27 พ.ค.2563- เมื่อเวลา 11.25 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินทั้ง 3 ฉบับต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยไตรมาสแรกติดลบ 18% ถือเป็นการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจไทยครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2557 โดยภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักที่สุด นักท่องเที่ยวชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนม.ค.ปี 2563 ตามมาตรการควบคุมการเดินทางของประเทศต่างๆ รวมพบคนในประเทศเริ่มติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นปิดพื้นที่ และต้องเว้นระยะห่างทางสังคม โดยการปิดสถานประกอบการต่างๆ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะติดลบ 5-6% จากการดำเนินการตามมาตรการที่เข้มข้น แม้ว่าในการแก้ไขปัญหารัฐบาลพยายามบริหารจัดการภายใต้กรอบงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่เพียงพอ ไม่ทันกับสถานการณ์ ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ประเทศไทยโดยเร็ว รัฐบาลประมาณการณ์ว่าจะต้องใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท จึงไม่อาจดำเนินการด้วยวิธีงบประมาณตามปกติ หรือรัฐบาลกู้เงินตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ได้ จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินรีบร่วน ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล โดยตรา พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลตระหนักถึงข้อห่วงใยของท่านทั้งหลายต่อประเด็นในการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ดังกล่าว รัฐบาลได้กำหนดหลักการที่สำคัญที่สอดคล้องกับวินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเป็นกรอบวินัยในการกู้เงิน ให้อำนาจการกู้เงินของกระทรวงการคลังไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และลงนามในสัญญากู้เงินไม่เกินวันที่ 30 ก.ย. 64 นอกจากนี้ เงินกู้ตามกฎหมายดังกล่าวต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้าย 3 แผนงาน อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีความจำเป็นคณะรัฐมนตรีมีอำนาจปรับแก้การใช้เงินได้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองและอนุมัติโครงการ และการดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.จะเป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ อีกทั้งกระทรวงการคลังจะต้องทำรายงานการใช้เงินเสนอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ โดยในรายงานจะต้องครอบคลุมทั้งการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้เงิน และผลสัมฤทธิ์ของการใช้งบประมาณ
"ในการตราพระราชกำหนดปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลต่อสถานะการชำระหนี้ของประเทศ การกู้เงินในวงเงิน 1ล้านล้านบาท รวมกับการกู้เงินในกรณีอื่นแล้วจะไม่กระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะ โดย ณ สิ้นเดือนก.ย.ปี 2564 หนี้สาธารณะจะมีสัดส่วนร้อยละ 57.96 ต่อจีดีพี ซึ่งไม่เกินกรอบ 60% ตามกฎหมาย โดยการกู้เงินจะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันจะพิจารณาเงื่อนไขและต้นทุนการกู้เงินจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง หากสภาพคล่องในประเทศไม่เพียงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับปริมาณเงินในระบบของตลาดการเงินภายในประเทศ ส่วนการชำระหนี้นั้นกระทรวงการคลังได้วางแผนเป็นระบบเพื่อกระจายความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนให้เหมาะสม นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความโปรงใส รัฐบาลจึงได้กำหนดกระบวนการกลั่นกรองโครงการผ่านกลไกต่างๆที่จะต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้พระราชกำหนดเท่านั้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า เพื่อให้เกิดการสร้างระบบสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ จำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบต่อไป
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.Soft Loan โดยระบุว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สินเชื่อเพิ่มเติมเสริมสภาพคล่อง ชะลอการชำระหนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบวิสาหกิจที่คาดว่าจะลดลงอย่างรุนแรง และดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจเกิดภาวะการขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้และอาจส่งผลกับฐานะทางการเงินและการทำหน้าที่ด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ได้เป็นกู้เงินของรัฐบาล แต่เป็นการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการจัดสรรสภาพคล่องในระบบเป็นการชั่วคราวให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ส่วนที่รัฐบาลต้องรับภาระมีเฉพาะดอกเบี้ยSoft Loan ในช่วง 6 เดือนแรก และความเสียหายที่ชดเชยให้แก่สถาบันการเงิน หากลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งได้ออกแบบให้สถาบันการเงินต้องรับภาระความเสียหายบางส่วนด้วย เพื่อให้สถาบันการเงินคัดกรองลูกหนี้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้เสนอ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก. BSF (Corporate Bond Stabilization Fund) โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้มีความประสงค์เพื่อตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้และรักษาเสถียรภาพและสนับสนุนสภาพคล่องด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนไม่เกิน 4 แสนล้านบาท และมีคณะกรรมการกำกับกองทุน โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน แนวคิดและประโยชน์ของตราสารหนี้นั้นในระยะ 2 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้กว่า 9.8 แสนล้านบาท และยังเป็นแหล่งออมที่สำคัญของภาคประชาชนมากถึง 83% โดยเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดทำให้นักลงทุนต้องการถือเงินสดเอาไว้ให้มากที่สุด ทำให้เกิดการเทขายตราสารหนี้จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของผู้ออมและทำให้ต้นทุนการระดมทุนสูงขึ้นอีก และอาจเกิดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง ด้วยเหตุผลนี้ภาครัฐจึงต้องเร่งดูแลตลาดตราสารหนี้อย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการเงินโดยรวม
นายกฯ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นมาตรการเชิงป้องกันเพื่อรักษาสภาพคล่องระบบทางการเงิน โดยการช่วยเหลือต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอกับขนาดของตลาดตราสารหนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจะเป็นกลไกชั่วคราว ที่สำคัญมีกลไกและบริหารควบคุมความเสี่ยงที่จะลงทุนได้เฉพาะการลงทุนที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น และถูกออกแบบให้วัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะสั้นเท่านั้น ถึงที่สุดแล้วการดำเนินงานของกองทุนต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |