เศรษฐกิจไทยเราจะเป็นอย่างไรในปี 2020 นี้อยู่ที่โควิด-19 จะจบเร็วหรือช้า...แต่เราไม่อาจจะรอให้ “จบเกม” ก่อนแล้วจึงจะวางแผนฟื้นฟูประเทศ
ต้องเริ่มเขียน “พิมพ์เขียวประเทศไทย” เคียงคู่กับโควิดไปตั้งแต่วันนี้
เพราะหลายประเทศก็วางแผนเตรียมพร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าโดยไม่รอให้ทุกอย่างเป็นปกติก่อน
เพราะมันอาจจะไม่มีคำว่า “ปกติ” แบบเดิมอีกต่อไป
และแม้เราจะได้ยินคำว่า New Normal แทบทุกวันในทุกเวที ก็ไม่มีใครแน่ใจว่าเจ้า “ความปกติใหม่” ที่ว่านี้มันมีหน้าตาและเนื้อหาอย่างไร
เราต้องสร้าง “วิถีปกติใหม่” ของเราเองอย่างจริงจัง
แนวทางวิเคราะห์เศรษฐกิจของไทยเรามีอยู่หลายสูตร
ตั้งแต่ติดลบ 5-6% ถึงติดลบ 8-9%
ขณะที่เวียดนามประกาศว่าแผนการฟื้นฟูของเขาจะทำให้เขาสามารถโตแบบบวก 5% ได้
ถ้าเวียดนามบอกว่าเขา +5% แต่ไทยเราเชื่อว่าอาจจะ -5% เป็นอย่างน้อย นั่นย่อมแปลว่าเรามีปัญหาในการวางแผนออกจากวิกฤตินี้แน่นอน
จำเป็นที่จะต้องมีการนั่งลงระดมความคิดอ่านของทุกฝ่ายเพื่อเขียน Exit Strategy ออกจากวิกฤติ และ Recovery Strategy เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่โหมดของการฟื้นฟูอย่างจริงจัง
จากนั้นก็ต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และระดมสรรพกำลังเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 0.5%
เหตุผลหลักคือ การประเมินว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรง
อีกปัจจัยหนึ่งในสายตาของ กนง. คือเสถียรภาพระบบการเงินเริ่มเปราะบาง
และมีความกังวลว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอีก
จากคำแถลงของคุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 0.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที
นั่นแปลว่าแนวทางวิเคราะห์ของคณะกรรมการฯ ไม่ได้สอดคล้องไปทางเดียวกันหมด
อาจจะเป็นเพราะเห็นว่า “อาวุธ” ด้านดอกเบี้ยอาจจะไม่ตอบโจทย์ของปัญหาที่ซับซ้อนกว่าที่มองเห็น
ภาพรวมคือเศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงกว่าที่เคยประเมินกันเอาไว้จากโควิด-19
อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้
ขณะเดียวกันเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
เลขาฯ กนง.บอกว่า กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาล และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้
แต่กรรมการ 3 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และเสนอให้เร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว
คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น
อีกทั้งยังควรจะเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง
ที่สำคัญต้องให้ “ตรงจุดและทันการณ์”
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้
การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าคาด ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ จากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด
แปลว่าเกือบทุกอย่างแย่กว่าที่คาดเอาไว้...หรือที่คาดเอาไว้ต่ำเกินกว่าที่ควรจะประเมิน
แต่ก็ยังตั้งความหวังว่ามาตรการการเงินและการคลังจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ และน่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 คณะกรรมการฯ เห็นว่ามีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาดตามราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ
คณะกรรมการฯ บอกว่าจะต้องติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศและการระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศ
ขณะเดียวกันการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและโอกาสที่การระบาดในประเทศอาจกลับมา รวมทั้งประสิทธิผลของมาตรการการคลัง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการฯ เห็นว่าตลาดการเงินมีเสถียรภาพ หลังจากที่ ธปท.ออกมาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง และอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น
แต่ก็ให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้
ด้านสินเชื่อมีการขยายตัว โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงบ้าง สภาพคล่องในระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง
คณะกรรมการฯ บอกว่าต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา และการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) เป็นการชั่วคราว
คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง
แต่ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนหลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าสถาบันการเงินต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า
อีกทั้งให้ ธปท.ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น หากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด รวมถึงดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ บอกว่าจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลัง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
(แต่บางสำนักก็พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจไทยอาจติดลบมากกว่าภาพรวมที่คณะกรรมการฯ มอง...ติดตามต่อพรุ่งนี้).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |