ศบค.พบติดเชื้อเพิ่ม 2 รายจากนราธิวาส ยกบทเรียนเปิดเทอมฝรั่งเศสสัปดาห์เดียวพุ่ง 70 คน ยัน "ไทยชนะ" ใช้แค่ควบคุมโรค ปัดล้วงข้อมูลเอื้อประโยชน์อื่น แนะสถานบันเทิงหานวัตกรรมปลอดภัยรอคลายล็อก ข่าวดี! ไทยเตรียมทดลองวัคซีนโควิดในลิงสัปดาห์หน้า มีลุ้นปีหน้าได้ใช้ อภ.จับมือ สวทช.ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ คาดปี 64 ขึ้นทะเบียน-ต้นปี 65 จำหน่ายได้ "ทรัมป์" อาละวาด WHO หุ่นเชิดจีน ขู่ระงับเงินช่วยเหลือถาวร
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,033 ราย หายป่วยสะสม 2,857 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 56 ราย อยู่ระหว่างรักษา 120 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 2 รายมาจาก จ.นราธิวาส เชื่อมโยงกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นพ่อที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก รายแรกเป็นหญิงไทย อายุ 36 ปี เป็นลูกสาว และอีกรายเป็นชายไทย อายุ 42 ปี เป็นลูกเขย ที่ไปเฝ้าไข้พ่อซึ่งป่วยเป็นโควิด-19 โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ค.มีการตรวจครั้งหนึ่งแต่ไม่พบเชื้อ และตรวจซ้ำวันที่ 14 พ.ค.พบว่าติดเชื้อโควิด-19 จากการสอบประวัติอาศัยอยู่ในบ้านกันแค่ 2 คน ไม่มีผู้สัมผัสใกล้ชิดรายอื่น อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 จนถึงวันที่ 18 พ.ค. จำนวน 3,031 ราย มาจากการขอเข้าไปตรวจเอง 1,585 ราย หรือ 52% รองลงมาคือ ติดตามผู้สัมผัส 1,186 ราย หรือ 39% จะเห็นว่าหลังจากเราปรับเกณฑ์การเข้าตรวจเชื้อให้ง่ายขึ้น ทำให้มีผู้เดินทางมาตรวจมากขึ้น เพราะมีทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่สามารถตรวจได้กว่า 100 แห่ง หากใครมีอาการน่าสงสัยก็เข้าไปตรวจได้ฟรี
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 4,891,330 ราย เสียชีวิต 320,134 ราย มีข่าวที่น่าสนใจของโลกคือ จีนพบผู้ติดเชื้ออีก 5 ราย ที่มณฑลจี๋หลิน ทางการจีนจึงสั่งระงับบริการรถไฟโดยสารออกจากเมือง ผู้ที่ต้องการออกจากเมืองต้องมีผลการตรวจอายุไม่เกิน 48 ชั่วโมงว่าไม่ติดโรค และมีมาตรการควบคุมในพื้นที่ชายแดนเชื่อมต่อเกาหลีเหนือและรัสเซีย ส่วนที่เกาหลีใต้ ทางการระบุว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในสถานบันเทิงย่านอิแทวอนได้แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ควบคุมได้เร็วคือการตรวจโรค การติดตามกลุ่มเสี่ยงอย่างรวดเร็ว และระบบติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ฝรั่งเศส ภายหลังมีการคลายล็อกเปิดสถานศึกษาให้เด็ก 1 ใน 3 มาเรียน พบว่าในสัปดาห์เดียวมีการติดเชื้อ 70 ราย แต่ยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าเป็นนักเรียนหรือครู ดังนั้นเราต้องศึกษาและเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ในวันที่ 19 พ.ค.จะมีคนไทยกลับจากเนเธอร์แลนด์ 34 ราย ฝรั่งเศส 40 ราย ญี่ปุ่น 61 ราย จีน 33 ราย สหรัฐอเมริกา 216 ราย และวันที่ 20 พ.ค. รัสเซีย 78 ราย อาร์เจนตินา อุรุกวัย บราซิล ซึ่งเป็นนักเรียนและนักศึกษา 58 ราย อินเดีย 219 ราย ชิลี 7 ราย
ส่วนการลงทะเบียนใน www.ไทยชนะ.com เมื่อวันที่ 18 พ.ค.จนถึงเวลา 21.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียน 60,853 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 3,660,081 คน จำนวนการเข้าใช้งาน 5,562,344 คน ส่วนที่มีความกังวลว่าจะมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองนั้น กระทรวงสาธารณสุขมีเจตนาเพื่อควบคุมโรคและป้องกันโรคเท่านั้น ที่สำคัญข้อมูลของประชาชนจะอยู่แค่ 60 วัน ถ้าไม่มีการติดเชื้อข้อมูลเหล่านี้จะถูกลบไป ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ไม่ต้องกังวลใจ และขอให้กิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 1 และ 2 มาลงทะเบียน เพื่อให้การติดตามโรคทำได้ง่ายขึ้น
เมื่อถามว่าขณะนี้มีร้านเสริมสวยเริ่มให้บริการดัด ย้อม ซึ่งกระทำนอกเหนือไปจากตัด สระ ไดร์ ที่ศบค.อนุญาต ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตามประกาศฉบับที่ 7 อนุญาตให้เฉพาะตัด สระ ไดร์ ส่วนการดัดและย้อมต้องใช้เวลาทำมากกว่า 2 ชั่วโมง จึงยังไม่ได้รับอนุญาต แต่ถ้าเราทำตัวเลขได้ต่ำกว่าสองหลักไปนานๆ อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 และ 4 จะทำอะไรได้มากขึ้น หากร้านเสริมสวยฝ่าฝืนหรือมีผู้ร้องเรียนมา โทษสูงสุดคือปิดร้าน แต่เราไม่อยากทำแบบนั้น จะเข้าไปตักเตือนให้ปรับปรุงก่อน
หานวัตกรรมปลอดภัยรอ
เมื่อถามถึงธุรกิจสถานบันเทิง ผับ บาร์ จะมีการผ่อนปรนในระยะที่ 4 หรือไม่ หรือจะปิดต่อเนื่อง โฆษก ศบค.กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการระบาดสูง พอมาเกิดกรณีในต่างประเทศยิ่งทำให้เรากังวลใจ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับปานกลาง จึงจัดไว้ให้อยู่ในกิจการ/กิจกรรมหลังๆ ที่จะเปิด ถ้าดูตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ เรามีตัวเลขผู้ป่วยหลักเดียวยาวมาแล้ว 22 วัน หรือ 3 สัปดาห์ มีเพียงวันเดียวที่มีผู้ป่วยพุ่งขึ้นมา 18 ราย แต่อยู่ในศูนย์กักแรงงานต่างด้าว อ.สะเดา จ.สงขลา ดังนั้นถ้าเราการ์ดไม่ตก มีตัวเลขหลักเดียวไปนานๆ ระยะเวลา 14 วันที่จะผ่อนปรนแต่ละระดับจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับธุรกิจผับ บาร์ ระหว่างรอเปิดร้านให้ไปหานวัตกรรมใหม่ หรือดีไซน์ร้านสำหรับชีวิตวิถีใหม่ที่มีความปลอดภัย ให้ความมั่นใจแก่ทางการ ศบค. กระทรวงสาธารณสุขได้ว่า เมื่อไปนั่งแล้วจะไม่ติดโรคแน่นอน แล้วเสนอขึ้นมา
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงยารักษาโรคโควิด-19 ว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้วางแผนบริหารจัดการเพื่อให้มียาที่จำเป็นสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในภาวะวิกฤติและระยะยาว แม้จะมีการระบาดเพิ่มขึ้นในระยะที่ 2 ยืนยันว่ามีจำนวนยาที่เพียงพอต่อการรักษาในประเทศไทย โดยมียาที่ใช้ร่วมกัน 7 รายการ ผลิตเอง 5 รายการ ประกอบด้วย 1.ยาคลอโรควิน รักษาโรคมาลาเรีย สำรองไว้ 1.8 ล้านเม็ด 2.ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสม โลพินาเวียร์ และริโทรนาเวียร์ สำรองไว้ 30.6 ล้านเม็ด 3.ยาต้านไวรัสเอดส์ดารุนาเวียร์ สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด 4.ยาต้านไวรัสเอดส์ริโทรนาเวียร์ สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด และ 5.ยาอะซิโธรมัยซิน ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สำรองไว้ 3.4 ล้านเม็ด
ส่วนยาอีก 2 รายการ คือ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ได้จัดซื้อจากผู้ผลิตในประเทศแล้ว 1.09 ล้านเม็ด และยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งเป็นยาสำคัญที่ใช้ในการรักษา อภ.และกรมควบคุมโรคได้จัดซื้อแล้ว 1.87 แสนเม็ดจาก 2 แหล่งผลิตหลัก โดยได้กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว 1 แสนเม็ด ยังคงมียาสำรองในคลังของ อภ. 8.7 หมื่นเม็ด และจะส่งมอบเพิ่มเติมในเดือน พ.ค.เพื่อสำรองไว้อีก 303,860 เม็ด ซึ่งจะทำให้มียาฟาวิพิราเวียร์ใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว นอกจาก อภ.ได้มีการพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ โดยนำวัตถุดิบเข้ามาเพื่อพัฒนาให้เป็นยาเม็ดผลิตขึ้นเอง โดยเบื้องต้นอยู่ในการพัฒนาในห้องปฏิบัติการเพื่อหาสูตรยาที่เหมาะสม หลังจากนั้นจะมีการขยายฐานการผลิตกึ่งอุตสาหกรรม โดยจะต้องมีการผลิตยาไม่ต่ำกว่า 1 แสนเม็ด คาดว่าสามารถผลิตได้ในเดือน ม.ค.64 เมื่อยามีความคงตัวแล้ว หลังจากนั้นจะมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิผลและชีวสมมูล หลังจากนั้นปลายปี 64 จะมีการยื่นข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนต่อไป ทั้งนี้ต้นปี 2565 คาดว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อนำออกจำหน่ายได้
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนนั้น ภญ.นันทกาญจน์กล่าวว่า มีหลายหน่วยงานในมหาวิทยาลัยได้ศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองอยู่ ขณะที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนได้ โดยอาจจะซื้อวัคซีนจากประเทศอื่นที่ผลิตได้แล้วมาแบ่งบรรจุ หรือนำเข้าเทคโนโลยีในการผลิตซึ่งยังต้องประเมินอยู่
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวมั่นใจว่ายาฟาวิพิราเวียร์จำนวน 4 แสนเม็ดจะเพียงพอกับการรักษาผู้ป่วย โดยผู้ป่วย 1 รายใช้ยาประมาณ 70 เม็ดตลอดการรักษา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังไม่ปลอดภัยจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะยังมีผู้ป่วยรายใหม่ในบางวัน แสดงว่าเชื้อยังอยู่ในชุมชน ทั้งนี้จากจำนวนผู้ป่วยสะสม 3,033 คน กว่าร้อยละ 50 พบว่าติดเชื้อจากคนในบ้าน และอีกร้อยละ 20 ติดจากที่ทำงาน จึงแสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อส่วนมากยังมาจากคนในครอบครัว ย้ำว่าการทำตามมาตรการของกระทรวงยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการรักษาระยะห่างและหมั่นล้างมือ
ไทยมีลุ้นได้ใช้วัคซีนปีหน้า
ขณะที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข่าวดีสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ล่าสุดงานวิจัย "วัคซีนชนิด mRNA" ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ อว.มอบให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รับผิดชอบ ประสบความสำเร็จในระดับดีหลังทดสอบในหนูทดลองแล้ว โดยผลการคัดกรองเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Neutralizing antibody ในระดับที่สูงถึง 1: 3,000 ทั้งนี้กำลังเตรียมจะทดสอบในลิงในประเทศไทยสัปดาห์หน้าต่อไป
ขณะเดียวกัน ได้มีการประสานเตรียมการผลิตวัคซีนชุดแรกกับโรงงานผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อนำมาใช้ทดสอบในคนตามขั้นตอนมาตรฐานสากล รวมทั้งได้ประสานกับบริษัท Bionet Asia ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของไทย เตรียมการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ ซึ่งเชื่อว่าจะสำเร็จจนถึงขั้นสุดท้าย คือประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่มากที่สุดในประเทศไทยและนำมาใช้ช่วยคนไทยป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ให้ประเทศไทยดำเนินการเรื่องวัคซีนอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อมีวัคซีนโรคโควิด-19 ใช้แล้ว ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอสำหรับคนไทย
นอกจากนี้ได้สั่งการให้ อว.ระดมกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนให้มีการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนให้ใช้งานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ โดยใช้ 3 แนวทางควบคู่กันไป คือ การสนับสนุนการวิจัยในประเทศ, การร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติ และการทำงานจตุรภาคีกับผู้ผลิต ภาควิชาการ ภาครัฐ และเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งได้ให้ทุนวิจัยเรื่องวัคซีนโควิด-19 แล้ว 5 โครงการในหลายสถาบัน ซึ่งหลายแห่งมีความก้าวหน้าจนถึงขั้นทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คือการบริหารจัดการให้แน่ใจว่าจะมีวัคซีนใช้งานได้อย่างรวดเร็วและจำนวนเพียงพอ ซึ่งต้องเตรียมการทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาและการผลิตควบคู่กันไป เช่น การเตรียมโรงงานเพื่อผลิตวัคซีน
สำหรับการทดสอบในอาสาสมัคร รวมทั้งการวางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บริษัทผลิตวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งต้องเตรียมการให้เหมาะสม จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการผลิตวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประเทศภายในปีหน้าได้หากประสบความสำเร็จ ขณะที่ปัจจุบันมีวัคซีนต้นแบบที่เข้าทดสอบในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิด และอย่างน้อยมี 10 ชนิดที่เริ่มทำการทดสอบในอาสาสมัครแล้วอย่างน้อย 5 ประเทศ คือ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา
ที่นครเจนีวา องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมสมัชชาอนามัยโลกผ่านระบบทางไกลนาน 2 วัน หารือเกี่ยวกับวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วมากกว่า 4,819,000 คน และเสียชีวิตกว่า 318,800 คน และหาฉันทามติเรื่องการไต่สวนอย่างอิสระ เป็นกลาง และครอบคลุมเรื่องการรับมือระหว่างประเทศ การประชุมเมื่อวันจันทร์ผู้นำและรัฐมนตรีชาติสมาชิกส่วนมากยกย่องความพยายามของ WHO แต่อเล็กซ์ อาซาร์ รัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาโจมตีองค์กรนี้ว่า "ความล้มเหลว" ในการได้มาและจัดเตรียมข้อมูลทำให้ต้องสูญเสียชีวิตจำนวนมาก
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้ทำหนังสือถึงทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO โจมตีองค์กรนี้ว่าเป็น "หุ่นเชิดของจีน" และขู่จะระงับเงินช่วยเหลืออย่างถาวร ทั้งจะทบทวนความเป็นสมาชิก หากองค์การอนามัยโลกไม่ทำการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญภายใน 30 วัน
ด้านรัฐบาลจีน โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อวันอังคาร ตอบโต้ว่าทรัมป์กำลังพยายาม "ป้ายสีจีน" และใช้จีนเป็นข้ออ้างปัดความรับผิดชอบและพันธะระหว่างประเทศที่มีต่อ WHO.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |