เผยเคล็ดลับ‘อยู่100ปีอย่างมีความสุข’


เพิ่มเพื่อน    

 ผู้สูงอายุในไทยพุ่ง 11 ล้านคน สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ จับมือ รพ.ราชวิถี พม.ชวนผู้สูงอายุถ่ายทอดเคล็ดลับ อยู่ 100 ปีอย่างมีความสุข 80 ปีไม่มีโรค เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนสองวัยทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ปลอดภัยจากภาวะเจ็บป่วย เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์และมีคุณภาพ

    เมื่อวันที่ 8 เมษายนนี้ ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดกิจกรรมส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี มีอายุยืนยาวสมบูรณ์ ภายใต้แนวคิด “สองวัยใส่ใจสุขภาพ” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับช่วงเทศกาลประเพณีไทยวันสงกรานต์ หรือวันผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลสามารถดูแลตนเองได้ ไม่เจ็บป่วยฉุกเฉิน  
    ภายในงานมีวิทยากรผู้สูงอายุที่เป็นทั้งปูชนียบุคคลและเป็นผู้มีสุขภาพดี เช่น ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร, นพ.บรรลุ ศิริพานิช และ นพ.เฉก ธนะศิริ มาร่วมแลกเปลี่ยน โดยมีผู้สูงอายุสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คู่ ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการทำพิธีขอพรจากผู้สูงอายุเพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในวันผู้สูงอายุและเทศกาลวันสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่ของไทย
    นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานว่า ปี 2560 มีผู้สูงอายุสูงถึง 11 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง 1.5% และเป็นผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยประมาณกว่า 2 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุ 8 ล้านคนเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้ จากการสำรวจทั่วประเทศพบว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุเกิน 100 ปี จำนวน 300 คน และคาดการณ์ว่าในปี 2574 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือจะมีผู้สูงอายุมากถึง 28% ของจำนวนประชากร สำหรับสิ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขได้คือ การไม่มีโรค มีกิจกรรมทำ ซึ่งทางกรมได้สนองนโยบายภาครัฐด้วยการส่งเสริมการจ้างงานและกองทุนเงินออมแห่งชาติให้กับผู้สูงอายุด้วย
    “ผู้สูงอายุจะมีความสุขได้ จะต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ด้วยการเริ่มรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม ส่วนเรื่องการออมนั้นควรเริ่มตั้งแต่วัยทำงาน และกระทรวงแรงงานกำลังผลักดันแก้ไขกฎหมายการจ้างงานผู้สูงอายุให้เป็นการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้เหมาะสมกับวัยของผู้สูงอายุ” นางธนาภรณ์กล่าว
    ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงเสวนา “สองวัยใส่ใจสุขภาพ” ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ผ่านมาปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินมีมากขึ้น ขณะที่ประชากรของประเทศมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ แนวโน้มของผู้ที่อายุน้อย แต่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมีมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วยฉุกเฉินในห้องฉุกเฉินมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่แม้ได้รับการพิจารณาให้เข้ารักษาภายในโรงพยาบาล กลับต้องนอนพักรักษาในห้องฉุกเฉินเพื่อรอเตียง ซึ่งส่งผลเสียในด้านต่างๆ ทั้งด้านครอบครัวและบุคลากรที่ทำงานในห้องฉุกเฉิน
    ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ กล่าวว่า การถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากวิทยากรที่เป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณภาพมาให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง และการป้องกันจุดเสี่ยงภายในบ้าน จะช่วยให้ผู้สูงอายุและครอบครัว หรือผู้ดูแล นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการดูแลให้เหมาะสม และหวังว่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความสนใจดูแลสุขภาพของตนเองในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย เพื่อที่จะได้เริ่มดูแลให้ตนเองมีสุขภาพดี เหมาะสมตามวัย ไปจนถึงการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุยืน มีคุณภาพ ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและประเทศในอนาคต การประชุมกึ่งเสวนานี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
    ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสภา ปัจจุบันอายุ 99 ปี กล่าวถึงวิธีกิน-อยู่อย่างไร? ให้อายุยืนเกิน 100 ปี พร้อมเคล็ดลับหลักความคิดที่ว่า การที่จะทำให้อายุยืนนั้น เป็นเพราะเมื่อได้อ่านหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ จำนวน 3 เล่ม จากนั้นได้ฝึกตนเองในเรื่องการจดจำ ฝึกสมาธิ รักษาสุขภาพอนามัย และเมื่อ 3-4 ปีมาแล้วได้ไปเดินขึ้นเขา 620 ขั้น ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย เพราะว่าใจมุ่งมั่น และท่องคล้ายๆ ยุบหนอพองหนอไปเรื่อยๆ มันทำให้จิตใจสงบนิ่ง มันก็ไม่เหนื่อย จนสุดท้ายสามารถขึ้นเขาไปได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะบังคับการหลับ การตื่นของตนเองได้ อย่างเวลานอน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดหลับอดนอน   
    ดร.ประเสริฐกล่าวว่า สำหรับวิธีเลือกอาหารเพื่อสุขภาพคือ ตนเองเป็นคนรับประทานง่าย เน้นทานผัก หรือทานอะไรก็ได้ที่ไม่เผ็ดมาก ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม งดอาหารดิบๆ สุกๆ ที่สำคัญไม่ดื่มสุรา ของมึนเมา และผลจากการปฏิบัติตามหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการทั้ง 3 เล่ม ช่วยทำให้ตนเองมีความสบายใจ ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิบัติดี คิดเพียงแต่ว่า เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าหรือก่อนจะเข้านอน ให้ระลึกว่าวันนี้จะทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและประเทศชาติมากที่สุดได้อย่างไร และวันนี้ได้ทำดีที่สุดแล้ว ก็รู้สึกดีใจ ภาคภูมิใจ 
    ขณะที่คุณหญิงเดือนเพ็ญ พึ่งพระเกียรติ คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้มีการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย อย่าง ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร, นพ.บรรลุ ศิริพานิช และ นพ.เฉก ธนะศิริ ที่มีอายุเกิน 90 ปีขึ้นไป โดยทั้ง 2 ท่านหลังจากนี้ได้เคยกล่าวว่าจะขอมีอายุยืนถึง 120 ปี ประสบการณ์และข้อมูลที่จะได้รับจากวิทยากรครั้งนี้ จะเป็นแนวทางที่ดีให้กับทั้งผู้ที่ดูแลหรือผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ เกิดแนวทางให้ผู้สูงอายุได้ปฏิบัติไม่ให้ตนเองเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจะสอดคล้องกับบริบทในสังคมไทยที่ในอนาคตจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หากสามารถดูแลตนเองได้ดี เข้าใจวิธีป้องกันลดการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ โดยการปรับลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่างๆ จะช่วยลดการเกิดปัญหาและภาระให้แก่ครอบครัว สังคมและรัฐบาลได้ อีกทั้งจะลดการเข้าโรงพยาบาลแบบฉุกเฉินได้เช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"