ถ้าเลือกตั้งวันนี้ เราชนะเยอะ


เพิ่มเพื่อน    

 ถ้าเลือกตั้งวันนี้ เราอาจชนะอนาคตใหม่ ไม่ใช่พรรคทางเลือก

 

   ในบรรดากลุ่มบุคคลที่ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ พรรคที่ถูกจับตามองและพูดถึงมากที่สุดตั้งแต่ยังไม่เปิดตัวจนมาถึงตอนนี้ ที่กำลังรอให้ กกต.เห็นชอบการจัดตั้งพรรค ก็คือ พรรคอนาคตใหม่ ที่มี 2 คีย์แมนสำคัญในการตั้งพรรคคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์

    สนทนากับอีกหนึ่งผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นผู้อาวุโสสูงสุดของคณะผู้ก่อตั้งพรรค 26 รายชื่อ แต่เป็นชื่อที่ผู้ติดตามด้านข่าวสารการเมือง-กฎหมาย รู้จักกันเป็นอย่างดีกับบทบาทที่ผ่านมาในการแสดงความเห็นและเคลื่อนไหวเรื่องการเมือง-กฎหมาย-การกระจายอำนาจมาหลายปี นั่นก็คือ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์-อดีตประธานองค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

      ชำนาญ ที่เติบโตมาจากอดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ก่อนโอนย้ายไปศาลปกครอง แล้วก็มาเป็นนักวิชาการ ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน บอกว่า ตัดสินใจเข้าสู่ถนนการเมืองหลังได้รับการติดต่อทาบทามทางโทรศัพท์จากธนาธร โดยมีการพูดคุยกัน 3 ครั้ง ถึงเรื่องแนวทางการจัดตั้งพรรคและการทำการเมือง จนตัดสินใจตอบรับร่วมเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ พร้อมกับย้ำว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ จะมีการทำพรรคแบบยั่งยืน จะไม่ใช่พรรคของธนาธร หรือพรรคของกลุ่มทุนใดๆ แต่จะใช้รูปแบบการเมืองใหม่ๆ เข้ามาทำการเมือง เช่น การระดมทุนจากประชาชนผู้สนับสนุนพรรค หรือ Crowdfunding และจะเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญกับสมาชิก และโหวตเตอร์ทุกเสียง จะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งมา Dominate หรือมีอิทธิพล-ครอบงำพรรคแบบที่การเมืองแบบยุคเก่าเคยเป็นมา

          ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เล่าถึงการเตรียมพร้อมของพรรคอนาคตใหม่หลังจากนี้ ก่อนที่ คสช.จะมีการปลดล็อกพรรคการเมืองและเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งว่า หลังผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ไปยื่นเรื่องจดแจ้งจัดตั้งพรรคกับ กกต.เมื่อ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ผู้ริ่เริ่มตั้งพรรคอนาคตใหม่ได้มีการเตรียมพร้อมแล้วหากว่าทาง กกต.รับรองการจัดตั้ง พรรคอนาคตใหม่ก็จะมีการประชุมพรรค เพื่อทำกิจกรรม เช่น การเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค, การกำหนดนโยบายพรรค

...พรรคจะให้สมาชิกพรรคมีความสำคัญมากที่สุด เพราะอย่างชื่อพรรค ก็ยังใช้การระดมความเห็นจากคนทั่วไป จนได้ข้อสรุปเป็นชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ขณะนี้ทุกอย่างมีแพลนไว้หมดแล้ว สำหรับเรื่องสมาชิกพรรค 500 คน ที่ต้องหาให้ได้ภายใน 180 วัน ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีคนสนใจจะสมัครกันเยอะ คนไทยในต่างประเทศก็มี

ชำนาญ ย้ำว่า นโยบายของพรรคอนาคตใหม่ที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ก็คือ 1.ไม่เอารัฐประหาร 2.เน้นเรื่องการกระจายอำนาจ 3.ลดขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจให้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น เพราะปัจจุบันขั้นตอนมาก ทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ ผู้ประกอบการรายย่อยเติบโตยาก แต่พวกบริษัทใหญ่ๆ กลับได้รับสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มันก็ไม่แฟร์

เมื่อขอความชัดเจนว่า หากมีอดีต ส.ส.สนใจติดต่อขอมาร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ ชำนาญ ตอบชัดเจนว่า ก็เข้ามา เราก็มีกรรมการคัดเลือก กรรมการกลั่นกรอง ดูทัศนคติ ดูพฤติกรรมอะไรต่างๆ ก็เปิดหมด หลายคนอาจไปเข้าใจว่าเรามุ่งแต่คนรุ่นใหม่อย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่ รุ่นใหม่ หมายถึงคนที่มาดำเนินการ คนที่มาจัดตั้ง อย่างผมถือว่าคนรุ่นใหม่ เพราะมีแนวความคิดแบบใหม่ ทุกโหวตเตอร์มีความสำคัญ ทุกคนทุกกลุ่ม เราส่งลงทุกเขต

เราเป็นพรรค MAINSTREAM 

เมื่อถามถึงยุทธศาสตร์พรรคอนาคตใหม่ จะเน้นแต่คนรุ่นใหม่เป็นหลัก ชำนาญ ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ คืออย่าลืมว่า คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมา 8 ปีแล้ว คนที่อายุ 18 ปี เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมาเลย กลุ่มนี้เขาอยากใช้สิทธิ์

ผมก็เชื่อว่าพรรคเก่า 2 พรรค ที่เป็น 2 พรรคใหญ่ คะแนนไม่ได้เพิ่มขึ้น มีแต่จะลดลง แล้วผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่บอกเขาจะได้ลดลง ก็อย่างเช่น บางพรรคมีการเสนอ พ.ร.บ.เหมาเข่ง หรือบางพรรคสนับสนุน กปปส. คนก็เบื่อ 2 ฝั่ง ก็จะมีทางเลือกของเขา แล้วจะบอกเลยว่า พรรคเราไม่ใช่พรรคทางเลือก แต่เป็นพรรคเมนสตรีมเลย แล้วก็ไม่ใช่ว่าลงเลือกตั้งครั้งนี้หากแพ้ แล้วพรรคจะหายไป ไม่ใช่ ได้เท่าไหร่ก็ไม่ถอย แล้วก็จะไปเตรียมการพัฒนาพรรคในชั้นต่อไป ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจแน่นอน พรรคจะได้กี่คนก็ช่าง แต่จะทำต่อไปเรื่อยๆ

ถามต่อไปว่า ฟังจากที่บอกเหมือนกับผู้ก่อตั้งพรรคมีการคุยกันมานานแล้วเรื่องจะตั้งพรรค แต่ว่าก็มีข่าวการเตรียมการจนมาเปิดตัวใช้เวลาไม่ถึงเดือน ชำนาญ เปิดเผยว่า คือจริงๆ เราคิดว่าตอนแรกจะไปรอขับเคลื่อนตอนช่วงให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ดูแล้วจังหวะความแน่นอนมันไม่มี และการขับเคลื่อนไปตามวัตถุประสงค์หรือแนวนโยบายที่แต่ละคนตั้งเอาไว้ มันต้องเข้าสู่วิถีทางในระบบรัฐสภา อีกทั้งก็เห็นแล้วในต่างประเทศ ในการเลือกตั้งอย่างเช่น บารัค โอบามา ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย การใช้ Crowdfunding ก็ประสบความสำเร็จ หรือ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็เช่นเดียวกัน

ที่ผมถามเขา ตอนที่เขาทาบทามผมให้มาร่วมตั้งพรรค โอเค คุณธนาธรอาจจะรวย แต่หากจะเอาเงินของธนาธรเป็นหลัก เป็นใหญ่ ผมก็ไม่มา ผมจะมาทำไม เพราะจะต่างจากพรรคไทยรักไทยในอดีตอย่างไร อย่างอาคารที่ทำการพรรค ก็จะไม่ผูกพันกับบริษัทไทยซัมมิทแน่นอน แต่แน่นอน เขาอาจบริจาคเยอะ แต่ไม่ใช่รายใหญ่แน่ ไม่ใช่จนเกิน จนครอบงำ ไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่มา ก็เสีย เราก็สอนหนังสือมาตั้งเยอะแยะ

-กลุ่มเป้าหมายที่พรรคต้องการคะแนนเสียง?

ก็มีแคมเปญ มี strategy แต่เราก็ยังไม่ได้วางขนาดนั้น แต่ว่าแต่ละคนก็คิดไว้ เราก็เจาะ เพราะอย่าลืมว่า ระบบการเลือกตั้งที่ให้นับทุกคะแนนเสียง หากคนที่ได้ที่ 2 ในเขตเลือกตั้ง ถ้าห่างจากผู้ชนะไม่เท่าใด ก็ไปบวกๆ สมมุติเฉยๆ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไงก็ต้องได้บ้าง ถ้าสมมุติ ส.ส.เขต เกิดว่าไม่ได้เลย จากที่มี 350 เขต ถ้าได้เขตละ 2,000-3,000 คะแนน คำนวณแล้วก็ได้ 20-30 เสียงขึ้นไป แต่ก็เชื่อว่าจะได้มากกว่านั้น เพราะคะแนนอันดับ 2 อันดับ 3 จะไม่ตกน้ำแล้ว จากเดิม ระบบ winner take all เขตไหน สู้ไม่ได้ก็ถอยเลย แต่คราวนี้เราก็ไม่บาย ก็เก็บคะแนน

ถามแย้งไปว่า แต่หลายพรรคโดยเฉพาะพวกพรรคขนาดกลาง อย่างพรรคภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา ก็คิดแบบนี้เช่นกัน ชำนาญ แจงว่า กลยุทธ์ในการหาเสียงก็จะเปลี่ยนไป อย่างในสหรัฐอเมริกา หากรัฐไหนแพ้แน่ๆ เขาก็ไม่เอา ไม่สู้ บางรัฐเช่น แคลิฟอร์เนีย ฮาวาย พรรครีพับลิกัน แทบไม่เข้าไปเลย แต่ระบบเลือกตั้งที่จะใช้ เราต้องเข้าไปหมด แต่พวกพรรคขนาดกลางที่บอก ที่เขาก็คิดแบบเดียวกัน แต่ต้องถามว่าแล้วเขาสู้ได้ไหม เพราะมีตั้ง 350 เขต ต้องมีกำลังคน แล้วคนที่จะส่งลงสมัคร ไม่ใช่ว่าเอาใครก็ได้ส่งไป ต้องมีภาพที่เป็นตัวแทนเป็นแบรนด์ของพรรคด้วย ผมถึงไม่ห่วง ผมเชื่อว่าการทำ Crowdfunding โดยช่องทางสมัยใหม่ ผมว่าเยอะ พอคุ้มค่าใช้จ่าย

-ตั้งเป้าไว้ที่เท่าใด?

ยังไม่ได้ตั้งเป้า แต่ด้วยศักยภาพที่พวกเราพบเจอกัน 200-300 ล้านบาท ไม่น่าจะเกินกว่าความคาดหวัง คือตั้งได้ประมาณนั้น คนมีตั้งเยอะแยะ คนที่ยินดีที่จะมาบริจาค คิดว่าทำได้ ก็มีช่องทาง เช่น Crowdfunding อะไรต่างๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วก็ไม่มีใครเป็น Dominate พรรค

ชำนาญ กล่าวตอบ หลังถามว่า แม้หลังเปิดตัวพรรค กระแสตอบรับค่อนข้างดี แต่ก็มีการมองกันว่ายังเป็นแค่ในโลกโซเชียล แต่ประชาชนกลุ่มอื่นๆ เช่น คนชนบท หรือคนที่ไม่ได้เข้าถึงโซเชียลมีเดีย จะเข้าไปหาอย่างไร โดยมองว่าปัจจุบัน คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือ ตัวเลขที่ใช้เกือบจะเท่ากับจำนวนประชากรแล้ว แล้วก็ยังมีสื่อหลักอีก ก็ต้องได้ข่าวกันบ้าง เพียงแต่เราต้องเสนอวิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพราะอย่างไปดีเบต บอกว่าจะทำอะไรต่างๆ ก็จะมีคำถามต่อมาว่าแล้วจะทำอย่างไร เราก็ต้องตอบเขาให้ได้ ซึ่งเรามีอยู่แล้ว มีเตรียมไว้ แต่ตอนนี้ยังพูดไม่ได้ เพราะยังไม่ใช่นโยบายพรรค

-มีการมองกันว่า พรรคอนาคตใหม่จะเป็นพันธมิตรการเมืองกับพรรคเพื่อไทย?

เราลงสนามแข่งขัน เราสู้เต็มที่กับทุกพรรค แต่ถ้าเมื่อตัวเลขมันออกมาแล้ว และเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาล หรือพรรคไหนจะตั้งรัฐบาล ถ้าเป็นไปตามนโยบายของเรา เช่น หนึ่ง ไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก สอง กฎหมายฉบับใดที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ หรือมีนโยบายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ถ้าเห็นตรงกันเราก็ไปได้ แต่ถ้าไม่ เราก็ยินดีเป็นพรรคฝ่ายค้าน

เราก็ไม่เคยคิดว่าเราจะตั้งรัฐบาลหรือชนะในการเลือกตั้งครั้งแรก ถ้าไม่ชนะก็ดำเนินการต่อไป แต่อาจชนะเลยครั้งแรกก็ได้ ใครจะรู้ เพราะคนอาจจะเบื่อมาก เหมือนเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส หรือโดนัลด์ ทรัมป์ เราก็หวังอยางนั้น แต่โอเค เวลามันสั้น แต่สั้นก็สั้นเท่ากัน คนอื่นก็สั้น

ถามย้ำว่า มั่นใจเลยหรือ ชำนาญ ระบุว่า ถ้าเลือกวันนี้ เลือกตั้งปัจจุบันในวันที่สัมภาษณ์ ชนะเยอะ แต่อีก 1 ปี เราไม่รู้ วิชามารมันมี พรรคใหญ่เขายังไม่ได้แสดงฤทธิ์เดชอะไร

-ทำไมมั่นใจขนาดนั้น?

ก็โพลทุกโพลออกมานำโด่ง ไม่ใช่ตัวนายกรัฐมนตรีนะ หมายถึงตัวพรรค ล่าสุดก็ทวิสเตอร์โพล ที่ถามว่า เลือกตั้งวันนี้ จะเลือกพรรคไหน

-อาจเป็นแค่เรื่องกระแส ที่อาจไม่ใช่เรื่องจริง?

มันก็เป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ก็เหมือนการทำโพล โซเชียลมีเดีย ก็คือโพลอันหนึ่ง คือพูดง่ายๆ มันดีเกินคาด เราก็ไม่คิดว่าการตอบรับจะดีขนาดนั้น เพราะคนต้องการคนกล้าตัดสินใจ เมื่อโอกาสดีขนาดนี้ ก็ต้องเดินหน้าให้เต็มที่ ถ้าหากไม่มีอะไรเลย คนเฉยๆ ไม่ออกมาด่า แบบนั้นสิถึงแปลก แต่นี่เขากลัวแพ้ ถึงออกมาด่า

ถามเสริมไปว่า เพราะคนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ชำนาญ กล่าวตอบว่า แน่นอน คนก็เบื่อวงจรเน่าๆ การเมืองแบบเก่าๆ สาดโคลนกันไปมา ซื้อเสียงขายเสียง ทุ่มทุน ใครเป็นนายทุนก็เป็นเจ้าของพรรค อันนี้ผมชัดเจน ผมถามเลยถึงวิธีการได้เงิน ได้ทุนมา

พรรคนี้คือพรรค Mass ไม่ใช่พรรคของคุณธนาธร คือโอเคว่าคาแรกเตอร์ เขาคือผู้นำ แต่ว่าเงินทุนส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากธนาธรแน่นอน อันนี้แน่นอน ผมยืนยัน เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ผมก็ไม่เข้ามา เพราะมันจะต่างจากเพื่อไทยตรงไหน ต่างจากพรรคชาติไทยของคุณบรรหาร ศิลปอาชา ตรงไหน มันก็ไม่ใช่การเมืองใหม่แล้วสิแบบนั้น

            -หมายถึงไม่เชื่อ ไม่เอาแล้วการเมืองระบบเดิม ที่จะต้องมีหัวคะแนน พวกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีนักการเมืองท้องถิ่นคอยสนับสนุน?

ถ้าเรามี โอเค มันอาจจำเป็น แต่ไม่ใช่แบบหัวคะแนนที่เอาเงินจ่ายไป แล้วแลกกับเสียง เราไม่ทำ โอเค หัวคะแนน กองเชียร์มันมีอยู่แล้ว แต่ถึงขนาดว่าเงินไปให้เพื่อเป็นทุน แล้วได้ไปเท่านี้ ต้องได้เสียงเท่านี้ แบบนี้ไม่ใช่วิถีทาง แต่สาขาพรรคเรามีทั้งระดับภาค ระดับจังหวัด ก็จะมีทั้งเหนือ ตอนบน ตอนล่าง ภาคใต้ ก็ใต้ตอนบน ตอนล่าง ไว้คอยติดต่อ คอยรณรงค์ คอยเชื่อมกับสมาชิกพรรค คนที่สนใจ

-ถ้ามีคนถามว่าทำไมต้องลงคะแนนเสียงให้พรรคอนาคตใหม่ แตกต่างจากพรรคอื่นอย่างไร?

เป็นการเมืองในรูปแบบใหม่ ที่เสนอและเปลี่ยนการเมืองน้ำเน่าแบบเดิม ที่สาดโคลนใส่กัน แต่เล่นการเมืองแบบสร้างสรรค์ แพ้ก็ไม่เป็นไร ไม่ว่ากัน ไม่ใช่ว่าจะเอาชนะกันทุกวิถีทาง ทั้งวิธีการบนดิน-ใต้ดิน พวกนี้มันหมดสมัยแล้ว

..ผมมีความเชื่อว่าอาชีพนักการเมืองก็เหมือนทุกอาชีพ มีขาวมีดำ จะครูบาอาจารย์ นักสื่อมวลชน ก็มีทั้งขาวและดำ เพียงแต่ว่านักการเมืองเป็นเป้าใน public ก็เลยเห็นชัด แล้วเรื่องคอร์รัปชัน คนที่พูดว่าตัวเองเป็นคนดี ไม่คอร์รัปชัน มันต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ถ้ามีโอกาสเขาจะทำไหม อย่างนักวิชาการ หรือใครก็แล้วแต่ หากให้เงินผ่านมือเขาสัก 100-200 ล้านบาท เขายังเป็นคนดีอยู่ไหม แบบนี้ต้องพิสูจน์ ก็เหมือนนักวิชาการก็พูดได้ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอตัวเองมีอำนาจ มีเงินผ่านมือ อาจเปลี่ยนไปก็ได้ นั่นคือดีจริงหรือไม่จริง ต้องพิสูจน์กันอย่างนั้น อย่างธนาธร ดีเสียอีกที่มีคนแบบนี้ลงมา ดีกว่าปล่อยให้พวกที่เห็นๆ กันอยู่ มาทำผูกขาดตลอด ก็ทำให้เกิดการเบื่อหน่าย จนเป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร

...เมื่อมีคนกล้าเสนอแบบนี้แล้วไม่มีผูกขาดว่าพรรคเป็นของตัวเอง มันจะไม่ดีหรือ ถ้าพูดถึง แต่มันก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ ซึ่งถ้ามันเบี่ยงเบนจากนี้ไป คนที่จะถอยออกก็มี อย่างผมอยู่ หากมันไม่ใช่ ผมก็ถอย ถ้ามันไม่ใช่ตามนั้น ต้องดูว่าเขามีอำนาจหรือไม่ หากมีอำนาจแล้วมันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาไหม ก็ต้องใช้เวลา ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์

ชำนาญ-ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ วิเคราะห์ว่า การที่ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองช้า ทำให้ทุกพรรคการเมืองอยู่ในภาวะเสียเปรียบหมดทุกพรรค คือผมเข้าใจว่าเขาพยายามจะสกัดพรรคเก่า แต่ปรากฏว่ามันโดนกันไปหมด ทั้งพรรคที่ คสช.เขาสนับสนุน มุ่งหวังที่จะมาเป็น supporter ก็มาโดนหมด เขาถึงยื้อ เลยไปแก้ไขให้ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ใช้หลังประกาศไปแล้ว 90 วัน แต่ยิ่งยื้อนาน ก็ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น เพราะอย่างไรก็ต้องเลือกตั้ง

ความเห็นส่วนตัวผม มองว่าเผลอๆ การเลือกตั้งอาจเร็วขึ้นด้วยซ้ำ เพราะยิ่งอยู่นาน พรรคใหม่ยิ่งมีโอกาส อย่างพรรคอนาคตใหม่ยิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจบอกว่า เอ้ย จะโตมากกว่านี้ ก็จะให้รีบเลือกตั้งเสียเลย เพราะมันไม่จำเป็นต้องเป็น ก.พ.2562 ร่นขึ้นมาเป็นช่วง พ.ย.ปีนี้ยังได้เลย

อ่านเกมสืบทอดอำนาจ คสช.

ชำนาญ-นักวิชาอิสระด้านรัฐศาสตร์ ยังมองความเป็นไปได้ในการเกิดพรรคทหารเพื่อรองรับกลุ่ม คสช.ต่อจากนี้ว่า เขาจะแตกต่างจากสมัยเดิมๆ ที่มีการตั้งพรรคเอง ตอนนี้เขากำลังคอยดูว่าพรรคไหนที่จะเป็นแนวร่วมหรือสนับสนุนเขา แล้วเขาก็จะคอยจิ้มเอา เพราะหากเขาสนับสนุนพรรคเดียว พรรคใดพรรคหนึ่ง ถ้าเกิดจำนวนไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง เขาก็จะเสียหน้า และลำบาก

....ก็สู้มาช็อปปิ้งเอาทีหลังมากกว่า จะเอาพรรคเอ บี ซี ที่สนับสนุนเขา ที่ประกาศตัว แล้วก็เอามาเป็นแนวร่วม เพราะหากไปพลาดท่า ไปสนับสนุนพรรคใด แล้วกลายเป็นพรรคต่ำสิบไป ก็จะเหนื่อย แต่มันก็จะยุ่งไปหมด คือเวลาไปเข้าก๊อกสอง จากก๊อกแรกตอนเลือกตั้ง ที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อ หากไม่ไปอยู่เลย แล้วจะไปก๊อก 2 แต่การจะให้มีนายกฯ คนนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง มันต้องใช้เสียงสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ 750 คือ 500 คน แล้วจะไปเอาเสียงจากไหน อีก 250 คนในส่วนที่เป็น ส.ส. แม้ว่าจะมี ส.ว. 250 คน เพราะเสียง ส.ส. 250 คน ก็ไม่ใช่ง่ายๆ หากพรรคใหญ่ 2 พรรคไม่เอาด้วยก็จบ อย่างตอนนี้บางพรรคก็ประกาศชัดเจน บางพรรคก็ยังกั๊กอยู่

          ชำนาญ ยังวิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นด้วยว่า จากระบบการเลือกตั้งที่เป็นระบบเลือกตั้งใบเดียว ก็จะทำให้ผลที่ออกมาจะไม่เหมือนเดิม ข้อมูลจากการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังสุดนำมาศึกษาได้ แต่จะนำมาเปรียบเทียบ แล้วบอกว่าครั้งที่แล้ว พรรคไหนได้เท่านี้ แล้วเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะได้เท่านี้ จะนำมาเทียบไม่ได้ และจากเดิมที่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำให้ภาคอีสานมี ส.ส.มาก แต่ระบบใหม่ ส.ส.ภาคกลางเยอะกว่าอีสาน แต่ผมจำตัวเลขไม่ได้ รูปแบบจะเปลี่ยนไป พูดง่ายๆ การร่างรัฐธรรมนูญหรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เขาทำเพื่อสกัดพรรคใหญ่ แต่หารู้ไม่ว่า พรรคอื่นก็โดนด้วยกัน

เราไม่ได้บอกว่าเราได้เปรียบ เพียงแต่ครั้งที่ผ่านมา จำนวน ส.ส.กับคะแนนดิบที่ได้ มันคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง พรรคใหญ่ได้ ส.ส.มากกว่าความเป็นจริงที่ควรจะได้ เป็น winner take all บางเขตมีคนมาใช้สิทธิ์แค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ คะแนนไม่กี่หมื่นก็ได้แล้ว

ผมเชื่อว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ต้องสูงขึ้น เพราะคนอัดอั้นมานาน อย่างระบบปัจจุบันที่จะใช้ ถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่พรรคการเมืองจะชนะเลือกตั้งแล้วได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ก็บอกว่าเป็นไปได้ แต่มันยากมาก

"เกิดมีแอกซิเดนต์ขึ้นมา ทุกคนหย่อนบัตรพรรคนี้พรรคเดียว ส.ส.เขตมี 350 คน หากได้ ส.ส. 251 ก็เกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่ผมไม่รู้ว่าพรรคไหน อาจเป็นอนาคตใหม่ก็ได้ คนมันเบื่อสองพรรคเก่า เกิดเบื่อมากๆ เหมือนเอมมานูเอล มาครง เขาชนะโดยที่มาครงตั้งพรรคแค่ปีเดียวเอง เพราะคนเบื่อสองพรรคใหญ่"

ชำนาญ ยังกล่าวถึงกรณีคนในคณะผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่แสดงจุดยืนต้องการล้างมรดก คสช.หลังการเลือกตั้งด้วยว่า ขั้นตอนก็ต้องแก้กฎหมาย ก็ทำมาตราเดียวอย่างที่ อ.ปิยบุตรเสนอ คือรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 วิธีการแก้ ถ้าแก้ด้วยวิธีการปกติมันยาก พูดง่ายๆ ว่าทำไม่ได้เพราะต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20  แต่เราก็จะทำโดยวิธีการระดมความเห็นหรือประชามติก่อน ถ้าคน 70-80 เปอร์เซ็นต์ต้องการให้แก้ประเด็นนี้ เราก็มาโพสต์ไว้ ใครไม่เอาก็ถือว่าขัดมติประชาชน

...คือแทนที่เราจะเริ่มกระบวนการแล้วถึงค่อยไปทำประชามติ แต่เราก็มาทำประชามติเสียก่อนก็ได้  การทำประชามติเรื่องสำคัญๆ รัฐทำได้อยู่แล้ว ถามความเห็นประชาชน เช่นถามว่าจะแก้กันแบบนี้เห็นด้วยหรือไม่ อย่างพวกผลพวงคำสั่ง คสช.ที่อยู่ใน รธน.มาตรา 279 คือบางอย่างที่มันบังคับใช้ก็บังคับไป  แต่หากว่าขัดกับรัฐธรรมนูญก็ถือว่าใช้ไม่ได้เลย เพราะ 279 ไปเขียนว่าให้ถูกต้องชอบธรรมหมด แบบนั้นไม่ได้แล้ว

ส่วนที่นายปิยบุตรเสนอแนวทางปฏิรูปกองทัพและปฏิรูปศาล ชำนาญ เสริมย้ำว่าต้องปฏิรูปอยู่แล้ว  โดยทหารต้องกลับกรมกอง จะอยู่ในวงจรอุบาทว์ปฏิวัติรัฐประหารอยู่ตลอดไม่ได้ ต้องกลับไปเป็นทหารอาชีพป้องกันประเทศ ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวแทรกแซงการเมือง เพราะทหารก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ คสช.ทั้งหมด คนที่เขาเบื่อหน่ายเอือมก็มีเยอะแยะ ทหารประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าก็มี 

เมื่อถามมุมมองเชิงวิพากษ์การทำงานของ คสช.ที่อยู่มาจะครบ 4 ปีในเดือนหน้า ชำนาญ-หนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ให้ทัศนะว่า 4 ปีของ คสช.ถือว่าสอบตกติดลบตลอด นโยบายอย่างเช่นทวงคืนผืนป่าทำได้ที่ไหน ชาวบ้านเดือดร้อนเยอะแยะไปหมด ทหารเขาไม่ได้เรียนมาเรื่องนี้ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีการเทรนมาแบบนี้ ทหารเรียนเรื่องการสู้รบการป้องกันประเทศ ทหารจะไปรู้อะไรได้ทุกเรื่อง ทหารเล่นการเมืองเป็นเสียที่ไหน บริหารเป็นที่ไหน ออกคำสั่งมาตรา 44 มา เรื่องที่ทำไม่ได้ก็มี เช่นเรื่องธรรมกาย เรื่องการนั่งท้ายรถปิกอัพ

จริงๆ หากรีบมารีบไป เดินไปแล้วรีบเลือกตั้งให้ไว ปลดล็อก ก็จะลงอย่างสวย แต่หากขืนยังอยู่แบบนี้จะลงไม่สวย ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย จุดจบของคณะรัฐประหารที่ยืดเยื้อยาวนานทั่วโลกต่างก็ลงไม่สวยสักราย ไม่มีที่ไหนจบสวย

ชำนาญ ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งช่วงเดือน พ.ค.นี้ว่า ที่ผ่านมาก็เยอะขึ้น ยิ่งยื้อนานก็ยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีเลือกตั้งหรือยื้อเลือกตั้ง มีการใช้แท็กติกต่างๆ ยื้อไป  ตอนนั้นคนจะลงมาบนถนนเยอะ

          ถามต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นหาก คสช.ยื้ออำนาจไปเรื่อยๆ ชำนาญ มองว่าก็ไม่ต่างจากเผด็จการทั่วโลก ยื้อเสพติดอำนาจก็เป็นแบบนั้น อยู่ไม่รอดสักราย คือคนชอบ คสช.ก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ถึงเวลาก็ต้องไป ไม่ใช่กฎหมายลูกออกมาแล้วแต่ยังมาออกคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ทับอีก ดูแล้วเจตนาไม่บริสุทธิ์

ผมไม่ได้มีอคติอะไรกับ คสช. แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบมักง่าย การเมืองต้องแก้ด้วยการเมืองให้ประชาชนตัดสิน จริงๆ ทักษิณจะเน่าตั้งแต่ปี 2548 แล้ว แต่มามีรัฐประหาร คมช.เกิดขึ้น ทักษิณเลยฟื้นขึ้นมา รัฐประหารไปปลุกผีขึ้นมา ดังนั้น ทหารก็ไม่ควรยุ่งการเมือง”.

                       โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

.....................................................

ล้อมกรอบหน้า4-5

ชูธงกระจายอำนาจ

ปลดแอกเสือ 3 ตัว อปท.

          ชื่อของ ชำนาญ จันทร์เรือง-นักวิชาการอิสระ ปรากฏผ่านสื่อบ่อยครั้งโดยเฉพาะในยุค คสช. แต่อนาคตกำลังจะใส่เสื้อนักการเมืองครั้งแรกหลังชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวงข้าราชการ

          ชำนาญ เป็นคนเชียงใหม่ ปัจจุบันก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่ พูดถึงตัวเองว่าที่ผ่านมาคนมักมองว่าเขาเป็นเสื้อแดง แล้วเขาเป็นเสื้อแดงใช่หรือไม่ มีคำตอบ หลังเราถามว่าคิดอย่างไรกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนเชียงใหม่รวมถึงพรรคเพื่อไทย

...ตัวพรรคเพื่อไทยผมมีความเห็นใจในแง่ที่ถูกรังแก คนเสื้อแดงด้วยก็ตาม หรือเสื้อเหลืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่กับทักษิณ ชินวัตร ผมไม่เคยเห็นด้วยเลย ไม่ว่าจะด้วยเรื่องฆ่าตัดตอน นโยบายประชานิยม พวกนี้ผมพูดมาตลอด

คนเขาใจว่าผมเป็นเสื้อแดง ผมก็บอกว่าผมไม่ใช่เสื้อแดง แต่ผมเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจและเข้าใจเสื้อแดง และเห็นว่าเขาถูกรังแกหรือพรรคถูกรังแก

 อย่างการยุบพรรคผมว่าไม่ควรทำ กรรมการบริหารพรรคทำผิดคนเดียวแต่ไปยุบทั้งพรรคเป็นไปได้ไง ก็ทั้งหมดทั้ง กปปส., พันธมิตรฯ ด้วยที่ถูกรังแก ไม่ใช่เฉพาะเสื้อแดง ผมจะเข้าใจคนที่ถูกรังแก ในฐานะนักสิทธิมนุษยนชน เคยเป็นประธานกรรมการแอมเนสตี้ประเทศไทย ผมทำเรื่องพวกนี้เยอะ  อย่างอยู่ดีๆ คนถูกฆ่าตายกลางเมือง มีการยิงใช้กระสุนยิง ไม่ว่าใคร หรือปราบเสื้อเหลือง พันธมิตรฯ  โดยใช้ความรุนแรง โดยไม่มีการเอาผิดเลยเป็นไปไม่ได้

ผมไม่ใช่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลต้องค้านตลอด แต่ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหาร ถ้าละเมิดสิทธิฯ เราค้านอยู่แล้ว

          กับบทบาทในการจัดตั้ง พรรคอนาคตใหม่ ที่ชูธงนโยบายกระจายอำนาจ ชำนาญ-อดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นคนขับเคลื่อนเรื่องนี้มาต่อเนื่องหลายปี เช่นเคยมีส่วนสำคัญในการผลักดันและยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร และร่าง พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเองฯ มาแล้ว อธิบายแนวคิดการกระจายอำนาจที่จะขับเคลื่อนผ่านนโยบายพรรคอนาคตใหม่ว่า ที่เสนอเรื่องนี้เพราะติดตามทำเรื่อง จังหวัดจัดการตนเอง มานานแล้ว โดยเมื่อ 5-6 ปีก่อนหน้านี้ มีเครือข่ายหลายสิบจังหวัด มีการเสนอหลายเรื่อง เช่น การปรับโครงสร้างเรื่องส่วนแบ่งรายได้ภาษี ที่จะคล้ายกับรูปแบบในประเทศญี่ปุ่น ที่มีระดับบนกับระดับล่าง โดยไม่มีราชการส่วนภูมิภาค เพราะมองว่ามันล้าสมัย ตอนนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไปเยอะ

          ...ที่ผ่านมามีการหวงอำนาจและรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การพูดเรื่องการกระจายอำนาจ พูดแต่ปากเฉยๆ แต่ความเป็นจริงก็ถูกแทรกแซง ไปเบียดบังงบประมาณหรือควบคุมนโยบาย ซึ่งมันไม่ถูก หลักการความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางกับท้องถิ่น มันต้องสัมพันธ์กันในเรื่องการกำกับดูแล  กำกับดูแลหมายถึงต้องทำตามกฎหมาย จะไปควบคุมดุลยพินิจไม่ได้ แต่ส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคที่ปฏิบัติกับท้องถิ่นที่ผ่านมา มันเหมือนกับการบังคับบัญชา เหมือนเป็นลูกน้อง ซึ่งไม่ถูก จะทำให้ท้องถิ่นไม่เจริญ

โดยหลักการทั่วไปไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาธิปไตยในระดับชาติเข้มแข็งโดยปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ถ้าไม่เป็นแบบนี้ไทยเจริญกว่านี้ได้เยอะ เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นได้ดีกว่าคนท้องถิ่น การตอบสนองความต้องการท้องถิ่น

อย่างเชียงใหม่อยู่ดีๆ ก็เอาไนท์ซาฟารีไปให้ เอาอะไรไปให้ ซึ่งคนเชียงใหม่เขาไม่ได้ต้องการ ไปเบียดบังทรัพยากรเบียดบังงบประมาณของเขา ไปสั่งให้ท้องถิ่นทำเรื่องเช่น ไทยเข้มแข็ง ไทยนิยม เงินของท้องถิ่นเขาเก็บมาตั้งนานก็ไปเบียดบังเขา แทนที่จะนำเงินไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือการแทรกแซง

ชำนาญ อธิบายว่าจึงควรทำให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระพอสมควร แต่ไม่ใช่รัฐอิสระ ส่วนกลางมีหน้าที่ทำงานนโยบายสำคัญๆ ไม่กี่เรื่อง ก็จะทำให้ทำได้เป็นน้ำเป็นเนื้อ ไม่ใช่แค่เรื่องหวย 30 ล้านบาท ก็ต้องไปหานายกรัฐมนตรี อย่างปีงบประมาณที่จะถึงที่มีประมาณสามล้านล้านบาท ถ้าหากจัดสรรให้ท้องถิ่น 30 เปอร์เซ็นต์ก็จะมีความเป็นอิสระในการบริหารพื้นที่

...ปัจจุบันท้องถิ่นขึ้นอยู่กับแค่เสือสามตัว คือ 1.สมาพันธ์ อบจ. 2.สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย 3.สมาพันธ์ อบต. ใครวิ่งได้วิ่งเก่งก็อยู่ตรงนั้น ดังนั้นหากมีการจัดสรรแบ่งกันได้แบบนี้ ก็อยู่แบบของใครของมัน ไม่ต้องมาวิ่งล็อบบี้กันที่ห้องเชือด ที่รัฐสภา มีการเรียกไปตัดงบประมาณ พวกข้าราชการก็ยกกระทรวงไปชี้แจงงบประมาณซึ่งไม่ถูกหลัก

ผมคิดว่าผู้บริหารหรือทหารก็ตามที่เขากลัวการกระจายอำนาจ กลัวการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค  ผมว่าเขาคิดผิด เพราะยิ่งกระจายอำนาจยิ่งมั่นคง อย่างเกาหลีใต้มีสภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือมา 50-60 ปี ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ทหารเวลาเกิดภัยอะไรขึ้นมาเขาไปถึงพื้นที่ได้ แต่อย่างตอนนี้มีการมาตั้ง กอ.รมน.ภาค-กอ.รมน.จังหวัด มาเพิ่มขั้นตอน

- ที่ผ่านมารัฐบาลตั้งแต่ยุคไทยรักไทยหรือประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ทำเรื่องกระจายอำนาจ?

เขาก็กลัวเสียอำนาจส่วนกลาง เพราะอำนาจรัฐบาลมันน้อยลง ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น แต่รัฐบาลกลางแม้มีอำนาจน้อยลง แต่จะทำในสิ่งที่เป็นชิ้นเป็นอัน ทำแล้วมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ทำทุกเรื่อง อย่างวันนี้อยากทำเรื่องสวัสดิการ คนชรา อะไรต่างๆ ก็ไปเบียดบังงบท้องถิ่นที่มีน้อยอยู่แล้ว ส่วนยุค คสช.ยิ่งถอยหลังไปเยอะเลย คำว่ากระจายอำนาจเป็นคำแสลงเลย

เมื่อถามว่ารัฐบาลตอนนี้ก็ไปเอาเงินท้องถิ่นมาใช้ทำโครงการรัฐบาลมาก ชำนาญ ระบุว่า แน่นอน ท้องถิ่นเขามีเงินสะสมเป็นแสนล้าน ก็อย่างโครงการไทยนิยม ที่ไปสั่งการไปเบียดเอาเงินเขามา  เรื่องกระจายอำนาจ คสช.ไม่ทำเลย แล้วยิ่งรวบอำนาจเข้าไปอีก รวบหนักเข้าไปอีก ท้องถิ่นก็ไม่ได้เลือกตั้ง บางคนอยู่มา 7-8 ปีแล้ว คนที่อยู่ครบเทอมเกือบทั้งหมดแล้ว ประชาชนก็ไม่มีสิทธิ์ได้เลือกผู้นำของตัวเอง

ชำนาญ กล่าวถึงความชัดเจนเรื่องการชูนโยบายกระจายอำนาจของพรรคอนาคตใหม่ว่ายังไม่เป็นมติพรรค แต่ก็น่าจะเสนอเป็นนโยบายพรรคได้ แต่ก็อยู่ที่มติพรรค ถือได้ว่าเป็นจุดขายที่สำคัญของเรา  เพราะที่เราเปิดออกไปคนก็ฮือฮาเรื่องกระจายอำนาจ เขาวิเคราะห์กันแล้วว่าประเด็นต่างๆ ที่พรรคเปิดตัววันแรก เรื่องกระจายอำนาจโดนใจเยอะ เพราะคนเขาก็เบื่อแล้วตั้งใครมาก็ไม่รู้ แล้วมาหาว่าประชาชนโง่อีก

- ก็คือให้เลือกตั้งในจังหวัดที่มีความพร้อม?

ไม่ใช่ เอาหมดเลย ถ้าเอาก็ต้องหมดเลย ไม่อย่างนั้นทำไมคนกรุงเทพฯ มีผู้ว่าฯ ของตัวเองได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งท้องถิ่นที่ผมบอก เป็นลักษณะสองชั้น มันก็พร้อมทั้งนั้น หากเป็นสองชั้นก็แบบญี่ปุ่น ระดับบนก็เรียกว่าจังหวัด ระดับล่างก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจะเรียกเทศบาลก็แล้วแต่ ก็เป็นสองระดับ ทำให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ส่วนที่แตกต่างจากคนอื่นที่ผมเสนอก็คือ ปกติจะมีองค์กรหลักฝ่ายบริหารกับฝ่ายที่ออกข้อบัญญัติ แม้จะให้เลือกแยกกัน แต่พออยู่กันไปสักพักก็จะฮั้วกันหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน เราเสนอให้มี สภาพลเมือง เป็นองค์กรที่สามคอยตรวจสอบ กำหนดนโยบาย กำหนดวิสัยทัศน์เมือง  

เมื่อถามว่าโมเดลดังกล่าว บางฝ่ายเช่นกระทรวงมหาดไทยคงไม่เห็นด้วย ชำนาญ-อดีต ขรก.กระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่าแน่นอน ก่อนออกเป็นกฎหมายอย่างกระทรวงมหาดไทยค้านแน่ และบางฝ่ายที่หวงอำนาจ แต่หากเป็นกฎหมายผ่านรัฐสภาออกมา มหาดไทยจะทำงานเร็วและเป็นอันดับแรกด้วย อย่าลืมสมัยก่อนมหาดไทยคุมทั้งตำรวจ อัยการ แรงงาน แต่พอกฎหมายให้แยกไปก็ไม่เห็นเขาว่าอะไร เขาก็ทำแล้วทำได้ดีด้วย อันนี้ก็เช่นเดียวกัน หากกฎหมายมันผ่านแล้วประเทศต่างๆ ที่ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค เช่น สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อังกฤษ กระทรวงมหาดไทยเขาใหญ่มาก มีหน้าที่เยอะ แต่เขาเพียงแต่แต่งตั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอไม่ได้เท่านั้นเอง

ส่วนพวกข้าราชการก็ให้เลือก หากไม่อยากเป็นลูกน้อง อปท.ก็ให้เลือกอยู่สังกัดกระทรวง อยู่ราชการส่วนกลาง หรือไม่ก็สังกัดท้องถิ่น ไปขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง อยู่ได้ไม่ถูกไล่ออกแน่นอน.

...........................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"