20 พ.ค.2563 - ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์บทความเรื่อง “ข้อควรรู้เมื่อการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ” บนเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาระบุว่า เดิมทีเดียวพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มีแต่เพียงบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องล้มละลาย ไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลประสบปัญหามีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ลูกหนี้จึงต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายทั้ง ๆ ที่กิจการของลูกหนี้อยู่ในสภาพที่จะฟื้นฟูให้กลับมาดีเป็นปกติได้ หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงินตามสมควรและมีการแก้ไขจัดการปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม ต่อมาจึงได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 เพื่อบัญญัติเรื่องการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย ด้วย ทำให้ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลไม่ต้องล้มละลายและมีโอกาสในการฟื้นฟูกิจการให้กลับมาเป็นปกติ และได้รับประโยชน์หลายอย่างจากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีข้อควรรู้ที่น่าสนใจหลายอย่างเมื่อบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (การบินไทย) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ดังนี้
1.คำร้องขอฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายจะระบุถึงความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้หรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนด รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผน และหนังสือยินยอมของผู้ทำแผน โดยผู้ทำแผนอาจเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล เจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ก็ได้ มีข้อสังเกตว่าในชั้นยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจะยังไม่มีการระบุถึงแผนฟื้นฟูกิจการไว้ในคำร้อง โดยขั้นตอนการทำแผนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย จะเป็นขั้นตอนภายหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว
2.เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว การบินไทย ลูกหนี้ จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 94/12 ภายใต้หลักการการพักบังคับชำระหนี้โดยอัตโนมัติ (Automatic Stay) ที่เป็นมาตรการคุ้มครองลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสดำเนินกิจการและฟื้นฟูกิจการของตน โดยปราศจากการฟ้องร้องบังคับชำระหนี้จากบรรดาเจ้าหนี้ และยังเป็นการป้องกันการแย่งบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ของบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ด้วย การกระทำใด ๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนการพักบังคับชำระหนี้จะไม่มีผลใด ๆ ตามกฎหมาย
3.ประมวลกฎหมายล้มละลาย (The Bankruptcy Code) ของสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มใช้บังคับในปี ค.ศ. 1978 โดยอยู่ใน Title 11 ของประมวลกฎหมายสหรัฐ (United States Code) มีสถานะเป็นกฎหมายระดับสหพันธรัฐ (Federal Law) ซึ่งใช้บังคับกับคดีล้มละลายทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ได้บัญญัติเรื่อง การพักบังคับชำระหนี้โดยอัตโนมัติ (Automatic Stay) นี้ไว้เช่นเดียวกันในมาตรา 362 ดังนั้น หากมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในสหรัฐอเมริกา ตาม Chapter 11 การฟื้นฟูกิจการ (Reorganization) ของประมวลกฎหมายล้มละลายดังกล่าว การบินไทย ลูกหนี้ ก็จะได้รับความคุ้มครองตามหลัก Automatic Stay เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในศาลสหรัฐอเมริกาอาจเป็นการยื่นคำร้องโดยความสมัครใจของลูกหนี้ (Voluntary Reorganizations) โดยลูกหนี้ไม่จำเป็นต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ว่าลูกหนี้ต้องแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดและเหตุผลที่เหมาะสมในการขอให้มีการฟื้นฟูกิจการ โดยปกติแล้วศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยทันที หรืออาจเป็นการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยลูกหนี้ไม่สมัครใจ (Involuntary Reorganizations) ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องขอโดยเจ้าหนี้ก็ได้ โดยหากเป็นกรณีนี้แล้ว ศาลจะยังไม่ให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้ทำการไต่สวนให้ได้ความจริงตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ลูกหนี้
4.ปัญหาใด ๆ ที่การบินไทยเคยประสบจนทำให้นำมาสู่ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินจนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปัจจุบันนั้น สามารถที่จะกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูองค์กรไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ เช่น แผนการดำเนินธุรกิจ แผนการปฏิรูปและปรับโครงสร้างองค์กร แผนการปรับโครงสร้างหนี้ แผนการบริหารจัดการทรัพย์สิน แผนการบริหารและจัดการทรัพยากรบุคคล แผนการปรับปรุงเส้นทางการบิน เป็นต้น
5.การฟื้นฟูกิจการเป็นการเปิดโอกาสให้มีการสรรหาผู้บริหารที่มีความสามารถเหมาะสมให้มาทำหน้าที่บริหารกิจการของการบินไทยในสภาวะที่ประสบปัญหาวิกฤต โดยเมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว อำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารลูกหนี้ คือ การบินไทย จะสิ้นสุดลง
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน อำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของการบินไทยจะตกมาเป็นของผู้บริหารชั่วคราวที่ศาลตั้งหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว อำนาจหน้าที่ดังกล่าวจะตกอยู่กับผู้ทำแผน และในกรณีที่ต่อมาศาลเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการ สิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนจะตกมาเป็นของผู้บริหารแผนแทน ทำให้อำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการกิจการและทรัพย์สินของการบินไทยจะตกมาเป็นของผู้บริหารแผนต่อไป ส่วนผู้บริหารของการบินไทยจะกลับมามีอำนาจหน้าที่เหล่านี้ตามเดิมภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว
6.เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว สิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นการบินไทยจะถูกระงับลง เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล และสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นจะตกอยู่แก่ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ทำแผน แล้วแต่กรณี
7.กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายไม่กระทบต่อการดำเนินกิจการตามปกติของการบินไทย การบินไทยยังสามารถประกอบกิจการตามปกติต่อไปได้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ แต่มีข้อจำกัดว่าห้ามการบินไทย ลูกหนี้ จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
8.เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องประกาศโฆษณาคำสั่งศาลที่ตั้งผู้ทำแผนพร้อมแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายให้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ซึ่งหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ คือ หนี้ที่มูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจพิจารณาสั่งอนุญาตหรือยกคำขอรับชำระหนี้ที่บรรดาเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้
9.ผู้ทำแผนที่ศาลตั้งจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและส่งแผนให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา รายการในแผนที่ต้องมีเป็นอย่างน้อยตาม พ.ร.บ.ล้มละลายที่น่าสนใจ ได้แก่ (1) เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ (2) รายละเอียดของสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ (3) หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ - ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ - การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ - การลดทุนและเพิ่มทุน - การก่อหนี้และระดมเงินทุน รวมตลอดถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุนดังกล่าว – การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้ - เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด (4) การไถ่ถอนหลักประกันในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกันและความรับผิดของผู้ค้ำประกัน (5) แนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน (6) วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ (7) ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทน และ (8) การแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของผู้บริหารแผน
10.แผนฟื้นฟูกิจการมีความสำคัญในการทำให้กิจการของการบินไทย ลูกหนี้ สามารถดำเนินต่อไปได้จนมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้แก่บรรดาเจ้าหนี้ได้ และฟื้นกลับมาสู่สภาวะปกติ โดยแผนจะต้องได้รับความเห็นชอบทั้งจากเจ้าหนี้และศาล
11.แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ หากเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นจะหมดสิทธิได้รับชำระหนี้ เว้นแต่แผนกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือศาลยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือเป็นหนี้ที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ
12.เงื่อนไขในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จะเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ สิทธิเรียกร้องและส่วนได้เสียที่บรรดาเจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะถูกแทนที่ด้วยข้อกำหนดในแผน โดยหลังจากที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนแล้ว หนี้เดิมของเจ้าหนี้จะถูกแทนที่ด้วยข้อกำหนดการชำระหนี้ในแผนซึ่งลูกหนี้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม
13.ระยะเวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายของไทยมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี และอาจมีการแก้ไขแผนโดยขอขยายกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี
14.ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทย เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงแล้ว ลูกหนี้ คือ การบินไทยจะหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหลายที่อาจขอรับชำระหนี้ในระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้ยื่นขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว ซึ่งทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลง
ส่วนตามประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา มาตรา 1141 (d) (1) (A) เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากบรรดาหนี้ทั้งหลายที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลเห็นชอบด้วยกับแผน ซึ่งส่งผลให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลงเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนโดยที่ไม่ต้องรอให้การฟื้นฟูกิจการเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเหมือนกฎหมายล้มละลายของประเทศไทย ทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของสหรัฐอเมริกาน่าจะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา ลูกหนี้ยังคงถูกผูกพันตามข้อกำหนดในแผนและยังมีหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้ตามแผนการชำระหนี้ที่กำหนดไว้ โดยแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลเห็นชอบสร้างสิทธิตามสัญญาขึ้นมาใหม่แทนที่สัญญาเดิมก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลเห็นชอบด้วยกับแผนจะถูกแทนที่ด้วยข้อกำหนดการชำระหนี้ในแผนซึ่งลูกหนี้ต้องปฏิบัติตาม และไม่ได้มีผลเป็นการปลดเปลื้องบุคคลธรรมดาจากหนี้ตามประมวลกฎหมายล้มละลาย มาตรา 523 ที่ไม่สามารถปลดเปลื้องได้ เช่น หนี้ค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมศุลกากร
15.หากเกิดกรณีที่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน กฎหมายล้มละลายของไทยกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้ ถ้าเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้
สำหรับท่านที่สนใจอยากทราบกระบวนการและขั้นตอนในการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายของไทย สามารถศึกษาได้จากที่ผมเขียนลงไว้แล้วในเฟซบุ๊กนี้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |