โควิด-19 ย้ำให้ทบทวน เสรีนิยมตะวันตกกับวิถีตะวันออก


เพิ่มเพื่อน    

 

         เมื่อวานผมตั้งประเด็นว่า โลกหลังโควิด-19 จะเกิดการสลับขั้วอำนาจยักษ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หรือไม่

                หรือจะกลายเป็น “โลกหลายขั้ว”

                หรือจะเป็น “โลกแยกข้าง” ที่นักวิชาการเรียกว่า “de-coupling”

                คำถามใหญ่ก็คือว่า ไทยเราจะวางตัวเองไว้ตรงไหนของสมการใหม่

 

                อาจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักรัฐศาสตร์ที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของโลกที่ผมชวนสนทนาด้วยบ่อยๆ เขียนวิเคราะห์ไว้น่าสนใจ

                เมื่อวานผมเอาบางตอนของบทวิเคราะห์นั้นมาเล่าให้ฟัง เป็นมิติด้านการแพทย์ แต่ยังมีมิติด้านเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมที่ควรแก่การพิเคราะห์เจาะลึกอย่างยิ่ง

                อาจารย์เอนกเขียนเพิ่มเติมบางตอนว่า

                ในยามที่วิกฤติใหญ่ของโลกมาเยือนนั้น ตลาด หรือตลาดโลก จะถูกรัฐ โดยเฉพาะมหาอำนาจแทรกแทรง เป็นเศรษฐกิจที่ถูกรัฐจัดการจนตลาดแทบหมดความหมาย

                อาจเรียกได้ว่าเป็น managed global capitalism หรือเป็นระบบ “พาณิชยนิยมใหม่”  (Neo-Mercantilism) ที่รัฐเข้ามาชี้นำ-จัดการเศรษฐกิจอย่างหนัก ขะมักเขม้นปกป้องอุตสาหกรรมหลัก กีดกันสินค้านำเข้า เป็น “ชาตินิยม” ทางเศรษฐกิจชัดเจน ยอมรับระบบตลาดก็เพียงแต่น้อย ทั้งไม่รับอุดมคติโลกาภิวัตน์

                รัฐบาลจะมุ่งสร้างความเพียงพอ ความเข้มแข็ง และขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจชาติเป็นสำคัญ

                โมเดลทางเศรษฐกิจแบบนี้อย่าประมาท อาจกลับมาเป็นกระแสหลักได้ สืบต่อจากที่โควิดระบาดไปทั่วโลก

                ฉะนั้น หลังจากนี้ รัฐที่สนใจ น่าจะมีการสร้างให้ทุนนิยมหรือระบบตลาดของตนมีสาระและเป้าหมายในทางสังคมด้วย แทนที่จะยอมให้มีแต่การแข่งขันล้วนๆ

                เช่น เป็นไปได้ไหมที่จะมีทุนนิยม “เพื่อคนยากจน หรือคนด้อยโอกาส” หรือมีทุนนิยมที่ “เอื้อหนุนสิ่งแวดล้อมที่ดี” หรือมีกระทั่งทุนนิยม ”เพื่อสุขอนามัยโลก” หรือทุนนิยมที่เปิดให้มี “เศรษฐกิจพอเพียง” เคียงคู่กันไป การคิดแบบนี้ทำนองนี้จะทำให้เราออกจากกระบวนทัศน์เดิม

                ในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น แนวคิดตะวันตกอย่าง “เสรีนิยม” และ ”ประชาธิปไตย” เมื่อวัดจากการสู้ภัยโควิด ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสักเท่าไร

                การแก้ปัญหายามวิกฤตินั้น ความจริงแล้ว ชาติที่ทำได้สำเร็จ ไม่ใช่ “แม่แบบ” ของระบอบประชาธิปไตย เช่น อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ

                ประเทศเหล่านี้ดูแล้วล้วนแต่ “พ่ายแพ้” หรือ “บาดเจ็บอย่างหนัก” จากสงครามโควิด-19

                แม้แต่ความเข้มแข็ง ชอบธรรม หรือความดีของอุดมการณ์ “เสรีนิยม” ก็ควรคิดทบทวนใหม่

                แต่ไหนแต่ไรมาสำนัก “เสรีนิยม” นั้น มองว่า สังคมอันประกอบไปด้วยปัจเจกชนนั้นเป็นจุดก่อกำเนิดของรัฐ

                การมีรัฐนั้นจะต้องตอบสนองต่อปัจเจกชน และสิ่งที่คนตะวันตกหวงแหนที่สุด ต้องการเป็นที่สุด ก็คือ “ความเป็นส่วนตัว” และ “สิทธิเสรีภาพ“

                สำนักเสรีนิยมจึงได้สอนว่ารัฐนั้นต้องแทรกแซงหรือบงการสังคมให้น้อยที่สุด

                ทว่า ในความเป็นจริง ครั้นเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก รัฐบาลล้วนจำต้อง “lockdown” เมืองและประเทศ

                ผู้คนตะวันตกในหลายประเทศจำนวนไม่น้อย ทนไม่ได้ ชุมนุมประท้วงการ ”ปิดเมือง” และพูดถึงขนาดว่า “จะมีคนตายไปบ้างก็ไม่เป็นไร” และ “อะไรจะเกิดก็ช่าง เศรษฐกิจจะต้องดำเนินต่อไป”

                เกือบจะตรงข้าม ในด้านตะวันออกของโลก ความคิดดั้งเดิม ที่ไม่ถูกครอบงำด้วยคติเสรีนิยมเสียทั้งหมด ทำให้ผู้คนยังสนใจเพื่อนบ้าน สนใจและห่วงใยในญาติพี่น้อง เห็นใจ สงสารคนในชาติ พร้อมกันนั้นก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้กำลังใจ ช่วยเหลือคนอื่น พากัน “ยอมเจ็บ” ในเรื่องการงาน เรื่องอาชีพ และธุรกิจ ยอมสูญเสียเสรีภาพชั่วขณะ กักตัวเองในบ้าน

                ส่วนรัฐเองนั้น ก็แสดงบทบาท มีการสั่งการ บังคับ เพื่อจะปกป้องชีวิตผู้คน รัฐบาลไทยดูจะทำอะไรได้ค่อนข้างเต็มที่ ไม่ถูกพันธนาการไว้ด้วยข้ออ้างหรือข้อห้าม อันสืบเนื่องมาจาก “สิทธิเสรีภาพ” มากนัก

                ความจริงสังคมไทยก็สนใจและกังวลเรื่องสิทธิและเสรีภาพอยู่พอควร แต่ก็ไม่เท่ากับที่เป็นไปในตะวันตก

                และในการปฏิบัติ ไทยมีแนวทางของตนเองในการสู้โควิด-19 ที่ค่อนข้างจะได้ผล

                เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว แนวการเมืองและสังคมในโลกก็ใช่มีเพียง “เสรีนิยม” สุดขั้ว หรือมีเพียง “ประชาธิปไตย” สุดขั้วเท่านั้น

                มีความแตกต่างกันในแต่ละที่ แต่ละส่วนของโลก มีแนวทางและส่วนผสมจากหลายแหล่ง ที่ผสมผสานได้ด้วยตนเอง แต่ละที่ทำเองได้มากขึ้น

                กล่าวโดยรวม โลกยุคหลังโควิดนั้นน่าจะเป็นโลกที่ในความคิดและการปฏิบัติ “ก้าวข้ามตะวันตก” หรือเป็นโลกยุค “หลังตะวันตก” ไปในตัว 

                เพราะขณะนี้หมดเวลาแล้วที่ฝ่าย “ตะวันตก” จะเป็นใหญ่แต่ฝ่ายเดียว สั่งสอนและให้ความรู้แต่ฝ่ายเดียว ฝ่าย ”ตะวันออก” นั้นจะสำคัญขึ้น มีอะไรดีๆ มอบแก่โลก แม้แต่ในด้านอุดมคติและแนวทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมด้วย พูดอีกอย่างได้ว่า โลกมีทีท่าว่าจะออกจากแนว “ตะวันตกนิยม” แท้ๆ หรือ “ตะวันตกนิยมสุดขั้ว” ไปสู่กรอบใหม่ ที่ไม่ปฏิเสธตะวันตก แต่สนใจที่จะดึงเอา เลือกเอา ซึ่งสิ่งที่ดี สิ่งที่มีคุณค่า จากโลกตะวันออกมาผสมด้วย ซึ่งผมจะเรียกกรอบความคิดใหม่นี้ว่า “ก้าวข้ามตะวันตก” หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า “Post-Westernism”

                ซึ่งขอย้ำ ณ ที่นี้ว่า ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้ง “ตะวันตก” ไปเสียหมด หากแต่จะกล้ารับเอาอะไรที่ดี ที่เหมาะสม ที่ถูกต้องของ “ตะวันออก” เข้ามาผสมผสานด้วย จึงจะทำให้อยู่กับวิกฤติและฝ่ามันไปได้  

                ตัวอย่างของความคิดแบบก้าวข้ามตะวันตก (Post-Westernism) ที่กลั่นกรองจากเหตุการณ์โควิด-19 ในไทยนั้น มีอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม?

                ขอเสนอว่า อาจหมายถึงว่าหน่วยหลักของเศรษฐกิจไทยนั้นควรมี “บ้านและชุมชน” อยู่ด้วย

                ซึ่งย่อมจะต่างไปจากความคิดตะวันตกพอควรที่เชื่อว่าหน่วยหลักเศรษฐกิจนั้น คือ โรงงาน หรือออฟฟิศ หรือเมือง แต่ของไทยเรานั้น ควรจะเป็นบ้านและชุมชน ซึ่งอยู่ทั้งในเมืองและชนบท

                อีกเรื่องหนึ่ง คือแง่คิดตะวันออกนั้น เราล้วนเป็น ”มนุษย์รวมหมู่” กัน มากกว่าเป็น “มนุษย์ปัจเจก” แบบตะวันตก

                เรานั้นไม่ได้ชื่นชมการอยู่และทำงานด้วยตนเองเท่านั้น แต่เราชอบช่วยเหลือกัน ห่วงใยกัน สงสารกัน ควรเห็นว่านี่เป็นของดี ของจริง และยอมรับว่า มันเป็นจุดแข็งของไทย

                ผมยังคิดต่อด้วยว่า “ของดี” “ของเด่น” “เรื่องดี” “เรื่องน่าสนใจ” ของไทยนั้น นักวิชาการไทยต้องเร่งสร้างทฤษฎีขึ้นมาอธิบาย อย่าอาศัยทฤษฎีตะวันตกร่ำไป เสร็จแล้ว เผยแพร่ ส่งความรู้แบบไทย “ออกนอก” กันบ้าง

                เป็นเวลานานเต็มทีแล้วที่พวกเราเป็นแค่พวก “รับหรือนำเข้า” ความรู้ของฝรั่ง

                แต่หลังโควิด-19 นี้ เราควรมองความรู้ไทย ความรู้ตะวันออก ทั้งที่มีมาแต่ดั้งเดิม ทั้งที่นำมาจากตะวันตกแล้วประยุกต์ใช้ในยุคสมัยใหม่ แต่มีข้อสรุป หรือมีทฤษฎีที่แตกต่างจากของ “ฝรั่ง” เจ้าของเดิมนั้น และเร่ง “ส่งออก” ความรู้ของเราไปให้โลกภายนอกได้รับรู้ด้วย

                ข้อเสนอของอาจารย์เอนกควรจะได้รับการวิพากษ์วิเคราะห์เพื่อหา “แนวทางใหม่” สำหรับประเทศไทยในยุคหลังโควิดที่กำลังจะมาเขย่าขวัญเราอีกรอบหนึ่งอย่างแน่แท้แน่นอน!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"