“อุตตม” สั่ง สคร.เร่งศึกษาแผนการขายหุ้นเจ้าจำปีให้กองทุนวายุภักษ์ ชี้มีสิทธิ์ขายต่ำทุนได้ไม่มีกฎหมายห้าม เล็งสรุปในสัปดาห์หน้า รับหากขายที่ 14 บาทคงไม่มีใครโง่ซื้อ “ประธานสหภาพการบินไทย” รับสภาพแล้ว กางกฎหมายชดเชยให้พนักงานกว่า 2.1 หมื่นรายรับรู้ อึ้ง! หุ้น THAI พุ่งชนซิลลิง นักการเมืองพร้อมใจเตือน 15 ผู้กอบกู้ต้องเป็นคนมีคุณภาพ ไร้การเมืองแทรก
เมื่อวันพุธที่ 20 พ.ค. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการขายหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ กบท.เพื่อลดสัดส่วนให้ต่ำกว่า 50% ตามแผนฟื้นฟูการบินไทยว่า ได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปเร่งดำเนินการมาเสนอ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า และจะรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบต่อไป โดย สคร.จะเป็นผู้ทำแผนขายหุ้นทั้งหมดว่าจะเสนอขายให้ใคร จะเป็นกองทุนรวมวายุภักษ์หรือใคร จะขายอย่างไร ราคาจะเป็นอย่างไร
“การขายหุ้นการบินไทยต่ำกว่าราคาต้นทุนนั้นดำเนินการได้ อยู่ที่การพิจารณาไม่ได้มีอะไรห้าม ไม่ขัดข้อกฎหมายอะไร เพราะเป็นเรื่องการพิจารณาของผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะพยายามสรุปให้เร็วที่สุด" นายอุตตมระบุ
รายงานข่าวกระทรวงการคลังแจ้งว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า กระทรวงการคลังจะขายหุ้น 3% ให้กองทุนรวมวายุภักษ์ในราคาต่ำกว่าต้นทุนได้ เพราะราคาต้นทุนการบินไทยอยู่ที่ 14 บาทต่อหุ้น แต่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 5.40 บาทต่อหุ้น หากขายที่ราคาทุนก็จะไม่มีใครซื้อ จึงต้องขายที่ราคาตลาด โดยคาดว่าการขายหุ้นให้กองทุนวายุภักษ์ 3% จะมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท โดยขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะซื้อขายนอกหรือในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีหลักที่สำคัญว่าการซื้อขายต้องไม่กระทบกับราคาหุ้นการบินไทยในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการดำเนินการต้องเป็นไปตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
“การลดหุ้นการบินไทยไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ จะทำให้การเข้าสู่การฟื้นฟูภายใต้ศาลมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะหากยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกว่า 10 ฉบับ ทำให้การบริหารแผนฟื้นฟูทำได้ยากและช้ามาก ส่วนเรื่องพนักงานจากที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ก็จะไปอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์แทน ซึ่งสามารถเลิกจ้างตามกฎหมายได้ง่ายกว่า” รายงานระบุ
ด้านนายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวว่า หลังจากการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายในศาลล้มละลายกลาง จะทำให้พนักงานต้องหลุดพ้นจาก พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 และเข้าสู่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 แทน ส่งผลให้พนักงานที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 2.1 หมื่นคน บางส่วนอาจต้องถูกเลิกจ้างในระหว่างที่บริษัทฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายของนายจ้างที่จะบอกเลิกจ้าง ก่อนที่พนักงานจะอายุครบเกษียณ ส่วนโครงการร่วมใจจากองค์กรคงไม่มีแน่นอน
สหภาพฯ แจงสิทธิ์ พนง.
นายนเรศยืนยันว่า พนักงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับการชดเชยตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ โดยจะได้รับสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายเหมือนกัน โดยจะมีหลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง คือ 1.ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน 2.ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3.ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน 4.ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ได้ค่าชดเชย 240 วัน 5.ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน และ 6.ทำงานครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน สำหรับเงินชดเชยเลิกจ้างจะจ่ายให้ในกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้มีความผิด หรือไม่ได้ลาออกเองโดยสมัครใจ
“ผมต้องพูดความจริงกับเพื่อนพนักงาน มันเป็นความจริงที่เจ็บปวด ผมในฐานะประธานสหภาพไม่อยากพูด แต่ต้องพูดเพื่อให้พวกเราพนักงานรับรู้ความเป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อนพนักงานจะได้วางแผนและเตรียมตัวเตรียมใจรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง เพราะนี่คือภารกิจสุดท้ายที่จะทำได้ก่อนสหภาพถูกยุบ” นายนเรศกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ได้นัดประชุมพนักงานเพื่อชี้แจงถึงฐานะของการบินไทยหลังจากเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ แต่ได้มีการแจ้งยกเลิกประชุมกะทันหันและเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้พนักงานหลายคนไม่สบายใจและกังวลอย่างมาก วันเดียวกันในการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นประธาน ได้นัดประชุม กมธ.ทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อพิจารณาติดตามและศึกษาการบริหารงบประมาณในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างหนี้ของการบินไทย โดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สคร. และ ตลท.
นางนัทีวรรณ สีมาเงิน รองผู้อำนวยการ สคร.ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นในการบินไทย 51.03% มีหน่วยงานรัฐถือหุ้นในสัดส่วนต่างๆ คือ ธนาคารออมสินถือหุ้น 2.13%, กองทุนวายุภักษ์ถือหุ้น 15% โดยประเด็นสำคัญที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังที่ทำให้การบินไทยหลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องลดสัดส่วน 3% หรือเหลือเพียง 47% ซึ่งกรณีการขายหุ้นให้กองทุนวายุภักษ์นั้นไม่นับเป็นหน่วยงานภาครัฐ
นางนัทีวรรณอธิบายอีกว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาหากจะขายหุ้นให้กองทุนวายุภักษ์นั้นต้องเจรจาอีกครั้ง โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนการดำเนินงานหลังจากนั้น เช่น หากการบินไทยหลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จะไม่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง แต่จะมีระเบียบของตนเองที่บังคับใช้ เช่นเดียวกันกับผู้ถือหุ้นหากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ผู้ถือหุ้นจะไม่มีสิทธิ์ใดๆ ภายในบริษัท เพราะเป็นประเด็นระหว่างบริษัทกับเจ้าหนี้
ขณะที่นายสุรธันว์ คงทน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ฐานะเจ้าหนี้ของการบินไทย กล่าวว่า ลักษณะหนี้ของการบินไทยไม่มีเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตามแผนที่การบินไทยเสนอต่อการทำธุรกิจ โดยขณะนี้ธนาคารยังรอพิจารณาความชัดเจนของแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยอยู่
นายอำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า ผลประกอบการรอบ 3 ปีของการบินไทย คือปี 2561-2563 ขาดทุนต่อเนื่อง โดยหากฟื้นฟูกิจการผ่านกระบวนการศาลล้มละลายนั้น ที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ใช้วิธีการดังกล่าว โดยในปี 2540 มีหลายบริษัทฟื้นฟูกิจการผ่านกระบวนการล้มละลายและกลับมาเข้มแข็งได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารแผน หากโรคระบาดจบได้เร็ว ธุรกิจการบินเดินหน้าได้มั่นคง แต่หากสถานการณ์ระบาดยังมีอยู่คงเป็นไปได้ยาก
บี้ 15 ผู้กอบกู้ต้องมืออาชีพ
นางประภาศรี สุฉันทบุตร ส.ว. ในฐานะ กมธ.เศรษฐกิจ การเงินและการคลัง กล่าวเรื่องนี้ว่า ขอเสนอ 4 สูตรสำหรับการฟื้นตัวของการบินไทย ดังนี้คือ 1.ลดพนักงาน แต่ขอให้ใช้เป็นมาตรการท้ายๆ ในการทำแผน เพราะพนักงานไม่ได้มีความผิด 2.คนที่มาทำแผนฟื้นฟู 15 คนต้องเป็นคนเก่ง และมีคุณธรรม มือสะอาด ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ 3.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องเป็นผู้คัดคนที่มาทำแผนด้วยตนเอง และกำกับดูแลอย่าให้นักการเมืองส่งคนของตัวเองมาทำแผนโดยเด็ดขาด และ 4.ศึกษาบทเรียนการฟื้นฟูกิจการของสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น (เจแปน แอร์ไลน์) เมื่อปี 2553
ส่วน ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอบคุณประชาชนที่ร่วมด้วยช่วยกันผลักดันให้เลิกอุ้มการบินไทย จนรัฐบาลต้องกลับลำยอมยกเลิกแผนฟื้นฟูแบบลอยๆ ซึ่งเหมือนการเทเงินทิ้งโดยประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ในการค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท ตามด้วยการเพิ่มทุนอีก 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรณีการบินไทยนับเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อปวงประชาร่วมกันส่งเสียงจะมีพลังมากพอในการกำหนดทิศทางให้รัฐบาลตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องได้
ดร.สุรเชษฐ์โพสต์อีกว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนแนวทางนี้และได้ให้คำแนะนำไว้ตั้งแต่ก่อนการประชุม คนร.และ ครม.เพื่อดักทางเอาไว้แล้วว่า 1.ให้มืออาชีพจริงๆ เข้ามาผ่าตัด ไม่เอาพวกที่เป็นเครือข่ายการสืบทอดอำนาจเข้ามาอย่างเด็ดขาด 2.ไม่ถ่วงเวลาโดยบอกว่าต้องทำโน่นนี่นั่นก่อน แล้วสุดท้ายเอาเงินภาษีไปอุ้มอยู่ดี 3.ต้องไม่มีไอ้โม่งมารอฮุบกิจการ 4.ในการฟื้นฟูกิจการจะมีทางออกได้ 3 ทาง คือ เป็นเอกชนมากขึ้น, คล้ายเดิม และเป็นรัฐมากขึ้น โดยพรรคอยากให้รัฐบาลคิดอย่างรอบคอบ โดยรัฐควรมีความเป็นเจ้าของเพียง 0-25% เพื่อปราศจากการครอบงำหรือแทรกแซงโดยนักการเมืองหรือทหารการเมือง
รายงานข่าวจาก ตลท.แจ้งว่า ตั้งแต่ ตลท.ปรับเกณฑ์การกำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (ซิลลิง-ฟลอร์) ได้ไม่เกิน 15% จากเดิม 30% มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.63 และไม่เกิน 30 มิ.ย.63 นั้น พบว่าราคาหุ้นการบินไทยได้ปรับขึ้นลงชนซิลลิงและฟลอร์ทั้งหมด 10 ครั้ง โดยเป็นการชนซิลลิง 8 ครั้ง และติดฟลอร์ 2 ครั้ง ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 19 พ.ค. ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 1.44 บาท หรือ 44.17% ราคาสูงสุดอยู่ที่ 7.85 บาท เมื่อวันที่ 24 เม.ย. และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 3.16 บาท เมื่อวันที่ 2 เม.ย.
หุ้นบินไทยขยับชนซิลลิง
สำหรับราคาชนซิลลิง 8 ครั้ง คือ วันที่ 3 เม.ย.ที่ราคา 3.68 บาท เพิ่มขึ้น 0.48 บาท หรือ 15%, วันที่ 7 เม.ย.ที่ราคา 4.22 บาท เพิ่มขึ้น 0.54 บาท หรือ 14.67%, วันที่ 8 เม.ย.ที่ราคา 4.84 บาท เพิ่มขึ้น 0.62 บาท หรือ 14.69%, วันที่ 9 เม.ย.ที่ราคา 5.55 บาท เพิ่มขึ้น 0.71 บาท หรือ 14.67%, วันที่ 10 เม.ย.ที่ราคา 6.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.80 บาท หรือ 14.41%, วันที่ 16 เม.ย.ที่ราคา 6.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.80 บาท หรือ 14.41%, วันที่ 19 พ.ค.ที่ราคา 4.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 14.63% และวันที่ 20 พ.ค.ที่ราคา 5.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท หรือ 14.89% ส่วนติดฟลอร์ 2 ครั้ง คือ วันที่ 11 พ.ค.ที่ราคา 5.15 บาท ลดลง 0.90 บาท หรือ 14.88% และวันที่ 18 พ.ค.ที่ราคา 4.10 บาท ลดลง 0.72 บาท หรือ 14.94%
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด ชี้ว่าหลัง ครม.มีมติให้การบินไทยยื่นคำขอแผนฟื้นฟูกิจการ จะเป็นผลดีต่อลูกหนี้ในแง่ที่ว่ากิจการของบริษัทยังดำเนินต่อไปได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงแรกก็คือราคาตราสารหนี้ของบริษัทในตลาดรองที่อาจได้รับผลกระทบไปก่อน โดยหากดูจากราคาซื้อขายหุ้นกู้การบินไทยในช่วง 1-2 วันนี้ จะพบว่าราคาตกลงมาอย่างน่าใจหาย ส่วนทางด้านตราสารทุนนั้น จากการตรวจสอบกับ ตลท.พบว่าในปีนี้การบินไทยจะยังไม่ถูกให้ขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขายแต่อย่างใด โดยหากจะเกิดขึ้นเร็วสุดก็อาจเป็นช่วงต้นปีหน้าที่จะมีการรายงานงบตรวจสอบ (งบปี) ออกมา ซึ่งถ้าหากออกมาแล้วส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจะเข้าเกณฑ์การพิจารณาเหตุเพิกถอนทันที
“หากศาลตอบรับคำร้องการขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย จะทำให้เข้าเกณฑ์การถูกขึ้นเครื่องหมายซีจาก ตลท.โดยทันที ซึ่งหลังจากนั้นผู้ลงทุนจะต้องซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยบัญชีเงินสดเท่านั้น ทั้งนี้ประเมินว่าจริงๆ แล้วการบินไทยมีโอกาสถูกขึ้นเครื่องหมายซีตั้งแต่รอบรายงานงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2563 นี้แล้วด้วยซ้ำ หากผลออกมาส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว แต่เนื่องจากขอยื่นเรื่องผ่อนผันการส่งงบจึงทำให้ยังไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |