24 พ.ค.63-ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.พัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ปัจจุบันมีประมาณ 6-7 เทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยเลือกเทคโนโลยี mRNA ที่ใช้เอสโปรตีน (s protein) ทั้งตัว ซึ่งจากการทดลองในสัตว์ทดลองในหนูพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี และเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการเริ่มฉีดวัคซีนดังกล่าวในลิงทดลอง ซึ่งปกติภูมิฯ จะขึ้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่จะขึ้นสูงใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ดังนั้นจะตรวจเลือดลิงรอบแรกประมาณกลางมิ.ย.นี้ ถ้าภูมิฯ ต่ำ ก็จะไปตรวจอีกครั้งประมาณต้นเดือน หรือปลายเดือน ก.ค.
นอกจากนี้สิ่งที่ทำคู่ขนานกันไปคือประสานโรงงานผลิตวัคซัน mRNA 2 แห่ง คือ บริษัทไบโอเนท สหรัฐอเมริกา และไบโอเนทเยอรมัน เพื่อผลิตวัคซีนจำนวน 10,000 โดส เพื่อใช้ในการทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อดูว่าปลอดภัยหรือไม่ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ กระตุ้นได้ยาวนานแค่ไหน และสามารถป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้คนละ 2 โดส ทั้งนี้ การทดลองในอาสาสมัครที่เป็นคนไทยจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรก เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่ำ ประมาณ 100 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 10-15 คน โดยให้วัคซีนในจำนวนโดสที่แตกต่างกัน แบ่งเป็นขนาดสูง กลาง ต่ำ
เฟสที่ 2 เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีทั้งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรโน 2019 สูง และต่ำ ประมาณ 500 กว่าคน และเฟสที่ 3 ใช้อาสาสมัครที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง และบางส่วนต้องใช้อาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อด้วย โดยใช้อาสาสมัครประมาณหลักพันคน แต่ในสถานการณ์ของไทยตอนนี้ จำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับน้อย ดังนั้น เฟส 3 ก็ต้องประเมินกันอีกครั้ง อาจจะต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศ
“ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ วัคซีนเข็มแรกที่จะทดลองในอาสาสมัครคนไทยจะเริ่มประมาณเดือน พ.ย. ส่วนที่มีข่าวว่าจะเริ่ม ส.ค.นั้น เป็นแผนการเดิม ทั้งนี้คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ ปีครึ่ง หรือประมาณปลายปี 2564 ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยและเพื่อคนไทยได้เอง ตอนนี้ก็รอดูผลการฉีดวัคซีนในลิงว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าไม่ดีเราก็กลับมาพัฒนาเริ่มต้นที่การทดลองในหนูอีกครั้ง แต่หลังจากฉีดวัคซีนให้ลิง 1 วันตอนนี้ก็ยังปกติ ไม่มีไข้”
นพ.เกียรติ กล่าวว่า ในส่วนเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 (Biosafety-Level 3 : BSL3) ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ นั้น เนื่องจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ไปตรวจเยี่ยมการทดลองฉีดวัคซีนในลิงนั้น พบว่าสิ่งที่เราขาดคือห้องที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพระดับสูงซึ่งรัฐบาลก็ได้ตั้งงบสำหรับตั้ง BSL3 เป็นยูนิตฉุกเฉินก่อนในระยะ 3 เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวัคซีนตัวอื่นอีกด้วย
ด้านนพ.นคร เปรมศรี ผอสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาและจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 มีหลายความร่วมมือ ทั้งความร่วมมือสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะเภสัช จุฬา และไบโอเทค สวทช. และบ.ไบโอเนท-เอเชีย เพื่อพัฒนาวัคซีนในประเทศ ให้มีทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก วัคซีนที่เริ่มการทดสอบในสัตว์ทดลอง 114 ชนิด ส่วนที่เริ่มทดลองในคนมี 10 ชนิด ได้แก่ จีน 5 ชนิด สหรัฐ 2 ชนิด อังกฤษ 1 ชนิด เยอรมัน 1 ชนิด และออสเตรเลีย 1 ชนิด ส่วนของไทยได้เริ่มทดสอบในสัตว์ทดลอง และจะพัฒนาสู่การฉีดในคนต่อไป
ขณะเดียวกันได้มีการประสานความร่วมมือผู้พัฒนาวัคซีนในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาวัคซีนร่วมกัน เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตต่อในประเทศไทย และเพื่อขอซื้อวัคซีนที่สำเร็จแล้วมาใช้ในประเทศไทยในระยะต้น ซึ่งในการพัฒนาวัคซีนจากทั่วโลก ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนประมาณปลายปี 2564 จะมีวัคซีนใช้ในโลก แต่หากการพัฒนาวัคซีนสะดุดติดขัด ก็ต้องปรับรูปแบบวัคซีนกันใหม่ ดังนั้น ถือเป็นเรื่องของงานวิจัย และเป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ไทย และทั่วโลก ที่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่พัฒนาวัคซีนด้วยความเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ส่วนนายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บ.ไบโอเนทขเอเชีย จำกัด กล่าวว่า จากการหารือก็เห็นตรงกันว่า ช่วงโรคระบาดจะต้องเลือกพัฒนาวัคซีนที่มีความรวดเร็วและปลอดภัย ดังนั้น DNA และ mRNA วัคซีนเป็นคำตอบ บริษัทจึงหันมาทำทาง DNA วัคซีน ซึ่งราก็พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และเรามีศักยภาพที่จะผลิต DNA วัคซีนเพื่อใช้ในประเทศได้ และพร้อมรับการถ่ายทอด mRNA.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |