'จตุพร'ชี้ 3ป.ไม่ขัดแย้งในอำนาจ แนะ แนวร่วมเตรียมรับมือวิกฤติศก.


เพิ่มเพื่อน    

24 พ.ค.63- ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวี  มีการจัดรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์  นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า การเตรียมการอภิปรายพระราชกำหนดเงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ โดยใช้เวลาในการอภิปรายยาวนานถึง 5 วันเต็ม รวมทั้งมาตรการการเยียวยาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากประกาศใช้แบบเพียวๆไม่ได้มีมาตรการออกแบบ เช่น การขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินคราวละ 1 เดือนนั้น ก็จะเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ที่เป็นคู่ขนานคือเรื่องการผ่อนคลายผ่อนปรนหรือคลายล็อกซึ่งเป็นคู่ขนานแบ่งเป็น 4 ระยะนั้นแปลความกันง่ายๆว่า การลาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นจะมีการผ่อนคลายประกบ เดือนเเรก เดือนที่ 2 ซึ่งเวลานี้ก็ขยายเป็นเดือนที่ 3 และมาพร้อมกับมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 ประกอบ กับการร่นระยะเวลาเคอร์ฟิวที่ล่าสุดร่นมาเป็น 5 ทุ่มถึงตี 4  และส่วนตัวเชื่อว่าสัปดาห์หน้าจะมีการขยายเคอร์ฟิวออกไปอีกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง คือ เที่ยงคืน ถึงตี 4ดังนั้นเดือนมิถุนายนทั้งเดือนก็จะเป็นเรื่องของการผ่อนปรนในระยะที่ 3 

นายจตุพร กล่าวว่า ในเดือนกรกฎาคมต้องมีการขยายอย่างน้อย 1 เดือนแน่นอนเพราะต้องมีมาตรการการผ่อนปรนในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่เสี่ยงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสนามมวย หรือสถานที่บันเทิงต่างๆ ก็จะรออยู่ในระยะที่ 4 ทั้งนี้หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อครบมาตรการผ่อนปรน 4 ระยะแล้วทุกอย่างจะจบลงในเดือนกรกฎาคมหรือไม่นั้นต้องรอดูกันและขอให้ใจเย็นๆ เพราะอาจจะมี การผ่อนคลายในแบบ ระยะที่ 4 ทับ 1 ทับ 2 ทับ 3 ก็เป็นไปได้ เพราะอย่างที่ตนได้อธิบายในช่วงหลายวันที่ผ่านมานั้น รัฐบาลชนะอยู่มุมเดียวคือ การคุมการติดเชื้อโควิด 19 ได้ และวันนี้ก็ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มแม้แต่เพียงรายเดียว ดังนั้นเรื่องชัยชนะโควิด 19 ในทางการเเพทย์ก็สามารถกุมชัยชนะไว้ได้

ส่วนเรื่องการเยียวยานั้นก็ยังเป็นปัญหา เมื่อหมดการเยียวยากันเมื่อไหร่ วันนั้นก็เป็นวันหายนะกันอีกวันหนึ่ง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทุกคนต่างมองเห็นปลายทางกันแล้ว นักธุรกิจซึ่งเป็นกองเชียร์รัฐบาลถึงขนาดบอกว่า เศรษฐกิจครั้งนี้หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งถึง 10 เท่าตัว แม้พยายามเสนอประคับประคองว่าอย่าเปลี่ยนรัฐบาล แต่ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ตนอยากบอกว่าทุกคนต่างก็เห็น เพียงแต่ว่า คิดกันทีละตอน ภายใต้สถานการณ์การเมืองโดยเฉพาะซีกพรรคการเมืองที่มีนักการเมืองเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ คือไม่เหมือนปกติ ไม่มีเวลา คิดกันเป็นตอนๆ สมาธิสั้นและมองผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก มีเพียงบางส่วนที่คิดเรื่องส่วนรวมบ้าง ดังนั้นในทางการเมือง แม้จะมีการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินจัดการโควิด 19 ซึ่งก็จะใช้เป็นเหตุผลในการกุมอำนาจของบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาย

"อำนาจของพลเอกประยุทธ์ แม้จะไม่เท่าในขณะที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็ตาม แต่เมื่อมีประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้กับรัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้นการกุมสภาพดังกล่าวยังสามารถจัดการโดยการใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ตนยังไม่เห็นมีใครออกมาพูดว่า จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อมีวัคซีนป้องกันโควิด 19 ดังนั้นหากมีใครยกตัวอย่างว่า หากต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อมี วัคซีนโควิด 19 นั้นถือว่าจบข่าว เพราะไม่รู้ว่าจะได้จริงเมื่อไหร่ แม้ว่าทางการแพทย์บางคนจะบอกว่าวัคซีนจะแล้วเสร็จใน เมษายนปีหน้านั้นที่ผ่านมามีหลายโรคที่เกิดขึ้นในโลกนี้ที่ดูเหมือนว่าจะผลิตวีคซีนกันได้ แต่สุดท้ายก็หาวัคซีนไม่ได้ และคนก็อยู่ร่วมกับโรคดังกล่าวในโลกนี้ได้ วันนี้ก็เช่นเดียวกันตนก็เชื่อว่าขอให้ทุกคนใจเย็นๆ เพราะเชื่อว่า รัฐบาลจะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไป ถึงเดือนกรกฎาคมแน่นอน"
 
นายจตุพรกล่าวอีกว่า แรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ก็มีปัญหา พรรคพลังประชารัฐ ซีกของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณคุมโครงสร้างทั้งหมดไว้ และไม่ต้องไปคิดว่า 3 ป. จะมีความขัดแย้งกันเพราะเขาอยู่กันมานานเกินกว่าที่จะขัดแย้งกัน ดังนั้นเวลาอ่านกระดานทางการเมืองนั้นเเม้ว่า การไปยึดโครงสร้างของพรรคพลังประชารัฐ แม้จะไม่ยึดก็มีสภาพเหมือนการยึดอยู่แล้ว แต่ในทางการเมืองไม่มีนักการเมืองคนใดหรือพรรคการเมืองใดที่จะไปสนองความต้องการของนักการเมืองได้ครบ 

การปรับคณะรัฐมนตรีซึ่งจะไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างพรรคนั้นก็จะมีปัญหาขึ้นมาใหม่ คนที่อยู่ก็ไม่อยากจะไป คนที่ยังไม่ได้เข้าไปก็อยากจะเข้า เมื่อคนที่อยู่มีอันต้องเป็นไป คนที่เข้าจะมีจำนวนมากกว่า ปัญหาไม่มีวันจบ ซีกของประชาธิปัตย์นั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีปัญหาแต่ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ซีกของที่ไม่เอาด้วยกับซีกรัฐมนตรีก็ทำเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลจนบางเรื่องพูดได้ดีกว่าพรรคฝ่ายค้านเสียอีก เหล่านี้ยังไม่นับปัญหาระหว่างพรรค พลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ เป็นงูกินหางกันมา แต่จำเป็นต้องรวมกัน เพราะต้องการจะอยู่ซึ่งอำนาจ ดังนั้นเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าในช่วง 6 ปีนี้ นักการเมืองต่างก็อยู่ในสถานการณ์ที่มีความยากลำบาก ดังนั้นหากใครคิดว่าหากเกิดเหตุการณ์แล้วมีการยุบสภานั้นคงเป็นเพียงความฝันเพราะเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ตนมองว่าภายใต้สถานการณ์ที่จำกัดแบบนี้ต้องดูการเมืองนอกกระดาน เพราะหมากในกระดานในทางการเมืองของประเทศไทยเป็นเพียงภาพลวงตา แต่ของจริงอยู่นอกกระดานทั้งสิ้น

"สิ่งที่ผมอยากบอกประชาชนในท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ว่า ให้พี่น้องคิดอ่านเผื่อในชีวิตกันเพราะเราจะไปฝากความคาดหวังกันเอาไว้ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ต้องคิดเผื่อไว้ว่าในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปีนี้จะต้องวางแผนชีวิตกันอย่างไร เพราะสถานการณ์ของประเทศไทยไม่ง่ายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตราบใดที่ยังหาความเชื่อมั่นไม่ได้" 
  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"