ลุ้นเลิกพรก.ฉุกเฉิน สมช.นัดถกยึดข้อมูลสธ.เป็นหลัก/รพ.ม.อ.ใช้พลาสมาได้ผล


เพิ่มเพื่อน    

  "ในหลวง-พระราชินี" พระราชทานหน้ากากผ้าฝีพระหัตถ์แก่นายกฯ-ภริยา ผบ.เหล่าทัพ  และคณะแพทย์ ศบค. เผยติดเชื้อโควิดเพิ่ม 1 ราย เจอในสถานกักตัวของรัฐ ไทยแชมป์สวมหน้ากาก-ล้างมือมากที่สุดในอาเซียน พบกองถ่ายหละหลวมมาตรการป้องกันมากสุด "สธ." มั่นใจเทคโนโลยีไทยรับสถานการณ์โควิดไม่ด้อยกว่าประเทศไหน ข่าวดี! รพ.สงขลานครินทร์ใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยหนักหายเป็นรายแรกของภาคใต้ ชี้เป็นการรักษาทางเลือกไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิดได้ทุกราย "อนุทิน" สั่งสต๊อก Favipiravir กว่า 5 แสนเม็ดรับมือคลายล็อก ศธ.ชง ศบค.พิจารณาเปิดโรงเรียน ยันยังคงไว้ที่ 1 ก.ค. จับตา สมช.ถกต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ?ระบุยึดหลัก สธ.เป็นสำคัญ

    เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล คุณจันทนี ธนรักษ์ ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญหน้ากากผ้าฝีพระหัตถ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินี พระราชทานแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา พร้อมด้วย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะแพทย์ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.
     และเมื่อเวลา 14.40 น. พล.อ.ประยุทธ์เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลไปพบกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อรับทราบข้อมูลและรับฟังข้อเสนอต่างๆ จากผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกของสมาคม ก่อนโพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพบนเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ว่า  "ผมเดินทางไปพบกับสมาคมธนาคารไทย ได้รับทราบข้อมูลและรับฟังข้อเสนอต่างๆ จากผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งเป็นการพูดคุยที่มีประโยชน์มาก ผมขอขอบคุณที่ทุกท่านได้แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่มีต่อประเทศ และขอบคุณที่ได้แสดงออกถึงความตั้งใจและความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และพี่น้องประชาชนคนไทยในช่วงเวลานี้"
     ก่อนหน้านั้นเวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพเชฟที่บาห์เรน พบในโรงแรมซึ่งเป็นสถานที่กักตัวของรัฐที่ กทม. เดินทางกลับมาจากบาห์เรนเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 18 พ.ค. เป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ แต่มาจากระบบการตรวจเชื้อของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เป็นมาตรฐานที่เราวางไว้อยู่แล้ว ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,034 ราย หายป่วยสะสม 2,888  ราย อยู่ระหว่างรักษา 90 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 56 ราย นอกจากนี้ ข้อมูลวันที่ 15 พ.ค. ประเทศไทยได้มีการตรวจเชื้อไปแล้ว 328,073 ตัวอย่าง ในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 167 แห่งทั่วประเทศ 
    "หากเทียบการตรวจต่อ 1 ล้านประชากร ของเราอยู่ที่ 4,926 ต่อ 1 ล้านประชากร เหนือกว่าญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยสัดส่วนเมื่อตรวจ 100 คน จะพบ 0.92% อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขยังไม่พอใจตัวเลขสามแสนตัวอย่าง ต้องการตรวจให้ได้มากกว่านี้ ดังนั้นใครที่มีความเสี่ยงขอให้เข้ารับการตรวจได้เลย"
ลงทะเบียนไทยชนะคึกคัก
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 4,986,332 ราย เสียชีวิต  324,910 ราย ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการวิจัยวัคซีนของประเทศไทย ศูนย์วิจัยวัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งขณะนี้ประสบความสำเร็จในการทดลองกับหนู และจะนำไปทดสอบกับลิงในสัปดาห์หน้า โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อให้เราเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้มีวัคซีนใช้ และเตรียมประสานการผลิตวัคซีนชุดแรกกับโรงงานผลิตในสหรัฐอเมริกากับแคนาดาเพื่อนำไปทดสอบในคน คาดการณ์ว่าจะใช้ได้ในปี 2564 นอกจากนี้บริษัท Yougov จากประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลสำรวจพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ของประชาชนใน 6 ประเทศอาเซียน จำนวน  12,999 ตัวอย่าง พบว่าประเทศไทยมีพฤติกรรมสวมหน้ากากและล้างมือมากที่สุดในอาเซียน
    โฆษก ศบค.กล่าวต่อว่า ตัวเลขการลงทะเบียนใน www.ไทยชนะ.com เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 19  พ.ค. มีร้านค้าลงทะเบียน 67,904 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 5,077,978 คน ขณะที่ผลการตรวจกิจการ/กิจกรรม ประจำวันที่ 19 พ.ค. ตรวจทั้งสิ้น 17,588 กิจการ/กิจกรรม พบว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 5  กิจการ/กิจกรรม ซึ่งเราจะมีมาตรการตักเตือน แนะนำ ตรวจซ้ำ ถ้ายังไม่ปรับปรุงจะนำไปสู่การปิดกิจการ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามมาตรการแต่ไม่ครบ มีจำนวน 1,863 กิจการ/กิจกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเว้นระยะห่าง 45.6% รองลงมาคือ จำนวนผู้ใช้บริการ 17.4% จุดล้างมือและเจลแอลกอฮอล์  15.2% สำหรับกิจการ/กิจกรรมที่อยู่ในข่ายนี้มากที่สุดคือ โทรทัศน์ กองถ่าย 20% สถานออกกำลังกาย  16.5% ร้านตัดผม 13.9% ห้องสมุด 12.9% ส่วนผลการปฏิบัติการด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิว คืนวันที่ 19 พ.ค.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 20 พ.ค. มีผู้ออกนอกเคหสถาน 301 คน ลดลงจากคืนก่อน 13 คน ชุมนุม มั่วสุม 26 คน ลดลงจากคืนก่อน 11 คน ซึ่งการดื่มสุรายังเป็นการกระทำผิดที่มากที่สุด
     เมื่อถามว่า เหตุใดแพลตฟอร์มไทยชนะต้องเก็บข้อมูลเช็กอินของประชาชนไว้ถึง 60 วัน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า อธิบดีกรมควบคุมโรคให้ชุดข้อมูลว่า เราใช้ประสบการณ์จากกรณีสนามมวยที่มีผู้ติดเชื้อถึง 4 รุ่น แต่ละรุ่นใช้เวลา 14 วัน เมื่อรวมกันแล้วจะใช้เวลา 60 วัน หรือ 2 เดือน ทุกอย่างมีหลักการและเหตุผลทั้งสิ้น
    ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ติดเชื้อโควิดจะแสดงอาการเพียง 20% และไม่แสดงอาการ 80% เมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทยที่มีอยู่ 3,034 ราย แสดงว่าเรามีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการอีก 1.2  หมื่นรายหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า คงไม่ใช่บัญญัติไตรยางศ์ที่เอาตัวเลขมาเทียบเคียงง่ายๆ แบบนั้น  เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนวณ ตอนนี้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการเท่าไรไม่ทราบ เพราะเราจะยึดตัวเลขผู้ป่วยที่มีการยืนยันและตัวเลขสะสม ส่วนกระบวนการคิดให้ทางนักระบาดวิทยาเป็นผู้ให้ข้อมูลดีกว่า แต่มันไม่ได้สรุปง่ายๆ ว่าเรามีป่วยแล้ว 1.2 หมื่นราย
    เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการผ่อนปรนออกมาเคลื่อนไหว เช่น  สนามมวย ร้านนวดแผนไทย ศบค.จะมีข้อแนะนำอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เป็นที่รับทราบว่าทุกคนต้องหาเลี้ยงชีพ ศบค.มีการคุยกันในรายละเอียดเรื่องนี้ในทุกแง่ทุกมุม และมาแบ่งการผ่อนคลายเป็นระยะต่างๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับการผ่อนคลายขณะนี้ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการให้ดี และหากตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังอยู่หลักเดียวเรื่อยๆ ก็มีโอกาสจะได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ต่อไป ขอย้ำว่าในระหว่างนี้อย่าปล่อยเวลาผ่านไปเฉยๆ ฝากให้ช่วยคิดมาตรการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่ติดโรค
เทคโนโลยีของไทยไม่แพ้ชาติใด
    ที่กระทรวงสาธารณสุข? (สธ.) นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงก่อนหน้านี้เคยพบโรคไข้หวัดใหญ่สเปนระบาด มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 40 ล้านคน ขณะนี้เป็นช่วงการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ในยุคใหม่ที่เป็นยุคดิจิทัล มีความเชื่อมั่นว่าความพร้อมด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น และเราก็ไม่อยากเห็นผู้เสียชีวิตของทั้งโลกในช่วงโควิด-19 ในหลัก 40 ล้านคนเหมือนไข้หวัดใหญ่สเปน
    "วันนี้อะไรที่ต้องเร็ว อะไรที่ต้องเยอะ จะต้องจัดการอย่างไรให้อยู่หมัดอยู่มือภายใต้เทคโนโลยีที่สูง  โดยจะต้องใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันมารองรับในการควบคุมจัดการดูแลรักษาโรค ไปจนถึงมาตรการผ่อนปรนของผู้ประกอบการ ดังนั้นแอปต่างๆ จะมีมาเป็นระยะ" นพ.บัญชากล่าว
    ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แอป "หมอชนะ" มีการประสานงานกับแพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" ซึ่งดำเนินการโดย ศบค. เป็นแอปที่เกิดจากหลายภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ด้านความปลอดภัยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาดูแลกำกับ ในส่วนระบบการระบุตัวตนจะถูกเก็บรักษาเพื่อใช้ในการสอบสวนโรคเกี่ยวกับประวัติการเดินทาง โดยการใช้แอปหมอชนะจะช่วยบันทึกการเดินทาง และในวันหนึ่งอาจจะมีข้อความแจ้งเตือนขึ้นมาว่า เมื่อ 5 วันก่อนมีผู้ป่วยยืนยันที่เดินทางทับเส้นทางกันหรือใกล้กันในระยะที่แอปบันทึกไว้ แต่จะไม่มีการระบุตัวตนของผู้ป่วย หลังจากนั้นจะมีคำเตือนขึ้นมา เช่นการแนะนำให้กักกันตัวเองที่บ้าน การเข้าตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งมีการประเมินความเสี่ยงของตนเอง เพื่อลดการซักประวัติคัดกรองภายในโรงพยาบาล ลดการใช้เวลาในการซักถามข้อมูล รองรับมาตรการผ่อนคลายในระยะต่างๆ ที่จะมีผู้คนเดินทางมากขึ้น
    นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้สำเร็จว่า ก่อนหน้านี้มีการขอให้ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19  บริจาคพลาสมา เนื่องจากผู้ที่หายป่วยแล้วสุขภาพกายแข็งแรงขึ้นภายใน 60 วัน สามารถไปที่สภากาชาดไทยหรือทุกที่เพื่อบริจาคเลือด โดยเชื่อว่าเลือดจะมีภูมิคุ้มกัน แต่ระดับภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา โดยสถาบันบําราศนราดูรเป็นที่แรกที่ใช้พลาสมา โดยใช้เลือดจากคนขับแท็กซี่ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ทั้งนี้พลาสมาสามารถพัฒนาต่อให้ใกล้เคียงกับยา จึงเป็นเรื่องดีถ้าหากว่าสามารถที่จะรักษาผู้ป่วย ช่วยให้ตอบสนองต่อการดูแลรักษาพยาบาล โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลว่าโรงพยาบาลไหนมีความสำเร็จในการใช้พลาสมาเพื่อรักษาผู้ป่วย
    นพ.อนุพงศ์กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะมีคนไทยที่กลับมาจากประเทศรัสเซียกับประเทศบราซิลจำนวน 400 คน ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั่วโลก ประเทศบราซิลและประเทศรัสเซียมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่ามาตรการกักกันของรัฐมีความเข้มข้นมาก ส่วนการติดเชื้อภายในประเทศขอให้ประชาชนช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ความร่วมมือในการเข้าไปใช้สถานประกอบการหรือกิจการต่างๆ ที่ได้มีการผ่อนปรน ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 4 ของการผ่อนปรนในระยะที่ 2 จึงอยากเห็นกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่มีร้านอาหารมากมายได้ให้ความร่วมมือ โดยให้ประชาชนเช็กอินเมื่อเข้าใช้บริการและมีการประเมินผลถึงความปลอดภัย ความสะอาดตามมาตรการต่างๆ ของรัฐ 
ใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยรายแรก
    ที่ จ.สงขลา รศ.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโควิดไปแล้ว 30 ราย โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยหรือคนไข้อาการวิกฤติ สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิดโดยใช้พลาสมาจากผู้ป่วยโควิดที่หายเป็นปกติ และประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของภาคใต้นั้น ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นเพศชาย ซึ่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ส่งทีมแพทย์และพยาบาลเดินทางไปรับตัวผู้ป่วยรายนี้มาจาก จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาการหนัก ปอดอักเสบรุนแรง ออกซิเจนในเลือดและค่าการหายใจแย่ลง เกิดเป็นอาการหายใจล้มเหลวและต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
        นอกจากนี้หลังจากมีการให้ยารักษาสูตรมาตรฐานหรือยาต้านไวรัสเป็นเวลา 3 วัน ผู้ป่วยก็ไม่ได้มีอาการดีขึ้น และเป็นเวลาเดียวกันกับที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้รับบริจาคพลาสมาจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโควิดกับโรงพยาบาลและหายป่วยเป็นคนแรก ทีมแพทย์จึงตัดสินใจในการใช้พลาสมาที่ได้รับบริจาคในครั้งนี้จำนวน 600 ซีซี มาทำการรักษาผู้ป่วยวิกฤติชาว จ.นราธิวาสรายดังกล่าว
    “โดยวิธีการรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้พลาสมานั้นเป็นวิธีการรักษาทางเลือก และใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการใช้ยาตามสูตรมาตรฐานหรือยาต้านไวรัสเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้แพทย์ได้ให้พลาสมาแก่ผู้ป่วยไปทั้งหมด 2 โดส หรือครั้งละ 200 ซีซี ติดต่อกันเป็นจำนวน 2 ครั้ง และผลปรากฏว่า ในระยะเวลา 3-4 วัน ผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ในวันที่  4 หลังได้รับพลาสมา และพักฟื้นจนกระทั่งหายเป็นปกติ และสามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้วเมื่อวานนี้  การรักษาด้วยพลาสมานี้เป็นเพียงแค่รายการการรักษาเคสแรกเท่านั้น และไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโควิดทุกคนจะสามารถรักษาด้วยพลาสมาแล้วจะหายเป็นปกติได้ทุกราย" รศ.นพ.ศรัญญูกล่าว
    ทั้งนี้ แพทย์ได้ขอเชิญชวนให้ผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายเป็นปกติแล้วร่วมบริจาคพลาสมาเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะในรายที่วิกฤติหรือมีอาการหนัก ซึ่งหากมีความเข้ากันได้ก็จะสามารถใช้รักษาผู้ป่วยให้หายได้ 
    วันเดียวกันที่ สธ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2563 "ไทยรู้ สู้วิกฤติ" เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-?19 พร้อมปาฐกถาพิเศษและเสวนาทางไกล "PP&P โอกาสในวิกฤติ"  
    โดยนายอนุทินกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของคนไทยและความทุ่มเทเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง ปัจจัยสำคัญคือความเข้มแข็งและมั่นคงของระบบสาธารณสุข ทั้งระบบเฝ้าระวังรับรู้เร็ว โต้ตอบจัดการโรคทันท่วงที การตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับประเทศ มีคณะกรรมการโรคติดต่อทั้งระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด ความเข้มแข็งในการตรวจคัดกรอง ณ ท่าอากาศยานทุกแห่ง ด่านชายแดนและด่านท่าเรือ หน่วยคัดกรองโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล และการค้นหาเชิงรุก 
21 พ.ค.เคาะ พรก.ฉุกเฉิน
    "ซึ่งมี อสม.ทั่วประเทศกว่า 1,040,000 คนช่วยค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว นำเข้าสู่ระบบแยกกักและจัดการดูแลกลุ่มป่วยและกลุ่มเสี่ยง เพื่อการควบคุมการแพร่เชื้อโดยไม่ต้องสร้างโรงพยาบาลใหม่  การปรับปรุงโรงพยาบาลรัฐหรือโรงแรมของเอกชนให้เป็นโรงพยาบาลสนาม สำรองยารักษาและเตรียมการจัดหาและผลิตวัคซีน รวมทั้งศักยภาพในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีอย่างน้อย 1 ห้องแล็บ  1 จังหวัด ขณะนี้มี 167 แห่ง ศักยภาพการตรวจได้ถึง 50,000 ตัวอย่างต่อวัน ซึ่งผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคจะได้รับการตรวจโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากติดเชื้อโควิด-19 รักษาฟรี ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และขณะนี้ไทยเข้าสู่ระยะการผ่อนปรน ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาและรับรองมาตรฐานการดำเนินงานของสถานประกอบการและสถานที่สาธารณะเพื่อเปิดให้บริการอย่างปลอดภัย" นายอนุทินกล่าว
    นอกจากนี้ นายอนุทินได้เสวนาทางไกลกับ ดร.อู่ จิ้ง กรรมาธิการสาธารณสุข มณฑลซานซี  สาธารณรัฐประชาชนจีน และ ดร.ฌอน วาซู ผู้อำนวยการศูนย์คลินิกโรคติดต่อแห่งชาติ สิงคโปร์ หลังการประชุมนายอนุทินกล่าวว่า เป็นการหารือมาตรการรับมือการระบาดของโควิดของประเทศต่างๆ ซึ่งนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน เป็นความรู้และทราบว่าล้วนใช้วิธีใกล้เคียงกัน คือต้องเข้มข้นในมาตรการเว้นระยะห่าง ขณะที่ภาครัฐก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด 
    "ในเรื่องของยา ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหา Favipiravir สะสมไว้ทั้งสิ้นกว่า 5 แสนเม็ด  แบ่งใช้ไปแล้วบ้าง แต่ก็เพียงพอต่อความต้องการ ยาตัวนี้มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนั้นยังเก็บพลาสมา และยาชนิดต่างไว้ด้วยเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษา ขณะที่ Remdesivir และ Chloroquine สั่งให้นำมาสต๊อกไว้แล้วเช่นกัน แต่ไม่อยากให้ใครต้องใช้ยา เพราะไม่อยากเห็นการติดเชื้อเพิ่ม นอกจากนั้นถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ไม่ประมาท ได้ให้ทุกจังหวัดต้องมีโรงพยาลาลโควิด-19 เพื่อรับมือสถานการณ์ไม่คาดคิดหลังคลายล็อก" นายอนุทินกล่าว
    นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เสนอให้พิจารณาเปิดโรงเรียนในพื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องมีการเสนอให้ศบค.เป็นผู้พิจารณาสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ว่าจะสามารถเปิดโรงเรียนได้หรือไม่ ซึ่ง ศธ.ได้เสนอเรื่องให้ ศบค.ไปแล้ว อีกทั้ง ศธ.ก็กำลังศึกษากลุ่มโรงเรียนต่างๆ ว่าโรงเรียนไหนมีความพร้อม หรือมีศักยภาพในการบริหารจัดการโรงเรียนได้ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ เพราะการเปิดโรงเรียนจะต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากโรงเรียนอยู่ในกลุ่มโซนสีแดง แต่ขณะนี้กำหนดการเปิดภาคเรียนที่  1/2563 ก็ยังคงเป็นวันที่ 1 กรกฎาคมตามเดิม อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ เราทุกคนยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอยู่
    ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า เวลา 09.30 น. วันที่ 21 พ.ค. สมช.มีกำหนดการประชุมเพื่อพิจารณาการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ได้มีประกาศในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และได้ขยายเวลาประกาศบังคับใช้จะครบกำหนดวันที่ 31 พ.ค.นี้  ภายหลังการประชุมประมาณเวลา 11.00 น.จะมีการแถลงข่าว โดยการพิจารณาของ สมช.ไม่ได้ใช้โพลใดๆ เป็นตัวตัดสิน แต่ใช้สถานการณ์โควิด-19 ด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ ต้องเข้าใจก่อนว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น ณ วันนี้มีผลจากมาตรการต่างๆ เดือนที่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ดีขึ้นในวันนี้เป็นผลจากช่วงที่ผ่านมา 
    "ถ้าเราจะตัดสินใจทำอะไรเพื่อทำให้อนาคตดีขึ้น ต้องดูสถานการณ์ดีหรือไม่ดีวันนี้เป็นตัวตัดสิน รวมถึงมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ดูหลายอย่างด้วย สำคัญต้องถามจากสาธารณสุขเป็นหลัก เพราะผมให้ความสำคัญสาธารณสุขเป็นหลัก ถ้าต้องการเครื่องมือนี้ต่อไปก็โอเค หรือถ้า พ.ร.บ.โรคติดต่อทำได้ก็ได้โอเค โดยการประชุมได้เชิญตัวแทนจากสาธารณสุขและภาคเอกชนเข้าร่วม ผลการประชุมถือเป็นแค่มติ สมช.ต้องเข้าที่ประชุม ศบค.ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม. แต่หาก ครม.เห็นเป็นอย่างอื่นก็แล้วแต่ สำหรับการประชุม ศบค.ปกติที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค.จะประชุมทุกวันศุกร์ ซึ่งต้องรอหนังสือยืนยันการประชุม ศบค.อย่างเป็นทางการก่อน" พล.อ.สมศักดิ์กล่าว
    ที่ จ.ภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ภูเก็ตแจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 5  มกราคม - 19 พฤษภาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 225 ราย (ไม่พบรายใหม่) โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 203 ราย (ไม่มีกลับบ้านเพิ่ม) เสียชีวิต 3 ราย (ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม) จำหน่าย 1 ราย (ไม่มีจำหน่ายเพิ่ม) กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 18 ราย ทุกรายอาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 6,504 ราย (รายใหม่ 72 ราย) โดยยังคงรักษาพยาบาล 69 ราย.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"