ศบค.แถลงพบผู้ป่วยโควิดใหม่ 9 ราย ทั้งหมดเดินทางจากต่างประเทศและอยู่ใน State Quarantine ผงะ! 1 รายตรวจพบเชื้อหลังกักตัวครบ 14 วัน เตรียมรับมือคลายล็อกระยะที่ 3 "หมอทวีศิลป์" ตอบเสียงเรียกร้องเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "ผมเองก็อยากจะหยุด" แต่ต้องทำหน้าที่ต่ออีก 1 เดือน ส่วนคลายล็อกระยะ 3 ไร้ข้อสรุปปรับเวลาเคอร์ฟิวไม่ลงตัว กีฬามวยส่อแห้วเกรงเซียนจับกลุ่มเชียร์มวยตู้ ชง ศบค.ชุดใหญ่เคาะ 29 พ.ค.
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 ราย ทั้งหมดเป็นผู้อยู่ในสถานกักตัวของรัฐ จึงไม่มีรายงานการติดเชื้อในประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,054 ราย รักษาหายแล้วเพิ่มใหม่ 2 ราย หายป่วยสะสม 2,931 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยังคงที่ 57 ราย เหลือรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 66 ราย
ทั้งนี้ สำหรับผู้ติดเชื้อ 9 รายนั้น 2 รายแรก เป็นชายไทยอายุ 18 ปี และอายุ 27 ปี กลับจากสหรัฐอเมริกาวันที่ 12 พ.ค. เข้าพักสถานกักตัวของรัฐที่ จ.ชลบุรี อยู่ยาวมาถึงวันที่ 26 พ.ค.ซึ่งครบกำหนดกักตัว 14 วัน โดยมีการตรวจหาเชื้อซ้ำในโพรงจมูกก่อนจะให้กลับ และพบเชื้อในวันที่กักตัวมาแล้ว 13-14 วัน ทำให้ที่ประชุมของศูนย์ปฏิบัติตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรืออีโอซี ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่รายแรกที่ตรวจพบเชื้อในช่วงปลายของการกักตัว ก่อนหน้านี้เราเชื่อว่าการกักตัว 14 วันนั้นเชื้อจะหมดไป ทำให้ที่ประชุมต้องศึกษาย้อนหลังกลับไปว่าทฤษฎีที่ใช้กักตัว 14 วันอาจใช้ไม่ได้กับบางคน แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการกักตัว 14 วัน และยังไม่ขยายการกักตัวเป็น 21 หรือ 28 วัน จะยังคงกักตัว 14 วันเหมือนเดิม
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับรายที่ 3 เป็นชายอายุ 34 ปี เป็นพนักงานนวดกลับจากกาตาร์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. เข้าพักสถานกักตัวของรัฐที่ จ.สมุทรปราการ มีอาการไข้ จมูกไม่ได้กลิ่น พบเชื้อ 25 พ.ค. ที่ประชุม ศบค.ตั้งข้อสังเกตถึงการผ่อนคลายมาตรการกลุ่มอาชีพเสี่ยงปานกลางถึงเสี่ยงสูงจะต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ อาชีพนวดต้องระมัดระวังตัวเอง สุขลักษณะส่วนตัวต้องสูงเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจรับเชื้อจากลูกค้า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะศึกษาเพื่อมาแนะนำให้ปฏิบัติตัว แต่ผู้ที่มีอาชีพดังกล่าวต้องปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้เพื่อให้เคยชิน
ส่วนอีก 6 รายที่เหลือ เป็นชายอายุ 23-33 ปี กลับจากซาอุดีอาระเบีย มาลงที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และนั่งรถเข้ามาทางด่านชายแดนปาดังเบซาร์ ซึ่งการผ่านทางด่านนี้อาจจะต้องมีการปิดด่านเพื่อทำความสะอาด ดูแลสุขลักษณะ ทำให้คนไทยบางส่วนอาจประสบปัญหาการเดินทางเข้ามาบ้าง ดังนั้นขอให้ติดต่อสถานทูตในกรุงกัวลาลัมเปอร์หรือสถานกงสุลที่ปีนัง อย่างไรก็ตาม 4 ใน 6 รายมีอาการมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ส่วนอีก 2รายไม่มีอาการ
โฆษก ศบค.แถลงว่า จากข้อมูลจำแนกผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 13-27 พ.ค. พบว่า 5 อันดับ คือ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ จำนวน 1,190 ราย รองลงมาอาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด 284 ราย สนามมวย 276 ราย คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 269 ราย และสถานบันเทิง 226 ราย สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อแล้ว 5,684,795 ราย เสียชีวิต 352,225 ราย
'ผมเองก็อยากจะหยุด'
เมื่อถามว่า มีการนำเสนอว่าในการคลายล็อกระยะที่ 3 จะมีสถานประกอบการ อาทิ สนามมวย สถานท่องเที่ยวบันเทิง ผับ บาร์ ที่จะสามารถเปิดให้บริการได้นั้นข้อมูลถูกต้องแค่ไหน นพ.ทวีศิลป์ตอบว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 แว่วๆ ว่าจะมีกิจการหรือกิจกรรมที่ได้รับผ่อนปรนมากขึ้น
"บรรยากาศตอนนี้เอื้อให้ผ่อนคลาย และนโยบายของนายกฯ ก็อยากให้เปิดกิจการหรือกิจกรรมให้ได้มากที่สุด เพราะทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายย่อย และแว่วๆ มาว่ากิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงจะอยู่ในการผ่อนคลายครั้งนี้ด้วย"
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การผ่อนคลายจะต้องบาลานซ์สองส่วน คือ ผู้ผ่อนคลายและผู้ดูแลสุขภาพต้องไปด้วยกันเพื่อควบคุมโรคให้ได้ ซึ่งจะมีการให้รางวัลพวกท่านที่ดูแลกันภายในได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผู้บริหารจะต้องตัดสินใจในเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจที่ต้องจัดวางให้เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อต้องเป็นศูนย์ไปตลอด ต้องรับความเสี่ยงได้บ้างที่จะเกิดโรค แต่ไม่อยากให้มีผู้ติดเชื้อ 1 คน แล้วแพร่เชื้อให้คน 2-300 คน ข้อมูลที่มีการนำเสนอดังกล่าวยังไม่เป็นข้อมูลยืนยันจนกว่าจะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณารายกิจกรรมที่เข้าสู่ระยะที่ 3 อยากให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว และหวังว่า 30 มิ.ย.นี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากกลับไปเป็นปกติในชีวิตวิถีใหม่ รวมถึงเจ้าของกิจการต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูงต้องช่วยกันคิด ถ้ามีนวัตกรรมใหม่และมั่นใจว่าจะไม่เกิดการแพร่โรคสามารถเสนอมาได้เลย
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในส่วนที่แถลงเมื่อวันที่ 26 พ.ค. กรณีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีการใช้คำ ที่ฟังแล้วอาจไม่สบายใจ ตนไม่ได้มีเจตนาทำให้บรรยากาศของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นความเข้มข้น แต่อยากใช้ให้เป็นการผ่อนคลายที่ดีขึ้น พร้อมมาตรการที่ต้องทำต่อเนื่องกันไป พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อย่างอื่น และอีก 1 เดือนข้างหน้าจะเป็นการปรับตัวของภาครัฐเพื่อใช้กฎหมายที่มีอยู่ดูแลสถานการณ์
"ผมเองก็อยากจะหยุด แต่ต้องทำหน้าที่ต่ออีก 1 เดือน ก่อนจะส่งมอบทุกอย่างเพื่อคืนสู่ความเรียบร้อย แต่ต้องขอความร่วมมือทุกคนด้วย" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ทำให้ค่อยสบายใจกับสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเฉลิมฉลอง เพราะทางฝ่ายวิชาการยังเชื่อว่าเราจะยังมีผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศ อาจจะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลยไม่เข้ารับบริการตรวจ ซึ่งปัจจุบัน สธ.ได้เน้นย้ำการเฝ้าระวังและการออกไปค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า แม้จะมี 65 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยในรอบ 1 เดือน แต่จังหวัดที่เคยมีรายงานผู้ป่วยจำนวนมากมาก่อนก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะแม้ไม่เจอผู้ป่วยแล้ว แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหลงเหลืออยู่ในชุมชน โดยเฉพาะ 8-9 จังหวัด ได้แก่ กทม.และปริมณฑล เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคล้ายกับจีนที่ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยใหม่มาแล้วระยะหนึ่ง แต่ก็กลับมาพบผู้ป่วยประปราย แสดงว่ายังมีคนอาการน้อยหลงเหลือในชุมชน
ผ่อนคลายระยะที่ 3
เมื่อถามว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ จำเป็นต้องห้ามคนบางประเทศเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ตอบว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยยังปิดประเทศอยู่ คนที่เดินทางกลับเข้าประเทศได้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ รัฐบาลจัดให้มีคนเดินทางเข้ามาในประเทศวันละไม่มากจนเกินไป เพื่อให้สามารถที่จะจัดการกับผู้ที่เดินทางทุกคนได้อย่างเหมาะสม สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ ตามขอบเขตจำนวนห้องที่สามารถใช้รับประกันผู้ที่เดินทางกลับมาได้เพื่อเฝ้าสังเกตอาการใน 14 วัน ตอนนี้มีผู้ที่เดินทางกลับกระจัดกระจายตามสถานที่ที่รัฐจัดให้ทั่วประเทศ ไม่ได้ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้
ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดเผยว่า ในช่วงการผ่อนคลายระยะที่ 3 นี้ถึงเวลาเหมาะสมที่ต้องเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว จึงมีการประชุมเพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ กิจการและกิจกรรมในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการผ่อนคลายมาตรการเดินทางข้ามจังหวัดที่จะออกเป็นข้อกำหนดกลาง แต่จังหวัดก็ยังสามารถบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นกว่าได้
ส่วนกิจการประเภทสวนน้ำ สวนสนุก และกีฬาบางประเภท เช่น มวยตู้ จะหารือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขด้วย หากเห็นว่ายังมีความเสี่ยงก็จะต้องจัดให้อยู่ในกิจกรรมที่จะผ่อนคลายได้ในระยะที่ 4 ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ เสร็จสิ้น ไม่ได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มี พล.อ.สมศักดิ์เป็นประธาน ช่วงบ่ายวันที่ 27 พ.ค. โดยมีหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ใน ศบค. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ปรึกษาใน ศบค. รวมถึงตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เหตุผลในการพิจารณากิจการและกิจกรรมที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ซึ่งใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง 30 นาทีโดยประมาณ
ผลปรากฏว่าที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับกิจการที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 เนื่องจากยังมีความเห็นที่หลากหลาย ขณะที่ในบางประเด็นได้มอบหมายให้ไปจัดทำข้อมูลให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น การปรับเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน เบื้องต้นมีแนวโน้มจะให้ลดเวลาเคอร์ฟิว แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเหลือกี่ชั่วโมง และให้เริ่มตั้งแต่เวลาใดและสิ้นสุดเวลาใด โดยมีหลายตัวเลือก จึงจะต้องให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เป็นผู้พิจารณาในชั้นสุดท้ายอีกครั้ง ส่วนเรื่องกีฬาเบื้องต้นมีแนวโน้มที่จะผ่อนปรนให้กีฬาประเภททีมได้ แต่ให้เล่นเพื่อสุขภาพหรือเพื่อการซ้อม แต่ยังไม่อนุญาตให้มีการแข่งขันใดๆ
รายงานระบุอีกว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องกีฬามวยมาหารือแต่อย่างใด เนื่องจากฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขยังกังวลว่าแม้จะมีการจัดการแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม และให้ชมผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ก็ยังเสี่ยงที่ประชาชนจะมานั่งจับกลุ่มเชียร์หน้าโทรทัศน์ที่อาจมีการตะโกนเชียร์ตามธรรมชาติของการชมกีฬามวย ซึ่งเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับเรื่องร้านนวดที่ประชุมก็ยังไม่ได้มีการหยิบยกมาหารือ
รอ ศบค.ชุดใหญ่เคาะ 29 พ.ค.
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าในการผ่อนปรนระยะที่ 3 จะมีกิจการได้รับการอนุญาตให้เปิดมากขึ้นนั้น อาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่อาจเป็นเพียงการอนุญาตให้ทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นในกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนไปก่อนหน้านี้แล้ว
นอกจากนี้ ในส่วนของการเดินทางข้ามจังหวัดไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมในจังหวัดที่มีด่านชายแดน เพราะเกรงว่าหากมีการผ่อนปรนให้เดินทางข้ามจังหวัดจะส่งผลให้มีการข้ามแดนเข้ามาในประเทศด้วย ซึ่งอาจจะยากต่อการควบคุมการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามจะยังมีการคงมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศตามช่องทางต่างๆ เหมือนเดิม
ทั้งนี้ คณะทำงานย่อยของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ จะมีการหารือเพื่อจัดทำรายละเอียดเพื่อเตรียมนำเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ในวันที่ 29 พ.ค. ซึ่งที่ประชุม ศบค.สามารถปรับเปลี่ยนหลังจากรับฟังข้อมูลความคิดเห็นจากฝ่ายอื่นๆ ได้ จึงต้องรอผลสรุปในวันดังกล่าวอีกครั้ง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร (H.E. Mr. Michael George DeSombre) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเข้าพบว่า ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้ให้การช่วยเหลือประเทศไทยมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบ รมว.แรงงานและแสดงเจตนาที่จะช่วยเหลือในการยกระดับพัฒนาฝีมือแรงงานไทยหลังจากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว
และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาท่านทูตสหรัฐฯ ได้เขียนบทความชื่นชมการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสของประเทศไทย ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ตนได้เรียนให้ทูตสหรัฐฯ ทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไปจะมีการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมหลายอย่าง แต่มาตรการเรื่องการบินจะยังปิดจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ส่วนในเดือน ก.ค.น่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งเราจะประเมินสถานการณ์ตลอดในช่วงเดือน มิ.ย.ที่มีการขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่ามีสถานการณ์อะไรที่เป็นความเสี่ยงหรือไม่ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่าหากหลายประเทศปลดล็อกมาตรการพร้อมกัน จะก่อให้เกิดความอันตรายอย่างมาก เพราะจะเกิดการไหลเวียนของคนจำนวนมาก จากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง แต่การติดเชื้อของคนยังมีอยู่
นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้ทูตสหรัฐฯ ยังได้สอบถามถึงการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตนอธิบายเหตุผล 2 ข้อ คือ
1.หากเราไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะต้องใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจอะไรกับรัฐบาลเลย และจะทำให้เกิด 77 มาตรฐานใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย รัฐบาลจึงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียว
2.การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะใช้อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการใดๆ เช่น ปิดสถานที่ต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อประเทศ อาจจะทำให้ประชาชนตกงานและขาดรายได้ ดังนั้นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะทำให้รัฐบาลสามารถเข้าไปเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ และยังทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเหตุผลที่ทูตสหรัฐฯ ถามถึงประเด็นนี้ไม่ใช่เพราะว่าเขากังวลอะไร แต่เขาถามเพราะความอยากรู้ นอกจากนี้ยังได้หารือกันอีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องการฟื้นฟู บมจ.การบินไทย ตนได้ชี้แจงให้ฟังว่าคณะกรรมการที่ตนนั่งเป็นประธานอยู่นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรในเรื่องนี้ และตนยังได้บอกว่าอาจจะมีการฟ้องร้องกันทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามทูตสหรัฐฯ ไม่ได้มีการถามถึงสถานการณ์การเมืองไทย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |