ศาลสั่งคุกอ่วมก๊วน "พนม" กับพวกทุจริตเงินทอนวัดสำนวนที่ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน คืน 21 ล้าน พ่วงสำนวนที่ 5 อีก 3-4 ปี ขณะที่อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศโดนคุก 6 ปี 24 เดือน คดีฟอกเงินการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่ศาลปรานีให้รอลงอาญา 1 ปี
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.63 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนวนที่ 4 คดีหมายเลขดำ อท.32/2562 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพนม ศรศิลป์ อายุ 61 ปี อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.), นายบุญเลิศ โสภา อายุ 54 ปี อดีต ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา พศจ.ลำปาง, นางพรเพ็ญ กิตติธรางกูร อายุ 51 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองพุทธศาสนศึกษา, นายแก้ว ชิดตะขบ อายุ 54 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองพุทธศาสนศึกษา, นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อายุ 50 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นจำเลยที่ 1-5
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ, ทำ, จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารฯ ทำการรับรองหลักฐานเป็นเท็จ, เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 162 ประกอบมาตรา 83, 86 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
โดยพฤติการณ์แห่งคดีนั้น พวกจำเลยได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณของสำนักงาน พศ.ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้วัดเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงินงบประมาณ โดยมีสำนักงาน พศ.เป็นผู้เสียหาย โดยอัยการโจทก์ขอให้นับโทษจำเลยทั้ง 5 ต่อจากโทษในคดีอื่นๆ ด้วย
จำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธ พร้อมสืบพยานต่อสู้คดี ระหว่างพิจารณาคดี นายพนม อดีต ผอ.พศ.จำเลยที่ 1 และกลุ่มลูกน้องในสำนักงาน พศ. จำเลยที่ 2-5 ไม่ได้ประกันตัว ปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำ และทัณฑสถานหญิงกลาง
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยในชั้นไต่สวนแล้ว พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157, 162 (4) ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1-4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยให้จำคุกฐานเป็นเจ้าพนักงาน ที่มีหน้าที่จัดการทรัพย์ได้เบียดบังทรัพย์นั้นไปโดยมิชอบฯ ซึ่งเป็นโทษบทหนักสุดรวม 2 กระทง โดยกระทงแรกจำคุกคนละ 14 ปี และกระทงที่ 2 อีกคนละ 6 ปี รวมจำคุกคนละ 20 ปี อย่างไรก็ดีทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1-4 ไว้คนละ 13 ปี 4 เดือน และให้ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 21,007,235 บาท แก่สำนักงาน พศ. ผู้เสียหาย โดยให้นับโทษของนายพนม อดีต ผอ.พศ. จำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อท.253/2561, อท.254/2561, อท.257/2561 ของศาลอาญาคดีทุจริตฯ นี้ด้วย
ส่วนนายบุญเลิศ อดีต ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา พศจ.ลำปาง จำเลยที่ 2, นางพรเพ็ญ อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองพุทธศาสนศึกษา จำเลยที่ 3, นายแก้ว อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองพุทธศาสนศึกษา จำเลยที่ 4 ให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อท.254/2561 ของศาลนี้ด้วย
ส่วนนายพัฒนา อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา จำเลยที่ 5 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการทรัพย์ได้เบียดบังทรัพย์นั้นไปโดยมิชอบฯ ให้จำคุก 4 ปี และให้จำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1-4 ชดใช้เงิน 2,007,235 บาทคืนให้สำนักงาน พศ. ผู้เสียหายด้วย และให้นับโทษของจำเลยที่ 5 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อท.2557/2561 เช่นกัน
นอกจากนี้ วันนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยังได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อท.43/2562 (อ่านสำนวนที่ 5) ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ., นายชยพล พงษ์สีดา อดีตรอง ผอ.พศ., นายณรงค์ เดชชัยเนตร อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา พศ., นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นจำเลยที่ 1-4
ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 (เดิม), 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1, 2 และ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1, 2 และ 4 คนละ 4 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี
ให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 2 ล้านบาทแก่ผู้เสียหาย กับให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 ในคดีอาญา หมายเลขดำที่ อท.253/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.251/2562 คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.254/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.40/2563 คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.275/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.25/2563 คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.32/2562 คดีอาญาหมายแดงที่ อท.75/2563 ของศาลนี้
นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.257/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.25/2563 ของศาลนี้
นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.257/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.25/2563 ของศาลนี้
นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.257/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.25/2563 ของศาลนี้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
วันเดียวกัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อท.205/2561 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พระเมธีสุทธิกร หรือพระราชอุปเสณาภรณ์ หรือพระมหาสังคม หรือสังคมญาณวฑฒโน หรือนายสังคม สังฆะพัฒน์อดีต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, พระวิจิตรธรรมาภรณ์ หรือพระมหาเทิด หรือเทอดญาณวชิโร หรือนายเทอด วงศ์ชะอุ่ม อดีตเจ้าคุณเทอด ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และนายทวิช สังข์อยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัท ดีดีทวีคูณ ที่รับผลิตสื่อให้แก่วัดสระเกศ
โดยศาลพิจารณาพยานหลักฐานเเล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5(3), 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำเลยที่ 1-2 เป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1-2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละกระทงละ 2 ปี ปรับคนละกระทงละ 42,000 บาท รวม 6 กระทง ทางนำสืบของจำเลยที่ 1-2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละกระทงละ 1 ปี 4 เดือน และปรับคนละกระทงละ 28,000 บาท รวม 6 กระทง เป็นจำคุกคนละ 6 ปี 24 เดือน และปรับคนละ 168,000 บาท
จำเลยที่ 1-2 เป็นพระภิกษุผู้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมวินัย เมื่อไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำเลยที่ 4 ในคดีหมายเลขดำที่ อท.197/2561 ของศาลนี้นั้น เนื่องจากคดีนี้ศาลรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |