บทจะเร็ว.....
ก็เร็วปานมีดสั้นของ "ลี้คิมฮวง"
บทจะช้า....
ก็ช้าเหมือนหนังอินเดีย ข้ามภูเขา ๗ ลูก เพลงเดียวยังร้องไม่จบ
ปัญหา "การบินไทย" ที่มองไม่เห็นว่าจะจบลงได้ชาติไหน ก็ปานนั้น!
เมื่อวาน (๑๙ พ.ค.๖๓) โดยนายกฯ ประยุทธ์ เปรี้ยงเดียว
ไม่อุ้ม ไม่โอ๋ ไม่แต่ช้าแต่....
ให้ "การบินไทย" ในฐานะลูกหนี้ ยื่นขอ "ฟื้นฟูกิจการ" ต่อศาลล้มละลายกลาง
ฟื้นฟูในกรอบทิศทางที่ต้องเป็นดังต่อไปนี้
-ให้กระทรวงการคลังขายหุ้นการบินไทย ๓% ให้กองทุนวายุภักษ์ จากเดิมมีอยู่ ๕๑% เหลือ ๔๗%
"การบินไทย" พ้นสภาพ "รัฐวิสาหกิจ" ทันที
และนั่น "สหภาพฯ การบินไทย" ก็จะไม่มีในการบินไทยอีกต่อไป ต้องพ้นสภาพไปด้วย!
-บอร์ดการบินไทยต้องลาออก ตามกระบวนการปรับโครงสร้างบริหาร จาก ๘-๙ คน เหลือไว้ ๓ คน ส่วนจะเอาคนใดไว้ เป็นขั้นตอนต่อไป
จากนั้นจะตั้งมืออาชีพที่คัดสรรไว้เข้าไป ๓ คน ร่วมเป็นบอร์ดบริหารชั่วคราว
"๓ เซียนมือผ่าตัด" ที่คาดหมายกัน ก็มี......
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอ ปตท.
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน และ
นายจรัมพร โชติกเสถียร กก.บริหารแบงก์กรุงเทพ อดีตดีดีการบินไทย
นี่....
เป็นเพียงตามข่าว รัฐบาลยังไม่ได้ยืนยันว่าใช่บุคคลทั้ง ๓ นี้หรือไม่ ก็รับทราบเป็นพิมพ์เขียวไว้ก่อนละกัน
ขั้นตอนต่อไป.......
บอร์ดในชุด "๓ มือผ่าตัด" นี้ ก็จะทำคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
ศาลฯ มีคำสั่ง "รับฟื้นฟูกิจการ" วัน-เวลาไหน
วัน-เวลา จากนั้น...
หนี้สินการบินไทยเข้าสู่สถานะ "พักการชำระหนี้" ทันที!
ห้ามเจ้าหนี้ฟ้องแพ่ง ห้ามเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ห้ามฟ้องเป็นคดีล้มละลาย
ที่มีฟ้องหรือถึงขั้นอนุญาโตฯ ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้
ห้ามเจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน (เว้นที่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย)
นี่คร่าวๆ แต่ที่ควรทราบ ทั้งหมดนี้....
มีผลเฉพาะทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้คือ "การบินไทย" ในประเทศไทยเท่านั้น
"ดร.กนก จุลมนต์" ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา และรองเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตยสภา ให้ความรู้ไว้ว่า......
"เจ้าหนี้จะเป็นเจ้าหนี้ไทยหรือเจ้าหนี้ต่างประเทศยังสามารถดำเนินการฟ้องร้อง และหรือบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ไทยที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศได้
เพราะผลตามกฎหมายไทยไม่ได้มีผลคุ้มครองไปถึงทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ"
ครับ.....
นี่แค่ขั้นตอนศาลฯ มีคำสั่งรับคำขอฟื้นฟู ยังมีอานิสงส์ ตัดวงจรทั้งใน/นอกการบินไทย ได้ฉับพลันขนาดนี้
"การบริหารการบินไทยทั้งหมด" จากเดิม
เปลี่ยนถ่ายสู่บอร์ดที่มี ๓ เซียนมือผ่าตัดเป็นผู้ควบคุม/สั่งการ นอกจากขอฟื้นฟูจากศาลล้มละลายไทยแล้ว
ยังต้องไปยื่นขอฟื้นฟู ตามหมวด ๑๑ กฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ ด้วย
ที่เรียกกันว่า Chapter 11 นั่นแหละ!
เพราะเจ้าหนี้ในต่างประเทศ มีทั้งเจ้าหนี้สหรัฐฯ, อังกฤษ, เยอรมนี ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าเงินกู้สกุลยูโร ทับถมไว้ร่วมๆ หรือกว่า ๒ แสนล้าน!
ก็ต้องไปขอฟื้นฟูด้วย ไม่งั้น เขาฟ้องในต่างประเทศได้ หรือเผลอๆ บินไปจอดสนามบินโน้น-นี้ เขามาอายัดเครื่องบิน มันทั้งซวย ทั้งขายขี้หน้า
ก็ไม่จำเป็นต้องไปร้องเฉพาะที่ศาลสหรัฐฯ หรอก หลายสิบประเทศที่มีกฎหมายล้มละลายข้ามชาติ ภายใต้การรับรองของสหประชาชาติ
เช่น ที่อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือที่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะไปร้องที่ประเทศเหล่านั้นก็ได้
แต่เจ้าหนี้ขาใหญ่ที่การบินไทยค้างค่าเช่าเครื่องเป็นแสนล้าน คือที่สหรัฐฯ
ฉะนั้น ไปขอเข้า Chapter 11 ที่สหรัฐฯ หล่อสุด!
ทั้งหมดนี้ คือ กรอบและขั้นตอนคร่าวๆ ที่รัฐบาลจะสรรตัว ๓ เซียนมือผ่าตัด เข้าไปปฏิบัติการตามนโยบาย
ขั้นแรก ลดทุนทำให้การบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ เพื่อไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายรัฐวิสาหกิจก่อนเลย
ซึ่งภายใต้กฎหมายรัฐวิสาหกิจ มันมากขั้นตอนปฏิบัติ และไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจที่ต้องแข่งขันหลากหลายในความเป็นบริษัทมหาชน
เมื่อพ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ การผ่าตัดและการเข้าไปสะสางปัญหาด้วยทีมบริหารมืออาชีพก็จะคล่องตัว
ทีมมืออาชีพจะได้รีบทำแผนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เพื่อให้ทุกอย่างตามขั้นตอนลื่นไหล โดยไม่ชักช้า ยืดยาด
เพื่อให้ศาลฯ ได้พิจารณามีคำสั่งว่าจะรับ-ไม่รับแผน เมื่อรับ ทุกอย่างจะเดินหน้าตามแผนทันที
ผมประเมินว่า รัฐบาลคงไม่ช้า ตัวผู้จัดทำแผนและตัวผู้จะเสนอให้เจ้าหนี้และศาลฯ อนุมัติเป็นผู้บริหารแผน น่าจะอยู่ในมือหมดแล้ว
อย่างช้า สัปดาห์หน้าคงเห็นเป็นรูปธรรม และการบินไทยจะเข้าสู่ "ห้องผ่าตัดใหญ่" โดยทีม ๓ เซียนนักบริหารมืออาชีพ
เท่าที่เห็นแล้ว คลังลดหุ้นจาก ๕๑% เหลือ ๔๗% พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ สหภาพฯ ที่ว่าจะคัดค้านจนถึงที่สุด มันก็สุด "สูญสลาย" ไปโดยปริยายแล้ว
เงินกู้สหกรณ์กว่า ๘๐ แห่ง ยอดรวมเฉียดแสนล้านนั้น ก็ไม่ต้องห่วง จัดการภายในเป็นที่เข้าใจกันแล้ว
ไม่มีสูญ เพิ่มพูนด้วยดอกเหมือนเดิม เพียงแต่ยืดหนี้ออกไป ปี๋โป๊ดอกเบี้ยเพิ่มให้ ได้หมดก็สดชื่นกันไป
จากนั้น.....
ก็อยู่ที่ว่าทีมบริหารใหม่ของการบินไทยจะยื่นขอฟื้นฟูต่อศาลฯ ช้าหรือเร็วเท่านั้น
ยิ่งมีแผนฟื้นฟูแนบไปพร้อมคำขอฟื้นฟู ก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์กับการบินไทย ศาลฯ จะได้ดำเนินขั้นตอน หารือเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ต่อหน้าศาลฯ เร็วขึ้น
ว่าพอใจ-ตกลง-เห็นพ้องต้องกัน ตามแผน ศาลฯ จะได้อนุมัติทั้งแผนและทั้งตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้บริหารแผน ในเทอม ๕ ปี ในขั้นต้น
ของไทย กิจการต้องอยู่ภายใต้กระบวนการฟื้นฟู ๕ ปี แต่ Chapter 11 มีเงื่อนไขเป็นคุณกับลูกหนี้เร็วกว่า
อย่างเรา "การบินไทย" ไปยื่นขอฟื้นฟูตาม Chapter 11 ปั๊บ
แค่ศาลฯ มีคำสั่งเห็นชอบตามแผนเท่านั้น ถือว่า "คดีฟื้นฟูกิจการ" สิ้นสุดไปจากศาลฯ ปุ๊บเลย
"ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลฯ มีคำสั่งเห็นชอบ" ทันที!
นี่คร่าวๆ นะ นั่นหมายความว่า การจะถึงขั้นนั้น ต้องเข้าตามเงื่อนไขกฎหมายกำหนด ๓-๔ มาตราก่อน
หลักๆ คือ.......
ก่อนจะถึงศาลฯ ลูกหนี้กับเจ้าหนี้ต้องคุยตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้กันตามเทอมเวลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คือได้จูบปากกันก่อนแล้ว หวานเจี๊ยบให้เห็นในศาลฯ นั่นแหละ ศาลฯ ถึงจะมีคำสั่งเห็นชอบ
สรุป คือ "เคสยื่นที่สหรัฐฯ" ได้ออกจากกระบวนการฟื้นฟูได้เร็ว ข้อที่สำคัญต้องดีลกับเจ้าหนี้นอกศาลฯ ให้เรียบร้อยและต้องเข้าใจคำว่า "สัญญาคือสัญญา"
จะเอาแบบไทย รับปากไว้ก่อน แล้วไปเบี้ยวทีหลัง แบบนั้น chapter 11 กับเจ้าหนี้สหรัฐฯ มันเอาตายเลย!
ครับ.......
ที่คิดกันว่า การผ่าตัดแปลงเพศการบินไทยจะต้องพบอุปสรรคขวากหนามมากมาย
เอาเข้าจริง ตู่ศัลยกรรม ตัดฉับๆๆๆ สวยเช้งทันตาเห็น
ก็ดูซี....
มีเพียง ๒ เสียง คือ ไม่ชม ก็เฉย ที่ต่อต้าน ด่าทอตามปกติไทยนิยม เงียบฉี่
วันจันทร์ หุ้นการบินไทยแย่งกันขาย จนหัวปักรันเวย์เหลือ ๓ บาทกว่า
วันอังคาร พอนายกฯ ประกาศ "ผ่าตัด" แปลงเพศจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัว
แถมคลังบอกขาย ๓% ให้กองทุนวายุภักษ์ไปหุ้นละ ๔ บาทกว่า ที่หัวปัก ทะลึ่งพรวดขึ้น ๔ บาทกว่า แสดงว่าตลาดทุนขานรับแผนนี้
ก็เล่าสู่กันฟังเป็นพื้นฐานไว้ การบินไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป รอเฟส ๒ เปิดฟังต่อละกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |