ภาคประชาชนรุมค้าน คสช.เงื้อ ม.44 อุ้ม 2 ค่ายมือถือ ชี้ทำรัฐสูญรายได้มหาศาล แนะเอาเงินไปช่วยคนจนดีกว่า เตือนใช้อำนาจพิเศษฟุ่มเฟือย ยิ่งตอกลิ่มขัดแย้งในสังคม "ทีดีอาร์ไอ" ซัด "กสทช." สวนทางนายกฯ อ้างตรรกะประหลาดเอื้อประโยชน์เอไอเอส-ทรู
ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 เมษายน คณะกรรมการ?ญาติ?วีรชนพฤษภา?35?และเครือข่าย?ตรวจสอบ?ภาค?ประชาชน? ได้จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ "ม.44 อุ้มค่ายมือถือ : รัฐ-เอกชน? ใครได้ ใครเสีย?" โดยมี น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), น.ส.สุภิญญา? กลางณรงค์? อดีต?คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนายมานะ? นิมิตร?มงคล? เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมเสวนา
น.ส.รสนากล่าวว่า ได้ติดตามกรณีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู ทำเอกสารขอให้สำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณายืดระยะเวลาการจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นโทรคมนาคม 4 จี ว่าจะเข้าการพิจารณาที่ประชุม คสช.ในวันที่ 10 เม.ย.นี้หรือไม่ ซึ่งไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลและ คสช.จะใช้มาตรา 44 อุ้มค่ายมือถือ ที่ผ่านมาการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นโทรคมนาคม 4 จี ทาง กสทช.ได้เอื้อให้เอกชนพอสมควร มีการแบ่งงวดชำระการจ่ายให้ 4 งวด และตามความจริงในปี 63 งวดสุดท้ายมีการจ่ายน้อยสุด คือมูลค่า 120,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามกฎหมายไม่สามารถแบ่งจ่ายงวดสุดท้ายได้ แต่เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า หากแบ่งจ่ายออกไปอีก 5 งวด จะทำให้รัฐได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ย 1.5% ซึ่งมองว่าจะทำให้เอกชนประหยัดดอกเบี้ยจากเดิม 3 หมื่นล้านบาทมากกว่า จึงทำให้เกิดคำถามว่า ใครได้ประโยชน์กันแน่ เพราะหากรัฐบาลเก็บค่าใบอนุญาตงวดสุดท้าย จะได้เงินเข้างบประมาณแผ่นดินทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหางบประมาณขาดดุล แต่กลับเปิดช่องให้เอกชนผ่อนจ่ายได้ แถมดอกเบี้ยยังต่ำมาก โดยที่รัฐบาลไม่ได้ประโยชน์ แต่ค่ายมือถือทั้ง 2 ค่ายได้ประโยชน์
“ตอนนี้ คสช.ใช้มาตรา 44 ฟุ่มเฟือยและไร้ขอบเขต เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ระบุถึงการใช้มาตรา 44 ใน 3 กรณีเท่านั้นคือ การปฏิรูป การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ และการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการช่วยเหลือภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจ ถามว่าความพยายามในการช่วยเหลือภาคเอกชนของ คสช. เปรียบเหมือนการเหาะเลยกรุงลงกาหรือไม่ หวังว่าจะมีการทบทวนอย่างรอบคอบ ถ้า คสช.ใช้มาตรา 44 อุ้ม รัฐบาลจะเสียประโยชน์แน่นอน เพราะ 2 บริษัทมีสัญญาการจ่ายเงินชัดเจน ในงวดสุดท้าย หากไม่จ่ายก็ต้องเสียดอกเบี้ย 15% ต่อปี หากจะให้ผ่อนจ่ายนั้นไม่มีเหตุผล อีกทั้งจะให้ดอกเบี้ยเพียง 1.5% รัฐควรไปช่วยอุดหนุนเงินคนจนมากกว่า เอกชนเขารวยอยู่แล้วเราจะไปอุ้ม ไม่เช่นนั้นจะเกิดคำถามจากสังคมมาก และเกิดคำถามในใจจากประชาชนแน่นอน ดังนั้นเรื่องนี้เราไม่หยุดติดตามแน่นอน” น.ส.รสนาระบุ
ด้าน น.ส.สุภิญญากล่าวว่า การพยายามแก้กฎหมายเอื้อผู้ประกอบการนั้น เป็นสิ่งที่รัฐเสียผลประโยชน์ เพราะจากเดิมในปี 55 ที่มีการประมูลคลื่น 3จี มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการประมูลที่ถูกมากเพียง 1.4 หมื่นล้านบาทให้กับเอกชน 3 ราย ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนดังกล่าวได้ผลประโยชน์มหาศาล ดังนั้น การประมูลคลื่น 4จี แม้อาจดูว่ามีค่าใบอนุญาตที่สูง แต่อยู่ในภาววิสัยที่เอกชนวิเคราะห์แล้ว และเคาะประมูลในช่วงเวลาดังกล่าวที่คาดว่าจะสามารถทำกำไรได้ เมื่อหักลบกับต้นทุน ซึ่งเมื่อ 3 จีเราเสียผลประโยชน์ ส่วนของ 4 จีรัฐจึงควรได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย
อย่างไรก็ตาม มองว่า กสทช.ยังไม่กล้าแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวเอง ดังนั้นหากจะแก้ ควรเป็น กสทช. ไม่ใช่ คสช. ซึ่งจะทำให้อาจมองว่า คสช.อุ้มทั้งเอไอเอสและทรู รวมถึงอุ้ม กสทช.อีกด้วย เพราะไม่ใช่กฎหมายในชั้นของพระราชบัญญัติ แต่เป็นเพียงประกาศของ กสทช. ดังนั้นถามว่า คสช.จะรับผิดชอบแทน กสทช.เพราะเหตุใด
"การนำเรื่องดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลนั้น มองว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐโดยตรง จึงอาจนำไปสู่การช่วยเหลือ แต่ส่วนตัวนั้นยังไม่เห็นว่าการทำงานของรัฐหรือ คสช.จะกระทบต่อโทรคมนาคม จึงไม่ควรจับทีวีดิจิทัลมาเป็นตัวประกัน" อดีตกรรมการ กสทช.กล่าว
ตอกลิ่มขัดแย้งสังคม
นายมานะกล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่าตอนนี้ยังไม่มีอะไรที่บ่งชี้สถานะ 2 บริษัทเอกชนว่าต้องได้รับความช่วยเหลือ ที่ผ่านมาทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวมีกำไรมาก และมีความชัดเจนว่ายังมีความสามารถในการระดมทุนจากตลาด หรือกู้เงินมาชำระรัฐเลยก็ได้ มิเช่นนั้นประเทศจะเกิดการสูญเสีย ซึ่งต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน หากมีการช่วยเหลือจะเอื้อประโยชน์เกินความเหมาะสม เพราะทั้ง 2 บริษัทมีศักยภาพทางการเงิน หากในวันข้างหน้าเขาผูกขาดตลาดได้ คนที่เดือดร้อนคือประชาชน หากจะช่วยเหลือกันจริง ควรมีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่การใช้มาตรา 44 เพราะจะเกิดการตัดตอนผู้รับผิดชอบได้
"ดังนั้นขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.แสดงท่าทีที่เปิดเผยว่า ถ้าใช้มาตรา 44 แล้ววันข้างหน้ามีการฟ้องร้องใครจะรับผิดชอบ อย่าลอยตัวแอบหลังมาตรา 44 เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ยุติธรรมกับคนทั้งประเทศ เรื่องนี้จะเป็นลิ่มตอกสังคมและเกิดปัญหาความขัดแย้งในข้างหน้าได้" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ระบุ
วันเดียวกัน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ "กสทช.กับตรรกะประหลาดเพื่ออุ้มผู้ประกอบการ 4 จี" ว่า หลังการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลแถลงว่านายกรัฐมนตรีให้แนวนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และการขอยืดจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 4 จีของกลุ่มเอไอเอสและกลุ่มทรู โดยให้คำนึงถึงหลักการ 2 ประการ คือ 1.ต้องให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ทั้งนี้เอกชนต้องยอมรับความจริงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจ และ 2.ต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย
ถ้อยแถลงดังกล่าวชี้ว่า นายกฯ สามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กสทช.กลับเสนอความเห็นแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมในแนวทางที่แตกต่างจากหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยอ้างข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะยืนยันที่จะเสนอให้รัฐบาลยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4 จีงวดสุดท้ายออกไป โดยอ้างว่าจะทำให้
1.รัฐบาลมีรายได้ประมาณ 3.6 พันล้านบาทจากดอกเบี้ย 1.5% ตามอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการ 2 รายไปกู้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ได้รายได้ดังกล่าว 2.รัฐบาลน่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4 จี ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดขึ้น เป็นเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าเอไอเอสและทรูจะเข้าร่วมประมูลด้วย แต่รัฐอาจไม่ได้รายได้ดังกล่าว หากไม่ยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4 จี งวดสุดท้าย
กสทช.ตรรกะประหลาด
นายสมเกียรติกล่าวว่า ข้อเสนอของเลขาธิการ กสทช. แตกต่างจากแนวนโยบายของนายกฯ และอยู่บนข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.เอกชนต้องสามารถประกอบธุรกิจได้ ทั้งที่ผู้ประกอบการทั้งสองรายไม่ได้มีปัญหาในการประกอบธุรกิจ เอไอเอสยังเป็นอันดับ 1 ของตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย และมีผลกำไรถึง 3 หมื่นล้านบาทในปี 2560 ส่วนทรูนั้น ยังมีกำไร 2.3 พันล้านบาทในปี 2560 ที่สำคัญทรูมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 20.9% เมื่อไตรมาส 4/58 ซึ่งมีการประมูลคลื่น เป็น 26.9% ในไตรมาส 4/60 และแจ้งต่อนักลงทุนว่า สามารถเพิ่มลูกค้าได้ 2.7 ล้านรายในปี 2560 ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมีลูกค้าลดลง
2.ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อทั้ง 2 บริษัท สะท้อนจากมุมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายที่ระบุว่า ฐานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทยังแข็งแกร่ง แม้รัฐบาลจะไม่ยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น ที่สำคัญกว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบางบริษัทคือความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย การที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎกติกาหรือเงื่อนไขที่ออกมาแล้ว อันเป็นผลจากการเรียกร้องของผู้ประกอบการบางรายโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยไม่มีหลักการที่ชัดเจน สามารถต่อรองได้ทุกเรื่องหากมีเส้นสาย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ลังเลที่จะมาลงทุนในประเทศไทย
3.ผลประโยชน์ของรัฐต้องไม่เสียหาย เงื่อนไขการประมูลกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากชำระค่าประมูลล่าช้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ไม่ใช่ 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช.เสนอ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในกรณีนี้คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลปล่อยให้ทั้ง 2 รายกู้ในอัตราดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้ดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ตามสัญญาแล้ว ยังขาดทุนทางการเงินด้วย การอ้างว่ารัฐจะมีรายได้จากดอกเบี้ยถึง 3.6 พันล้านบาท จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง
ส่วนที่ผู้ประกอบการทั้งสองรายออกแถลงการณ์ชี้นำให้สังคมเข้าใจว่า การผ่อนชำระค่าประมูลคลื่นดังกล่าว "ไม่ได้เป็นการขอลดค่าประมูลคลื่น" เป็นแต่เพียงการ "ขยายเวลา" เท่านั้น ไม่ได้ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์ คำกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงเนื่องจากการขยายเวลาโดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำมาก มีผลเหมือนการขอลดค่าประมูลคลื่น ซึ่งทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย
ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวว่า การขอใช้มาตรฐานเดียวกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพราะ "ต่างได้ใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นจาก กสทช. มาเช่นเดียวกัน" ไม่สมเหตุผล เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากการดำเนินการที่บกพร่องของ กสทช. ในขณะที่เอไอเอสและทรูมีกำไรและไม่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของ กสทช.
4.การเข้าร่วมประมูลคลื่นในอนาคต เลขาธิการ กสทช.อ้างว่า การขยายเวลาผ่อนชำระค่าประมูล จะช่วยให้รัฐได้รายได้จากการประมูลคลื่น 1800 MHz มากขึ้น เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรูจะเข้าร่วมประมูลด้วย ข้ออ้างดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการคาดเดาฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้ว่า แถลงการณ์ของเอไอเอสและทรูไม่ได้ระบุเลยว่าจะเข้าประมูลรอบใหม่หากได้รับการผ่อนชำระค่าประมูล ที่สำคัญหากเอไอเอสและทรูจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ด้วยเหตุผลจากการเจรจาแบบ "หมูไปไก่มา" ก็ยิ่งจะเป็นผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เพราะแทนที่การประมูลคลื่นจะเกิดขึ้นตามกลไกตลาด ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมและโปร่งใส กลับเกิดขึ้นจากการต่อรองกันเป็นครั้งๆ หรือการวิ่งเต้น
"โดยสรุป แม้นายกฯ สามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง เลขาธิการ กสทช.ยังพยายามชักจูงรัฐบาลให้อุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใดๆ รัฐบาลจึงควรตัดสินใจอย่างมั่นคงบนผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามามีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ" นายสมเกียรติระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |