หลังจากที่รัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้มีมาตรการผ่อนปรนกิจการและคลายล็อกระยะที่ 2 เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิติ้มอลล์ สถานที่ออกกำลังกาย โรงยิม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม รวมทั้งการผ่อนคลายการประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว จากเดิมเวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 23.00-04.00 น.
เศรษฐกิจโครงสร้างพื้นฐานเริ่มกลับมาขยับได้ เจ้าของธุรกิจประเภทต่างๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนซึ่งเดินทางกลับต่างจังหวัดเริ่มทยอยเข้ากรุงเทพฯ ปัดฝุ่นดำเนินกิจการต่อ อัตราการจ้างงานเริ่มกระเตื้อง ถึงแม้เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบมูลค่ามหาศาลจากไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดมากว่า 3 เดือน และยังไม่รู้ว่าจะหมดไปเมื่อไหร่ การใช้ชีวิตต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ ที่แน่ๆ การ์ดต้องอย่าตกเป็นอันขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสกลับมาระบาดอีก
การผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้คนจะมารวมกลุ่มกันมากที่สุด วันแรกของการเปิดห้างแต่ละห้างได้มีประชาชนจำนวนมากมาต่อคิวรอเพื่อเข้าไปใช้บริการการอย่างคับคั่ง ซึ่งก่อนที่จะมีการเปิดห้างได้มีการมาตรการรองรับ โดยลูกค้าที่เข้าห้างสรรพสินค้าจะต้องสวมหน้ากากอนามัย, ต้องมีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ, เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร, มีจุดบริการแอลกอฮอล์, ทำความสะอาดสินค้าทุกชิ้นที่ถูกลอง, สแกนคิวอาร์โค้ดเก็บข้อมูลการเข้า-ออกของลูกค้า, คัดกรองความเสี่ยงพนักงาน สวมหน้ากากทุกคนก่อนให้บริการ, จำกัดคนเข้าใช้บริการแต่ละแผนก, ทำความสะอาดจุดเสี่ยง ประตู ราวบันได ลิฟต์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัส
ส่วนการขนส่งรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งเป็นจุดที่น่ากังวล เพราะเวลาเร่งด่วนมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ได้ปรับเวลาการเดินรถจากเดิมปิดเวลา 21.30 น. เป็นปิดให้บริการเวลา 22.00 น. ทางผู้ให้บริการได้เพิ่มความถี่การฉีดพ่นฆ่าเชื้อทำความสะอาดภายในขบวนรถไฟ และจุดสัมผัสภายในสถานีและบริเวณรอบนอก ควบคู่กับการคัดกรอง วัดอุณหภูมิ รักษาระยะห่าง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ทั้งเข้าและออกสถานี
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดีเยี่ยม ตัวเลขอยู่ที่หลักหน่วย หรือบางวันยอดเป็นศูนย์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ได้เสนอขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ซึ่งทาง ศบค.ได้เห็นชอบขยายไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. แต่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ยุติและยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นับตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว ถ้ามีการขยายเวลาอีกต่อไปจะทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่
ซึ่งทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ได้มีการผ่อนปรนระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ย้ำยังไม่สามารถยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ ถึงแม้รายงานการติดเชื้อแต่ละวันยังผันผวน บางวันไม่มีผู้ติดเชื้อ ยังต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “ต้องรักษาชีวิตประชาชนก่อน” ยันยันไม่ได้ประวิงเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือรักษาอำนาจของฝ่ายรัฐบาล ถึงแม้จะมีการผ่อนปรนระยะ 2 ยังต้องคำนึงถึงมาตรฐานด้านสาธารณสุข การ์ดอย่าตก
ถึงแม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการระยะ 2 แต่มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขานรับนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส. และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ผอ.ศปม.) ซึ่งพบว่าในห้วงที่ผ่านมายังมีผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศข้อกำหนด อันมีความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทั้งออกนอกเคหสถาน มั่วสุม สังสรรค์ เสพยาเสพติด สถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด มั่วสุมในเคหสถาน และพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการกลับมาแพร่ระบาด
“บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลและกำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ ตามที่ ศบค.ได้มีมาตรการผ่อนปรนให้กิจการบางประเภทเปิดทำการเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งขนาดใหญ่และร้านอาหาร ที่เปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. โดยให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชน
“ผบ.ตร.” ยังคงมีการจัดชุดสายตรวจร่วมปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ปกครอง และสาธารณสุข ขับเคลื่อนกลไกการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนด เพิ่มความถี่การออกตรวจตรา กดดันและบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชน ไม่ให้สถานการณ์แพร่ระบาดกลับมาอีกครั้งเหมือนกับหลายประเทศที่กำลังประสบอยู่ พร้อมทั้งป้องกันอาชญากรรมที่ฉกฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน
การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ที่เริ่มตั้งจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ทั่วประเทศเกือบ 400 จุด และก่อน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งจุดตรวจจุดสกัดทั่วประเทศเกือบ 1,000 แห่งทั่วประเทศ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายมีการผ่อนปรน ลดจุดตรวจ แต่ยังมีไว้ทั่วประเทศ ปรับการทำงานเชิงรุก จัดชุดตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ออกตรวจสถานที่สุ่มเสี่ยงการแพร่ระบาด สร้างความรู้ความเข้าใจ แนวทางการปฏิบัติ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อบางวันเป็นศูนย์ ในการผ่อนปรนมาตรการระยะ 2 แต่ “ผบ.ตร.” ยังกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพื่อช่วยกันป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และพร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |