พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (ซึ่งตามปฏิทินปัจจุบันเป็น พ.ศ. ๒๔๗๘) ด้วยเหตุต่างๆ ในที่นี้ขอเสนอบทวิเคราะห์องค์พระราชหัตถเลขาแต่เพียงโดยสังเขป
เริ่มที่ข้อความย่อหน้าที่ ๒ หน้า ๕ ที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
หลายคนอ่านแค่นี้แล้วเข้าใจไปว่า ทรงสละพระราชอำนาจในวาระที่ทรงสละราชสมบัติ ซึ่งจริงๆ แล้ว ทรงสละพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเกือบ ๓ ปีก่อนหน้านั้นแล้ว คือเมื่อมีการ “ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และทรงรับเป็น “พระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ” ซึ่งหมายความว่าไม่ทรงมีอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในพระหัตถ์อีกต่อไปแล้ว
ดังนั้น ข้อความที่คัดมาข้างต้นจึงเป็นการทรงย้อนไปกล่าวถึงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่าได้ทรงสละพระราชอำนาจให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป เพื่อประกอบการทรงอธิบายเหตุผลว่า เหตุใดจึงต้องสละราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๗๗
คำอธิบายของพระองค์โดยสรุปอยู่ที่ย่อหน้าที่ ๑ ของหน้าเดียวกัน ใจความดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุตติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้น ในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้”
กล่าวคือเมื่อทรงสละพระราชอำนาจ (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕) แล้วทรงพบว่า “รัฐบาลและพวกพ้อง” ทำการปกครองในพระปรมาภิไธย (ในนาม) ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (องค์พระประมุข) ในรูปแบบที่ผิด “หลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล” และ “หลักความยุติธรรม” (ตามที่ทรงเข้าพระราชหฤทัย)
ตรงนี้อธิบายขยายความได้ว่า สองหลักนี้มีความเชื่อมโยงกันเป็นหลักของระบอบรัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยม กล่าวคือ ถือว่ามนุษย์แต่ละคนมีเสรีภาพ (freedom) มาแต่กำเนิด ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดียรัจฉาน ตรงที่ คิดเป็น ใช้เหตุผลเป็น และจึงสร้างสรรค์เป็น (ส่วนจะคิดหรือใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
เสรีภาพนี้จึงต้องได้รับความคุ้มครองจากการถูกริดรอนโดยการใช้อำนาจจากมนุษย์คนอื่นโดยเฉพาะยิ่งจากผู้ปกครอง จึงเป็นที่มาของแนวคิด การปกครองโดยหลักนิติธรรม (the rule of law) การปกครองโดยหลักนิติธรรมนี้พูดง่ายๆ ก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการปกครอง (การใช้อำนาจ) ตามอำเภอใจของผู้ปกครอง (arbitrary rule) เท่ากับว่าผู้ปกครองจะต้องทำการตัดสินใจตามกฎเกณฑ์หรือหลักการที่ใช้บังคับทั่วไปกับบุคคลทุกผู้ทุกนามอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกปฏิบัติ กล่าวคือการตัดสินใจต้องเป็นกลางไม่โอนเอียงเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และใช้กับทุกกรณี
หากการปกครองเป็นเช่นนี้ได้แล้ว ทุกคนก็จะมี “ความเสมอภาคกันในสายตาของกฎหมาย (equality before the law)” และมีเสรีภาพ คือปราศจากความหวาดกลัวว่าจะมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้ปกครอง (freedom from fear) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการปกครองที่ปวงประชาได้รับการปกป้อง (demo-protection) แนวคิด “การปกครองโดยหลักนิติธรรม” นี้เองเป็นที่มาของแนวคิด ระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) ซึ่งต้องบอกว่ายังไม่ถึงกับเป็นประชาธิปไตย
คราวนี้มาดูย่อหน้าที่ ๓ หน้า ๔ ซึ่งแยกแยะได้เป็นสองตอน
ตอนแรกมีว่า “บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ”
เท่ากับว่าทรงนำเรื่องประชาธิปไตยหรืออำนาจอธิปไตยของปวงประชาเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง หมายความว่า นอกจากประชาชนจะต้องมีเสรีภาพที่มีการปกครองในหลักนิติธรรม (ในระบอบรัฐธรรมนูญ) เป็นประกันแล้ว ยังต้องมีสิทธิทางการเมือง คือที่จะมีส่วนร่วมในการชี้ว่านโยบายของประเทศจะเป็นเช่นใดด้วย
อธิบายเพิ่มเติมตามศาสตราจารย์จีโอวานี ซาตอรี่ (Giovanni Sartori) นักรัฐศาสตร์ชั้นนำชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีได้ว่า สองเสาหลัก (เสาเข็ม) ของประชาธิปไตยนั้น คือการปกครองโดยหลักนิติธรรม (the rule of law หรือ demo-protection) ประการหนึ่งและอำนาจอธิปไตยของปวงชนหรือ อำนาจของปวงชน (demo-power) อีกประการหนึ่ง (Sartori 2001)
ซาตอรีตั้งปุจฉาชวนคิดไว้ต่อไปว่า “หากคุณต้องเลือกระหว่างการอยู่ในประเทศที่ demoprotection อย่างเดียวกับประเทศที่มี demo-power อย่างเดียว คุณจะเลือกอยู่ที่ไหน?” เขาวิสัชนาว่าเขาจะเลือกอย่างแรก และไขปริศนาไว้ด้วยว่า เพราะหากปวงประชาไม่ได้รับการปกป้องจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจเสียแล้วไซร้ ปวงประชานั้นจะมีหนทางใดเล่าที่จะ (ใช้ความคิดปรึกษากัน รวมตัวกัน) สร้างอำนาจปวงประชาขึ้นมาได้ ดังนั้น การปกป้องปวงประชา หรือการปกครองโดยหลักนิติธรรม (หรือระบอบรัฐธรรมนูญ) จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของการที่จะมีประชาธิปไตย และจึงเป็นเสาหลักหนึ่งขาดไม่ได้ของระบอบประชาธิปไตย แต่มีเสานี้เสาเดียวก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย ต้องมีอีกเสาหนึ่งคือ อำนาจของปวงประชา
ส่วนที่ว่าแต่ละประเทศจะจัดการให้มีทั้ง ๒ เสาบนสภาพจริงตลอดจนชีวิตวัฒนธรรมของแต่ละประเทศนั้น คนในประเทศนั้นๆ ต้องคิดอ่านกันให้ดี สำหรับองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในเรื่องปัญหาการปรับใช้อยู่ไม่น้อย เห็นได้จากพระราชบันทึก Problems of Siam (พ.ศ. ๒๔๖๙) และ Democracy in Siam (พ.ศ. ๒๔๗๐) หรือแม้แต่ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินี้เอง ดังความในย่อหน้าที่ ๓ ตอนหลังที่ว่า
“และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงของสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เปนต้นไป”
ข้อความนี้ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่ว่าน่าสนใจเพราะว่าทรงย้อนไปอ้างถึงพระราชภาระของพระมหากษัตริย์สยามตามคติธรรมราชาที่จะต้องทรง “ปกป้องปวงประชา” ดังความในพระปฐมบรมราชโองการของพระองค์ เมื่อทรงบรมราชาภิเษก ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่ว่า
“บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนื่อท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญฯ”
พึงสังเกตว่าได้ทรงสัญญาไว้ว่าจะทรง “จัดการปกครองป้องกันอันเป็นธรรม” แต่เมื่อได้ทรง “เต็มใจ” สละพระราชอำนาจแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะที่จะทรงสละพระราชสมบัติจึงไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการจัดการปกครองแล้ว เพราะได้ทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ ทรงมีแต่สิ่งที่เรียกว่า “พระราชสิทธิ” ของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญตามธรรมเนียมของระบอบนั้นในตะวันตก เช่นอังกฤษ ที่จะทรงรับปรึกษาหารือที่จะพระราชทานกำลังใจและที่จะทรงร้องขอตักเตือนผู้ที่กระทำการปกครองจริงๆ ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงใช้พระราชสิทธิ “ร้องขอ” ระหว่างพระองค์กับคณะผู้แทนรัฐบาลจากกรุงเทพฯ
เท่ากับว่าทรงรู้สึกว่าทรงล้มเหลวในอันที่จะทรงช่วยประคับประคองการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และที่สำคัญไม่อาจที่จะทรงทำหน้าที่ของธรรมราชาในการปกป้องปวงประชาดังที่ทรงสัญญาไว้แต่ครั้งที่ทรงขึ้นสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ จึงทรงสำนึกว่าต้องทรงรับผิดชอบ ด้วยการทรงลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งก็คือสละราชสมบัติ
พึงสังวรว่าทรงสละราชสมบัติที่ทรงเข้าสู่ในฐานะพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ ไม่ใช่ตามรัฐธรรมนูญ จึงทรงสำนึกว่าต้องทรงรับผิดชอบกับการที่ทรงยินยอมเปลี่ยนพระราชสถานะแล้ว การณ์ปรากฏภายหลังว่าไม่อาจทรงรักษาสัญญาไว้ได้ จะใช้ตามภาษาปัจจุบันว่าทรง “ตรวจสอบ” พระองค์เองก็ได้ แต่ในการนั้นได้ทรงเน้นย้ำถึงหลักการของระบอบประชาธิปไตย ๒ หลักไว้ให้เราคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ทำความเข้าใจ
เอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนการตีความเช่นนี้ก็คือ สำเนาแปลโทรเลขซึ่งส่งมาจากอังกฤษหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้วไม่กี่วัน อัญเชิญพระราชกระแสมายัง “บรรดาข้าราชการในพระราชสำนัก” ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้า ถ้าอภัยให้ได้ ในการที่ได้ละทิ้งไปเสียในเวลานี้แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่า จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ถูกและเป็นความยุตติธรรม ข้าพเจ้าไม่สามารถจะทำตนให้ต่ำลง และครองชีวิตอยู่ได้ตลอดไปด้วยความอัปประยศเพื่อว่าจะได้ครอบครองราชย์สมบัติสืบไป...”
--------------
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
สถาบันพระปกเกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |