ไทยกลับมามีผู้ติดเชื้อ 2 ราย ตายอีก 1 ราย ทั้งหมดเป็นหญิงล้วน ผู้ป่วยมีทั้งที่ภูเก็ตและสถานกักตัวของรัฐ “หมอทวีศิลป์” เตือนสถานการณ์โลกไม่น่าไว้วางใจ การ์ดเราต้องไม่ตก เพราะกำลังเข้าสู่เฟส 3 ในอีกสัปดาห์ “สธ.” ชี้ไม่มีประเทศใดเปิดเต็มรูปแบบ ต้องคุมจัดการความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด “บิ๊กตู่” เจ็บคอไม่ขอพูดเรื่องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ส่วนฝ่ายค้านโวยเป็นนกแก้วรายวันให้เลิก
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย โดยเป็นหญิงชาวจีน อายุ 46 ปี เป็นภรรยาของชายชาวอิตาลีที่เป็นผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้เข้ามาที่ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. พร้อมครอบครัว 5 คน เพื่อพาลูกมาเรียนว่ายน้ำ หญิงคนดังกล่าวไม่มีอาการ สาเหตุที่ตรวจพบเชื้อ เพราะเป็นบุคคลใกล้ชิดสามี ซึ่งเป็นมาตรการสอบสวนโรคที่เราดำเนินการอยู่ อีกรายเป็นหญิงไทย อายุ 55 ปี เป็นพนักงานนวดเดินทางกลับมาจากรัสเซียเมื่อวันที่ 20 พ.ค. และอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 24 พ.ค. เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเช่นกัน ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,042 ราย หายป่วยสะสม 2,928 ราย นอกจากนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 68 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวายระยะสุดท้าย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลใน จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 29 มี.ค. มีอาการไข้ หอบเหนื่อย ย้ายเข้าไปอยู่ห้องความดันลบ พบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 14 เม.ย. อาการแย่ลงเรื่อยๆ แม้ใส่เครื่องช่วยหายใจก็ไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตในวันที่ 24 พ.ค. ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 57 ราย
นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงผู้ป่วยชายไทย อายุ 72 ปี ที่ยืนยันก่อนหน้านี้ว่าเดินทางไปที่ร้านตัดผมย่านประชาชื่น ว่าทีมสอบสวนโรคได้ไปสอบประวัติตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.-16 พ.ค. พบว่ามีการเดินทางไปโรงพยาบาลของรัฐ 2 แห่ง ตลาด 1 แห่ง ชายคนนี้สวมหน้ากากเกือบตลอดเวลา มีเพียงบางช่วงเท่านั้นที่ถอดหน้ากากออก และหลังมีอาการก็ได้ไปร้านอาหารและร้านตัดผม ซึ่งทีมสอบสวนโรค ได้ไปตรวจสอบร้านทั้งสองแห่งแล้วมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างดี มีการเว้นระยะห่างและจุดล้างมือ ทำให้มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าจะไม่แพร่เชื้อไปให้ใคร แต่ก็ได้กักตัวพนักงานที่มีความเสี่ยงแล้ว หากใครสงสัยว่าตัวเองเสี่ยงสามารถเข้าตรวจโรคได้ฟรี ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีการตรวจเชื้อไปแล้ว 375,453 ตัวอย่าง แต่เรายังไม่พอใจ ต้องตรวจให้ได้มากกว่านี้
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังไม่น่าไว้วางใจ โดยที่เกาหลีใต้พบเด็กอนุบาลที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย จากโรงเรียนสอนศิลปะก่อนที่เกาหลีใต้จะมีการเปิดโรงเรียนของรัฐ 1 วัน ทำให้ต้องมีการปิดโรงเรียนเอกชนหลายแห่งในกรุงโซล เราจึงต้องระมัดระวังการเปิดเรียน ขณะที่วันที่ 25 พ.ค. จะมีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 5 เที่ยวบิน รวม 395 คน และวันที่ 26 พ.ค. จำนวน 4 เที่ยวบิน รวม 400 คน ตอนนี้เราสามารถรองรับคนไทยที่กลับจากต่างประเทศได้ถึง 400 คนต่อวัน ซึ่งเราก็ทำเต็มพิกัด เพื่อช่วยให้คนไทยได้กลับประเทศ
สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 24 พ.ค. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 25 พ.ค. มีผู้ออกนอกเคหสถาน 254 ราย ลดลงจากคืนก่อน 67 ราย ชุมนุม มั่วสุม 5 ราย ลดลงจากคืนก่อน 22 ราย อาจเป็นเพราะมีฝนตกลงมา แต่ขอบคุณคนไทยทุกคนที่ให้ความร่วมมือ ส่วนที่มีเสียงติติงเข้ามากรณีชุดตรวจกิจการ/กิจกรรมใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก ใช้ภาษารุนแรง มีการตรวจซ้ำซ้อนนั้น ที่ประชุม ศบค.วงเล็กได้พูดคุยกัน จะปรับลดขนาดชุดตรวจและปรับท่าทีให้นุ่มนวลขึ้น จะเน้นตรวจตามเบาะแสที่มีการร้องเรียนเข้ามา ในฐานะโฆษก ศบค. ต้องขออภัยที่เกิดเรื่องแบบนี้และจะทำให้ดีที่สุด
เตรียมเข้าสู่เฟส 3
เมื่อถามถึงกรณีมีผู้เสียชีวิตที่เดินทางกลับจาก กทม.และอยู่ระหว่างกักตัวที่ จ.บุรีรัมย์ มีตรวจสอบหรือยังว่าเป็นโควิด-19 หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เพิ่งทราบจากข่าว ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว ยังไม่ยืนยันว่าเป็นโควิด-19 แต่ภาพที่เจ้าหน้าที่ใส่ชุด PPE นั้น เป็นเพียงมาตรการป้องกัน ยังไม่มีอะไรน่ากังวลและน่ากลัว ขอให้เจ้าหน้าที่ทำงานก่อน เมื่อชัดเจนแล้วจะนำมาเปิดเผยต่อไป
“วันนี้เรายังต้องการความร่วมมือจากทุกคน เพราะสัปดาห์นี้จะเข้าสู่การเตรียมการการประกาศผ่อนปรนในระยะที่ 3 จะผ่านไปด้วยดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหลืออีกสัปดาห์กว่าๆ อยากให้ทุกคนป้องกันตัวเองเหมือนที่ผ่านมาจนมีตัวเลขผู้ป่วยศูนย์รายหลายวัน ต้องปฏิบัติตามมาตรการหลัก 5 ข้อ การ์ดอย่าตก ต้องทำแบบนี้ตลอดไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ยังแถลงถึงผลการลงทะเบียนแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com ว่ามีร้านค้าลงทะเบียนแล้ว 106,235 ร้าน มีผู้ใช้งาน 11,757,624 คน แต่พบว่ามีผู้เช็กอินมากกว่าเช็กเอาต์ จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนให้ดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อความชัดเจนของข้อมูล และมีการพบแพลตฟอร์มไทยชนะของปลอม จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง เพราะคนที่ทำปลอมหวังดึงข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ขอให้สังเกตว่าแพลตฟอร์มไทยชนะของจริงจะใช้งานผ่านเว็บไซต์ทันทีโดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแต่อย่างใด
ด้าน นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงว่า การใช้งานระบบไทยชนะมาแล้ว 1 สัปดาห์ ทีมงานขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นเล็กน้อย ซึ่งการเปิดใช้งานมา 8 วัน มีผู้เช็กอิน-เช็กเอาต์กว่า 46 ล้านครั้ง และตอบแบบสอบถาม 11 ล้านครั้ง ถือว่าคนไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี ถ้าเทียบกับอินเดียที่มีแพลตฟอร์มคล้ายกัน มีการใช้งาน 10 ล้านคน แต่ประชาชนกรมีถึง 1,800 ล้านคน
นพ.พลวรรธน์ยังกล่าวถึงเว็บไซต์ไทยชนะปลอมว่า มีการปลอมชื่อเว็บมากมาย ขอแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการเข้าเว็บไซต์ทางช่องทางกูเกิล ควรพิมพ์เข้าไปเองว่า www.ไทยชนะ.com เพื่อป้องกันความผิดพลาด และในส่วนของเว็บไซต์ปลอมนั้น ต้องมีการดาวน์โหลด เมื่อพบกรณีนี้ให้ปิดทันที ไม่ต้องไปยุ่ง เพราะอาจมีปัญหาตามมา และยืนยันว่าระบบของเราไม่มีส่งเอสเอ็มเอสให้ประชาชนแม้แต่ครั้งเดียว ดีอีเอสกำลังดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่ง ศบค.ระบุว่าต้องดำเนินการทางการกฎหมายสูงสุด
ส่วน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าในการสอบสวนโรค 3 รายที่ไปร้านตัดผมและห้างสรรพสินค้าว่า ทำให้พบว่ายังมีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ในไทย แม้ขณะนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยรายวันที่ต่ำ แต่ก็ยังเจอผู้ป่วยในลักษณะกระจัดกระจายโดยที่ไม่ทราบต้นสายปลายเหตุว่าติดเชื้อมาจากที่ใด
ไม่มี ปท.ใดเปิดเต็มรูปแบบ
นพ.ธนรักษ์ยังกล่าวถึงความเสี่ยงในการว่ายน้ำในช่วงนี้ว่า ไม่แตกต่างกับการออกกำลังกายชนิดอื่นมากนัก โดยหลักที่สำคัญคือต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ดังนั้นสระว่ายน้ำไม่ควรจะแออัดจนเกินไป ผู้บริหารจัดการสระว่ายน้ำควรกำหนดจำนวนผู้ลงสระน้ำ ซึ่งโอกาสเดียวที่จะติดเชื้อในสระว่ายน้ำ คือว่ายน้ำใกล้ชิดกับผู้ป่วย และได้รับละอองฝอยน้ำลายจากผู้ป่วย ซึ่งโอกาสที่แพร่เชื้อในสระ ส่วนกรณีผู้ป่วยลงไปว่ายน้ำแล้วกลับขึ้นมาแล้ว แล้วมีคนอื่นลงไปว่ายน้ำแล้ว โอกาสที่ติดเชื้อมีต่ำมากๆ
"ความสามารถที่จะเข้าไปจัดการความเสี่ยงได้มีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นในระยะต่อไปที่กำลังทยอยเปิดกิจการและสถานที่ให้บริการต่างๆ ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง สิ่งที่จะต้องเข้าใจและต้องช่วยกันคือกิจการที่เปิดอยู่แล้วต้องไม่ลดระดับความเข้มข้นของมาตรการลง ในขณะเดียวกันสถานที่เปิดใหม่ก็จะต้องมีกระบวนการจัดการความเสี่ยงที่ดี ไม่มีประเทศใดที่กลับมาเปิดประเทศแล้วที่เปิดกิจการแบบเต็มรูปแบบทุกกิจการ หลายประเทศยังมีข้อจำกัดและข้อกำหนดว่า สถานที่ ใดที่ไม่อนุญาตให้เปิด ในเวลานี้ ดังนั้นในระยะต่อๆ ไปก็จะมีข้อคิดและข้อกำหนดของการพิจารณาความเสี่ยงและการจัดการกับความเสี่ยงในระดับที่เราคิดว่าจะต้องจัดการอย่างไรให้ความเสี่ยงนั้นต่ำที่สุด" นพ.ธนรักษ์กล่าว
วันเดียวกัน ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เดินลงจากอาคารภายหลังการประชุมสภากลาโหมพร้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก่อนแยกย้ายกันขึ้นรถประจำตำแหน่งเพื่อเดินทางกลับเข้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสื่อมวลชนได้พยายามสอบถามเรื่องการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อออกไปอีก 1 เดือน โดยหลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่การควบคุมโรค ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “เจ็บคอ ไม่มีเสียง”
ขณะที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านไม่อยากให้ขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก ว่าก็มีทั้งอยากและไม่อยาก ก็ต้องไปดู
เมื่อถามว่า การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็รู้อยู่แล้วว่ามีความจำเป็น เพราะถ้าเกิดระบาดมาอีกระลอกใหม่จะยุ่งกันใหญ่
นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า พ.ร.บ.ที่ใช้จัดการปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบันจะเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อเป็นหลัก โดยผู้มีอำนาจเต็มในการออกประกาศใดๆ คือผู้ว่าราชการจังหวัด ที่จะออกข้อกำหนดว่าสถานที่ใดต้องปฏิบัติอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นร้านทั่วไป หรือห้างสรรพสินค้า ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นประกาศเพื่อให้การบริหารงานแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงอื่นๆ ให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น โดยนายกฯ นั่งเป็นผู้ดูแลภาพรวมทั้งหมด เพราะฉะนั้นประกาศดังกล่าวนำมาเสริมในส่วนของการทำงานข้ามกระทรวง และอำนาจบางอย่างที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถนำมาใช้ โดยเฉพาะการประกาศเคอร์ฟิว โดยทั้งหมดนี้เพื่อควบคุมสถานการณ์และจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
โวยรายวันเลิก พ.ร.ก.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การต่อเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินและคงเคอร์ฟิวเอาไว้ เป็นการกระชับอำนาจ ใช้อำนาจฟุ่มเฟือย ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ การแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 มีความผิดพลาด หลงทาง หลายแนวทาง หลายเรื่องไม่ควรทำกลับทำ เรื่องควรทำกลับไม่ทำ ทุกวันนี้เลยเถียงว่าจะปรับเคอร์ฟิวอย่างไร จะขยับเข้าหรือขยับออกไป ประชาชนมากกว่า 50 จังหวัดอยู่ในพื้นที่ปลอดเชื้อ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในภาครวมส่วนกลางประเทศบางวันมีผู้ติดเชื้อ 2-3 ราย บางวันไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่รัฐบาลเอาสถิตินี้มาขังคนไทย รัฐบาลพยายามทำเพื่อหลบหลังโควิด เพื่อปกปิดการบริหารงานที่ล้มเหลว ลงทุนเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ได้กระชับอำนาจ
นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรค พท. กล่าวเช่นกันว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยอาศัยความตระหนกตกใจของประชาชนเป็นปัจจัยหนุนมาถึงระยะที่ 3 ขอถามว่ารัฐบาลมีเจตนารมณ์ ความมุ่งหมาย หรือเพื่อประโยชน์ของใครหรือไม่ เพราะไทยเป็นภาคีที่ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในข้อ 4 ระบุการที่รัฐบาลเป็นภาคี การประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็น เมื่อภัยฉุกเฉินพ้นไป รัฐบาลต้องคืนความเป็นปกติ วิถีการค้าขายต้องคืนโดยเร็ว แต่สภาพที่เป็น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อภาคีเรื่องดังกล่าว
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ตอนหนึ่งว่า การกำหนดเคอร์ฟิวระหว่างห้าทุ่มถึงตีสี่นั้น ยังมีเวลาให้รัฐบาลเล่นเกมขยายเวลาเคอร์ฟิวไปได้อีกหลายชั่วโมง พร้อมๆ กับออกมาตรการคลายล็อกมาแลกเปลี่ยน ซึ่งสิ่งนี้รัฐบาลรู้ความต้องการของประชาชนได้ดี จึงสามารถผ่อนปรนความรู้สึกของสังคมมาได้อย่างต่อเนื่อง หากจะขยายเวลาเคอร์ฟิวจากหลังเที่ยงคืนไปถึงตีสี่ ก็ไม่รู้จะไปติดเชื้อได้อย่างไร ซึ่งรัฐบาลได้ขยักเอาไว้ เพราะต้องดึงเวลาให้ไปถึงการมาตรการระยะที่ 4.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |