เริ่มวางแผนฟื้นฟู ไม่ต้องรอโควิดหาย


เพิ่มเพื่อน    

    เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จะเป็นเช่นไร เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องเริ่มวางแผนและเตรียมปฏิบัติการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
    ผมกำลังรวบรวมข้อมูลและวิธีคิดของแวดวงทั่วโลกเพื่อนำมาประกอบการถกแถลงในบ้านเราเพื่อระดมความคิดหาทางออกจากวิกฤตินี้อย่างชาญฉลาดและรู้เท่าทัน
    หัวใจของการสร้างพลังเพื่อฟื้นออกจากอาการป่วยหนักนี้คือความสามารถในการปรับตัวด้วยความปราดเปรียวและคล่องแคล่วที่เรียกว่า Agility
    นั่นหมายความว่าเราจะต้องไม่ติดอยู่กับรูปแบบใดแบบหนึ่งที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่เคยเป็นสูตรแห่งความสำเร็จอาจจะไม่ตอบโจทย์อนาคตอันใกล้นี้อีกต่อไป
    หนึ่งในข้อเสนอที่ผมอ่านพบคือแนวคิดแบบ Economics in the Age of Covid-19 หรือเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ซึ่งต้องผสมผสานระหว่างเศรษฐศาสตร์กับระบาดวิทยา
    บางคนเรียกมันว่า Pandemic Economics
    นั่นหมายถึงการคิดในกรอบใหม่ที่จะต้องเอาความสำคัญของสุขภาพมาพิจารณาร่วมกับเศรษฐศาสตร์และสังคม
    คำนิยามคำว่า “ความมั่นคง” ก็จะเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะจะมีมิติของสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
    Joshua Gans ศาสตราจารย์ด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต และหัวหน้าเศรษฐศาสตร์ของ Creative Destruction Lab ของแคนาดา ไม่รอให้โควิดจบก่อนแล้วจึงนำเสนอความคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่ผูกโยงกับโรคระบาด
    หนังสือเล่มน้อยของแกตีพิมพ์โดย MIT Press โดยที่ผู้พิมพ์และผู้เขียนกล่าวในคำนำว่า
    “งานชิ้นนี้มีเป้าหมายของการถอยออกจากความโกลาหลระยะสั้นเพื่อมองให้เป็นระบบอย่างชัดเจนว่าการตัดสินใจทางเศรษฐกิจจะไปทางไหนเพื่อตอบสนองต่อโควิด-19”
    นั่นแปลว่ารัฐบาลทุกประเทศและนักคิดนักปฏิบัติทุกวงการจะต้องไม่มัวสาละวนอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หากแต่จะต้องถอยห่างออกมาเพื่อเห็นภาพใหญ่เพื่อเขียนพิมพ์เขียวสำหรับการแก้วิกฤติอย่างเป็นระบบ
    นักเศรษฐศาสตร์คนนี้ย้ำว่า ระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจต้องเลือกสาธารณสุขก่อน ไม่ใช่เพราะสุขภาพสำคัญต่อชีวิตผู้คนอย่างเดียว แต่การให้ความสำคัญต่อสุขภาพก่อนย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย
    เพราะหากคนป่วยมากตายมากย่อมไม่อาจจะฟื้นเศรษฐกิจได้อยู่ดี
    บทเรียนจาก Spanish Flu เมื่อปี 1918 ที่มีคนตายกว่า 10 ล้านคนนั้นมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเวลาต่อมาอย่างมาก
    เหตุผลง่ายๆ คือเมื่อคนตายและป่วยเป็นจำนวนมากก็ขาด “ทุนมนุษย์” นั่นคือแรงงานหายและคนที่เสี่ยงกับการติดเชื้อไวรัสนั้นย่อมไม่มีเรี่ยวแรงหรือกำลังสมองที่จะสร้างเศรษฐกิจให้กลับมาสภาพเดิมแต่อย่างใด
    พูดอีกนัยหนึ่ง หากเลือกสุขภาพก่อนก็อาจจะกลับมาเลือกเศรษฐกิจได้อีก
    แต่ถ้าเลือกเศรษฐกิจก่อน แต่สูญเสียสุขภาพ และสาธารณสุขเสื่อมทรุดไปทั้งระบบก็ย่อมไม่มีโอกาสกลับมาเลือกเศรษฐกิจใหม่อย่างแน่นอน
    สิ่งที่ไทยเราทำมาถึงวันนี้ คือพยายามให้มีดุลอันเหมาะสมระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการแพทย์เป็นหลัก และพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างจริงจังจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
    แต่ต้องดำเนินต่อไปอย่างชาญฉลาดและต่อเนื่อง สร้างภูมิคุ้มกันทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจกับสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสม
    ศาสตราจารย์แคนาเดียนท่านนี้เสนอโมเดล “เศรษฐกิจโรคระบาด” ไว้อย่างน่าสนใจ
    แกแบ่ง “เศรษฐกิจโรคระบาด” หรือ Pandemic economy เป็น 4 ระยะ
    ระยะควบคุมโรค หรือ containment
    ระยะเริ่มใหม่ reset
    ระยะฟื้นฟู recovery
    และระยะยกระดับ enhance
    ในระยะควบคุมโรคแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือระบุให้ชัดถึงภาวะระบาด
    ขั้นที่สองคือการ “ซื้อเวลาเพื่อสำรองทรัพยากร” 
    ระยะสามคือ การประคับประคองความเสียหายทางเศรษฐกิจ
    นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญต่อการแพทย์ก่อน และประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเกินกว่าที่จะรับได้
    พอ “เอาอยู่” หรือ contain ได้แล้วก็เข้าโหมด reset หรือตั้งหลักใหม่เพื่อเข้าสู่การ ฟื้นฟู หรือ recovery และเสริมพลังอย่างต่อเนื่อง หรือ enhance
    บางสูตรใช้ 3 R เป็นหลักในการก้าวออกจากวิกฤติสู่การกลับมาเข้มแข็งใหม่
    นั่นคือ Relief คือเยียวยา
    ตามมาด้วย Recovery คือการฟื้นฟูอย่างเข้มแข็ง
    และ Reform หรือการปฏิรูป
    ข้อสุดท้ายนี้สำคัญมาก เพราะแม้จะฟื้นแล้ว แต่ถ้ายังกลับไปทำงานในกรอบเดิม ไม่รื้อสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างชาติสร้างสังคมใหม่ ก็อาจจะหวนกลับไปสู่วิกฤติอีกครั้งได้
    เพราะวิกฤติครั้งต่อไปอาจจะรออยู่ตรงหัวเลี้ยวข้างหน้า...และมันอาจจะไม่ใช่โรคระบาดก็ได้
    เพราะวิกฤติในยุคความปั่นป่วนนั้นมาได้ในทุกรูปแบบจริงๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"