ความเป็นไปธุรกิจช่วงโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    


    หลายธุรกิจโดยเฉพาะในศูนย์การค้าได้เริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ต้องบริหารต้นทุนและสภาพคล่อง เพราะจำนวนชั่วโมงของการเปิด-ปิดที่น้อยลง รวมถึงการลดความแออัดหรือจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการ แม้จะสามารถเปิดร้านค้าได้อีกครั้ง แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้ควบคู่กับการคิดและพัฒนาสิ่งใหม่เพื่อตอบโจทย์ New Normal
    ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีหลายอย่างเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ หนึ่งในนั้นคงเป็นความร้อนแรงของตลาดอีคอมเมิร์ซไทย โดย ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ระบุว่า ข้อมูลตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าเพียง 3% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมดในประเทศ โดยประเทศที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน 25%, ประเทศเกาหลีใต้ 22% และประเทศอังกฤษ 22% สะท้อนว่าแม้คนไทยจะรู้สึกว่ากระแสการซื้อขายออนไลน์เป็นที่นิยม แต่หากดูจากสถิติประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังคงสามารถเติบโตได้อีกอย่างต่อเนื่อง
    ความเคลื่อนไหวของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2563 จากผลพวงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการบริโภคกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นกว่า 29%
    เมื่อเจาะลึกสินค้าที่ในกลุ่มสุขภาพและความงาม พบว่าสินค้าที่มีปริมาณความต้องการมากที่สุด ได้แก่ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ สมุนไพรฟ้าทะลายโจร สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนต่างวิตกกังวลกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงต้องการสินค้าที่ช่วยในเรื่องของการป้องกันเชื้อโรค
    ขณะเดียวกันมีกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ต้องมีสินค้าที่มีความนิยมลดลง โดยสินค้าที่มีความต้องการลดลง ได้แก่ สินค้าหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด หลายบริษัทต้อง Work from Home ประชาชนต้องลดการออกไปในที่สาธารณะ จึงทำให้สินค้าประเภทนี้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรองเท้ากีฬาเป็นสินค้าในหมวดที่ยอดความสนใจซื้อลดลงถึง 58% เลยทีเดียว
    มาดูกันที่ธุรกิจค้าปลีกกันบ้าง หลังจากที่เปิดให้บริการไปวันแรกก็มีผู้เข้าใช้บริการต่อคิวกันยาว เนื่องจากต้องมีการลงทะเบียนก่อนเข้าใช้บริการ โดยในเรื่องนี้ คมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า อยากให้มีการประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชันชัยชนะ เนื่องจากการเปิดตัวที่ผ่านมาค่อนข้างกระชั้นชิด ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปอาจยังไม่ได้รับข่าวสารในเรื่องการใช้แอปดังกล่าว ทำให้มีการรอเข้าใช้บริการด้านหน้าห้างสรรพสินค้ากันจำนวนมาก รวมถึงในเรื่องของภาษาก็ควรมีความหลากหลาย แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา แต่ก็มีชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นที่ต้องสื่อสารในกลุ่มดังกล่าวด้วยเช่นกัน
    สำหรับธุรกิจร้านอาหารในต่างจังหวัด ซึ่ง อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และกรรมการผู้จัดการ ร้านอาหารท่าน้ำภูแล จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าร้านอาหารที่อยู่ในตัวเมืองเชียงรายเกิน 50% ที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ในส่วนของร้านได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารใหม่ โดยมีการเพิ่มเติมบริการรูปแบบเดลิเวอรี และพัฒนารูปแบบอาหารกล่องให้มากขึ้น รวมถึงพยายามหารูปแบบใหม่ในทุกอาทิตย์
    ขณะเดียวกันในช่วงแรกธุรกิจร้านอาหารของบริษัทมีลูกค้าหายไปเกิน 90% แต่ก่อนเปิดร้านก็มีการดำเนินงานตามมาตรการของภาครัฐ มีเจลล้างมือก่อนและออกจากร้าน ตรวจอุณหภูมิ ทำความสะอาดภายในร้านอาหาร โต๊ะ เก้าอี้ และภาชนะใส่อาหาร
    ปิดท้ายกันที่ร้านชาบู ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร้าน Penguin Eat Shabu กล่าวว่า บริษัทต้องมีการพัฒนาวิธีการเปิดให้บริการ เนื่องจากการเปิดให้บริการ 1 โต๊ะต่อลูกค้า 1 จะขาดทุนทันที จึงต้องหาแนวทางทำให้ได้ 2 คน แต่ยังอยู่ในมาตรการของรัฐบาล ในขณะที่ต้นทุนค่าเช่าที่และการจ่ายเงินแก่พนักงานเท่าเดิม แต่โอกาสสร้างยอดขายไม่เท่าเดิม ทำอย่างไรไม่ให้ขาดทุน จึงมีแผนออกบริการใหม่และแบรนด์ใหม่เพื่อมาเลี้ยงธุรกิจให้ได้ โดยตอนนี้เปิดให้บริการแล้ว 4 สาขาจาก 9 สาขา.

รุ่งนภา สารพิน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"