พท.ถล่มกำนันกลับกลอก


เพิ่มเพื่อน    

 สวนดุสิตโพลเผย ปชช.ส่วนใหญ่ 72.28% ยังไม่แน่ใจจะเลือกพรรคการเมืองเดิมหรือที่ตั้งขึ้นใหม่ ระบุอยากดูตัวบุคคล-นโยบายก่อน แต่ส่วนใหญ่อยากลองเลือก ส.ส.หน้าใหม่ เพราะอยากให้โอกาสต้องการเปลี่ยนแปลง "ยะใส" ชี้กระแสคนรุ่นใหม่เป็นโมเมนตัมการเลือกตั้งครั้งหน้า "พลังธรรมใหม่" เฉ่งรัฐบาล อย่าใช้งบหาเสียงแบบประชานิยม "ปชป." รับพรรค กปปส.ทำให้ต่อสู้กันหนักในภาคใต้ ด้าน "เพื่อแม้ว" ซัด "สุเทพ" กลับกลอก ฟันธงพรรค กปปส.เป็นพันธมิตรทั้ง ปชป.-ประชารัฐ ท้า "สมคิด-ประยุทธ์" ถ้ามั่นใจรีบปลดล็อกแล้วเลือกตั้ง 

    เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ผู้สมัคร ส.ส." และ "พรรคการเมือง" ในทัศนะของประชาชน จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 1,187 คน ระหว่างวันที่ 3-7 เมษายน 2561 สรุปผลได้ดังนี้ เมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไร? กับ “ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่” ในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีในปีหน้า พบว่า อันดับ 1 มีความหลากหลาย มีผู้สมัครที่น่าสนใจมากขึ้น 41.76%, อันดับ 2 เป็นทางเลือกใหม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน 39.35%, อันดับ 3 ยังมีเวลา ต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ 31.89%
     ถามว่า คิดอย่างไรกับ “ผู้สมัคร ส.ส.ที่ย้ายพรรค” ในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีในปีหน้า พบว่า อันดับ 1สามารถทำได้ เป็นสิทธิของผู้สมัคร 40.17%, อันดับ 2การเมืองยังไม่นิ่ง ต้องรอติดตามสถานการณ์ต่อไป 38.50%, อันดับ 3 พรรคการเมืองต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนแนวทาง หาผู้สมัครที่เหมาะสม 25.62%   
    ส่วนประชาชนคิดจะเลือก “ผู้สมัคร ส.ส.หน้าเก่า หรือ ส.ส.หน้าใหม่” พบว่า อันดับ 1 ยังไม่แน่ใจ 67.40%เพราะยังไม่ใกล้วันเลือกตั้ง ยังไม่เห็นนโยบาย ไม่รู้ว่าจะเลือกใคร ต้องรอดูก่อน ฯลฯ, อันดับ 2 เลือก ส.ส.หน้าใหม่ 22.91% เพราะอยากลองเลือกคนใหม่ ให้โอกาส ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้บ้านเมืองพัฒนา ก้าวหน้า ฯลฯ, อันดับ 3 เลือก ส.ส.หน้าเก่า 9.69% เพราะเป็นที่รู้จัก เป็นคนในพื้นที่ ใกล้ชิด เคยเห็นผลงาน มีประสบการณ์ ชื่นชอบมานาน ฯลฯ
    และเมื่อถามว่า คิดจะเลือก “พรรคการเมืองเดิม หรือพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่” พบว่า อันดับ 1 ยังไม่แน่ใจ 72.28% เพราะอยากดูตัวบุคคลในพรรคก่อน อาจเป็นพรรคใหม่แต่คนเก่า อยากรู้รายละเอียด นโยบายและผู้สมัคร ฯลฯ, อันดับ 2 พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ 17.44% เพราะเป็นตัวเลือกใหม่ น่าสนใจ เบื่อพรรคการเมืองเดิม หวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ฯลฯ,  อันดับ 3 พรรคการเมืองเดิม    10.28% เพราะเป็นพรรคที่ชื่นชอบ มีชื่อเสียงมานาน เป็นที่รู้จัก ชอบคนในพรรค คนในครอบครัวชอบ ฯลฯ 
    นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า  กระแสคนรุ่นใหม่ดูเป็นกระแสค่อนข้างสูงกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา และเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะกลายเป็นโมเมนตัม หรือแรงผลักดันในการการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ และโมเมนตัมนี้จะเป็นตลาดการเมืองที่ทุกพรรคการเมืองแย่งชิง เหตุเพราะส่วนหนึ่งนั้นการเมืองไทยผูกขาดโดยคนรุ่นเก่า ตระกูลเก่าไม่กี่กลุ่มมานานเกิน จนทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหลังเลือกตั้งจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้าได้คนหน้าเดิมๆ กลุ่มเดิมๆ เข้ามาบริหารประเทศ
    "การโหยหาพรรคการเมืองใหม่ๆ คนหน้าใหม่จึงดูเหมือนถูกเรียกร้องจากตลาดการเมืองมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2562 จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 6 ปี ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม 2554 ไม่นับการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ในปี 2557 ที่ศาลชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ฉะนั้นจะมีจำนวนคนอายุ 18 ปี ที่มีสิทธิเลือกตั้ง และจะใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2562 จำนวนหลายล้านคนมากกว่าที่ผ่านมา และอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็มีเจตนารมณ์เพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยกำหนดให้ปรับอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ต้องอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ในวันเลือกตั้ง จากเดิมที่กำหนดให้เป็นอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม" 
การเมืองเหลือ 2 ทางเลือก
    นายสุริยะใสกล่าวว่า ความคาดหวังของสังคมกับกลุ่มคนหน้าใหม่ทางการเมืองนั้น ไม่ใช่แค่เป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อยเท่านั้น แต่ความคิดต้องใหม่และใช้การได้จริง อยู่บนโลกความเป็นจริง หมายความว่าต้องแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองที่เรื้อรังมาตลอด 10 ปีด้วย กล้าสรุปบทเรียนและเข้าใจคนรุ่นเก่าด้วยเช่นกัน เพราะการเมืองเป็นเรื่องของคนทุกกลุ่มทุกรุ่น ทุกภาคส่วน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นแค่สีสันชั่วคราวทางการเมืองเท่านั้น
    นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองส่วนใหญ่ ที่ประกาศท่าทีในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ภายหลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยเฉพาะจากคณะบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันย่อมถูกวิจารณ์ เนื่องจากว่าเป็นคู่แข่ง ต่อไปในการเลือกตั้งของบรรดาพรรคการเมือง เชื่อว่าจะเป็นสัญญาณที่ดี ที่บ่งบอกถึงความชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมป
     ส่วนข้อกังวลของหลายพรรคการเมือง ในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลในทำเนียบฯ หรือหาเสียงช่วงเป็นรัฐบาลอยู่นั้น นายอลงกรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องต้องพึงรับฟัง และระมัดระวังมิให้การกระทำใดเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ต้องทำตามกติกา มารยาท ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเป็นผู้ดูแลรักษากติกา ซึ่งความจริงเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ในอดีตเคยเกิดขึ้นไม่ว่าประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ก็ล้วนเคยเป็นรัฐบาลก่อนช่วงการเลือกตั้ง มักจะถูกท้วงติงจากพรรคฝ่ายค้าน หรือ พรรคคู่แข่งว่า อย่าใช้สถานการเป็นรัฐบาลใช้ประโยชน์ทางการเมือง หรือดำเนินการใดๆ โดยใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของการเลือกตั้ง
     นายอลงกรณ์กล่าวว่า ส่วนประเด็นว่าพรรคที่จะตั้งใหม่ จะไปรอดหรือไม่ คิดว่าพรรคที่จะเกิดขึ้นใหม่นั้น จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีโอกาสที่จะช่วงชิงชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ขึ้นกับผลงานของรัฐบาลจากวันนี้ จนถึงการเลือกตั้ง และคงไม่ใช่การเลือกตั้งสามก๊กหรือสี่ก๊ก แต่จะเป็นการเลือกตั้งเพียงสองทางเลือกเท่านั้น หากในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจจะเปิดตัวลงสนามเลือกตั้งกับพรรคที่จัดตั้งใหม่ นั่นคือประชาชนจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ต่อกับไม่สนับสนุน โอกาสของการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีเพียงสองกลุ่มพรรคการเมืองเท่านั้น ประชาชนจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้น
    ที่ที่ทำการพรรคพลังธรรมใหม่ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า พรรคพลังธรรมใหม่มีความเป็นห่วงเรื่องการใช้งบประมาณเกินดุลของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพราะ 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบเกินดุลไป 1.79 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะปีนี้รัฐบาลได้เพิ่มงบเกินดุลในช่วงกลางปีรวมทั้งหมดปี 61 จะใช้งบเกินดุลถึง 6 แสนล้านบาท จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทวบทวนการใช้งบให้ละเอียด รอบคอบ ตรงเป้า เข้าจุด รวมถึงการติดตามการใช้งบประมาณเกินดุลเหล่านี้ อย่าให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนใช้งบเกินดุลจำนวนมากขนาดนี้ ขอเตือนรัฐบาลอย่าใช้งบไปกับการหาเสียงแบบประชานิยมมากเกินไป เพราะไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว
        นพ.ระวีกล่าวว่า พรรคพลังธรรมใหม่ได้รับหนังสือรับแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคจาก กกต.เมื่อวันที่ 3 เม.ย.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในวันที่ 12 พ.ค.นี้ พรรคพลังธรรมใหม่นัดประชุมเวลา 09.00 น. ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดแรก ขอเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศมาร่วมประชุมจัดตั้งพรรคพลังธรรมใหม่ มาร่วมสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย ให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่าคนไทยต้องการพรรคที่ขาวสะอาด ไม่โกงไม่กิน พรรคที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง ยึดถือผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเหนือกว่าประโยชน์ของตนและของพรรค
"บิ๊กตู่"1ใน3รายชื่อนายกฯ
    เมื่อถามว่า มีรายชื่อบุคคลที่เป็นที่รู้จักจะเปิดตัวในวันประชุมพรรคหรือไม่ นพ.ระวีกล่าวว่า ขอยังไม่เปิดเผยในวันนี้ ขอให้ไปรอเซอร์ไพรส์ในวันนั้นเลยทีเดียว พรรคพลังธรรมเป็นพรรคที่บุคคลที่มีชื่อเสียงยินดีเข้ามาร่วมกับเราแน่นอน
    ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของพรรคพลังธรรมใหม่ต่อพล.อ.ประยุทธ์ นพ.ระวีกล่าวว่า ขอทำนายว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ประสงค์ที่จะเป็นนายกฯ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องตั้งพรรคทหารขึ้น และเชื่อว่าจะไม่เป็นนายกฯ คนนอก เพราะการจะต้องหาเสียงสนับสนุนในรัฐสภา 501 เสียงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเป็น 1 ใน 3 รายชื่อของพรรคทหารจะเสนอชื่อ ในส่วนของพรรคพลังธรรมใหม่นั้น เราจะดำเนินตามขั้นตอน หลังเลือกตั้ง หากเราประสบความสำเร็จ เราจะเสนอชื่อคนของพรรคเราขึ้นชิงตำแหน่งนายกฯ แต่หากไม่ประสบความสำเร็จ เราก็จะเลือกคนดีจากรายชื่อของพรรคอื่น ๆ    
    ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งว่า ยินดีต้อนรับพรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งเพื่อหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ เพราะจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่ดี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และลูกน้องบริวารจะจัดการตั้งพรรคให้นายกฯ เข้าสู่ถนนการเมืองตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และท่านนายกฯ ก็จะได้เข้าใจการเมืองมากขึ้นว่าทุกวงการมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ในแวดวงการเมืองก็มีทั้งนักการเมืองที่ดี ตั้งใจทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวม และมีนักการเมืองที่ไม่ดีที่อาศัยการเมือง อาศัยประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อเข้าสู่อำนาจแล้วใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง จะได้ไม่ด่ากราดนักการเมืองว่าไม่ดีไปทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา
     "การเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมืองสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาผ่านกลไกแม่น้ำ 5 สาย และอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดผ่าน ม.44 ออกคำสั่ง คสช.มากมาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ รวมถึงการเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคการเมืองของคนในรัฐบาลเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจเช่นกัน"
    นายองอาจกล่าวต่อว่า นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดบริหารดูแลประเทศมาแล้วเกือบ 4 ปี และมีการเคลื่อนไหวของคนในรัฐบาลสนับสนุนให้ท่านเป็นนายกฯ ต่อไป จึงอยากให้ท่านใช้เวลาที่เหลืออีกเป็นปีจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง ทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชนที่กำลังทุกข์ทนอย่างมากอยู่ขณะนี้ คือ 1.แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนให้ลืมตาปากได้ 2.แก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ 3.เลิกอุ้มคนรวยหันมาช่วยคนจนเพิ่มมากขึ้น ขอฝากให้ท่านนายกฯ ใช้เวลาที่เหลืออยู่บริหารประเทศมากกว่าบริหารอนาคตของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนและสังคมไทยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป
กปปส.-ปชป.ภาคใต้สู้กันหนัก
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคำพูดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ที่ระบุในทำนองว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองแล้ว โดยเชื่อว่าคงจะมีความพยายามที่จัดตั้งพรรค อยู่ที่ว่าจะให้ใครเป็นผู้จัดตั้ง เพราะตัวนายสุเทพคงไม่ได้ไปจัดตั้งเอง ซึ่งยังมั่นใจว่าแม้จะมีการตั้งพรรค กปปส.ก็จะไม่เกิดปัญหาสมองไหลในพรรคประชาธิปัตย์ โดยในขณะนี้อดีต ส.ส.มายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคเกือบครบทุกคนแล้ว ยกเว้นแค่นายธานี และนายเชน เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพเท่านั้น ซึ่งยังมีเวลาจนถึงวันที่ 30 เมษายน
     “ยอมรับว่าหากมีการตั้งพรรค กปปส.จริง ก็จะแบ่งคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ไป ทำให้มีการต่อสู้หนักในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และยังเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะเป็นที่หนึ่ง แต่คะแนนที่ได้จะลดลง ซึ่งจะกระทบต่อจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนพรรค กปปส.ที่จะจัดตั้งขึ้น ก็จะเก็บตกคะแนน ในแต่ละเขต ไปได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน ทั้งนี้ ยังเห็นว่าการมีพรรคการเมืองใหม่เป็นเรื่องดี เพราะทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ในขณะที่พรรคก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วยเช่นเดียวกัน” นายนิพิฏฐ์กล่าว
     นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แสดงท่าทีจะตั้งพรรคการเมืองว่า ก่อนหน้านี้ นายสุเทพเคยพูด จะไม่ยุ่งไม่สนการเมืองแล้ว หากจะมาทำพรรคการเมืองจริง ถือว่าพูดกลับไปกลับมา เชื่อถือไม่ได้ ไหลไปไหลมา ถ้าจะทำพรรคก็ทำเลย ไม่ต้องหลบอยู่ด้านหลัง เข้าใจว่าคงหวังเก็บตกคะแนนจากคนไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนที่จะมาเลือกพรรคของ กปปส. แต่สุดท้ายคงไปรวมกันตอนเลือกตั้งเสร็จสิ้น คงไม่ได้หวังที่จะมีนโยบายใหม่อะไรที่มาเสนอประชาชนสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูป ก่อนหน้าพูดเอาไว้ ถึงวันนี้ยังไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า 
    “จะตั้งพรรคก็เชิญตามสบาย ดูแล้วเหมือนการแบ่งกันทำ จากกลุ่มไม่เลือกประชาธิปัตย์ แต่เลือก กปปส.แต่สุดท้ายก็ไปรวมกันอยู่ดี พรรคลักษณะนี้คงเป็นพรรคเฉพาะกิจมากกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้พรรคเล็กพรรคน้อยทำงานได้ง่าย ส่วนตัวยังเชื่อว่าเขาพร้อมเป็นพันธมิตรทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชารัฐ แม้ในวันนี้นายอภิสิทธิ์จะบอกไม่เอานายกฯ คนนอก คงเป็นการพูดเพื่อหวังคะแนนเสียง พอคะแนนเสียงออกมาเท่าไหร่ ดูแล้วพอรวบรวมกันได้ เขาก็ปรับได้ ถึงอย่างไรก็มาจากไผ่กอเดียวกัน เพียงแค่วันนี้แตกหน่อออกไป”
    นายสมคิดกล่าวถึงกรณีนายชำนาญ จันทร์เรือง หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ แสดงความมั่นใจหากมีการเลือกตั้งวันนี้ พรรคอนาคตใหม่จะชนะการเลือกตั้งว่า พรรคอนาคตใหม่ถือเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย มีแนวคิดใหม่ วันนี้ยังยากที่จะประเมินคะแนน พรรคนี้คงได้แนวร่วมจากคนชื่นชอบเทคโนโลยี ชอบนโยบายใหม่ แม้เวลานี้ยังไม่เห็นนโยบายหรือหลักคิดมากนัก แต่ถือได้ว่าเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ กล้านำเสนอบางเรื่องที่คนรุ่นเก่าไม่กล้า คงจะเป็นตัวเลือกให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น การยืนยันแนวคิดไม่เอานายกฯ คนนอก ขอให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สู้ต่อไป แต่เวลาลงสนามจริง คงไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคิด ขอเรียกร้องให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมือง นักการเมืองได้ทำกิจกรรม เพราะพรรคเก่าพรรคใหม่จะได้ทำกิจกรรมเสียที ไม่ใช่ปล่อยให้แค่กลุ่มไทยยั่งยืน กลุ่มประชารัฐ ทำกิจกรรมได้อยู่ฝ่ายเดียว มันน่าเกลียด หาก พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจนักจะชนะเลือกตั้ง ขอให้รีบจัดเลือกตั้งเลย อย่าช้า อย่ามัวแต่รำทวน
ท้า"สมคิด-ประยุทธ์"อย่าอีแอบ
    ถามว่า พรรคอนาคตใหม่ถือเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ และหวั่นจะมาตัดคะแนนเสียงหรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องอนาคตดีกว่า แต่ถ้ายืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ถึงอย่างไรก็เป็นพันธมิตรกัน ไม่ได้หวั่นเรื่องการจะมาตัดคะแนนหรือไม่ เรื่องนี้อยู่ที่ประชาชน การที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประกาศทำพรรค ลงการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ดีเช่นเดียวกันหาก พล.อ.ประยุทธ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มีแนวโน้มสูงจะสนับสนุนพรรคประชารัฐนั้นก็ดี ขอให้ประกาศออกมาให้ชัด อย่ามัวเป็นอีแอบ มีนโยบายอะไรก็ขอให้นำเสนอกับประชาชน รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ควรใจถึงๆ มาเป็นสมาชิกพรรคให้เป็นเรื่องเป็นราวด้วย อย่าไปกลัว  
       นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสุเทพระบุต้องมีพรรคการเมืองสานต่ออุดมการณ์ กปปส.ว่า การตั้งพรรคการเมืองเป็นสิทธิที่ทุกคนทำได้ ถือเป็นเรื่องดี วิธีการนี้จะไม่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ประชาชนจะได้พิจารณานโยบายพรรคการเมืองนั้นๆ เพื่อตัดสินใจ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่งอะไร แต่พรรคประชาธิปัตย์น่าจะกระทบมากกว่า เพราะถือว่ามีฐานเสียงเดียวกัน ตนก็อยากรู้ว่าพรรคที่จะสานต่อแนวทาง กปปส.จะมีคนสนับสนุนมากน้อยเท่าไหร่ และที่สำคัญ เมื่อประชาชนตัดสินใจอย่างไร ทุกคนต้องยอมรับ หวังว่าจะไม่มีการขัดขวางการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต เพราะคำตอบที่ดีที่สุดของประเทศวันนี้คือการเลือกตั้งให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ไม่ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย ระงับความขัดแย้งทางการเมืองแบบสันติผ่านบัตรเลือกตั้ง บ้านเมืองก็จะเดินไปได้
     เมื่อถามถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ นายนพดลตอบว่า ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องดี เป็นการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะได้พิจารณานโยบายและรู้ว่าเลือกพรรคใดไปแล้วนายกฯ จะเป็นใคร และพรรคเพื่อไทยไม่หวั่นไหวเพราะตนเชื่อในหลักการที่ว่า การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง สง่างามกว่าผ่านการรัฐประหาร แม้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. แต่รัฐบาลและ คสช.ที่กุมอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ ก็ต้องสร้างกลไกที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นกลางและเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย รวมถึงประชาคมโลกยอมรับ
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อว่า  ประชาชนมีสิทธิ์สงสัยและตั้งคำถามได้ว่า รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น ทำเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศชาติ หรือทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ที่ผ่านมารัฐบาลคสช.และเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายทำตัวเป็นกรรมการ หรือเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง การตั้งพรรคเพื่อจะหนุนใครเป็นนายกฯ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่าเอาเปรียบกันมาก หรือ ไม่ได้พยายามแข่งขันบนพื้นฐานที่เป็นธรรม เท่าเทียม ในขณะที่ห้ามพรรคอื่นๆ ไม่ยอมปลดล็อก ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ แต่พรรคพวกของตัวเอง เคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ ใช้ตำแหน่ง หน้าที่ ทรัพยากรของรัฐ กำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์และเอาเปรียบพรรคอื่นทุกช่องทางหรือไม่ 
    "คนไทยคิดได้ว่าการกระทำแบบไหนที่ไม่เป็นธรรม ต้องการสืบทอดอำนาจหรือไม่ ไม่รู้ว่านายสมคิด ไปเอาความมั่นใจมาจากไหนถึงกล้าประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ ถ้ามั่นใจขนาดนั้น อย่าได้รีรอ รีบปลดล็อกทางการเมือง ยกเลิกข้อห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ยกเลิกข้อห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน เพราะสิทธิการพูด การเขียน สิทธิการแสดงออกทางการเมือง เป็นพื้นฐานสิทธิมนุษยชน ประชาชนต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข" นายอนุสรณ์กล่าว
    ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ที่บอกว่าการเมืองอาจเป็น 3 ก๊ก ตนว่าไม่ใช่ หลังจากนี้จะมี 2 ก๊กเท่านั้น คือก๊กสืบทอดอำนาจ กับก๊กไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ขอให้ออเจ้าทั้งหลายจับตาดูกันให้ดี อย่าเผลอตัวเชื่อศรีธนญชัย
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ทำการพรรคการเมืองหารือกับอดีต ส.ส. เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมว่า ส่วนตัวมองว่าไม่น่าใช่ เพราะนายสมคิดอาจจะเชิญผู้มีประสบการณ์ในด้านการบริหารมาแลกเปลี่ยนให้ข้อมูลข้อแนะนำ หรือในเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเรื่องของการรับฟังข้อมูลทุกภาคส่วน ไม่น่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง
    "บางคนอาจจะเห็นว่าดีฟังเสียงรอบด้านเพื่อให้การบริหาร การพัฒนาต่างๆ มีมุมมองกว้างมากขึ้น แต่บางคนอาจจะมองว่าไม่ดี แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ลำบาก" พล.ท.สรรเสริญกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"