วิษณุคุมภาพใหญ่-จัดทัพ4บอร์ดบินไทย ภารกิจช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนมีผู้บริหารแผนฯ


เพิ่มเพื่อน    

       

        เดินหน้า ขับเคลื่อน เป็นระยะกับการผ่าตัดใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านกระบวนการยื่นฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง เพราะสัปดาห์นี้ผ่านมาแค่สองวัน ก็มีความเคลื่อนไหวการนำ บริษัท การบินไทย เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการออกมาหลายขยัก

        หลังจากเวลานี้ การบินไทย พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว เมื่อกระทรวงการคลังโอนหุ้นการบินไทยที่ถืออยู่ให้กับกองทุนรวมวายุภักษ์ จนเหลือหุ้นการบินไทยไม่ถึง 51 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ก.คลัง ก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ ยิ่งเมื่อรวมกับธนาคารออมสินและกองทุนรวมวายุภักษ์ ก็ถือเป็นเสียงข้างมากในจำนวนสัดส่วนผู้ถือหุ้น จึงทำให้ ก.คลัง ยังมีอำนาจเต็ม ในการคอนโทรลการเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ ผ่าน จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรักษาการดีดีการบินไทยและบอร์ดการบินไทย ที่ยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไปในช่วงเปลี่ยนผ่าน จนกว่าศาลล้มละลายกลาง จะมีคำสั่งแต่งตั้ง "ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ" ตามมติและความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้

        ช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเพื่อรอการเข้ามาของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลจึงขยับใน 2 จังหวะใหญ่

      ขยักแรก ก็คือการส่งสัญญาณให้บอร์ดการบินไทยมีการเรียกประชุมด่วนนัดพิเศษ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนแปลงบอร์ดการบินไทย 4 เก้าอี้ จนได้ 4 บอร์ดป้ายแดงการบินไทย ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาไม่น้อย โดยเฉพาะจากพนักงานการบินไทยที่แสดงความเห็นผ่านสังคมโซเชียลมีเดีย ถึงรายชื่อที่ออกมา ว่าเหมาะสม-ไม่เหมาะสมอย่างไร

        โดย 4 บอร์ดป้ายแดงการบินไทย ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในช่วงไม่ยาวนัก เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะมีการตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู ได้เร็วหรือช้า หากตั้งได้ช้า ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ ก็พบว่าแต่ละคนโปรไฟล์ที่มาที่ไปไม่ธรรมดา

        เริ่มที่ 1.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

        ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และปัจจุบันยังมีภารกิจสำคัญในทางการเมือง ก็คือประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร จากพรรคพลังประชารัฐ

        เป็นที่รู้กันดีว่า พีระพันธุ์ อดีต รมว.ยุติธรรม ที่ทิ้งเก้าอี้  ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ประชาธิปัตย์ มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ มีห้องทำงานอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ถูกวางบทบาทให้เป็นกุนซือด้านกฎหมายให้กับ พลเอกประยุทธ์ และเลือกตั้งรอบหน้า ก็มีข่าวว่ามีสัญญาใจกับแกนนำพลังประชารัฐ ว่าจะถูกวางตัวให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับต้นๆ ของพรรค

        2.บุญทักษ์ หวังเจริญ

        สำหรับชื่อนี้ พบว่ามีเสียงขานรับค่อนข้างสูง จากคนในการบินไทย และแวดวงตลาดหุ้น เนื่องจากเป็นนายธนาคารชื่อดัง เพราะมีดีกรีระดับอดีตประธานธนาคารทหารไทย และมีโปรไฟล์การทำงานไม่ธรรมดา เช่น อดีตกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์-กรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด โดยก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ก็เคยตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาแล้ว ตอนหลังรัฐประหารโดยเข้ามาในโควตา นายกสมาคมธนาคารไทย

        3.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

        อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ปตท.ที่มีตำแหน่งในรัฐบาลประยุทธ์หลายตำแหน่ง เช่น  อดีต รมช.คมนาคม รัฐบาลประยุทธ์-อดีตกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยสมัยเป็นซีอีโอ ปตท. ก็อยู่ในยุคที่ คสช.ทำรัฐประหาร ซึ่งแม้ก่อนหน้านี้จะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว  แต่ก็แวะเวียนเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลบ่อยครั้ง ในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัว พลเอกประยุทธ์ที่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

        4.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

        ชื่อนี้เห็นชัดว่ามีคนพูดถึงมากที่สุด เพราะแม้จะเป็นอดีตดีดีการบินไทย แต่ก็มีเสียงวิจารณ์จากพนักงานการบินไทยไม่น้อยจากผลงานที่ผ่านมา ทั้งที่ดีกรีการทำงานผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมาย เช่น อดีตดีดีการบินไทย-อดีตประธานบอร์ด บริษัท ปตท. ในยุครัฐบาล คสช.-อดีต รมว.พลังงาน ยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์-อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ-อดีตคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ แม้ปิยสวัสดิ์จะมีภรรยา คือ อานิก อัมระนันทน์ เป็นอดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม จากพรรคประชาธิปัตย์ เคยรับผิดชอบงานการบินไทย แต่คงไม่เกี่ยวกันกับการคัมแบ็กรอบนี้ของปิยสวัสดิ์ในฐานะบอร์ดการบินไทย

        ส่วนจังหวะขยับเรื่องที่ 2 ก็คือ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 144/63 แต่งตั้ง "คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย"

        อันเป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์โดยสรุปก็คือ แม้การบินไทยจะพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว แต่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังยังคงมีสัดสวนการถือหุ้นในบริษัทเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการประกอบกิจการของบริษัทยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ จำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องการฟื้นฟูกิจการ เป็นระยะ โดยมีระบบกลั่นกรอง และช่วยตรวจสอบในส่วนของภาครัฐ จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ จึงมีคำสั่งตั้งกรรมการชุดดังกล่าว

        สำหรับกรรมการฯ ประกอบด้วย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีกรรมการประกอบด้วย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีต รมว.การคลัง ในรัฐบาล คสช., ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง, ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, ชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นกรรมการ, วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ, ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการและเลขานุการ

        โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน เป็นต้น

        ทั้งนี้ เดิมทีผลการหารือร่วมกันระหว่าง วิษณุ เครืองาม กับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าวงหารือมีแนวคิดการตั้ง "ซูเปอร์บอร์ด" ที่จะให้มีตัวแทนจากสองกระทรวงคือ คมนาคมและคลัง เพื่อคอยทำหน้าที่เสนอแนะ ติดตาม การฟื้นฟูการบินไทย โดยเฉพาะการให้ความเห็นเสนอนายกฯ ในเรื่อง "การตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ"

        ซึ่งก่อนหน้านั้นมีกระแสข่าวออกมาต่อเนื่อง ว่า กระทรวงคมนาคมโดยศักดิ์สยาม จากพรรคภูมิใจไทย กับอุตตมจากพรรคพลังประชารัฐ มีความเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องการทำโผรายชื่อ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้คนกลางในทำเนียบรัฐบาล คือ วิษณุ ต้องเจรจาให้ใช้วิธีตั้งซูเปอร์บอร์ด แต่สุดท้ายพอ ก.คลัง โอนหุ้นการบินไทยแบบรวดเร็ว จนเหลือไม่ถึง 51 เปอร์เซ็นต์ ทำให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้การบินไทยไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของคมนาคมอีกต่อไป จึงทำให้ กระทรวงคมนาคมเสียสถานะการต่อรอง ในการมีส่วนร่วมการฟื้นฟูกิจการการบินไทยโดยทันที

        ผนวกกับฝ่ายวิษณุคงดูแล้วว่า หากตั้งซูเปอร์บอร์ดอาจมีปัญหาข้อกฎหมายตามมาภายหลัง ทำให้การตั้งซูเปอร์บอร์ด ต้องเปลี่ยนรูปแบบ โดยให้ฝ่ายบริหารไปยุ่งเกี่ยวน้อยที่สุด แต่ให้มีลักษณะเป็นฝ่ายประสานงาน จนเกิด "คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย "ขึ้นมา เพื่อเป็นกรรมการกลางคอยเชื่อมระหว่างรัฐบาล คลัง บริษัท การบินไทย

        เท่ากับวิษณุมือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล ตอนนี้ต้องมารับหน้าเสื่อ คุมหางเสือ ดูภาพใหญ่ การฟื้นฟูกิจการการบินไทยให้กับรัฐบาลแบบห่างๆ นั่นเอง  แม้เจ้าตัวจะบอกว่าเป็นแค่มินิบอร์ด ไม่ได้มีอำนาจมากมายอะไรก็ตาม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"