'บินไทย'ยื่นศาล ขอฟื้นฟูกิจการ ระทึกสั่ง27พค.


เพิ่มเพื่อน    


    ครม.ไฟเขียวตั้ง "วิษณุ" นั่งประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของบินไทย ยันไม่มียุ่งการบริหารจัดการภายใน แค่เป็นตัวกลางรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาเท่านั้น  ทนาย "การบินไทย" ยื่นศาลขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่ง 27 พ.ค.นี้ "บล.เคจีไอ" เตือนหุ้นการบินไทยเสี่ยงสูง อนาคตไม่แน่นอนจะฟื้นฟูกิจการสำเร็จ ชี้หัวใจสำคัญคือคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟู ต้องไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค.63 ว่า ครม.มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของการบินไทย  ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีต รมว.การคลัง, นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม
    นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.) และนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)   เป็นกรรมการและเลขานุการ
    ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของการบินไทย ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในการดำเนินการแก้ไขการบินไทย เฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของศาล กลั่นกรอง ตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกหรือประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือ ครม.มอบหมาย และรายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ ครม.เป็นระยะๆ
    โดยกระทรวงการคลังยังคงมีอำนาจหน้าที่ติดตามดูแลกิจการของการบินไทยตามสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ โดยจะประสานงานโดยตรงหรือผ่านช่องทางคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ได้ แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยเหลือ 48% ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น ส่งผลให้การบินไทยพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด
    "ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย เป็นเพียงผู้ถือหุ้นจำนวนมากประมาณ 48% จึงทำให้การบินไทยพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วโดยเด็ดขาด กระทรวงคมนาคมจึงให้การบินไทยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป" นางนฤมล กล่าว
    นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของการบินไทยแต่อย่างใด โดยมีหน้าที่เพียงการติดตามการแก้ไขปัญของการบินไทยเท่านั้น โดยจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาระหว่าง ครม.กับการบินไทย เพราะวันนี้การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่การดำเนินการหลายเรื่องยังเกี่ยวข้องกับที่รัฐบาลจะต้องติดตาม เช่น รัฐวิสาหกิจหลายแห่งซื้อหุ้นกู้บินไทย  ถ้าบริษัทจะยื่นฟื้นฟูต่อศาลก็จะมีผลเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าหนี้ด้วย หรือการใช้พื้นที่ในสนามบิน หรือการดำเนินการในข้อปฏิบัติของ ICAO ดังนั้นเพื่อการทำงานที่สะดวก รัฐบาลจะได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็วแทนที่จะรอถามกับการบินไทยเอง
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี​ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ใช่ซูเปอร์บอร์ด แต่เป็นบอร์ดที่เชื่อมโยงในฐานะเป็นคนกลางระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ซึ่งเดิมไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะตอนเป็นรัฐวิสาหกิจก็สามารถติดต่อได้เอง แต่เมื่อเป็นเอกชนแล้วก็เหมือนการติดต่อระหว่างแอร์เอเชียและเจแปนแอร์ไลน์ที่จำเป็นต้องมีคนกลาง
    นายวิษณุกล่าวว่า หากถามว่าทำไมต้องมีคนกลางและทำไมต้องติดต่อ คำตอบคือรัฐวิสาหกิจกว่า  80 แห่งถือหุ้นกู้ที่อยู่ในนั้นก็จะมีคนเดือดร้อน อีกทั้งตำรวจก็ยังต้องมีการสอบสวนว่าใครผิดใครถูกในเรื่องการขายตั๋วหรือขายอะไรต่อมิอะไร รัฐบาลก็จะไม่มีโอกาสทราบ ขณะเดียวกันก็อาจมีการไปยืดการเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟู ซึ่งสุดท้ายก็จะไม่รู้ว่าทำอะไรที่ไหน ข้อสำคัญคือการบินไทยยังสามารถที่จะบริหารองค์กรอยู่ได้ โดยยังต้องใช้สนามบินและติดต่อกองทัพอากาศ ซึ่งหากไม่ตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็จะไม่มีช่องทางตรงนี้และอาจทำให้การฟื้นฟูสะดุดได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าไม่ใช่ซูเปอร์บอร์ด แต่เป็นเพียงมินิบอร์ด บอร์ดกระจอก
    นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อติดตามการดำเนินการแผนฟื้นฟูของการบินไทยเท่านั้น ถือเป็นภาคส่วนของรัฐบาล เนื่องจากธุรกิจสายการบินมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตการบิน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะได้ช่วยเหลือ หากการบินไทยต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือก็จะเสนอผ่านคณะกรรมการชุดนี้มา
    "ผมไม่อยากให้เรียกคณะกรรมการนี้ว่าเป็นซูเปอร์บอร์ดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย เพราะคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย และไม่มีอำนาจไปทักท้วงการทำแผนของการบินไทย อีกทั้งไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารจัดการการบินไทย โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจรายงานการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้รัฐบาลทราบ หรือมีอะไรที่เกี่ยวกับรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยกรรมการชุดนี้ก็จะเป็นผู้มารายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบเท่านั้น" นายอุตตมกล่าว
    รมว.การคลังกล่าวอีกว่า ขณะนี้การบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลแล้ว ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าการยื่นแผนฟื้นฟูต้องใส่ชื่อคณะผู้ทำแผนไปด้วย ซึ่งทราบว่ามีรายชื่อ 6 คน ซึ่งผู้ทำแผนกับผู้บริหารจะเป็นกลุ่มเดียวกันหรือคนละกลุ่มก็ได้ อย่างไรก็ตามต้องรอให้ศาลอนุมัติแผนการฟื้นฟูเสียก่อน    โดยในส่วนของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นการบินไทย ก็ต้องรอให้บริษัทดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ส่วนในฐานะเจ้าหนี้จะส่งคนเข้าไปทำหรือบริหารแผนฟื้นฟูด้วยหรือไม่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
    วันเดียวกัน ที่ศาลล้มละลายกลาง ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ทีมทนายความซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เดินทางมายื่นคำร้องขอทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมแนบเอกสารท้ายฟ้องจำนวนหนึ่ง ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องไว้พิจารณาว่ามีรายละเอียดครบ เพื่อจะมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้หรือไม่
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศาลล้มละลายได้รับคำร้องขอทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แล้ว ได้มีคำสั่งว่าคดีนี้มีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณา และมีผู้มีส่วนได้เสียเป็นจำนวนมาก จึงให้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 พ.ค.63 ทั้งนี้ ตามขั้นตอนทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทการบินไทยจะต้องเดินทางไปติดตามคำสั่งศาลในวันดังกล่าว
    ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การดำเนินการฟื้นฟูกิจการการบินไทยเป็นเรื่องของการบินไทย ซึ่งทำให้เห็นว่าเมื่อขาดการเป็นรัฐวิสาหกิจ การบินไทยก็สามารถที่จะแต่งตั้งบอร์ดการบินไทยคนใหม่ได้ทันที ส่วนการยื่นต่อศาลล้มละลายกลางของการบินไทยเพื่อขอเข้าฟื้นฟูกิจการนั้น ในเรื่องนี้ไม่ทราบเรื่องว่าการบินไทยยื่นต่อศาลล้มละลายกลางหรือยัง และการยื่นต่อศาลล้มละลายกลางก็ไม่ได้หมายความว่าแผนฟื้นฟูกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งขั้นตอนอาจจะต้องมีการไต่สวนจากศาลว่ายอมรับหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับก็ต้องมีการโหวตจากกลุ่มเจ้าหนี้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแผนหรือไม่อย่างไร 
    นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ต้องฟื้นฟูกิจการ เช่น บมจ.การบินไทย ในขณะที่ยังไม่มีความชัดในแผนฟื้นฟู ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นการดำเนินธุรกิจในภาวะที่ไม่ปกติ โดยสิ่งที่นักลงทุนต้องระวังคือ การลดทุนและการเพิ่มทุน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งหากมองกรณีเลวร้าย เช่น เดิมมูลค่าหุ้นอาจเคยอยู่ที่ 100 บาท ก็อาจจะลดลงเหลือเพียง 1 บาท เป็นต้น
    อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ของบริษัทการบินไทยขณะนี้จะคล้ายกับสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ในอดีต แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือวัฒนธรรม อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนไทยที่เคยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแต่ไม่ประสบความสำเร็จมีสูงถึง 30-40% ดังนั้นแม้แผนฟื้นฟูจะออกมาชัดเจน ก็อย่ามั่นใจว่าการฟื้นฟูกิจการจะประสบความสำเร็จ เพราะอาจเกิดอุปสรรคขึ้นในช่วงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้
     ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอยอมรับว่า รายชื่อกรรมการคนใหม่ทั้ง 4 คนของการบินไทยช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับและมีประสบการณ์ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูความชัดเจนของแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการประเมินมูลค่าหุ้นในลำดับต่อไป รวมทั้งคณะกรรมการที่จะเข้ามาบริหารแผนฟื้นฟู เพราะถือเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จ ที่ต้องเป็นกลางและไม่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
    "ดังนั้นจึงมองว่า นักลงทุนที่เข้ามาเล่นหุ้นการบินไทยขณะนี้เป็นการเก็งกำไรระยะสั้น โดยคาดเดาสถานการณ์ในอนาคตกันเอง เนื่องจากขณะนี้แผนฟื้นฟูยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่นักลงทุนส่วนหนึ่งจะรอความชัดเจนของแผนฟื้นฟูและแนวทางที่ชัดเจน เพื่อคาดการณ์ความสำเร็จในอนาคตจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะทำให้การประเมินมูลค่าของหุ้นมีความเหมาะสม และสามารถเปรียบเทียบได้ว่าควรเข้าลงทุนเพื่ออนาคตหรือไม่ พร้อมแนะนักลงทุนที่มีหุ้นการบินไทยอยู่ในมือและยังอยากถือเก็บไว้ จะต้องพิจารณาว่าสามารถรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลดทุนได้มากน้อยเพียงใด" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"