ภาพ : พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกๆ เรื่องโควิด-19
ปลายเดือนธันวาคม 2019 ทางการจีนแจ้งองค์การอนามัยโลกพบการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคปอดบวมสายพันธุ์ใหม่ ศูนย์กลางการแพร่ระบาดอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ในมณฑลหูเป่ย์ (Hubei Province) องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อเชื้อโรคชนิดใหม่นี้ว่า 2019 novel coronavirus (2019-nCoV) และอีกชื่อที่ถูกตั้งโดย Coronavirus Study Group (CSG) คือ SARS-CoV-2 เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2020
โรคที่เกิดจากเชื้อนี้เรียกสั้นๆ ว่าโควิด-19 (coronavirus disease 19: COVID-19) เชื่อกันว่าเริ่มติดต่อแพร่ระบาดสู่มนุษย์ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2019 จากนั้นวันที่ 11 มีนาคม 2020 องค์การอนามัยโลกประกาศเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทั่วโลกอย่างเป็นทางการ
การแพร่ระบาด :
1.ในระยะแรกพุ่งความสนใจที่จีนกับประเทศใกล้เคียง
เนื่องจากเป็นไวรัสใหม่ยังไม่มีชื่อทางการจึงเกิดคำว่าไวรัสอู่ฮั่น (Wuhan Virus) ไม่ถึงเดือนต่อมาประเทศอื่นเริ่มประกาศพบผู้ยืนยันติดเชื้อ 3 ประเทศที่พบก่อนคือ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ในช่วงนี้ถูกมองว่าเป็นโรคระบาดระดับภูมิภาคเท่านั้น
2.การแพร่ระบาดเริ่มกระจายตัว
เมื่อเข้ากุมภาพันธ์ อีกหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันตก เริ่มเตือนการระบาดในประเทศของเขา
3.เริ่มระบาดหนักในสหรัฐและอีกหลายประเทศ
มีนาคม นายกฯ แมร์เคิลกล่าวว่าในที่สุดคนเยอรมัน 60-70 เปอร์เซ็นต์จะติดโรคโควิด-19
ปลายเดือนมีนา. ประธานาธิบดีทรัมป์ขอให้คนอเมริกันเตรียมใจรับสถานการณ์ ทำเนียบขาวประเมินว่าจะมีผู้เสียชีวิต 100,000-240,000 ราย
4.สถานการณ์ล่าสุด บางประเทศดีขึ้น บางประเทศทรงตัว บางประเทศแย่ลง
5 เดือนหลังพบโควิด-19 บางประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ไทย ควบคุมสถานการณ์ได้ดี บางประเทศทรงตัว บางประเทศยังย่ำแย่แม้ใช้มาตรการกักโรคแล้ว
บางประเทศกำลังระบาดหนัก เช่น รัสเซียพบผู้ยืนยันติดเชื้อรายใหม่วันละเกินหมื่นคน บราซิลกลายเป็นประเทศที่ยอดติดเชื้อสะสมเป็นลำดับ 3 แซงหน้าทุกประเทศอย่างเหลือเชื่อ
ภาพรวมระดับโลก ยอดผู้ยืนยันติดเชื้อทะลุ 5 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือในรอบ 24 ชั่วโมงมีผู้ติดโรครายใหม่กว่า 1 แสนคน และจำนวน 2 ใน 3 มาจาก 4 ประเทศเท่านั้น
จากการวิเคราะห์เป็นไปได้ว่าก่อนสิ้นเดือนหน้า (มิถุนายน) ยอดผู้ยืนยันติดเชื้อสะสมทั่วโลกอาจทะลุ 9-10 ล้านคน เพิ่มจากยอดสะสมปัจจุบันอีก 80-100 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นในภาพรวมโควิด-19 ระบาดมากขึ้น ทั้งในบางประเทศที่ระบาดอยู่ก่อนแล้วกับประเทศที่เริ่มระบาดหนัก ควรจับตาทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกาและอนุภูมิภาคอินเดีย
จากความรู้ความเข้าใจในขณะนี้ โควิด-19 จะอยู่กับโลกอีกหลายปี เมืองที่ปลอดโรคแล้วอาจมีผู้ติดเชื้ออีก ดังนั้นคำว่าปลอดโรคปลอดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์จึงไม่น่าจะมีจริง ในขณะที่จำต้องเปิดเมืองให้คนกลับไปทำงาน นักเรียนไปโรงเรียน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจทำงาน สังคมเดินหน้าต่อไป
วิกฤติโควิด-19 เป็นมากกว่าเรื่องสุขภาพ :
เมื่อโควิด-19 ระบาดหนัก มาตรการที่ต้องใช้คือการกักโรคในบริเวณกว้าง จึงต้องปิดเมืองปิดประเทศ ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจในพื้นที่ระบาดหยุดชะงักบางส่วน กระทบเศรษฐกิจภาพรวม
หลายสถาบันทั้งภาครัฐกับเอกชนทยอยประเมินเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ข้อมูล IHS Markit ล่าสุดประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 5.5 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะสหรัฐจะหดตัว 7.3 เปอร์เซ็นต์ อียู 8.6 เปอร์เซ็นต์ การเปิดกิจการอีกครั้งจะช่วยให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงหนึ่งแต่ไม่นานจะกลับมาซบเซา สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริงของโลกยุคโควิด-19
ผลคือบริษัทจำนวนมากจะลดขนาดตัวเอง กระทั่งประกาศปิดตัวหรือล้มละลาย
เมื่อคนตกงานเพิ่ม รายได้หด การซื้อกินซื้อใช้ย่อมลดลง เหล่านี้จะกลับไปกระทบผลประกอบการของบริษัทห้างร้านต่างๆ เป็นวัฏจักรไม่รู้จบ
Deutsche Bank Wealth Management พูดในทำนองเดียวกันว่าอย่ามองโลกแง่ดีจนเกินควร ที่คิดว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะฟื้นตัว แก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ประเมินว่าจะต้องรอถึงปี 2022 (หรืออีก 2 ปี) จึงมีโอกาสกลับสู่สภาพเดิม
ณ ตอนนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยอมรับแล้วว่าเศรษฐกิจโลกไม่จะเป็น V-shape
ไม่แปลกที่ เจโรม พาวล์ (Jerome Powell) ประธานเฟด พูดซ้ำหลายครั้งว่ารัฐบาลยังช่วยน้อยไป ขอให้รัฐบาลทำทุกอย่างที่ทำได้ ยืนยันว่าใช้เงินทุกดอลลาร์อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้
วัคซีน ยา การเปิดเมือง :
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่าวัคซีนคือทางออกที่ดีที่สุด นับจากเริ่มระบาดหลายสิบประเทศทั่วโลก บริษัทยาต่างๆ ล้วนมีโครงการวิจัยพัฒนายากับวัคซีน องค์การอนามัยโลกแสดงบทบาทเป็นแกนนำเรื่องนี้
มีข่าวคืบหน้าของวัคซีนต่อเนื่องจากหลายประเทศ แต่กว่าจะเป็นวัคซีนที่ใช้การได้จริงต้องใช้เวลา ต้องย้ำว่าไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพราะเป็นเรื่องของการทดลอง ความน่าจะเป็น (Probability) ที่แน่นอนคือโลกกำลังเร่งมือเต็มที่ “อาจ” ได้ใช้วัคซีนปีหน้า
พร้อมกับวิจัยวัคซีนคือพยายามหายารักษา มี 2 แนวทางคือ ทดลองใช้ยาเดิมที่มีอยู่กับวิจัยยาใหม่ ยาร่วมร้อยตัวถูกนำมาทดลอง เป็นแนวคิดหาใช้ยาที่มีอยู่แล้วเพื่อร่นระยะเวลาวิจัย
มีบางตัวที่ส่อว่าจะใช้ได้ เช่น chloroquine กับ remdesivir จน FDA สหรัฐจะรับรองใช้ remdesivir รักษาโควิด-19 หลังพบว่ายาช่วยให้ผู้ติดเชื้อหายเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ผลวิจัยเบื้องต้นพบว่าจากป่วย 15 วันเหลือ 11 วัน) แต่ต้องย้ำว่าได้ผลเพียงร้อยละ 31 เท่านั้น อีกร้อยละ 69 ใช้ไม่ได้ผล รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเตรียมรับรองยาดังกล่าวเช่นกัน
ควรสรุปว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มียาเก่าตัวใดที่ใช้ได้ผลดีจริง
อีกวิธีรักษาที่ทดลองอยู่คือใช้พลาสมาจากเลือดผู้ป่วยเพราะต้องการภูมิต้านทานโรคจากผู้ป่วยเดิม hyperimmune globulin เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่มีความหวัง บริษัทยากำลังเร่งวิจัย
การวิจัยหายาใหม่ต้องกินเวลาหลายปี เป็นไปตามกระบวนการวิจัยพัฒนายาใหม่
ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนกับยาที่ได้ผลจริง การกักโรคการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเป็นมาตรการที่ดีที่สุด หลายประเทศใช้ได้ผล
หลังปิดเมืองได้ 2-3 เดือน รัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจคลายมาตรการปิดเมือง ให้ธุรกิจร้านค้าเริ่มทยอยเปิดอีกครั้งภายใต้มาตรการควบคุม เป็นไปได้ว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเรียนรู้คือการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือไม่ใช่ทางออกที่ดีและอาจก่อปัญหาใหญ่ตามมา จำต้องยอมเปิดเมืองให้ระบบเศรษฐกิจเดินเครื่องแม้ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละนับร้อยนับพัน
เรื่องนี้พิสูจน์ว่าระบบเศรษฐกิจใหญ่เกินกว่าที่ภาครัฐจะเข้าโอบอุ้ม ความจริงแล้วตั้งแต่เริ่มระบาดจนปัจจุบัน รัฐบาลทุกประเทศเข้าช่วยเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น
การเปิดเมืองเป็นอีกเหตุผลว่าโรคระบาดนี้จะอยู่กับโลกอีกนาน และอาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศด้วย
การแพร่ระบาดเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น :
ปลายเดือนเมษายน นายกฯ แมร์เคิลกล่าวว่า การแพร่ระบาดเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น เราต้องอยู่กับไวรัสนี้อีกนาน
ตัวเลขผู้ยืนยันติดเชื้อล่าสุดเป็นหลักฐานว่าการระบาดระดับโลกไม่ได้ลดลงแต่รุนแรงขึ้น
เพียง 5 เดือนนับจากเชื้อโรคโควิด-19 ปรากฏตัว โลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็วรุนแรง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จำต้องคิดใหม่ วางแผนใหม่ ปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวการณ์
เป็นความจริงที่สถานการณ์บางส่วนดีขึ้น บางส่วนย่ำแย่ แต่ต้องมองอีกมุมว่าในวิกฤติมีโอกาส ต้องไม่ปล่อยให้เวลานี้หลุดลอย ต้องสร้างโอกาสใหม่แก่ตัวเองและสังคม
เพราะวิกฤติมักเป็นเหตุให้เกิดสิ่งดีๆ ที่ยากจะเกิดในภาวะปกติ
จงฉวยโอกาส รีบเร่งรุดหน้าไป.
เพียง 5 เดือนที่โลกเผชิญโควิด-19 หลายส่วนของโลกกำลังถูก disrupt อีกหลายส่วนต้องปรับตัว การต่อสู้กับวิกฤติครั้งนี้เพิ่งจะเริ่มต้น ภาพรวมยังระบาดหนัก การป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |