"ชวน" ถก 26 พรรคเตรียมพร้อมเปิดสภา พาทัวร์ห้องสุริยันจัดที่นั่งใหม่ เข้มมาตรการป้องโควิด สมใจฝ่ายค้านได้ชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงินลากยาว 5 วัน 27-31 พ.ค. พร้อมยื่นเงื่อนไขตั้งกมธ.วิสามัญ-รายงานสภาทุกเดือน แลกโหวตผ่านกฎหมาย "สมพงษ์" ชี้คน พท.แยกตั้งพรรคเรื่องธรรมดา "ภูมิธรรม" ปัดสุมหัว "พิชัย-จาตุรนต์" แย้มเร็วๆ นี้เห็นคนรุ่นใหม่รวมตัวเสนอทางออกใหม่
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคการเมืองทั้ง 26 พรรค รวมทั้งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และวิปฝ่ายค้าน ถึงการเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุมสภาในวันที่ 27 พ.ค.นี้ โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที จากนั้น เวลา 12.00 น. นายชวนได้นำคณะทั้งหมดเข้าตรวจความพร้อมของห้องประชุมพระสุริยันที่จะใช้ประชุมสภา โดยกำหนดให้สมาชิกนั่งเฉพาะเก้าอี้ที่มีชื่อพรรค และแยกสีชัดเจน ตามมาตรการเว้นระยะห่างเก้าอี้เว้นเก้าอี้
นายชวนกล่าวว่า วันนี้เป็นการเชิญตัวแทนมาดูห้องประชุมใหม่ เพื่อรับทราบกระบวนการในการใช้ห้องประชุมว่าเป็นอย่างไร ภายใต้การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเราต้องจัดที่นั่งในลักษณะพิเศษให้ห่างกันกว่าเดิม โดยจะมีสมาชิกส่วนหนึ่งประมาณ 60 ถึง 80 คนนั่งประชุมบริเวณที่นั่งสังเกตการณ์คนนอกที่มาศึกษาดูงาน เพื่อไม่ให้บริเวณห้องประชุมด้านล่างหนาแน่นเกินไป ส่วนการลงมติจะให้ทยอยลงมาลงมติบริเวณด้านล่าง ทั้งนี้ไม่สามารถฝากหรือเสียบบัตรแทนกันได้ รวมทั้งขอความร่วมมือสมาชิกให้มีผู้ติดตามได้ไม่เกิน 2 คน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐสภาได้เตรียมการป้องกันอย่างเต็มที่ตามที่แพทย์ได้ให้คำแนะนำมา ซึ่งเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา อธิบดีกรมควบคุมโรคมาตรวจสอบด้วยตัวเอง
“ในห้องประชุมให้สมาชิกสามารถใส่เฟซชิลด์ได้ โดยระหว่างการอภิปรายสมาชิกสามารถถอดออกได้เพื่อให้การอภิปรายชัดเจน ขอย้ำว่ามาตรการที่ดีที่สุดคือการคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาในอาคารรัฐสภา ขออย่ารำคาญในขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย ซึ่งหากบุคคลใดไม่สวมหน้ากากอนามัย จะไม่อนุญาตให้เข้ามาภายในพื้นที่โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าบุคคลใดมีไข้ ได้มีการประสานกับโรงพยาบาลวชิระไว้แล้ว เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาทันที ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือในการตรวจ อย่าประมาท” ประธานสภาฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมครั้งนี้ได้มีการชี้แจงมาตรการต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือ ส.ส.ให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันโควิด-19 เช่น ให้ผู้ติดตาม ส.ส.เข้ามายังพื้นที่รัฐสภาไม่เกิน 2 รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะในการเช็กอินเข้าสภา ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการหารือในการจัดสรรโควตาประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญของสภาใหม่ ภายหลังจาก ส.ส.พรรคอนาคตใหม่หายไป 10 คน เพราะถูกยุบพรรค ทำให้สภาต้องคำนวณใหม่ เบื้องต้นมีข้อสรุปคือ พรรคประชาธิปัตย์จะได้โควตาประธาน กมธ.เพิ่ม 1 คณะ, พรรคเศรษฐกิจใหม่ได้ 1 คณะ และพรรคก้าวไกลต้องถูกลดโควตาประธาน กมธ.จำนวน 2 คณะ ส่วนรายละเอียดต้องหารือร่วมกันในคณะกรรมการประสานงาน ส.ส. ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานอีกครั้งหนึ่ง
ถก พรก.กู้เงินลากยาว 5 วัน
ต่อมา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุมร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน กรณีการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่าในการประชุมจะพิจารณาแบบรวมระเบียบวาระทั้งหมด จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. เวลา 09.30 น. ให้สมาชิกหารือ 10.30 น. เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม แล้วเสร็จในเวลา 20.00 น. ของทุกวัน ฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เวลา 20-24 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้เวลา 20-24 ชั่วโมง รวมทุกฉบับน่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 31 พ.ค. การประชุมสภาในครั้งนี้จะประชุมกันตั้งแต่ 27-31 พ.ค. และลงมติใน พ.ร.ก.ที่เกี่ยวกับการกู้เงิน ก่อนเวลา 15.00 น. วันที่ 31 พ.ค. เมื่อแล้วเสร็จจะพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 20.00 น.
อย่างไรก็ดี ในการประชุม หากฝ่ายใดลุกขึ้นประท้วง ให้หักเวลาฝ่ายนั้นออกไป และในการประชุมแต่ละวันจะมีการเช็กเวลาทุกวัน ป้องกันปัญหาเวลาขาดหายไป จากผลหารือดังกล่าวฝ่ายค้านไม่ได้มีข้อโต้แย้งใดๆ สำหรับการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณ 2563 วงเงินประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท จะมีการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.ก.ที่จะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า มีทั้งสิ้น 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง เปิดเผยว่า ภายหลัง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ยื่นญัตติเสนอให้สภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ตนได้พิจารณาให้เป็นญัตติด่วน เนื่องจากเข้าเงื่อนไขที่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบและอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นหลังจากที่สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 เสร็จแล้ว
ทางด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะยืนยันตามหลักการเดิมว่าไม่ควรมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาการอภิปราย เพราะ พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งประธานสภาฯ มีอำนาจควบคุมการประชุมได้ตามข้อบังคับการประชุมสภา
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านเห็นด้วยกับหลักการของ พ.ร.ก. เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือ แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้กำหนดรายละเอียดสำคัญบางประการเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นที่มาของเงิน กระบวนการการใช้เงิน และการตรวจสอบการใช้เงิน ด้วยเหตุนี้ฝ่ายค้านจึงขอตั้งเงื่อนไขว่า หากฝ่ายค้านลงมติเห็นชอบกับ พ.ร.ก.แล้ว รัฐบาลจะต้องรายงานการใช้เงินกู้ดังกล่าวต่อสภาทุกเดือน ไปจนถึงร่วมกับฝ่ายค้านในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติเข้าสู่สภาไปแล้ว
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่สภาจะพิจารณา พ.ร.ก. นายสุทินกล่าวว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะหากยื่นตีความแล้วจะทำให้การดำเนินการตาม พ.ร.ก.เกิดความล่าช้า แต่หากถึงที่สุดแล้วมีความจำเป็นจะต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง
"เท่าที่ตรวจสอบพบว่าอาจมีปัญหาการตรา พ.ร.ก.สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีข้อมูลว่ารัฐบาลเพิ่งดำเนินการกู้เงินไปเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการตรา พ.ร.ก.อาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงเห็นว่าถ้ารัฐบาลจะดำเนินการเช่นนี้ เงินส่วนที่เหลือที่จะต้องกู้ตาม พ.ร.ก.ควรเปลี่ยนมาเป็นการดำเนินการกู้ผ่านการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณกลางปีแทน เพื่อให้สภาได้ตรวจสอบ" ประธานวิปฝ่ายค้านระบุ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า น่าเป็นห่วงว่าการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทของรัฐบาลจะเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า เพราะใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเขียนกรอบการใช้เงินกว้างมาก เพื่อให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเขียนแผนงานของบประมาณ เหมือนเป็นการตีเช็คเปล่าไว้ให้กับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเอาเงินกู้ไปหาเสียงล่วงหน้า
แยกตัวตั้งพรรคเรื่องปกติ
วันเดียวกัน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าอดีตนักการเมืองพรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักษาชาติบางกลุ่มหารือเตรียมตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า เป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมาตอนก่อนเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยยังเคยมีการแยกตัว แยกพรรค คือ พรรคไทยรักษาชาติ เพราะรัฐธรรมนูญนั้นออกแบบให้เป็นเช่นนั้น ส่วนที่บุคคลซึ่งมีข่าวว่าจะไปตั้งพรรคใหม่ เช่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ต้องแยกตัวเพราะกระแสนิยมของพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยลดลงนั้น ไม่มีอะไร สามารถวิเคราะห์สามารถมองได้ แต่ความเป็นจริงต้องพิจารณารายละเอียดทั้งเหตุการณ์ระยะสั้นและระยาวด้วย
นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านฯ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังทำงานในฐานะที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังไม่เคยคุยกับนายพิชัย หรือนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ และแกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย เรื่องการมาร่วมตั้งพรรคใหม่กับทั้ง 2 คนในช่วงนี้เลย ข่าวที่เกิดขึ้นคงต้องไปถามรายละเอียดตามข่าวที่นายพิชัย ส่วนบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน ต้องถือว่าสังคมกำลังมีคำถามใหญ่ๆ เกี่ยวกับความสามารถของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลว่าจะสามารถพาคนไทยฝ่าฟันวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นได้หรือไม่
"วันนี้คนไทยโดยถ้วนหน้าต่างไม่ค่อยมีความหวังใดๆ กับรัฐบาลชุดนี้ การเมืองในอนาคตอันใกล้ หากสถานการณ์ไม่มีอะไรดีขึ้นกว่านี้ และหากรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ๆ และคนอีกหลากหลายวิชาชีพขณะนี้คงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นใหม่ในสังคม ความคิดที่คนอยากรวมตัวกันหาทางออกใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นแก่สังคม คงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ต่อจากนี้สังคมควรเฝ้าติดตามดู" นายภูมิธรรมระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |