วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในช่วงนี้ที่เกิดวิกฤติโควิด-19 นั้นมีความแตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมาก ซึ่งในส่วนนี้เองจึงอาจจะทำให้เกิดผลกระทบไปกับวงการอื่นๆ ที่ต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ให้มากสุด โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่จะต้องเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น ซึ่งมีหลายบริษัทได้มีแนวทางการดำเนินงานแบบใหม่ที่ทำให้ผลกระทบดังกล่าวนั้นลดน้อยลง
และบางกลุ่มก็อาศัยข้อจำกัดในเรื่องต่าง ๆ ของเวลานี้มาเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะตีตลาดขอผู้บริโภคได้ ทั้งปรับการให้บริการ การขาย รวมถึงโปรโมชั่นทั้งหมด แต่ก็เห็นว่ายังมีอีกหลายกลุ่มที่ไม่เข้าใจว่าตัวเองจะต้องปรับตัวไปแนวทางไหนจนอาจจะทำให้การดำเนินงานล่าช้าจนส่งผลกระทบไปยังผลประกอบการ หรือรายได้ที่ลดลง
ทั้งนี้ ในกลุ่มธุรกิจด้านพลังงานเอง แม้หลายฝ่ายจะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่สามารถดำเนินต่อไปได้แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติดังกล่าว แต่ก็ต้องเข้าใจว่าการทำธุรกิจไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ต้องอาศัยกำลังซื้อของลูกค้าถ้าลูกค้าไม่มีกำลัง หรือไม่มีแรงจูงใจที่จะซื้อ ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะสามารถทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปซื้อ แต่นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพลังงาน ก็ยังเห็นว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เอกชนนั้นกลับมาทบทวนตัวเองได้ดีที่สุด โดยได้กล่าวไว้ในการสัมมนาทางออนไลน์ เรื่อง ”ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ต่อกลุ่มพลังงานในอาเซียน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK (ASE) งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านพลังงานครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่จัดโดย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ว่า วิกฤติโควิดในวันนี้ก่อผลกระทบด้านลบในวงกว้าง ทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบตรงต่อพลังงานทางเลือก
แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเดินหน้าสู่การใช้พลังงานยั่งยืน ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ลดลง จึงส่งผลกระทบต่อพลังงานทางเลือกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คาดการณ์ว่าหลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย พลังงานทางเลือกจะกลับมายืนหนึ่งอีกครั้ง ดังนั้นในช่วงที่ธุรกิจพลังงานทางเลือกชะลอตัวในช่วงนี้ จึงเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นชีวิตวิถีใหม่ แน่นอนว่าภาคธุรกิจพลังงานก็ต้องเร่งพัฒนาสู่การใช้ดิจิตอล และนวัตกรรมเทคโนโลยีเช่นกัน
WFH หรือเวิร์กฟอร์มโฮมในวันนี้ เป็นวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ (นิว นอร์มอล) ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างมาก ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 25% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งธุรกิจพลังงานเองควรใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว เพราะการลดลงของราคาพลังงานจะส่งผลต่อความตื่นตัวต่อการมุ่งสู่พลังงานทางเลือกที่อาจจะทำให้แผนบางอย่างล่าช้าออกไป
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการพัฒนาพลังงานทางเลือกยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยและประเทศในอาเซียนต้องเดินหน้าสู่ความยั่งยืน ซึ่งในช่วงนี้เป็นโอกาสดีในการพัฒนาทรัพยากรต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ถึงการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต
นายปีเตอร์ ดู พอนด์ Managing Partner บริษัท Asia Clean Energy Partners จำกัด และ Asia Regional Coordinator Private Financing Advisory Network ได้กล่าวเสริมว่า พลังงานยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีสถานการณ์ที่ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผลกระทบในด้านต่างๆ แต่เมื่อวิกฤติบรรเทา เศรษฐกิจโลกจะฟื้นและจะกลับมาดีอีกครั้ง และเมื่ออุปสรรคต่างๆ ผ่านพ้นไป ภาคธุรกิจต้องไม่หยุดที่จะเดินหน้าสู่ยุคดิจิตอล และยอมรับการมุ่งสู่การใช้นวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอล ซึ่งจะมีโอกาสอีกมากมายที่เปิดกว้างให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงานได้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
จึงเห็นได้ชัดว่าแม้จะเกิดวิกฤติขึ้นมาเมื่อไหร่ แต่การเรียนรู้ที่จะปรับตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากเอกชนหรือผู้ดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ไม่มีการรู้จักที่ปรับตัว หรือพัฒนาธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของสถานการณ์ได้ ก็อาจจะต้องยอมรับผลกระทบนั้นได้เต็มๆ แต่หากมองเห็นโอกาสที่จะปรับตัว เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจในอนาคตนั้น คงจะไม่มีอะไรมาสั่นคลอนหรือทำให้สะดุดได้.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |