25 พ.ค. 63 - ที่พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า การต่อเวลาพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และคงเคอร์ฟิวเอาไว้ เป็นการกระชับอำนาจ ใช้อำนาจฟุ่มเฟือย ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ การแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 มีความผิดพลาด หลงทางหลายแนวทาง หลายเรื่องไม่ควรทำกลับทำ เรื่องควรทำกลับไม่ทำ ทุกวันนี้เลยเถียงว่าจะปรับเคอร์ฟิวอย่างไร จะขยับเข้าหรือขยับออกไป ประชาชนมากกว่า 50 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ปลอดเชื้อ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในภาครวมส่วนกลางประเทศ บางวันมีผู้ติดเชื้อ 2-3 ราย บางวันไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่รัฐบาลเอาสถิตินี้ มาขังคนไทย
รัฐบาลพยายามทำเพื่อหลบหลังโควิด เพื่อปกปิดการบริหารงานที่ล้มเหลว ลงทุนเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ ได้กระชับอำนาจ รวมทั้งมาตรการที่ออกมาสับสน เช่น โรงเรียนเปิดไม่ได้ แต่ห้างเปิดได้ ทั้งที่การไปห้างคนมากกว่า และการให้ประชาชนแสกนข้อมูลก่อนเข้าห้าง เป็นการล้วงล้วงข้อมูลประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนโดยการเข้าถึงข้อมูลประชาชนหรือไม่ การยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคงประกาศเคอร์ฟิว รัฐบาลต้องเข้าใจว่า เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก
"วันนี้เราไม่รู้ว่า การคลายล็อกมีกี่เฟส นักวิชาการออกมาบอกว่า วิกฤติโควิดสร้างความเสียหายหนักกว่าวิกฤติช่วงต้มยำกุ้ง วันนี้รัฐบาลเผชิญมรสุม 1.มรสุมวิกฤติโควิด 2.มรสุมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ3.วิกฤติการเมืองทั้งในและนอกพรรครัฐบาล รัฐบาลต้องสร้างสมดุลสุขภาพ เสรีภาพ และเศรษฐกิจให้ได้ ไม่ใช่เอาทุกปัญหามากลบ หลบหลังโควิด แล้วอธิบายว่า ที่แก้ไม่ได้เพราะโควิด ปัญหาการควบคุมแพร่ระบาดไวรัสโควิด ที่สำเร็จ ไม่ได้สำเร็จเพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือเคอร์ฟิว แต่มาจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชน หากประชาชนกระชับอำนาจฟุ่มเฟือยที่สุด อาจเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ จนรัฐบาลไม่อาจรับมือได้" โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุ
ด้านนายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอาศัยความตระหนกตกใจของประชาชน เป็นปัจจัยหนุน พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยหลักการ เพื่อป้องกันการก่อความไม่สงบ ความไม่มั่นคงของรัฐ การก่อการร้าย ภัยสงคราม ทั้งที่เรามีพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ แต่รัฐบาลเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาถึงระยะที่ 3 ขอถามว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ ความมุ่งหมาย หรือเพื่อประโยชน์ของใครหรือไม่ ขณะเดียวกันประเทศไทยเป็นภาคีที่ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในข้อ 4 ระบุ การที่รัฐบาลเป็นภาคี การประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็น เมื่อภัยฉุกเฉินพ้นไป รัฐบาลต้องคืนความเป็นปกติ วิถีการค้าขาย ต้องคืนโดยเร็ว แต่สภาพที่เป็น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อภาคีเรื่องดังกล่าว
สำหรับ พ.ร.ก.เงินกู้ ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินแก้ไขสถานการณ์โควิด โดยมาตรา 7 นั้นน่าห่วงใย ที่ให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรอง 11คน อย่างมาก การแต่งตั้งข้อราชการ 6 คนไปทำหน้าที่ อาทิ เลขาสภาพัฒน์ ปลัดคลัง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์อีก 5คน ซึ่งเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีความผิดปกติในกระบวนการนี้ จะมีอะไรเป็นเครื่องยืนยัน ความมั่นใจว่า การกลั่นกรองการใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ถึงมือประชาชน เพราะการแจกเงินก่อนหน้านี้ก็มีการลักลั่น เลือกปฏิบัติ และจาก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการฟื้นฟู เยียยาได้หรือไม่ ยังไม่มีความขัดเจน นอกจากนี้รัฐบาลอาจกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรค3 ที่ต้องให้ ครม.ต้องเรียกประชุมสภาฯ ซึ่งหลายภาคส่วนก็เรียกร้อง เหตุใดไม่เรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยก็ได้เรียกร้อง
ขอตั้งข้อสังเกตว่าการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาบังคับใช้ เหมือนเกินความจำเป็น กับการออก พ.ร.ก.เงินกู้1.9 ล้านล้านบาท ที่ให้อำนาจค่อนข้างจะอุ้มธุรกิจเจ้าสัว เป็นข้อกังขาว่ามีการจัดสรรผลประโยชน์ของรัฐบาลหรือไม่อย่างไร และทั้งการออก พ.ร.ก.เงินกู้ กับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อตั้งข้อสันนิษฐานความเชื่อมโยงว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบริหารเงินกู้ และเป็นไปได้หรือไม่ว่า ที่รัฐบาลต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่ออายุยืดยาวไป เพื่อเลี้ยงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค กล่อมคนให้กลัว ทั้งที่สถานการณ์เบาบางลงแล้ว เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวทางการเมือง และที่สำคัญคือป้องกันการบริหารเงินกู้ในช่วงสุดท้ายของรัฐบาลหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |