิด รร.นานาชาติ
    ส่วน นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณามาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ พอเข้าระยะที่ 3 และ 4 กิจการหรือกิจกรรมที่จะผ่อนปรนได้นั้นค่อนข้างเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงในปานกลางและระดับสูง จึงยังอยู่ในช่วงการถกกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม คาดว่ากิจการที่อาจจะกลับมาเปิดได้คือ นวดสปา หรือกิจการที่อาจจะมีการผ่อนปรนกิจกรรมมากขึ้น คือ ฟิตเนส ที่ไม่ได้เล่นเป็นกลุ่ม เช่น  โยคะ หรือฟรีเวต 
    "ส่วนมวยบางลักษณะที่มีความปลอดภัยจะมีการเปิดหรือไม่ก็ต้องรอดู เพราะกิจการมวยมีรูปแบบของกิจการที่เรียกว่ามวยที่ไม่มีผู้ชม กับมวยที่ต่อยสนามจริงและมีผู้ชม ซึ่งไม่แน่ใจว่ากิจการใดบ้างที่ได้รับการอนุมัติ ขึ้นอยู่กับมาตรการความปลอดภัย ถ้าดีพอก็เชื่อว่า ศบค.มีความตั้งใจที่จะเปิดทุกกิจการในวันที่ 15 มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงการผ่อนปรนระยะที่ 4 ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขอยากเห็นด้วยที่จะให้ทุกกิจการสามารถกลับมาสู่ปกติได้ แต่การกลับมาต้องเป็นแบบ new normal" นพ.อนุพงศ์กล่าว
    ถามถึงการเปิดเรียน นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้คือ การเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค. โดยกรณีโรงเรียนประจำและโรงเรียนนานาชาติซึ่งมีจำนวนไม่มาก ถ้าหากสามารถจัดการควบคุมได้คิดว่าก็จะเป็นบทเรียนที่ดี ทำให้สามารถที่จะไปวางแผนในการจัดการโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ดีขึ้น 
    "ข่าวที่ว่าอาจจะมีการเลื่อนการเปิดเทอมของโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนประจำเป็นวันที่ 1 มิ.ย.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่เชื่อว่าน่าจะเปิดก่อนเพื่อนำร่องว่าสามารถปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำได้หรือไม่" นพ.อนุพงศ์กล่าว
      วันเดียวกัน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรมทางการเมือง นำตัวแทนกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังแห่งประเทศไทย, สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.), สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง มายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและแจกเงินเยียวยาให้ประชาชนอย่างทั่วหน้า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"