วิกฤตชีวิตตกงานในยุค Covid 19 และ New Normal


เพิ่มเพื่อน    

 

แม้ว่าการแพร่เชื้อของไวรัส Covid 19 ในประเทศจะมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลได้ผ่อนคลายการควบคุมพื้นที่ในระยะที่สองแล้วแต่ประเด็นความท้าทายที่อยู่เบื้องหน้านั้นยังคงมีอยู่ให้ต้องแก้ไขในหลายมิติ

ในมิติของความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้น ต้องยอมรับว่าไวรัส Covid 19  เป็นตัวเร่งให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายวงถ่างออกอย่างกว้างขวาง  ผู้คนจำนวนมากต้องตกงานและกลายเป็นคนว่างงานแบบไม่ได้ตั้งตัว World Economic Forum ได้ประเมินว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้อาจทำให้ประชากรของโลกครึ่งหนึ่งมีความเสี่ยงต่อการตกงาน  เห็นได้จากในอมริกาที่มีผู้คนยื่นขอความช่วยเหลือเพราะตกงานจากพิษของการแพร่ระบาดครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 30 ล้านคนแล้วซึ่งทำให้หลายสำนักมีความกังวลว่าเศรษฐกิจของอเมริกากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยใกล้เคียงกับช่วงของ Great Depression แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงทางเศรษฐศาตร์อยู่หลายประการ

สำหรับประเทศไทยนั้น  คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประเมินไว้ก่อนหน้าว่า ในเดือนมิถุนายนนี้อาจมีแรงงานตกงานถึงกว่า 7 ล้านคน (จำนวน 6.7 ล้านคนมีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือนและจำนวนกว่า 50%  อยู่ในประเภทศูนย์การค้าและการค้าปลีก) จากจำนวนเกือบ 40 ล้านคนในภาคแรงงาน  ดังนั้นการปลดล๊อคการควบคุมพื้นที่ในระยะที่สองและระยะต่อๆไปจึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงส่งผลต่อจำนวนผู้ตกงานอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับภาคการเกษตรนั้น หากใช้คำจำกัดความของ “ครัวเรือนเกษตร” ว่าหมายถึง มีอย่างน้อย 1 คนในครอบครัวทำการเกษตรแล้ว จะมีครัวเรือนถึงกว่า 15 ล้านครัวเรือนที่เป็นครัวเรือนเกษตรและทั้งหมดหรือส่วนใหญ่นั้นอาจจะเข้าเงื่อนไขการได้รับการเยียวยาเหมือนผู้ได้รับผลกระทบร่วม 16 ล้านคนที่กระทรวงการคลังให้ความช่วยเหลือรายละ 15,000 บาท (และยังมีตกสำรวจเช่นกลุ่มเปราะบางและผู้ขอทบทวนสิทธิ์อีกจำนวนมาก)  ซึ่งเงินเยียวยาดังกล่าวก็จะประทังชีวิตได้เพียงระยะหนึ่งแต่ที่กำลังตามมาคือจำนวนผู้ตกงานที่เพิ่มมากขึ้นและจะส่งผลต่อปัญหาอื่นๆนานับประการ

เมื่อเงินช่วยเหลือหมดลงก็จะนำไปสู่การกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบ ผู้คนได้ตัดสินใจกลับบ้านภูมิลำเนาเดิมที่อย่างน้อยก็มีอาหารประทังชีวิตแต่ก็พบเจอกับปัญหาภัยแล้งและผลผลิตที่ล้นตลาดเนื่องจากพิษเศรษฐกิจและปัญหาการส่งออกไม่ได้

แม้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว  การจ้างงานกลับเข้าตลาดแรงงานจะไม่ได้จำนวนเท่าเดิม เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้เกิดมิติใหม่ในตลาดแรงงานว่ามีหลายตำแหน่งงานไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปซึ่งหมายถึงว่าในหลายๆกิจการได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ (New Normal) และถูกเปลี่ยนไปแบบ disrupted ที่มีไวรัส Covid 19 เป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้นและในหลายกิจการได้เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและฝังรากลึก  วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้แม้จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางถ้วนทั่วทั้งรวยจนแต่ต้องยอมรับว่าการตกงานว่างงานส่งผลให้สังคมไทยเปราะบางมากขึ้นแม้จะได้เห็นปรากฏการณ์การปันสุขของผู้คนในสังคมบ้างก็ตาม 

แนวทางแก้ไขที่สำคัญในระยะสั้นขณะนี้คือต้องเน้นให้คนมีงานทำ มีรายได้  เกษตรกรสามารถผลิตแข่งขันและขายได้  ซึ่งในระยะยาวนั้นจะต้องเร่งให้มีการพัฒนาภาคการเกษตรให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ สนับสนุนส่งเสริมแรงงานไทยเป็นแรงงานมีฝีมือ เพิ่มทักษะตนเองอยู่เสมอ (upskill/reskill) และต้องเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องในทุกๆรัฐบาลและกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง

                                                                                   

เทวัญ   อุทัยวัฒน์

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"