"สมคิด-อุตตม" หลบไป "บิ๊กตู่" นำทัพเอง เตรียมปักหลักชนฝ่ายค้านกลางสภา แจง 4 พ.ร.ก.สู้โควิด 5 วันติด หลังโดนปั่นกระแส “ตีเช็คเปล่า-1 ล้านล้านบาท” ฝ่ายแค้นจองกฐิน ขอพ่นน้ำลายร่วม 65 ชื่อ แต่ยังกั๊กจะลงมติแบบไหน อ้างขอฟังคำชี้แจงก่อน “ขุนคลัง” เปิดวอร์รูม ติวเข้ม 40 ส.ส.พปชร.รับมือ หลังประเมินงานนี้เดือด
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมสภา 5 วัน 4 คืน ตั้งแต่วันพุธที่ 27 พ.ค. ถึงวันอาทิตย์ที่ 31 พ.ค. เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สำคัญ 4 ฉบับ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติไวรัสโควิด-19 เช่น พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท, พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น
โดยในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมพร้อมก่อนการประชุมสภาดังกล่าว จากนั้น นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงถึงผลการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคว่า การพิจารณาพระราชกำหนดจะพิจารณาเป็นรายละฉบับ แต่สามารถอภิปรายโยงไปถึงพระราชกำหนดฉบับอื่นได้เท่าที่จำเป็น โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้สิทธิอภิปรายทุกพรรค ประมาณ 60-65 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 35 คน พรรคก้าวไกล 15 คน ส่วนที่เหลือลดหลั่นไปตามสัดส่วนของ ส.ส.ฝ่ายค้านแต่ละพรรค
นายสุทินย้ำว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยังคงยืนยันว่าหากจะให้ฝ่ายค้านให้ความเห็นชอบกับพระราชกำหนดดังกล่าว จะต้องมีเงื่อนไขบางประการ โดยเมื่อรัฐบาลไม่ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินมาเสนอต่อสภา จึงจำเป็นต้องขอให้รัฐบาลรับปากต่อสภาได้หรือไม่ ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาและตรวจสอบการใช้เงิน พร้อมกับการที่รัฐบาลจะรับปากว่าจะทำรายงานการใช้เงินกู้เสนอมายังสภาเดือนละครั้ง
"เราไม่ยอมให้ พ.ร.ก.ผ่านแบบไม่มีเงื่อนไขอย่างแน่นอน รัฐบาลต้องตอบรายละเอียดต่อสภาว่าเอาเงินไปใช้อะไรบ้าง ถ้าตอบและให้สัญญาต่อสภาก็ถือว่าเป็นคำมั่นอย่างหนึ่ง เบื้องต้นยังไม่มีรายละเอียด เหมือนกับการตีเช็คเปล่า แต่ต้องดูการชี้แจงรัฐบาลว่าจะมีรูปเล่มหรือคำอธิบายหรือไม่ หากไม่มีรูปเล่มรายละเอียด จะต้องมีการบันทึกในสภาไว้เป็นหลักฐานที่สามารถไว้วางใจและเห็นชอบได้หรือไม่" ประธานวิปฝ่ายค้านระบุ
เมื่อถามว่า การบริหารเวลาฝ่ายค้านในครั้งนี้ จะไม่ซ้ำรอยกับเมื่อครั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ทำให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่บางคนไม่ได้อภิปราย นายสุทินกล่าวว่า เราเอาบทเรียนในอดีตมาแก้ไข เราจัดสรรเวลาแบบวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ การประชุมสภามีปัจจัยหลายเรื่อง แต่เราจะให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามขั้นตอน ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติ พ.ร.ก. หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติ และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯ ให้ พ.ร.ก.นั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ต่อไป
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการวิปพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาล รวมทั้งกรณีที่รัฐบาลให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ออกตราสารหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ภาคเอกชนนั้น มีความจำเป็นแค่ไหน เพราะในความเป็นจริงธนาคารพาณิชย์ก็มีเพียงพออยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่แบงก์ชาติต้องเข้ามาบริหารจัดการ แต่เมื่อแบงก์ชาติเข้ามาเป็นผู้เล่น จะส่งผลให้ขาดความเป็นกลาง และเกรงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว
รัฐบาล-พรรคร่วมฯได้ 22 ชม.
นายจุลพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท ที่เม็ดเงินส่วนหนึ่งนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีความจำเป็นเพียงไรที่จะต้องกู้เงินมาลงทุน เพราะหลายโครงการไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนถึงต้องกู้เงิน รัฐบาลสามารถเสนอโครงการมารอในงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ ไม่จำเป็นต้องมากู้นอกงบประมาณ การดำเนินการของรัฐส่อเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบหรือไม่ ในการพิจารณาเงินกู้ของรัฐ สมาชิกสภามีอำนาจแค่อนุมัติหรือไม่เท่านั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้ เหมือนงบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบใช่หรือไม่ และเกรงว่าจะมีการเปิดช่องโหว่ให้มีการทุจริตในโครงการที่เสนอขอใช้งบประมาณจากการกู้เงินของรัฐ เพราะใน พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี่เขียนไว้เพียงแค่การกู้เงินมาเพื่อประโยชน์ใดเท่านั้น แต่ไม่มีการลงรายละเอียดโครงการ และในหลายโครงการก็ซ้ำซ้อนกับการใช้งบประมาณประจำปี
"การอภิปรายพระราชกำหนดกู้เงินในสัปดาห์นี้ อยากให้รัฐบาลเปิดใจรับฟังการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเบาบางลง แต่ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐกลับทวีความรุนแรงขึ้น” นายจุลพันธ์ กล่าว
วันเดียวกันนี้ ฝ่ายรัฐบาลก็ได้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ด้วยเช่นกัน โดยมีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานที่ประชุม ที่ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง อาทิ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นต้น
จากนั้นนายวิรัชเปิดเผยว่า สำหรับการจัดเวลาให้พรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 20 พรรค รวมถึงพรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คนที่ตกลงเข้าสังกัดเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน จะแบ่งให้รัฐมนตรีเพื่อชี้แจงและตอบคำถามของ ส.ส. จำนวน 11 ชั่วโมง และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 11 ชั่วโมง ส่วนสัดส่วนที่พรรคจะได้รับนั้นอยู่ระหว่างการคำนวณอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากการคุยมีความเห็นร่วมกัน ให้ ส.ส.อภิปรายเพื่อสะท้อนถึงปัญหาความเดือดร้อน การเยียวยาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลสามารถชี้แจงและตอบคำถามได้เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมวิปรัฐบาลเป็นครั้งแรก คือ นายศุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ และนายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจใหม่ ทั้งนี้ พรรคเศรษฐกิจใหม่มี ส.ส.ทั้งสิ้น 6 คน และได้ย้ายไปอยู่กับฝั่งรัฐบาลจำนวน 5 คน ยกเว้นนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการจัดสรรเวลาอภิปรายให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 20 พรรคนั้น เบื้องต้นมีสูตรคำนวณ คือ จัดสรรเวลา 11 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 660 นาที จากนั้นจะนำไปหาร ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่มีทั้งหมดคือ 276 คน ทำให้ ส.ส.ได้รับเวลาอภิปรายประมาณ 2 นาที โดยเวลาเฉลี่ยที่ได้จะแบ่งให้กับส.ส.ของแต่ละพรรคตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคมี เพื่อให้ทราบถึงเวลาที่แต่ละพรรคจะได้รับ อาทิ พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. 118 คน จะได้รับเวลาทั้งสิ้น 236 นาที จากนั้นจะนำไปจัดสรรให้กับ ส.ส.ที่ยื่นเจตจำนงขออภิปราย
สำหรับจำนวนของ ส.ส.ในปัจจุบัน ล่าสุด พรรคร่วมรัฐบาลมี 276 คน ขณะที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านมียอดรวม 211 คน รวมเป็น 487 คน โดยจำนวนที่หายไปคือ 13 คน แบ่งเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งจำนวน 11 คน นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย ที่เสียชีวิต และนายกรุงศรีวิไล สุทินเผือน ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
"อุตตม"เปิดวอร์รูมชนไร้เงา"สันติ"
การเตรียมพร้อมของรัฐบาลยังมีอีกจุดหนึ่ง คือที่กระทรวงการคลัง โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เรียก ส.ส.สมาชิกพรรคพลังประชารัฐกว่า 40 คน มาประชุมซักซ้อมการอภิปรายพระราชกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
จากนั้นนายอุตตมกล่าวว่า มีกลุ่ม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐกว่า 30 คน แจ้งความประสงค์ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท, พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน 4 แสนล้านบาท ก่อนที่จะมีการอภิปรายในสภา เพราะมีความตั้งใจในการทำงานสภา ในฐานะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีการเปิดให้ซักถาม และมีการซักซ้อม อยากถามอะไรเกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อให้กระทรวงการคลังชี้แจง
นายอุตตมกล่าวว่า รัฐบาลสามารถชี้แจงประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายซักถามประเด็นต่างๆ ได้ทุกประเด็น รวมทั้งกรณีเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อใช้ฟื้นฟู ที่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นการตีเช็คเปล่า เพราะไม่มีโครงการนั้น ยืนยันว่าการดำเนินการมีกรอบใช้งบประมาณที่ชัดเจน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ยกร่างกรอบการใช้งบ มีระเบียบสำนักนายก คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ และจัดซื้อจัดจ้างตามวิธีการปกติ
“กรอบการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท มีแนวทางดำเนินการหมดแล้ว ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีเสนอโครงการมา เพราะยังไม่ได้เริ่ม ไม่ใช่เรื่องเร่งรัดอะไร สามารถชี้แจงได้ และก็จะมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณแน่นอน มีคณะกรรมการกลั่นกรองติดตามใกล้ชิด หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณไป ก็ต้องรายงานความคืบหน้าให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพราะเป็นการใช้เงินกู้ และโครงการเมื่อสิ้นสุดแล้ว ก็ต้องรายงานคลัง เพื่อรายงานสภาใน 60 วัน” นายอุตตมกล่าว
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.การคลังและโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ประเมินหลังการร่วมประชุมดังกล่าวว่า มิติทางการเมืองคาดว่าจะมีการอภิปรายพระราชกำหนดอย่างดุเดือดในสภา ดังนั้น ส.ส.จึงจำเป็นต้องทราบรายละเอียดของ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ เพื่อจะได้ช่วยรัฐบาลชี้แจงในสภาให้ถูกต้อง โดยมั่นใจว่า พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับจะผ่านความเห็นชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือครั้งนี้ พบว่ามี ส.ส.กลุ่มของนายอุตตมเท่านั้น และมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เข้าร่วมการหารือด้วย แต่ไม่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และ ส.ส.จากกลุ่มสามมิตรเข้าร่วมด้วย ซึ่งรวมถึงนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย แม้ว่าจะเป็นการประชุมที่กระทรวงการคลังก็ตาม
ทั้งนี้ ส.ส.ที่เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งให้เหตุผลว่า ที่ไม่ได้มีการเรียกประชุมที่พรรค พปชร. และมาประชุมที่กระทรวงการคลังแทนนั้น เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นฝ่ายดำเนินการกฎหมายกู้เงินดังกล่าว และมีผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยคือ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เข้าร่วมให้ความรู้ด้วย
"บิ๊กตู่"นำทัพเองชนฝ่ายค้าน5วันติด
ขณะเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อหารือเรื่อง พ.ร.ก. 4 ฉบับ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาตลอดสัปดาห์นี้
จากนั้น นายวิษณุกล่าวตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า นายกฯ เป็นห่วงอะไรจึงต้องเรียกไปหารือ นายวิษณุกล่าวว่า เพราะมีปัญหา เนื่องจากช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งมาว่าจะต้องมีการตกลงกันให้ดีว่าจะเสนอทีเดียว 5 ฉบับแล้วโหวต หรือจะโหวตทีละฉบับ ซึ่งนายกฯเห็นว่าอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าให้ดีก็ควรจะอภิปรายรวม แล้วแยกโหวตจะดีกว่า ทั้งหมดแล้วแต่ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย ทางรัฐบาลไม่ขัดข้อง แต่วิธีปฏิบัติเคยมีถ้ากฎหมายเกี่ยวข้องกันก็เสนอเสียทีเดียว และอภิปรายรวมกันไปเลยก็ได้แล้วจึงมาโหวต ทั้งนี้ นายกฯ เป็นห่วงเรื่องกรอบเวลาที่จะใช้ในการอภิปราย
“เชื่อว่าการประชุมทั้งหมดจะราบรื่น ไม่มีปัญหา เนื่องจาก นายชวนสามารถควบคุมบรรยากาศการประชุมได้ เพราะเวลาที่จะใช้ในการประชุมต้องคำนึงถึงการประกาศเคอร์ฟิว ที่ไม่ควรจะให้เกินเวลาที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม นายกฯ จะเดินทางไปสภา เพื่อชี้แจงด้วยตนเองทั้งหมด” นายวิษณุกล่าว
สำหรับภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงเช้าได้เป็นประธานการประชุมสภากลาโหม โดยนายกรัฐมนตรีกำชับเหล่าทัพติดตามดูภาพรวมกรณีที่สภาจะมีการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ และพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของทุกกระทรวง เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 กว่า 1 แสนล้านบาท ที่ในส่วนของกระทรวงกลาโหมมีมติให้แต่ละเหล่าทัพตัดงบประมาณของตนเองอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า วันเดียวกันนี้ (25 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ได้บันทึกเทปเพื่อกล่าวขอบคุณบรรดาเจ้าสัวและภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้ตอบจดหมายและให้คำเสนอแนะกับรัฐบาล โดยจะออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท.) ในวันที่ 26 พ.ค. ซึ่งถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจในการเดินสายพบกับบรรดาเจ้าสัวและภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ
ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การพิจารณา พ.ร.ก.ทั้งหมด หากในวันที่ 31 พ.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก. ก็จะนำวาระพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับมาพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภาได้ทันที ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ส่วนข้อเสนอของ ส.ว.บางคนที่เสนอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระมาตรวจสอบการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินนั้น การตั้งคณะกรรมการอิสระไม่ใช่อำนาจของ ส.ว. แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่ ส.ว.สามารถอภิปรายให้ความเห็นข้อเสนอต่างๆ ได้ หากรัฐบาลเห็นด้วยก็จะนำไปพิจารณา
ส่วนที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)รายงานกรณี ผบ.เหล่าทัพที่เป็น ส.ว.ขาดการลงมติในการประชุมมาก 143-144 ครั้ง จากการลงมติทั้งหมด 145 ครั้งนั้น นายพรเพชรกล่าวว่า ในสมัยประชุมวุฒิสภาที่ผ่านมา มีการลงมติในเรื่องกฎหมายสำคัญ 7 ครั้ง ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องร่างข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเล็กน้อยจำนวนมากในรายมาตรา สมาชิกอาจมองว่าไม่ค่อยสำคัญจึงไม่มาลงมติ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องทำตามมติที่กรรมาธิการเสนอมา ต้องขออภัยหากสมัยประชุมที่ผ่านมา ส.ว.ไม่ได้อยู่ลงมติในเรื่องข้อบังคับการประชุม แต่หลังจากนี้จะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการให้ส.ว.อยู่ลงมติ โดยเฉพาะถ้าเป็นกฎหมายสำคัญ รวมถึงการลงมติในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถือเป็นบทเรียนที่ ส.ว.จะต้องเรียนรู้
ไม่ตัดงบรัฐสภา ช่วยวิกฤติโควิด
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีรัฐสภาไม่ถูกตัดงบประมาณตามร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ว่าฝ่ายที่ไม่ตัดงบประมาณรัฐสภาคือรัฐบาล ไม่ได้เกี่ยวกับทางรัฐสภา ในทางกลับกัน ทางเรายินดีที่จะถูกตัดงบ 10เปอร์เซ็นต์เพื่อช่วยเยียวยาและฟื้นฟูวิกฤติโควิด-19 เพียงแต่ตรงนี้เป็นปัญหาทางกฎหมาย จากเดิมรัฐสภาตัดงบประมาณไปกว่า 300 ล้าน แต่ตอนนี้ได้มีหนังสือแจ้งมาแล้วว่าตัดไม่ได้ ไม่ใช่ว่ารัฐสภาไม่ให้ตัด และถึงอย่างไรถ้างบประมาณก้อนดังกล่าวไม่ได้ใช้ สุดท้ายก็ต้องคืนให้คลังอยู่ดี โดยอะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัด ประเทศชาติไม่ได้ร่ำรวยอะไร ถ้าใช้อย่างมีเหตุมีผลก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าฟุ่มเฟือยไม่มีเหตุผล ก็เป็นความฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ไม่ใช่เฉพาะช่วงวิกฤติ ช่วงปกติก็ถือแบบนี้
นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ กล่าวเสริมว่า ทางฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าเนื่องจากงบประมาณที่โอนมาให้สภาถือเป็นทรัพย์สินของสภาแล้ว จึงไม่สามารถตัดงบได้ ทั้งนี้ ยังพบว่าหน่วยงานของศาลก็ไม่สามารถตัดงบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ได้เช่นกัน เพราะเป็นหน่วยงานอิสระ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |