ล็อกเป้า 4 ปมดิสเครดิต'พรก.โควิด' 'บิ๊กตู่-สมคิด-อุตตม'ปักหลักชน!


เพิ่มเพื่อน    

      อุ่นเครื่อง-เตรียมพร้อมกันมาได้พักใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน กับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสำคัญตลอดสัปดาห์นี้ 5 วัน 4 คืน คือพุธที่ 27 พ.ค. ถึงวันอาทิตย์ที่ 31 พ.ค. ซึ่งสภาฯ จะมีการพิจารณาพระราชกำหนดสำคัญ 4 ฉบับ ที่รัฐบาลผลักดันออกมาเพื่อรองรับการสู้สงครามโควิด ภายใต้งบประมาณที่กันไว้ร่วม 1.9 ล้านล้านบาท อันประกอบด้วย

      1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่แยกเป็น เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ภายใต้วงเงินไม่เกิน 6 แสนล้านบาท และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีกไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

      2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ

        3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ให้อำนาจแบงก์ชาติมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนจากภาคเอกชน ภายในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

        4.พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563

      อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญจริงๆ คงอยู่แค่ที่ 3 พ.ร.ก.แรกเท่านั้น ที่จะมีการอภิปรายจาก ส.ส.จำนวนมาก โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่ขอลงชื่อใช้สิทธิ์อภิปรายร่วม 65 คน

      จับกระแส ประเมินทิศทางเบื้องต้นไว้ว่า การอภิปรายของฝ่ายค้านจะล็อกเป้า อภิปรายไปในทางที่ว่า เห็นถึงความจำเป็นในการต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อรับมือกับสงครามโควิด เพราะหลายประเทศทั่วโลกก็มีการใช้งบจำนวนมากระดับมหาศาล เพื่อช่วยเหลือประชาชนและรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า "บาซูกา-ทางการคลัง" อันมีตัวอย่างให้เห็นเกือบทุกประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา-เยอรมนี-อังกฤษ-อิตาลี-ญี่ปุ่น-สิงคโปร์ แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านคงมุ่งอภิปรายในโทนว่า แม้มีความจำเป็นและเห็นด้วยที่ต้องกันเงินมาช่วยประชาชน และพยุง-กอบกู้เศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลายทั้งระบบ แต่ก็จะอภิปรายสำทับในทำนองว่า แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบและวิธีการที่รัฐบาลทำออกมาผ่านการออก พ.ร.ก.ทั้งสามฉบับที่ใช้เงินจำนวนมาก เพราะกระบวนการต่างๆ ยังมีจุดอ่อน-ช่องโหว่ ที่ทำให้ช่วยประชาชนไม่ได้จริง ไม่ได้ช่วยคนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม แต่มีการเลือกปฏิบัติ

      คาดว่าคำอภิปรายของฝ่ายค้าน เนื้อหาจะเน้นไปที่การเป็นห่วงว่างบประมาณที่ใช้ไปในการนี้ร่วม 1.9 ล้านล้านบาท อาจไปไม่ถึงประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ จนสุดท้ายกลายเป็นความสูญเปล่า ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ผนวกกับจะอภิปรายว่ากลไกที่วางไว้ในการเห็นชอบ-อนุมัติการใช้งบประมาณที่ให้ทำผ่าน "คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้" ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน โดยมีกรรมการ เช่น ปลัดสำนักนายกฯ-ปลัดกระทรวงการคลัง-ผอ.สำนักงบประมาณ-ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ-ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ จึงเป็นห่วงว่าอาจมีการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารในกระบวนการ "อนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้" เป็นต้น

      ทิศทางการอภิปรายของฝ่ายค้านคาดการว่าน่าจะวางสโคปไว้ที่ 4 ประเด็นใหญ่ คือ

      1.อภิปรายในโทนกรอบการใช้เงิน-อนุมัติโครการ ไม่มีรายละเอียดใน พ.ร.ก. จึงอาจเปิดช่องให้มีการ "ตีเช็คเปล่า" หรือแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้เงินได้ หากไม่มีความระมัดระวังและมีการแทรกแซงจากฝายการเมือง

      2.เป็นการออก พ.ร.ก.ที่เลือกปฏิบัติกับบุคคลบางกลุ่ม เช่น พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ที่ให้แบงก์ชาติไปช่วยภาคเอกชน กลุ่มทุน ในการไปซื้อหน่วยลงทุนของเอกชน เช่น หุ้นกู้ของบริษัท ที่ฝ่ายค้านอาจอภิปรายทำนองไปช่วยคนรวย-บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรงทางธุรกิจอยู่แล้ว

      3.อภิปรายลากโยงเพื่อไล่ถล่มรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี ครม.มีมติล่าสุดต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือนจนถึง 30 มิ.ย. ในทำนอง สถานการณ์เวลานี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

      4.เน้มอภิปรายเรื่องรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการดูแลแก้ปัญหาประชาชน โดยยกกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนเดือนละ 5 พันบาท ที่มีปัญหามากมาย มาดิสเครดิตรัฐบาล รวมถึงขย่มว่าหลายมาตรการของรัฐบาลออกมาแบบล่าช้า แก้ปัญหาไม่ถูกจุด จนคนเดือดร้อน ยากจนทั้งแผ่นดิน

      อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่ ส.ส.ฝ่ายค้านจะอภิปรายในโทนดังกล่าว รัฐบาล โดยเฉพาะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่รับผิดชอบโดยตรงกับการออก พ.ร.ก.ทั้งหมด-อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ตลอดจนตัวช่วยสำคัญอย่าง "วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ" ที่จะไปร่วมประจำการที่รัฐสภาด้วยตลอด 5 วัน เตรียมช่วยรัฐบาลในการชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ

      เชื่อได้ว่า ทั้ง บิ๊กตู่-สมคิด-อุตตม-วิรไท ต่างเก็งข้อสอบการอภิปรายของฝ่ายค้านไว้หมดแล้ว และคงเตรียมข้อมูล-ข้อกฎหมายมาชี้แจง-หักล้างฝ่ายค้านไว้ทุกประเด็นมาร่วมเดือน ทำให้ฝ่ายรัฐบาลก็มั่นใจว่ารับมือได้สบาย 

      สิ่งที่จะเกิดขึ้นในที่ประชุมสภาฯ หากฝ่าย พลเอกประยุทธ์ เตรียมเนื้อหา ข้อมูลมาดีๆ ชี้แจงแบบตรงเป้า อุดทุกข้อเป็นห่วงของฝ่ายค้านได้ด้วยข้อกฎหมายและความเป็นเหตุเป็นผล โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันการทุจริต และที่สำคัญมีการชี้แจงแบบมีถ้อยคำกระแทกใจประชาชน เช่น พูดถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการรับมือกับโควิดจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งบางวันไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทั้งประเทศ และพลเอกประยุทธ์ใช้โอกาสนี้ขอบคุณ "บุคลากรทางการแพทย์" อย่างจริงใจ ให้คนไทยทั้งประเทศได้รับรู้กลางที่ประชุมสภาฯ

      ก็เชื่อได้ว่า แทนที่การอภิปราย พ.ร.ก.โควิด ที่ฝ่ายค้านหวังจะใช้เป็นเวทีดิสเครดิตรัฐบาล ผลจะออกมาตรงกันข้ามคือ กลายเป็นเวทีสร้างคะแนนนิยมให้กับบิ๊กตู่และรัฐบาลไปชนิดฝ่ายค้านได้แต่รำพัน งานนี้พลาดอีกแล้ว!!!.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"