อภิปราย พรก.กู้เงิน 3 ฉบับวันแรกเข้มข้น! นายกฯ แจงต้องใช้เงิน 1 ล้านล้านสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคง ศก. ยันไม่เกินกรอบหนี้สาธารณะ ลั่นไม่ใช่ใช้แต่เงิน มี กก.กลั่นกรองกลไกตรวจสอบเยอะ พร้อมสั่งคลังทำรายงานการใช้งบฯ ต่อรัฐสภาใน 60 วัน "อุตตม" โวกู้เงิน 1 ล้านล้านตามหลักสากล มาตรฐานตรวจสอบเข้มกว่า พรก.ไทยเข้มแข็งยุคอภิสิทธิ์-พรก.น้ำสมัยยิ่งลักษณ์ "ผู้นำฝ่ายค้าน" ห่วงงบเยียวยา 4 แสนล้าน "ตีเช็คเปล่า" เอื้อผลประโยชน์การเมือง หวั่น พรก.เอสเอ็มอี สถาบันการเงินไปคิดดอกเบี้ยโหดเทียบนอกระบบ จับตา พรก.หุ้นกู้เอื้ออุ้มคนรวย "อนุดิษฐ์" ตั้งชื่อ "พ.ร.ก.เราล้มละลายด้วยกัน" ทำคนไทยเป็นหนี้ 90 ปีชั่วลูกหลาน ส.ส.ปชป.ขย่มซ้ำเงินกู้ 4 แสนล้านเอื้อรายใหญ่ แฉกรรมการขัดกันของผลประโยชน์
ที่รัฐสภา เกียกกาย วันที่ 27 พฤษภาคม มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท 2.พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ 3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการพิจารณาวันแรก ระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค.นี้
โดยบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างคึกคัก มี ส.ส.และรัฐมนตรีทยอยเดินทางมาร่วมประชุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า โดยทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยและเดินผ่านเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย พร้อมทั้งมีเจลแอลกอฮอล์คอยให้ล้างมืออยู่เป็นจุดๆ หากใครมีไข้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้ามายังอาคารรัฐสภา เพื่อปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลงของนายชวน หลีกภัย ประธานสภา และวิปทั้งสองฝ่าย ที่กำหนดให้มีการประชุมระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค.เป็นจำนวน 5 วัน ส่วนจะมีโอกาสปรับลดเวลาลงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุม ในส่วนของวิปรัฐบาลจะมีการประชุมอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 29 พ.ค.นี้ โดยแต่ละวันกำหนดการอภิปรายได้จนถึงเวลา 20.00 น. เนื่องจากจะต้องให้เวลาทั้ง ส.ส.เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องเดินทางกลับที่พักเพื่อไม่ให้เกินกำหนดเวลาเคอร์ฟิว
ฝ่ายค้านเตรียม 78 ขุนพล
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมด้วยตัวแทนจาก 6 ฝ่ายค้าน ประชุมหารือเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องประเด็น กรอบเวลา และตัวบุคคลที่จะอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ โดยนายสุทินกล่าวว่าได้หารือกับประธานสภา เนื่องจากกังวลว่าการประชุมในวันถัดไปที่จะเริ่มในเวลา 09.30 น.จะบริหารจัดการไม่ได้เพราะองค์ประชุมจะมีปัญหา ประธานสภาจึงเสนอว่าให้ใช้วิธีการเลื่อนการประชุม ซึ่งจะไม่ต่างจากการพักการประชุม เพื่อให้การประชุมในวันถัดไปเริ่มประชุมได้ทันทีซึ่งตนเห็นด้วย
นายสุทินกล่าวว่า ผู้อภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละพรรค พรรคเพื่อไทย 54 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคเสรีรวมไทย 4 คน พรรคประชาชาติ 3 คน พรรคเพื่อชาติ 1 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน นอกจากนี้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ มีความประสงค์ที่จะร่วมอภิปรายโดยจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งจะแบ่งเวลาจากโควตาของพรรคเพื่อไทยรวม 78 คน โดยการบริหารลำดับคิวจะหารือร่วมกันเป็นวันๆ ไป เพราะต้องเป็นไปตามสถานการณ์ เนื้อหา และน้ำหนักที่เราอยากจะให้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเสนอความเห็นเกี่ยวกับการประกาศเคอร์ฟิว เพราะคนที่ส่งผักส่งนมยังสามารถยกเว้นให้ได้ ทำไมการประชุมสภาจึงเว้นให้ไม่ได้ ดังนั้นวิปฝ่ายค้านจึงควรนำเรื่องนี้ไปหารือกับประธานสภาและวิปรัฐบาล และแจ้งไปที่ ศบค.ว่าเรามีความจำเป็นที่จะให้ยกเว้นเคอร์ฟิวสำหรับการประชุมสภา เพื่อที่จะได้เริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันพฤหัสบดี-เสาร์ ส่วนวันอาทิตย์จะได้ใช้เพื่อทดเวลาบาดเจ็บ
ต่อมาเวลา 09.30 น.จึงเริ่มเปิดประชุมสภา โดยเป็นการเปิดใช้ห้องประชุมสุริยันหรือห้องประชุม ส.ส.ครั้งแรก มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ภายในห้องประชุมมีการจัดระเบียบให้ ส.ส.นั่งเว้นระยะห่าง 1 ที่นั่ง ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายชวนเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้หารือถึงปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของประชาชน
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 63 จะติดลบร้อยละ 5-6 แม้ว่าในการแก้ไขปัญหารัฐบาลพยายามบริหารจัดการภายใต้กรอบงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่เพียงพอ ไม่ทันกับสถานการณ์ ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ประเทศไทยโดยเร็ว รัฐบาลประมาณการว่าจะต้องใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท จึงไม่อาจดำเนินการด้วยวิธีงบประมาณตามปกติ จึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินรีบด่วน ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล โดยตรา พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของสาธารณะและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงข้อห่วงใยของท่านทั้งหลายต่อประเด็นในการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ รัฐบาลได้กำหนดหลักการที่สำคัญที่สอดคล้องกับวินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเป็นกรอบวินัยในการกู้เงินต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้าย 3 แผนงาน ในกรณีมีความจำเป็น ครม.มีอำนาจปรับแก้การใช้เงินได้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติโครงการและการดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.จะเป็นไปตามระเบียบที่ ครม.กำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกระทรวงการคลังจะต้องทำรายงานการใช้เงินเสนอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ โดยในรายงานจะต้องครอบคลุมทั้งการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้เงิน และผลสัมฤทธิ์ของการใช้งบประมาณ
ไม่เกินกรอบหนี้สาธารณะ
"ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลต่อสถานะการชำระหนี้ของประเทศ การกู้เงินในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท รวมกับการกู้เงินในกรณีอื่นแล้วจะไม่กระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะ โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย.ปี 2564 หนี้สาธารณะจะมีสัดส่วนร้อยละ 57.96 ต่อจีดีพี ซึ่งไม่เกินกรอบ 60% ตามกฎหมาย โดยการกู้เงินจะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันจะพิจารณาเงื่อนไขและต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง ส่วนการชำระหนี้นั้นกระทรวงการคลังได้วางแผนเป็นระบบเพื่อกระจายความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เพื่อให้เกิดการสร้างระบบสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ"
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้เสนอ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.Soft Loan โดยระบุว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้สินเชื่อเพิ่มเติมเสริมสภาพคล่อง การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ได้เป็นการกู้เงินของรัฐบาล แต่เป็นการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการจัดสรรสภาพคล่องในระบบเป็นการชั่วคราวให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ส่วน พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ มีความประสงค์เพื่อตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ และรักษาเสถียรภาพและสนับสนุนสภาพคล่องด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนไม่เกิน 4 แสนล้านบาท และมีคณะกรรมการกำกับกองทุน โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน คาดว่าจะมีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้กว่า 9.8 แสนล้านบาท
ต่อมาเวลา 12.15 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ความผิดพลาดของการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดหาหน้ากากอนามัยและการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ความล่าช้าและการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและรวดเร็ว ความล่าช้าในการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สำคัญที่สุดความล่าช้าในการคลายล็อกให้ระบบเศรษฐกิจ วันนี้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กับตัวเลขของผู้ที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากภาวะกดดันทางเศรษกิจเกือบจะไม่แตกต่างกัน ภายใต้เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้สูงมาก แต่การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพียงไม่กี่คน ตรวจสอบเงินจำนวนมหาศาลโดยไม่ต้องรายงานการใช้จ่ายต่อฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเป็นความจำเป็นที่ตัวแทนของประชาชนมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบให้เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันไม่ให้เป็นการ "ตีเช็คเปล่า" ให้รัฐบาลใช้เงินโดยตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศ
นายสมพงษ์กล่าวว่า ในส่วนของ พ.ร.ก.ฉบับแรกหรือเราอาจเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น สามารถแยกพิจารณาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ส่วนที่ 1 แก้ไขการระบาดโควิด-19 (45,000 ล้านบาท) ส่วนที่ 2 การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ (555,000 ล้านบาท) และส่วนที่ 3 งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ (400,000 ล้านบาท) ก้อนนี้เป็นก้อนที่พวกเราฝ่ายค้านเป็นห่วงที่สุด เพราะจะเป็นส่วนที่จะมีปัญหามากที่สุด มีข้อสังเกตว่าแบ่งตามกระทรวงต่างๆ ไว้หมดแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสภา และตามที่รัฐบาลกล่าวถึงทิศทางการใช้เงินก้อนนี้ไม่ตอบโจทย์และไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่ เปิดช่องการใช้เป็นเงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แจกจ่ายให้แก่ ส.ส. เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า หรือนำไปทำโครงการแบบเดิมๆ เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง และการตอบแทนทางการเมือง โดยที่ถูกต้องโครงการต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองและตอบโจทย์เรื่องโควิด ไม่ใช่ใช้จ่ายไปทั่ว
ล้มละลายด้วยกันเป็นหนี้ 90 ปี
นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ มองว่าดุลยพินิจของการปล่อยกู้อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มปล่อยให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว ได้ประโยชน์จากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ SMEs ที่ประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากโควิด ก็ยังคงเข้าไม่ถึงสินเชื่อเหมือนเดิม ยังเปิดช่องทางให้เอกชนรายที่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อเอาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยต่อให้เอกชนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในราคาสูง มีลักษณะเหมือนสินเชื่อนอกระบบ รายใหญ่ได้ประโยชน์ รายเล็กโดนเอาเปรียบ ส่วน พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินฯ โดยหลักธนาคารชาติมีหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐบาล และเป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ไม่มีหน้าที่ลงไปจัดสรรสินเชื่อเองเพราะอาจสร้างความเสียหายเกี่ยวกับความเชื่อมั่น และเสียหายในเชิงหลักการของธนาคารแห่งประเทศไทย หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเลือกปฏิบัติ อาจถูกกล่าวหาว่าใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย อาจเกิดปัญหาคอร์รัปชันและเกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ
เวลา 13.00 น. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์เรียก พ.ร.ก.ดังกล่าวว่าเราไม่ทิ้งกัน แต่ชาวบ้านเรียกว่า พ.ร.ก. "เราเป็นหนี้ด้วยกัน 2020" การกู้เงินของรัฐบาลข้ามขั้นตอนสำคัญ รัฐตั้งใจกู้มากเกินไป อยากถามว่ามีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงหรือไม่ แถมไม่มีรายละเอียดการใช้เงินที่ชัดเจน และรัฐบาลก็ไม่ดูเงินในกระเป๋าที่ตัวเองมีอยู่ให้ได้เสียก่อน อาทิ งบปี 63 ที่ไม่จำเป็นควรชะลอ เช่นซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อนำมาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนชื่อ พ.ร.ก.ดังกล่าว หากไม่มีการแก้ไขวิธีบริหารจัดการ ชาวบ้านอาจเปลี่ยนชื่อเรียกอีกเป็น พ.ร.ก.เราล้มละลายด้วยกัน
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไม่ได้เพิ่งแย่จากสถานการณ์โควิด-19 แต่แย่ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์คือ การก่อหนี้รัฐบาลมียอด 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการก่อหนี้ทุกปีแต่เศรษฐกิจกลับแย่ลง วันนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศถือว่าดับทั้ง 4 ตัว คือ การส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุน การบริโภคภายใน ถือว่าดับสนิท เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนี้ถือเป็นหน้าตักสุดท้ายของประเทศ เพราะหลังจากนี้รัฐบาลยังต้องไปกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลในปี 64 อีก 5 แสนล้าน ทำให้หนี้สาธารณะจะสูงไปถึงร้อยละ 55 ของจีดีพี
"ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจเข้ามา ได้ก่อหนี้ไว้ถึง 2.6 ล้านๆ หากเมื่อนำมารวมกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้และเงินกู้ที่จะชดเชยงบขาดดุลในปีหน้าอีก 5 แสนล้านล้าน รวมเป็นเงิน 4.18 ล้านล้านบาท เมื่อมาดูแผนชำระหนี้ที่จะใช้ปีละ 4.8 หมื่นล้านบาท เท่ากับเราต้องใช้หนี้ 90 ปี ถึงจะใช้หมดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องวนไป 4 รอบ ท่านนายกฯ กำลังจะเป็นคนที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย เป็นนายกฯ ที่สร้างหนี้ให้คนไทยจนชั่วลูกชั่วหลาน เด็กเกิดใหม่มีหนี้เป็นแสน คนไทยก็ทำงานใช้หนี้ไปจนตาย" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
ต่อมาเวลา 15.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสถานการณ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในประเทศไทยมีบริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์ผลิตหน้ากากอนามัย N95 เพียง 1-2 บริษัท ซึ่งทำเพื่อส่งออกเท่านั้น และหน้ากากอนามัยสีฟ้าเราก็ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งวันนี้กำลังดำเนินการอยู่ว่าจะทำอย่างไร เพราะวัสดุต้องนำมาจากต่างประเทศช่วงเวลาคับขัน แต่ละประเทศก็สงวนไว้ใช้เองหมด จึงไม่อยากให้ทุกคนคิดว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลยจะใช้แต่เงินอย่างเดียว กลไกสภาการตรวจสอบภายในระบบก็มี สตง.ก็มีไม่ใช่ว่ารัฐบาลใช้แต่เงินอย่างเดียว ป.ป.ช., ปปง., ป.ป.ท.ตรวจสอบได้หมด ไม่ใช่ว่าคณะกรรมการกลั่นกรองที่ตรวจสอบได้เพียงชุดเดียว ก่อนเสนอโครงการต้องผ่านกลไกในพื้นที่มา ใครจะมาเสนอนอกกรอบที่ พ.ร.ก.กำหนดไว้ก็ไม่ได้ ไม่ใช่ใครจะเสนออะไรก็ได้เราคิดไว้หมดแล้ว
ปชป.ชี้เงินกู้ 4 แสน ล.เอื้อรายใหญ่
นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ว่า เรากู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น ไม่กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องการ 1.ดูแลเยียวยา ประชาชน โดยใส่เงินในกระเป๋าให้ทันที 2.SME ที่มีการจ้างงานคนร้อยละ 80 เราต้องเข้าช่วยเหลือไม่ให้ล้มลง เพราะจะกระทบคนส่วนใหญ่ของประเทศ 3.ปกป้องการเงิน ตลาดทุนของประเทศทุกกลุ่ม เพราะมีความผูกพันกันหมดในวิกฤติเช่นนี้ และหนักยิ่งกว่าวิกฤติปี 40
"การออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นแนวทางที่ทั่วโลกใช้ โดยธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟก็เสนอแนวทางให้ประเทศเศรษฐกิจใหม่มุ่งช่วยเหลือประชาชนที่เปราะบาง และใช้มาตรการเงินกระตุ้นในกว้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งถือว่าเราใช้แนวสากล เรามีกรอบดำเนินการที่รัดกุมกำกับติดตาม โดยใช้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ถือว่าเข้มขึ้น โดยรายงาน ครม.ทุก 3 เดือน การประเมินผลโครงการทั้งสภาพัฒน์และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ และส่วนการกำกับติดตามเงินกู้และผลสัมฤทธิ์จะรายงานต่อสภาภายใน 60 วันนับแต่สิ้นปีงบประมาณ ถือว่ามาตรฐานตรวจสอบสูงกว่าเมื่อเทียบกับ พ.ร.ก.เงินกู้ในอดีตคือ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งในปี 52 และ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารน้ำปี 2555" นายอุตตมกล่าว
ต่อมาเวลา 18.10 น. นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมช.การคลัง อภิปรายว่า เรื่อง Soft Loan มาตรการออกมาเดือนกว่า มีเงินกอง 5 แสนล้านบาท ปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์ใช้ไปเพียงร้อยละ 10 สถานการณ์ที่ร้ายแรงแบบนี้ธนาคารต้องช่วยลูกค้าเยียวยาผลกระทบ ดังนั้นธนาคารต้องปรับมาตรการให้เงินออกเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารที่เป็นห่วงเรื่องหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับ พ.ร.ก.หุ้นกู้ จำนวน 4 แสนล้านบาท ตนเห็นด้วยที่ต้องเยียวยาการให้เกิดสภาพคล่อง และสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้องคือทอดสะพานให้แต่เฉพาะรายใหญ่ ให้กับเฉพาะผู้กู้ที่เรตติงดี ผู้กู้หรือผู้ออกหุ้นกู้ที่มีเรตติงไม่ดี ฐานะอ่อนแอกว่า ท่านไม่ยอมทอดสะพานให้ ปิดโอกาส ไม่ให้บริษัทเล็กบริษัทน้อยได้รับประโยชน์ด้วย
"จริงๆ ท่านไม่ใช่ผู้ลงทุน อย่าไปห่วงเรื่องเรตติง ในเรื่องนี้เป็นห่วงว่าในกฎหมายสองฉบับของแบงก์ชาติมีการตั้งกรรมการเข้ามาดูแล มีฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งดูแล้วก็น่าจะเหมาะสม ซึ่งกรรมการเหล่านี้มีอำนาจในการที่จะจ่ายเงินชดเชยให้แบงก์พาณิชย์ หรือเลือกบริษัทหลักทรัพย์เพื่อบริหารจัดการ ที่เป็นห่วงคือเรื่องขัดกันของผลประโยชน์ อย่าลืมว่ากรรมการเหล่านี้บางท่านเป็นกรรมการในธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทจัดการกองทุนด้วย แล้วท่านจะมาเป็นผู้ที่ตัดสินในการเยียวยา หรือชดเชยเงินให้กับธนาคารพาณิชย์ อาจมีปัญหาในอนาคต" นายพิสิฐกล่าว
นายพิสิฐกล่าวด้วยว่า จีดีพีปีนี้ที่รัฐบาลประเมินติดลบร้อยละ 5.3 อาจประเมินดีไปหน่อย ถ้าเกิดจีดีพีไม่ได้โตตามที่คาดไว้ ตัวเลขที่นายกฯ กล่าวไว้เมื่อเช้านี้ก็จะผิดพลาด หนี้สาธารณะก็จะเกิน 60 เปอร์เซ็นต์
กระทั่งเวลา 20.10 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งพักการประชุมและให้มาประชุมต่อในวันที่ 28 พ.ค. เวลา 09.30 น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |