ศบค.ชุดใหญ่เคาะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ชงครม.สัปดาห์หน้า ยกเหตุ 3 ข้อ ต้องการเอกภาพ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่เพียงพอ-รองรับการผ่อนปรนระยะ 3-4 และการระบาดทั่วโลกยังไม่สิ้นสุด เล็งขยับเคอร์ฟิว 6 ทุ่มถึงตี 4 นายกฯ กำชับให้ทุกฝ่ายทำงานอย่างรอบคอบ ศบค.ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ชวนเช็กอินไทยชนะ สธ.เกาะติดผู้เกี่ยวข้องผู้ป่วยใหม่ 2 ราย พท.ดาหน้าซัดต่อ พ.ร.ก.รัฐได้ประโยชน์ "ปิยบุตร” เปรียบ "รัฐประหารโควิด" ประยุทธ์รวบอำนาจ "แรมโบ้" โต้กลับต้องเลือกความปลอดภัย ปชช.ไม่เกี่ยวการเมือง
เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า ขณะนี้ทุกคนเริ่มเข้าใจถึงการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ หรือ new normal และรู้จักเสียสละ และที่ช่วยสนับสนุนข้าวของช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบ นอกเหนือจากระเบียบราชการที่ให้การช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาเพิ่มเติมอยู่ ขอบคุณน้ำใจจากคนไทยที่บริจาคสิ่งของช่วยเหลือกัน พร้อมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันอย่างดี ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งการใช้มาตรการทางสังคมในการร่วมกันสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ จนทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมายืนในอันดับต้นๆ ของประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ขอชื่นชมการดำเนินการของ ศบค. ทั้งการป้องกัน ควบคุม และการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน จนทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า เป็นที่น่ายินดีด้วยว่าการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศของไทยได้รับการยอมรับและชื่นชม จนมีหลายประเทศประสงค์จะรับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน เช่น สินค้าเกษตร จึงขอให้ทุกหน่วยงานเตรียมแผนงานเพื่อรองรับไว้ด้วย สำหรับการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและมั่วสุมอยู่ จึงเห็นควรให้ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุม แต่อาจพิจารณาผ่อนปรนในบางข้อ เช่น ระยะเวลาเคอร์ฟิว โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ว่า ต้องพิจารณาในภาพรวม ใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งใช้มาตรการทางสังคมร่วมด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เกิดความร่วมมือช่วยเหลือกัน
ส่วนกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย โดยได้ดำเนินการตามมาตรการ State Quarantine และ Local Quarantine อย่างเข้มข้น และมีประสิทธิภาพ เกิดการยอมรับจากสังคม ประชาชน ที่ประชุมได้หารือเรื่องเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ การท่องเที่ยว การเตรียมการเพื่อรองรับการผ่อนปรนตามมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ การเปิดภาคเรียนในการผ่อนปรนระยะ 4 กระทรวงศึกษาธิการ จึงต้องปรับแผนงาน เช่น เด็กปฐมวัย-อนุบาล 3 ที่ยังต้องไปโรงเรียน อาจมีการพิจารณาปรับสัดส่วนครูกับนักเรียนลดลง อาจจะต้องจัดเรียนเป็นผลัด ผลัดละ 20 คน และมีผู้สนับสนุนครูด้วย โรงเรียนนานาชาติซึ่งจะเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน เพราะมีศักยภาพและความยืดหยุ่น สามารถรองรับและบริหารจัดการได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปว่า ให้ทุกส่วนดำเนินการอย่างรอบคอบในทุกประเด็น ในประเด็นที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น การเปิดเรียน เด็กในช่วงวัยต่างกัน การดูแลจะเป็นแบบเดียวกันคงไม่ได้ การเรียนแบบออนไลน์ใช้เฉพาะในช่วงนี้ ช่วงก่อนการเปิดเรียนเท่านั้น เพื่อใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เมื่อเปิดเทอมแล้วจะต้องเร่งพิจารณาดำเนินการเหลื่อมเวลาเรียน พิจารณาในรายละเอียดของการเรียนการสอน ต้องมีหลักสูตรในการอบรมวิชาชีพครูในลักษณะ tailored made เพื่อความเหมาะสม
ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่แต่วางใจไม่ได้
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมยังอยู่ที่ 3,037 ราย หายป่วยสะสม 2,910 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 71 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 56 ราย การไม่มีรายงานผู้ป่วยในวันนี้ ไม่ได้เป็นศูนย์เสียทีเดียว เพราะขณะนี้ยังรอผลตรวจอย่างเป็นทางการอีก 2 ราย ซึ่งเป็นคนไทยที่กลับมาจากอียิปต์และอินเดีย ที่อยู่ในสถานกักตัวของรัฐ แต่ 2 รายนี้หากยืนยันว่าติดเชื้อก็เป็นเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ไม่ได้เป็นการติดเชื้อในประเทศ จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อภายในประเทศถึง 25 ราย จึงยังเบาใจและวางใจไม่ได้ ถ้าดูจากสถานการณ์โลกวันนี้ กราฟผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น ไทยเคยมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตขึ้นและลดลง แต่ของโลกยังเป็นขาขึ้น ยังไม่ถึงจุดสูงสุด ศบค.จึงต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา ส่วนสถานการณ์ที่ประเทศเกาหลีใต้ ภายหลังเปิดเรียนเมื่อวันที่ 20 พ.ค. แต่ต้องปิดเรียนทันทีภายในไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากพบว่านักเรียน 2 รายติดเชื้อ ตนไม่มีคำอธิบายอะไร แต่เรียนให้เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้น
“ผลการลงทะเบียนแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com มีร้านค้าลงทะเบียนแล้ว 81,149 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 7,470,609 คน ตรงนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับใช้ในการติดตามและสอบสวนโรค หากสถานที่ใดพบผู้ติดเชื้อขึ้นมา อย่างกรณีพบผู้ป่วยชายไทยอายุ 72 ปี ที่มีประวัติไปร้านตัดผมย่านประชาชื่น มีคนสอบถามเข้ามามากว่าเป็นร้านใด แต่ผมไม่สามารถบอกได้ แต่หากมีการแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com จะทำให้สามารถบอกสถานที่ได้ชัดเจน เพื่อให้ทีมสอบสวนโรคเข้าไปดูแลและซักประวัติได้ ซึ่งขณะนี้ทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่ร้านตัดผมย่านประชาชื่นในหลายๆ ร้านเพื่อเข้าไปสอบสวนโรคแล้ว พร้อมกับให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว จึงอยากให้เชิญชวนให้มาลงทะเบียนกันมากขึ้น”
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน และมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม นายกฯ ได้แจ้งกับที่ประชุมว่า ทั่วโลกได้ชื่นชมประเทศไทยที่มีการป้องกันการแพร่ระบาดและให้ความรู้กับประชาชนจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับต้นๆ ของโลก และนายกฯ ยังได้ถึงกล่าวถึงเรื่องการผลิตวัคซีนว่า ให้ระวังเรื่องการสื่อสารเรื่องการผลิตวัคซีน ที่อาจทำให้เกิดความหวังในประเด็นที่ไม่สอดคล้อง ขณะนี้เราประสบความสำเร็จในการทดลองกับสัตว์ แต่ยังมีการทดลองอีกหลายระดับ ยังใช้เวลาอีกเป็นปี ย้ำว่าไทยเราเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ที่ทำเรื่องวัคซีน 6 เทคโนโลยี ล้วนแล้วแต่เป็นระดับสุดยอดของประเทศไทย และเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนของโลก แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้รายงานถึงผลการตรวจกิจการ/กิจกรรม ตามมาตรการหลัก 5 ข้อ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 3-21 พ.ค. โดยตรวจทั้งสิ้น 353,495 กิจการ/กิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการครบ 304,946 กิจการ/กิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการไม่ครบ 43,415 กิจการ/กิจกรรม ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 5,134 กิจการ/กิจกรรม หรือคิดเป็นเพียง 1.5% ขณะที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เสนอวาระพิจารณาการขยายการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.ยังคงมีความจำเป็นต้องบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะต้องการเอกภาพ ความรวดเร็ว ความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่เพียงพอ ต้องประกอบกับกฎหมายอีกกว่า 40 ฉบับ ซึ่งต้องมาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงจะปฏิบัติการป้องกันโรคได้ นายกฯ เน้นย้ำว่าการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขเป็นจุดหมายหลัก
ต่อ พรก.รองรับผ่อนปรนระยะ 3
2.เป็นการรองรับในระยะต่อไป เพราะประเทศไทยอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการผ่อนปรน ที่จะมีระยะที่ 3 และ 4 จะมีความเสี่ยงสูงกว่าการผ่อนปรนในระยะที่ 1 และ 2 ดังนั้นเมื่อมีความเสี่ยงสูง แต่ตัวกำกับกลับหย่อนลงก็จะลำบาก จะให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่พฤติกรรมเสี่ยงสูงกลับมา จึงไม่สมดุลกัน เราจึงต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องให้มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อกำหนดการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับการผ่อนปรนในระยะต่อไป และ 3.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังไม่สิ้นสุด หลายประเทศยังมีการแพร่ระบาด มีการติดเชื้อสูงอยู่ แม้ไทยจะดำเนินผ่อนปรนครบทั้ง 4 ระยะแล้วก็ยังต้องความพร้อมในการเปิดประเทศ มาตรการทางกฎหมาย แผนบริการจัดการวิกฤติเพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะกลับมาของโรค ถ้าไม่มีกฎหมายควบคุมตัวเลขที่สูงในต่างประเทศจะไหลมาที่ไทยได้ ที่ประชุม ศบค.จึงเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า สำหรับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 มีการกำหนดขั้นตอนไว้ โดยวันที่ 29 พ.ค.จะมีการประชุม ศบค.เพื่อขออนุมัติ และวันที่ 1 มิ.ย. จะมีผลบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ส่วนกิจการ/กิจกรรมที่จะได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 3 มีอะไรบ้างนั้น ยังไม่มีการกล่าวถึง แต่เป็นกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางไปถึงสูงในการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่มารวมกันมากในการผ่อนคลายครั้งนี้ เพราะถ้าหลุดออกจากตรงนี้ต้องไปอยู่ระยะที่ 4 ขณะที่เรื่องการปรับลดเวลาเคอร์ฟิวนั้น ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือกัน แต่ ผบ.ทสส.ระบุว่าหากประชาชนให้ความร่วมมือ ไม่มีการดื่ม ไม่มีการชุมนุมในด้านที่ไม่ดี หรือออกจากเคหสถานโดยไม่จำเป็น เหมือนสถิติที่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น ก็มีโอกาสที่ ศบค.จะลดห้วงเวลาของเคอร์ฟิวลงในการผ่อนคลายในระยะที่ 3 แต่จะเป็นเวลากี่ชั่วโมง เมื่อไร คงต้องรอการประชุม ศบค.ครั้งต่อไป
ตอนท้าย นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หลายคนเป็นห่วงที่ตนมาทำหน้าที่โฆษก ศบค.ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินวันแรก และ ผอ.ศบค.ได้มีการดำริให้หาคนมาช่วย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้เสนอแพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล ที่ปรึกษารองนายกฯ ให้มาเป็นผู้ช่วยโฆษก ศบค. ซึ่งจะมาทำหน้าที่และแบ่งเบาตนในวันเสาร์-อาทิตย์
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ใน ศบค.วันนี้ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องการลดเวลาเคอร์ฟิว แต่ สมช.จะต้องพิจารณาไทม์ไลน์การผ่อนปรนระยะที่สาม ซึ่งนายกฯ ได้มอบให้เลขาฯ สมช. ในฐานะประธานกลั่นกรองไปพิจารณา โดยบอกว่าให้พิจารณาเรื่องท่องเที่ยวชุมชนให้ด้วย ซึ่งรองนายกฯ สมคิดก็สนับสนุน เพราะเรื่องเศรษฐกิจจะได้ฟื้นฟู อยากผ่อนปรนในประเทศให้ได้มากขึ้น และตั้งตุ๊กตาให้เป็นโจทย์ไปพิจารณาเรื่องลดเวลาเคอร์ฟิวลง อาจเป็นเที่ยงคืนถึงตี 4 เพราะเห็นว่าประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และทางการแพทย์ก็มีความคืบหน้า
ที่กระทรวงสาธาณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงสถานที่กักตัวทางเลือกว่า ขณะนี้มีโรงแรมทางเลือกที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 4 แห่ง 303 ห้อง เข้าพักแล้ว 172 ห้อง คงเหลือ 131 ห้อง ส่วนสถานที่กักตัวที่เป็นส่วนของรัฐสนับสนุนงบประมาณมีจำนวน 25 แห่ง 7,532 ห้อง เข้าพักแล้ว 5,425 ห้อง คงเหลือ 2,107 ห้อง ทั้งนี้โรงแรมทางเลือก เมื่อผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ประเภทโรงแรมเข้าพัก โดยเมื่อถึงประเทศไทยทางโรงแรมที่ได้จองไว้ก็จะรับแล้วไปดูแลจนครบ 14 วัน และจะต้องมีระบบรายงานกลับมาทุกครั้ง
สธ.เกาะติด 2 รายติดเชื้อใหม่
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าของผู้ติดเชื้อในชุมชนที่มีประวัติไปร้านตัดผมและห้างสรรพสินค้าว่า ผู้ป่วยชายไทยอายุ 72 ปีที่ได้เข้ารับการรักษาโรคประจำตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วได้ไปร้านตัดผมแถวประชาชื่น เมื่อวันที่ 18 พ.ค. โดยได้มีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งทีมสอบสวนโรคพบว่าบุคคลดังกล่าวมีความระมัดระวังตนเองค่อนข้างดีมากใส่หน้ากากผ้าเป็นประจำ ขณะที่ไปตัดผมไม่มีลูกค้ารายอื่นเข้าไปใช้บริการในเวลาดังกล่าว แต่ว่ามีพนักงานที่ให้บริการอยู่หลายคน ส่วนสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดเชื้อมีอยู่ประมาณ 3 คนที่อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ ซึ่งผลตรวจน่าจะออกภายในวันที่ 23 พ.ค. แต่เบื้องต้นไม่พบว่ามีใครที่มีอาการป่วย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังสงสัยคือได้รับเชื้อจากที่ไหน เบื้องต้นบุคคลดังกล่าวเดินทางไปโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งใดบ้าง และกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้อง
นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยชาวเยอรมัน อายุ 42 ปี มาประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. และไปเยี่ยมบ้านภรรยาที่ต่างจังหวัด ซึ่งกรณีนี้พบว่ามีการสวมใส่หน้ากากเป็นบางครั้ง และไม่มีการแสดงอาการ แต่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์ส่วนตัวกำลังจะไปสมัครงานแห่งหนึ่ง จึงได้มีการไปตรวจร่างกาย และพบว่ามีเชื้อโควิด-19 ทีมสอบสวนโรคจึงได้มีการไปตรวจหาเชื้อ ภรรยาและลูก ไม่พบว่ามีการติดเชื้อ ทีมสอบสวนโรคที่จังหวัดชัยภูมิและกรุงเทพฯ กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้รายชื่อที่ครบถ้วน และจะนำทุกคนที่ยังไม่ได้ตรวจเข้าสู่ระบบของการตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ ส่วนสถานที่ติดเชื้อ เนื่องจากผู้ติดเชื้อเป็นหลายจุด และจังหวัดชัยภูมิก่อนหน้านี้ เคยมีผู้ติดเชื้อตั้งแต่เดือน มี.ค.จนถึงเม.ย.เพียงแค่ 3 ราย ซึ่งโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่อาจจะเป็นไปได้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มีนโยบายปกป้องสุขภาพของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน อาจจะมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ และไม่ต้องการให้มีการระบาดทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ โดยการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ส.ค.63
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการนำแนวทางปฏิบัติในการเดินทางกลับประเทศของแรงงานชาวเมียนมาผ่านช่องทางในพื้นที่จังหวัดชายแดนซึ่งที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้า-ออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) ได้ให้ความเห็นชอบและเสนอ ศบค. ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบและให้ความเห็นชอบในหลักการให้แรงงานเมียนมาเคลื่อนย้ายไปยังจังหวัดชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อเดินทางกลับเมียนมาได้ ศบค.มท.ได้เน้นย้ำให้จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับบริหารจัดการ ทั้งจังหวัดต้นทาง จังหวัดพื้นที่เส้นทางผ่าน และจังหวัดปลายทางซึ่งเป็นที่ตั้งของจุดผ่านแดนถาวร อำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของแรงงานเมียนมา ทั้งการพิจารณาอนุญาตในการเดินทางข้ามเขตจังหวัดของแรงงานผู้มีหนังสือรับรอง การจัดเตรียมสถานที่รองรับและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด
เปรียบ พรก.เสมือนรัฐประหารโควิด
สำหรับความเห็นต่อการต่อ พ..รก.ฉุกเฉิน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเผชิญกับวิกฤติศรัทธารอบด้านจากการบริหารไร้ประสิทธิภาพในแทบทุกมิติ พยายามเอาจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละคน 2 คน บางวันเป็น 0 มาขังประชาชน 67 ล้านคน ปิดโรงเรียน แต่เปิดห้าง เยียวยาล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ ห้ามคนทำมาหากิน ออกมาตรการใดมาประชาชนก็เกิดคำถามและไม่เชื่อมั่น หวาดระแวงกลัวรัฐบาลล้วงข้อมูลส่วนตัว กระทบต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หรืออาจนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน รัฐบาลมีแต่ได้กับได้ แต่ความเสียหายเกิดกับประชาชน สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือยุติสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด เพื่อให้บรรยากาศกลับคืนสู่สภาวะปกติ ฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน
นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลทำเพื่อต่ออายุการบริหารประเทศ จัดระเบียบอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่มการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งโอกาสการได้บริหารเงินกู้ พ.ร.ก. 3 ฉบับ 1.9 ล้านล้านบาท ที่หลายฝ่ายยังมีข้อห่วงใยในการใช้เงิน และการป้องกันการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจากการบริหารงานผิดพลาดในมิติต่างๆ ของนักศึกษาและประชาชนไม่ได้กระทำเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพราะขณะนี้ปัญหาการแพร่ระบาดมีน้อยมาก การคงบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่กว้างขวางไม่สมเหตุสมผล และไม่ได้สัดส่วนกันกับสถานการณ์ของโรค และอาจใช้อำนาจเกินขอบเขต รัฐบาลจะกอดเชื้อโรคบริหารประเทศ และกล่อมประชาชนให้กลัวเพื่อประโยชน์บางอย่าง แต่ปล่อยให้เศรษฐกิจพินาศย่อยยับไม่ได้
นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำคณะก้าวหน้า เผยแพร่คลิปวิดีโอชื่อ "พอได้แล้วหรือยัง? สถานการณ์ฉุกเฉิน" โดยเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน และส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้อง ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นการละเมิดเสรีภาพในการใช้ชีวิต ในการคิด การเขียน และการแสดงออกของประชาชนทุกคนด้วย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสมือนเป็น “รัฐประหารโควิด” รวบอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง จนสามารถใช้กฎหมายปกติได้ การคงสถานการณ์ฉุกเฉินไว้จึงไม่มีความจำเป็น ประชาชนมีสิทธิที่จะตั้งคำถามดังๆ กลับไปว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำเป็นต่อการจัดการโรคระบาด หรือจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือป้องกันการชุมนุมต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์กันแน่ ประชาชนต้องไม่ยอมให้รัฐบาลทำเรื่องผิดปกติให้เป็นปกติ ร่วมมือกันรณรงค์ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงว่า ข้ออ้างในการต่ออายุ พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อโคโรนา 2019 ได้ทุเลาลงไปมากแล้ว จนกลายเป็นการติดเชื้อโดยปกติเหมือนโรคติดเชื้ออื่นๆ ทั่วไปแล้ว เพราะหากจะให้ตัวเลขการติดเชื้อเท่ากับศูนย์อย่างต่อเนื่อง สังคมไทยก็คงต้องรอไปจนถึงชาติหน้าเท่านั้น การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไป จะกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งคนที่เสนอและออกคำสั่ง มิได้มีผลกระทบใดๆ เลย ยังคงได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน และเบี้ยประชุมกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ยิ่งมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยิ่งมีการจัดประชุมรับเบี้ยประชุม มีการตั้งด่านตรวจเคอร์ฟิวรับเบี้ยเลี้ยงกันทั่วทุกจังหวัดทั่วประเทศอย่างไม่ละอาย แต่กลับอ้างว่าเสียสละ กลายเป็นแหล่งบ่อเงินบ่อทองให้กับหน่วยงานบางหน่วยไปโดยปริยาย
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้จะมีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลง แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังมีอยู่ ยังประมาทไม่ได้เด็ดขาด ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจโดยแท้จริง จึงจำเป็นต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน เราต้องเลือกชีวิตความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง นายกฯ ได้ประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เชื่อว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ นายกฯ จะพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในที่สุด ขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ และเข้าใจว่าทุกอย่างรัฐบาลได้มีการพิจารณาโดยรอบด้าน นายกฯ ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น นอกจากควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมทั้งยังได้ดำเนินการไปพร้อมๆ กับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นขอให้นักการเมืองหรือคนที่จะออกมาคัดค้านการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้เข้าใจตรงนี้ด้วย อย่าเอามาตีเป็นประเด็นเกี่ยวข้องทางการเมือง วันนี้การเมืองเก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน เอาประเทศชาติและชีวิตประชาชนเป็นตัวตั้ง ทุกฝ่ายทุกคนก็ต้องช่วยกันร่วมมือให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จร่วมกัน เพื่อความมั่นคงเติบโตทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้าอันใกล้นี้ให้ได้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านวิจารณ์วิพากษ์วิจารณ์การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ทำให้กระทบเศรษฐกิจว่า ก็รู้อยู่แล้ว ซึ่งการที่รัฐบาลยืดการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |