เพราะ “เด็ก” ไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก การบริหารจัดการเรื่องของเด็กภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 จึงต้องมีความละเอียดอ่อนรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะอนาคตที่ดีของเด็กก็คือความสำเร็จของประเทศด้วย
การแพร่ระบาดในวงกว้างของเชื้อโควิด 19 ทำให้หลายประเทศซึ่งรวมประเทศไทยด้วย จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากภัยโควิด ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งก็ต้องหันมาทำงานที่บ้านแทนการไปทำงานที่สำนักงาน ในขณะที่เด็ก ๆ ก็ต้องหันมาเรียนหนังสือออนไลน์กันที่บ้านเพราะโรงเรียนปิด
แม้ว่าทางการจะบอกว่า การเรียนออนไลน์ในระยะที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่การทดลองเท่านั้น แต่นักเรียนจำนวนไม่น้อยก็ต้องเผชิญกับปัญหาขลุกขลักหลายประการโดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กด้อยโอกาส
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ได้ช่วยตอกย้ำถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาของเด็กให้ได้เห็นกันอย่างเด่นชัดมากขึ้น ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกด้วย
การปิดโรงเรียนเพื่อหนีโควิดตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีในหลาย ๆ ด้าน
แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังมีชาวอเมริกันอีกราว 21 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตได้ในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งก็เป็นอุปสรรคสำหรับเด็ก ๆ ในครอบครัวเหล่านี้ที่ต้องหันมาเรียนในระบบออนไลน์ที่บ้าน เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่บ้าน (the digital divide)
นอกจากนี้ งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาในอดีตก็ยังพบว่า การปิดเทอมของโรงเรียนในช่วงฤดูร้อนประมาณ 3 เดือนของทุกปีตามปกตินั้น มีผลทำให้ทักษะและความรู้ของนักเรียนทั่วไปลดน้อยลงในช่วง 3 เดือนที่มีการหยุดโรงเรียน (เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่เท่ากันที่มีการเปิดภาคเรียน) และกลุ่มนักเรียนที่ด้อยโอกาสที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน จะมีปัญหาเรื่องทักษะและความรู้ที่ลดลง (โดยเฉพาะในด้านคณิตศาสตร์) มากกว่าเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีกว่า เนื่องจากเด็กกลุ่มหลังนี้จะมีโอกาสใช้เวลาในการเรียนเพิ่มเติมพิเศษได้มากกว่า ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวนี้มีนัยยะที่แสดงให้เห็นว่า ยิ่งโรงเรียนต้องปิดนานมากขึ้นเท่าไหร่อันเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อความปลอดภัยแล้ว ก็ยิ่งจะมีผลเสียต่อผลการเรียนและพัฒนาการด้านการเรียนของกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่มาจากครอบครัวที่ยากจนมากขึ้นเท่านั้น
จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจกับข่าวที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เตรียมจะเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาให้โรงเรียนนานาชาติจำนวน 216 แห่งได้เปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายนนี้เลย โดยให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปิด-ปิดเทอมให้สอดคล้องกับต่างประเทศ แต่ความพยายามที่จะให้มีการเปิดโรงเรียนนานาชาติให้นักเรียนได้กลับไปเรียนโดยเร็ว ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนเหล่านี้ก็มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์กันมาได้สักระยะหนึ่งแล้วก็ตาม ย่อมเป็นการยืนยันถึงข้อดีของการเรียนหนังสือที่โรงเรียนที่เหนือกว่าการเรียนในระบบออนไลน์ที่บ้านเพียงอย่างเดียวอย่างชัดเจน (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานี้) ดังนั้น ทางเลือกที่ดีกว่านี้ก็คือการใช้ระบบการเรียนแบบผสมผสานของทั้งสองระบบนี้เข้าด้วยกัน เช่นในกรณีของ การเรียนของนักศึกษาแพทย์โดยทั่วไป ที่จะมีการเรียนภาคทฤษฎีบางส่วนจากระบบออนไลน์ และมีการเรียนภาคปฏิบัติจริงที่โรงพยาบาลโดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยภายใต้การควบคุมแนะนำโดยอาจารย์แพทย์เพื่อพัฒนาทักษะความรู้และประสบการณ์การแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง เป็นต้น
ซึ่งข้อสังเกตข้างต้นนี้ ก็ยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่พบเห็นในต่างประเทศ ที่หลายประเทศได้เริ่มทยอยเปิดให้เด็กนักเรียนได้กลับไปเรียนหนังสือในโรงเรียนกันแล้ว เช่น จีน เดนมาร์ก และฝรั่งเศส เป็นต้น เพราะประเทศเหล่านี้ก็มีความเชื่อว่า เด็กเล็กจะมีโอกาสน้อยกว่าผู้ใหญ่ที่จะป่วยด้วยเชื้อไวรัสโควิด 19
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ที่มากพอ การเปิดโรงเรียนในช่วงเวลานี้ จึงมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงเรื่องความไม่ปลอดภัยที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ก็มีข่าวว่า มีเด็กเล็กในหลายประเทศที่เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโควิด 19 เข้าไปแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็เริ่มจะมีอาการป่วยคล้ายโรค Kawasaki หรือโรค Toxic shock syndrome มากกว่าที่จะป่วยเป็นโรคโควิด 19 ข่าวคราวใหม่เหล่านี้ ได้มีผลทำให้ประเทศฝรั่งเศสได้สั่งปิดโรงเรียนจำนวน 7 แห่งในเมืองฮูเบ (Roubaix) อีกครั้งภายหลังจากที่พบว่ามีเด็กนักเรียนติดเชื้อโควิด 19 อย่างน้อย 1 คน
ขณะนี้ รัฐบาลของหลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาที่ค่อนข้างยากและมีความละเอียดอ่อนสูงเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการเปิดโรงเรียน เพราะเริ่มเห็นแล้วว่า ระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์คงไม่สามารถทดแทนการสอนปกติที่โรงเรียนได้อย่างที่เข้าใจกันตั้งแต่ต้น
ทางออกสุดท้ายที่มีความเป็นไปได้สูง จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องยอมให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนภายใต้เงื่อนไขสำคัญที่ว่า โรงเรียนจะต้องมีมาตรการด้านการบริหารจัดการที่ดีพอเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ได้จนเป็นที่วางใจของผู้ปกครองของเด็กนักเรียนทั้งหลาย เช่น ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทั้งในห้องเรียนและสนามเด็กเล่น ต้องมีการแนะนำให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง ต้องมีการควบคุมและแนะนำให้เด็กนักเรียนทำความสะอาดล้างมือบ่อย ๆ ต้องมีการวางระบบคัดกรองและติดตามข้อมูลของนักเรียนที่เริ่มมีอาการป่วยด้วยเชื้อไวรัสโควิด และต้องมีการจัดห้องเรียนใหม่เพื่อลดจำนวนนักศึกษาต่อห้องให้เหลือน้อยลง และ/หรือลดจำนวนวิชาเรียนที่ไม่จำเป็นให้เหลือน้อยลงเพื่อจะได้เหลื่อมเวลาการเรียนให้ทำการเรียนการสอนได้มากกว่าหนึ่งรอบ เป็นต้น
สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น ยังมีโจทย์ยากเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับแผนการปฏิรูประบบโรงเรียนด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการบางส่วนที่เห็นด้วยกับวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโรงเรียนในประเทศด้วยวิธียุบโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหลาย แล้วย้ายนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านั้นไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเชื่อว่าวิธีนี้จะสามารถจัดการเรียนการสอนและระบบการบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีขึ้น แนวคิดดังกล่าวนี้จะยังคงมีความเป็นไปได้หรือไม่ หรือควรจะทำในทิศทางตรงกันข้าม เช่นให้ลดจำนวนโรงเรียนขนาดใหญ่ให้เหลือน้อยลงแทน และหันไปเพิ่มจำนวนโรงเรียนขนาดกลางและเล็กให้เพิ่มมากขึ้น แล้วนำระบบการสอนออนไลน์มาเสริมแบบผสมผสานกับระบบการสอนที่โรงเรียนที่มีขนาดกลางและเล็กให้เหมาะสมมากขึ้น ทั้งนี้นอกจากว่า จะมีประโยชน์ทั้งในเรื่องของการทำระยะห่างทางสังคม (social distance) แล้ว ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการปรับเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนให้ดีขึ้นได้ด้วย เพราะคุณครูจะสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น เนื่องจากห้องเรียนจะมีขนาดเล็กลง ซึ่งนโยบายการปฏิรูปโรงเรียนแนวใหม่นี้ก็จะสอดคล้องกับความเป็นจริงของยุคโควิดที่ต้องการเน้นทั้งเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนและความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่อาจมีการระบาดครั้งใหม่ได้เสมอ
ศ.ดร อารยะ ปรีชาเมตตา
กนิศฐา หลิน
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |