อดีตส.ว.ประสาร ถอด 'รหัสนัย 2475' : ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ทางหนังสือ  ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วย


เพิ่มเพื่อน    

นายประสาร  มฤคพิทักษ์  อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ได้เขียนบทความเรื่อง      "รหัสนัย   2475"  ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 20 พ.ค.2563 โดยมีเนื้อหาดังนี้

              

นับถึงวันที่  11 พฤษภาคม 2563   เป็นชาตกาล 120 ปี ของรัฐบุรุษอาวุโส  อาจารย์ปรีดี  พนมยงค์

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะก้าวหน้า  ด้วยการส่งรหัสนัย  2475  ผ่านการแจกเงินรับเงิน 3,000บาท   ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ดีร้ายประการใดก็ตาม   พวกเขาควรรู้ว่าวิธีการเช่นนั้น เป็นการทำบาปฉกรรจ์ต่อ อาจารย์ปรีดี  พนมยงค์  และคณะราษฎร   เพราะในวันนี้ผู้คนที่เสพข่าวอย่างฉาบฉวยแล้วเผยแพร่ต่อเติมความเห็นในสื่อออนไลน์   มีจำนวนไม่น้อยพากันประณามคณะราษฎร ว่ามีความมุ่งร้ายหมายขวัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  บ้างบอกว่าคณะราษฎรต้องการเปลี่ยนประเทศจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปสู่ระบอบสาธารณรัฐแบบฝรั่งเศส   ซึ่งไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงใด ๆรองรับเลย  บางคนไปไกลถึงขั้นกล่าวหาว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์  เกี่ยวโยงกับกรณีสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 8

หากใครไปค้นคว้าประวัติศาสตร์ ก็จะพบว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการในเวลานั้น เป็นผู้กราบทูลเชิญในหลวงอานันทมหิดล ให้เสด็จกลับจากต่างประเทศ  เพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า  “ตลอดเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ  ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์       ในความปรีชาสามารถบำเพ็ญคุณประโยชน์ แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสและให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการ เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป  ประกาศ  ณ วันที่  8  ธันวาคม พ.ศ. 2488   ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ  ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช  นายกรัฐมนตรี”       

ในเวลาต่อมา  ในฐานะนายกรัฐมนตรี อาจารย์ปรีดี พนมยงค์  ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ   เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช  ให้ขึ้นครองราชย์สมบัติตามมติของรัฐสภา ตามประกาศ นายกรัฐมนตรี   เมื่อ  9  มิถุนายน  2489

 

นอกจากนี้ ในเทปบันทึกเสียงของหลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ  เรื่อง สารภาพบาปของนายตี๋  ศรีสุวรรณ  ที่ไปถวายสังฆทาน  โดยยอมรับกับหลวงพ่อ เรื่องไปให้การในศาลปรักปรำ                นายเฉลียว ปทุมรส   นายชิต สิงหเสนี   นายบุศย์ ปัทมศิริน  ที่ถูกประหารในฐานะอาชญากร    ทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

หลวงพ่อ  ถามว่า  “เบิกความอย่างไร”  นายตี๋ ตอบว่า  “เบิกตามที่เขาต้องการ

 

หลวงพ่อเล่าต่อว่า

 

“ ........แก  (ตี๋ ศรีสุวรรณ) ก็รับเพราะเขาจะให้เงินสองหมื่น  แกก็ไปเบิกความว่า ท่านปรีดี กับนายชิต  นายเฉลียว  นายบุศย์  มานั่งปรึกษากันที่บ้านพระยาศรยุทธเสนี (ข้างวัดชนะสงคราม)  วางแผนเพื่อปลงพระชนม์ในหลวง  ผมไปเบิกความครั้งนี้ ไม่ใช่ความจริง เป็นความเท็จ  ผมโกหกตามตำรวจเขาขอร้อง  แล้วสามคนก็ถูกประหาร ผมเสียใจมาก ถวายสังฆทานทีไรก็อุทิศให้เขาทั้งสามคน เขาถูกประหารเพราะพยานสำคัญคือผมเอง ......”

 

นอกจากนี้ ยังมีจดหมายขอขมาของนายตี๋ ศรีสุวรรณ  ขณะที่อายุ  102 ปี ให้ลูกเขยของเขาชื่อ นายเลื่อน ศิริอัมพร  เขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์   ลงวันที่   25   มกราคม   2522   เป็นจดหมายขอขมาว่า  “นายตี๋  รู้สึกเสียใจมากที่ทำให้ 3 คนตาย  และนายปรีดี กับนายวัชรชัย ที่บริสุทธิ์ ต้องถูกกล่าวหาด้วย   นายตี๋ได้ทำบุญกรวดน้ำให้กับผู้ตายเสมอมา  แต่ก็ยังเสียใจไม่หาย เดี๋ยวนี้ ก็มีอายุมากแล้ว อีกไม่ช้าก็ตาย จึงขอขมาลาโทษ นายปรีดี   นายวัชรชัย   นายเฉลียว  นายชิต และนายบุศย์  ที่นายตี๋ เอาความเท็จมาให้การปรักปรำ ขอได้โปรดให้ขมาต่อนายตี๋ด้วย”

 

ใครที่ยังเข้าใจว่า  อาจารย์ปรีดี พนมยงค์  ไปข้องเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว  ควรไปศึกษาข้อเท็จจริงให้ถ้วนทั่ว แล้วจะพบว่า  อาจารย์ปรีดี  เป็นสามัญชนธรรมดา ไม่มีเหตุจูงใจใด ๆ เลย ที่จะไปเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว

 

การเป็นหัวหน้าคณะราษฎร ฝ่ายพลเรือน เป็นการทำหน้าที่ในฐานะผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองคนหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข  ซึ่งประเทศไทย ก็ดุจเดียวกับประเทศอื่น ๆ   เป็นวิวัฒนาการของทุกประเทศในโลกที่วิวัฒน์ไปตามเหตุปัจจัยและบริบทแวดล้อมของแต่ละสังคมประเทศ   คณะราษฎรที่ประกอบด้วยทหารและพลเรือนได้ทำหน้าที่และจบสิ้นภารกิจไปแล้ว  ไม่ควรที่ใครจะนำมาเป็นเหตุให้เข้าใจไปในทิศทางที่ว่าภารกิจของคณะราษฎรยังไม่บรรลุในการนำประเทศไทยไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ

 

ในทางตรงกันข้าม  อาจารย์ปรีดี  พนมยงค์  ทั้งในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และในฐานะนายกรัฐมนตรี มีแต่จะเทอดพระเกียรติในหลวงทั้งสองพระองค์อย่างสูงส่ง 

หลังจาก อาจารย์ปรีดี พนมยงค์  ถึงแก่อสัญกรรม  ณ บ้านอองโตนี  ชานกรุงปารีส   เมื่อวันที่  2  พฤษภาคม  2526

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช  เจ้าของ นสพ. สยามรัฐ  ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ  อ. ปรีดี ตลอดมา  กล่าวว่า  “ผมเคยเป็นศัตรูขับเคี่ยวกับนายปรีดีมานานแล้ว  เวลานี้อายุมากขึ้น  ก็ลืมความหลังไปหมดแล้ว  แต่ก็ยังดีใจที่ลูกชายผม (ม.ล. รองฤทธิ์)  เมื่อเดินทางไปปารีสก็แวะไปเยี่ยมท่าน  ท่านถามว่าลูกใคร พอรู้ว่าลูกผม ท่านก็ยังเอาตัวไปกอด แล้วถ่ายรูปไว้ดู  พร้อมกับเดินมาส่งที่หน้าบ้าน ........ผมเคารพนับถือว่าท่านเป็นยิ่งกว่าพี่ใหญ่......ท่านจากไปโดยที่ไม่เดือดร้อนอะไร  ผมก็ใส่บาตรกรวดน้ำให้ท่านและในทางส่วนตัว  ผมกับท่านไม่มีอะไรกันเลย  เพราะผมไม่เคยต่อสู้ทางการเมืองกับใครด้วยเรื่องส่วนตัว      (นสพ.  มาตุภูมิ     4  พค. 2526)

ในขณะที่  ม.ร.ว. เสนีย์  ปราโมช  ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงมรณกรรมของ   นายปรีดีว่า

“รู้สึกเสียดาย  เพราะเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ไว้มาก  เป็นผู้นำประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในบ้านเมืองเป็นคนแรก  จริงอยู่  แม้ว่ารัชกาลที่ 7  จะทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชน  แต่นายปรีดีได้ทำก่อน  ก็ต้องยกย่อง ......... และที่สำคัญในขบวนการเสรีไทย  เขามีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีคนนี้มาช่วยเคลื่อนไหว  งานนี้เห็นจะสำเร็จยาก”      (นสพ. มติชนรายวัน   5  พค.  2526)              

ประเทศไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา  โดยอ้างว่าอังกฤษจะมาทิ้งระเบิดไทย  โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ              

พระบรมราชโองการฉบับนี้  ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีเพียง  2 ใน  3  ที่ลงนามคือ  พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา  และพลเอกเจ้าพระยาพิชาเยนทรโยธิน  ส่วนนายปรีดี  พนมยงค์  ผู้สำเร็จราชการอีกหนึ่งคนรู้เท่าทัน  จึงทำตัวหายไปอย่างลึกลับ ไม่มีใครตามพบ   หลังสงคราม  ฝ่ายไทยอ้างว่าพระบรมราชโองการดังกล่าวเป็นโมฆะ  เพราะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบสาม   การประกาศสงครามกับพันธมิตร ถือว่าไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญ              

เป็นที่รู้กันดีว่า  ขบวนการเสรีไทยในเมืองไทยนั้น  อาจารย์ปรีดี  พนมยงค์  เป็นหัวหน้าขบวน ที่ได้ประสานกับขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา ที่ ม.ร.ว. เสนีย์  ปราโมช  เป็นหัวหน้าสายนอกประเทศ  ในที่สุดไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้  ไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์ปรีดี  เป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอยู่ถึง 4 ปี  (2484 - 2488)  ในช่วงเวลานั้น              

นอกจากเป็นรัฐบุรุษอาวุโส  เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว  อาจารย์ปรีดี  พนมยงค์  ยังได้รับยกย่องจาก UNESCO ให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก”  ในปี พ.ศ. 2543   อีกด้วย

แม้ว่า อาจารย์ปรีดี  พนมยงค์  จะมีคุณูปการมหาศาลต่อความอยู่รอดและความก้าวหน้าของประเทศไทย  แต่อาจารย์ปรีดี  ก็วิจารณ์ตนเองไว้ว่า              

“ในปี  ค.ศ.  1925 (2468)  เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส   ข้าพเจ้ามีอายุเพียง  25 ปีเท่านั้น  หนุ่มมาก  หนุ่มทีเดียว  ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด  แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี  ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา  ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย  ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ  ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ทางหนังสือ  ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี  ในปี ค.ศ. 1932 (2475)  ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี  พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน  และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น  ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ....” (สัมภาษณ์  เอเชียวีค  28 ธันวาคม 2523)\           

นี่คือการวิพากษ์ตนเองอย่างตรงไปตรงมาต่อสาธารณชน  เป็นคำสารภาพที่กอปรด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความกล้าหาญทางจริยธรรมเข้าด้วยกัน.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"