คู่แข่งโควิด-19 มาแล้ว! ผงะไข้เลือดออกระบาดคร่าชีวิตคนไทยพุ่ง 10 ราย แพทย์เตือนสถานการณ์น่าห่วง อีสานอันตรายป่วยสูงสุด โคราชจังหวัดเดียวพบผู้ป่วยเฉียดพัน อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้หน้าฝนอันตรายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย วอนใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกันโรค
เมื่อวันอาทิตย์ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ประจำสัปดาห์ที่ 21 (วันที่ 24-30 พฤษภาคม 2563) พบสถานการณ์โรคไข้เลือดออกค่อนข้างน่าเป็นห่วง ในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 13,006 ราย เสียชีวิต 10 ราย
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า จากข้อมูลการกระจายของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากสุดคือ 10-14 ปี (อัตราป่วย 69.81 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือกลุ่มอายุ 5-9 ปี 54.20% และ 15-19 ปี 50.84% ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระยอง ชัยภูมิ ขอนแก่น อ่างทอง และราชบุรี ตามลำดับ
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นฤดูระบาดของโรคไข้เลือดออก และแม้ว่าจำนวนผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ในปี 2563 จะมีรายงานผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 ก็ตาม แต่ข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงนี้มีมรสุมพัดปกคลุมทำให้หลายพื้นที่ของไทยจะมีฝนตก พายุฝนฟ้าคะนอง และหากฝนตกอาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กรมควบคุมโรคขอแนะนำให้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
“นอกจากนี้ ประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ โดยใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET ใช้กลิ่นกันยุง เช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ นอนในมุ้ง และหากมีอาการไข้สูงปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1422” นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ที่ จ.บุรีรัมย์ จากข้อมูลรายงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งจังหวัดแล้ว จำนวน 226 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงหน้าฝนทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคแพร่ระบาดสู่คน
ที่ จ.นครราชสีมา นายต่อศักดิ์ แสนศรี ผู้ช่วยสาธารณสุข อำเภอเมืองนครราชสีมา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ บ้านโกรกตระคร้อ หมู่ที่ 1 ตำบลไชยมงคล อำเภอเมืองฯ เพื่อร่วมกันให้ความรู้กับชาวบ้านถึงวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออก และร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ภายหลังจากในพื้นที่บ้านตระคร้อ มีผู้ป่วยภายในหมู่บ้านแล้ว จำนวน 48 ราย ซึ่งทั้งตำบลไชยมงคล มี 6 หมู่บ้าน พบการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และมีผู้ป่วย รวมจำนวน 68 ราย ในขณะที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกทั้งจังหวัด พบผู้ป่วยแล้ว จำนวน 827 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นชาวอำเภอโนนสูง โดยอำเภอที่มีอัตราผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงที่สุดคืออำเภอโนนไทย รองลงมาคืออำเภอโนนสูงและโชคชัย กลุ่มผู้ป่วยที่พบมากที่สุด เป็นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี
ที่ จ.สงขลา นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จ.สงขลา กล่าวว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 พ.ค.63 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 887 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ใน จ.ยะลา ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ จ.สงขลา 333 ราย รองลงมาคือ จ.นราธิวาส 181 ราย, จ.ปัตตานี 151 ราย, จ.ยะลา 105 ราย, จ.ตรัง 57 ราย, จ.พัทลุง 51 ราย และ จ.สตูล 9 ราย
นายแพทย์เฉลิมพลกล่าวว่า หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรค COVID-19 ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |