9.1หมื่นรายแห้ว ปลัดกษ.เมินจ่าย เยียวยา5พันบาท


เพิ่มเพื่อน    


    "ปลัด ก.เกษตรฯ" เผยคณะกรรมการกลั่นกรองเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฟันธง "ขรก." ทำอาชีพเสริมเกษตรกร 9.1 หมื่นราย ไม่ควรได้เงินเยียวยา 5 พันบาท เตรียมชง ครม.รับทราบ
    เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.การคลัง) และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ ธ.ก.ส.สาขานครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตรวจเยี่ยมการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การพิทักษ์สิทธิ์และการรับเรื่องร้องทุกข์ตามมาตรการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งให้กำลังใจเกษตรกรและพบปะผู้ประกอบการ SMEs เกษตร 
    นายอุตตมกล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างเต็มที่ และหลังจากนี้ยังมีมาตรการเสริมอื่นๆ ที่จะเข้าไปสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป
    ถามถึงกรณีมีรายชื่อข้าราชการที่ทำอาชีพเกษตรจำนวน 9.1 หมื่นราย จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน นายอุตตมกล่าวว่า ตามความเข้าใจส่วนตัวเห็นว่าถ้าข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนตอบแทนอยู่แล้ว ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เพราะตามหลักการแนวทางให้ความช่วยเหลือของรัฐ ไม่อยากให้มีความซ้ำซ้อน รัฐบาลต้องการช่วยเหลือทุกกลุ่ม และต้องคำนึงถึงงบประมาณที่มีด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามเต็มที่
    "ในรายละเอียดทั้งหมดคงต้องเช็กกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกครั้ง เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นคนดูแลและส่งรายชื่อเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยาทั้งหมดให้กระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการจ่ายเงินเท่านั้น โดยส่วนตัวหากมีโอกาส ก็จะหารือกับ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่ามีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร อยากให้รอฟังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกที โดยยืนยันว่ากระทรวงการคลังพร้อมดำเนินการอยู่แล้ว” รมว.การคลังกล่าว 
    ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่กำหนดเกณฑ์และทำหน้าที่คัดกรองไม่ให้สิทธิ์ซ้ำซ้อน คือกระทรวงการคลังและคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ดังนั้นการจะจ่ายเงินเยียวยาให้ข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรหรือไม่นั้น การตัดสินใจเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และต้องเป็นมติของ ครม. หากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นสมควรให้ได้รับสิทธิ์เยียวยาและเสนอให้ ครม.ให้มีมติออกมา กระทรวงเกษตรฯ พร้อมดำเนินการทันที เพราะมีฐานข้อมูลรายชื่อทั้งหมดแล้ว สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและไม่มีตกหล่น
    "การที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงว่าการตัดสินใจจ่ายเยียวยาให้ข้าราชการเป็นอำนาจของกระทรวงเกษตรฯ สคศ.คงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริงกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รวบรวมและส่งรายชื่อเกษตรกรให้กระทรวงการคลังและคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและตรวจความซ้ำซ้อน ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะมีการจ่ายให้ข้าราชการและอื่นๆ หรือไม่นั้น ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และที่สำคัญต้องมีการวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา กระทรวงเกษตรฯ รอเพียงการพิจารณาและการตัดสินใจของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร" รมว.เกษตรฯ กล่าว
    ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติมีสิทธิ์ในการรับเงินเยียวยา ถือเป็นเกษตรกรกลุ่มที่ 1 จำนวน 8.33 ล้านราย ภายหลังจากการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับทะเบียนฐานประกันสังคม ทะเบียนข้าราชการบำนาญ ทะเบียนข้าราชการ และโครงการเราไม่ทิ้งกัน ทำให้คงเหลือเกษตรกรที่มีคุณสมบัติได้รับเงินเยียวยา จำนวน 6.77 ล้านราย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรในกลุ่มที่ 1 ในชุดแรกแล้ว จำนวน 3.3 ล้านราย ส่วนที่เหลืออีก 3.4 ล้านราย อยู่ระหว่างการคัดกรองความซ้ำซ้อนกับมาตรการอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับเงินเยียวยาได้ภายในวันที่ 25 พ.ค.นี้
    นายอนันต์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ 1 จำนวน 3.3 ล้านราย ในจำนวนนี้กระทรวงการคลังตรวจพบความซ้ำซ้อนกับสิทธิประกันสังคมประมาณ 3 แสนราย, โครงการเราไม่ทิ้งกันประมาณ 1 แสนราย, ข้าราชการบำนาญประมาณ 8 หมื่นราย และข้าราชการ ประมาณ 9 หมื่นราย โดยกระทรวงการคลังได้ส่งข้อมูลกลับมาที่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีความเห็นว่าข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนตามปกติไม่เหมาะสมที่จะได้รับเงินเยียวยา 
    "หลังจากได้รับข้อมูล กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเรื่องให้คณะกลั่นกรองฯ พิจารณาแล้ว เบื้องต้นคณะกลั่นกรองฯ เห็นด้วยว่าข้าราชการไม่เหมาะสมที่จะได้รับเงินเยียวยา และอาจจะมีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม.เพื่อแจ้งให้ทราบต่อไป แต่ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าข้าราชการที่ลงทะเบียนเกษตรกรเป็นอาชีพเสริมไม่สามารถรับการเยียวยาได้ จึงทำให้เกิดประเด็นดังกล่าวขึ้น” นายอนันต์กล่าว
    ถามกรณี ธ.ก.ส.ตรวจพบรายของผู้ที่ได้รับสิทธิ์เยียวยาในรอบวันที่ 22-25 พ.ค. มีรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1 แสนราย จากจำนวนทั้งหมด 3.4 ล้านราย ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะจ่ายเงินให้กับผู้เสียชีวิต หลังจากนี้จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"