ปูพื้น'พ.ร.ก.3ฉบับ' ก่อนสภาฯถก27พ.ค.


เพิ่มเพื่อน    

       ไวรัสตัวร้ายโควิด-19 สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจทั่วโลกจำนวนมหาศาล รวมถึงประเทศไทยด้วย แม้บ้านเรามีระบบสาธารณสุขดีกว่าหลายชาติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแง่ปากท้องกระทบทุกระดับ ตั้งแต่บุคคล ธุรกิจรายย่อย ธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งดูดาย ออกมาตรการทั้งช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเต็มกำลัง

            อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ระดับมหภาค ภาครัฐยังคงมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการเสมอ อย่างการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนต่างๆ ระบบมักล่ม เข้าไม่ได้

            หรือแม้แต่ฐานข้อมูลราษฎรที่ไม่เที่ยงตรง และไม่มีการอัพเดตข้อมูลล่าสุด จึงทำให้เห็นภาพประชาชนแห่ไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับระบบ Error บ้าง อาชีพไม่ตรงกับความเป็นจริงบ้าง เป็นต้น

            หากรัฐบาล (ไม่ว่าจะชุดใด) โปรดปรานกับวิธีการเยียวยาด้วยเงิน ต้องรีบจัดทำ Big Data ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

            วกกลับมาที่หลักใหญ่ใจความ เมื่อเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด รัฐบาลอุ้มทั้งธุรกิจรายเล็กรายใหญ่และดูแลประชาชนทุกคนที่เดือดร้อน ทั้งเงินเยียวยา 5,000 บาท มาตรการลดดอกเบี้ย ยืดหนี้ ลดค่างวด ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ย่อมต้องใช้งบประมาณมหาศาล

            ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ถึง 3 ฉบับ เพื่อนำมากู้เศรษฐกิจในวิกฤติรอบนี้

                ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

                2.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

                3.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน)

            โดยขณะนี้ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับกำลังเริ่มต้นขับเคลื่อน เช่น เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นับเป็นวันแรกที่ธนาคารต่างๆ ออกขายพันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ทางกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก

            เรื่องนี้ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้าและอดีต รมว.คลัง โพสต์ในเฟซบุ๊กของเขาเชียร์ให้ประชาชนซื้อพันธบัตรนี้ โดยระบุว่า “ใครมีเงินออม ผมเชียร์นะครับ เขาเปิดให้จองได้ทุกธนาคาร รัฐบาลนี้ให้สิทธิ์ซื้อต่ำสุด 1,000 บาท สูงสุด 2,000,000 ต่อคน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% (10 ปี) หรือ 2.4% (5 ปี) จะว่าไปแล้ว ตนคิดว่ารัฐบาลกำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไว้สูงเกินไปด้วยซ้ำ รัฐบาลพยายามเอาใจนักลงทุนหลักหมื่นคน แต่ต้องยอมรับว่าดอกเบี้ยที่สูงคือภาระเงินภาษีของคนไทยทุกคน ดังนั้น ใครมีเงินออมควรซื้อไว้ และแนะนำว่าซื้อ 10 ปีดีกว่า คนอาจจะจองน้อยกว่า และเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ขึ้นไปอีกนานจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

            ขณะเดียวกัน “กรณ์” ยังได้เตือนถึงการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อย (เอสเอ็มอี) ตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ว่ามาตรการซอฟต์โลนของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ เป็นมาตรการโอนเงิน (เกือบ) ฟรีให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อปล่อยต่อกับลูกค้าเอสเอ็มอีที่เดือดร้อนจากโควิด แต่แล้วตามคาด มีผู้ประกอบการมากมายเขียนเล่าให้ว่าเข้าไม่ถึงเงินกู้ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่วันนี้เห็นรายงานว่าเอสเอ็มอีจำนวนมากวิ่งเข้าหานายทุนนอกระบบ เพราะซอฟต์โลนที่ให้มาไม่เคยถึงมือ สอบถามธนาคารไปบอกว่าให้กับผู้กู้เดิมอยู่ก่อนแล้วกู้ คนที่ไม่เคยกู้ไม่มีรายชื่อ จึงอยากถามว่าผู้ประกอบการที่เพิ่งมาเดือดร้อนตอนโควิดจะทำอย่างไร

            นี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่จะต้องไปตามต่อในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 พ.ค.นี้ แม้สภาฯ จะไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาใน พ.ร.ก.ได้ แต่มีสิทธิ์ที่จะอนุมัติหรือไม่ก็ได้ ซึ่งไม่ต้องบอกก็ทราบว่าอย่างไรเสียสภาฯ ต้องอนุมัติ พ.ร.ก.อยู่แล้ว เพราะเงินจาก พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับนี้ คือความหวังของประชาชนที่ไม่อาจรอหรือชักช้าได้อีกแล้ว

            ทว่า กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ตลอดจนรัฐบาล ในฐานะผู้มีอำนาจตรง ต้องฟังเสียงฟ้องของ ส.ส.และอดีต ส.ส.ไว้ด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้พบปะพูดคุยใกล้ชิดกับคนทุกระดับ ดังนั้นจึงสะท้อนปัญหาได้เป็นอย่างดี

            ในส่วนของ “หัวหน้าพรรคกล้า” เขาอยากถามว่า 1.ซอฟต์โลนที่ธนาคารออมสินและธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์ไปนั้น ปล่อยไปแล้วเท่าไร 2.ปล่อยไปให้ใครบ้าง กี่ราย 3.มีการคิดค่าธรรมเนียมการพิจารณาสินเชื่อหรือไม่ และ 4.กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติมีมาตรการใดในการติดตามตรวจสอบเพื่อให้วงเงินนี้ไปถึงมือกลุ่มเป้าหมาย

            ทั้งนี้ เงินกู้วิกฤติโควิดของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีแค่ พ.ร.ก. จำนวน 3 ฉบับ แต่ยังมีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณอีกฉบับหนึ่งที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ด้วย ซึ่งเป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในส่วนที่หน่วยงานราชการต่างๆ ยังไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ทัน

            ท้ายสุด สำหรับเกมน้ำลายในสภาฯ ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีให้เห็นแล้ว คือฝ่ายค้านอยากได้เวลาอภิปราย พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับนี้ 10 วัน ถ้าการพูดของฝ่ายค้านมีประโยชน์จริง ประชาชนจะไม่เบื่อหน่าย แต่ถ้าพูดมีแต่น้ำ หรือเพียงต้องการใช้สภาฯ เป็นเวทีเพื่อพรีเซนต์ตัวเองเท่านั้น หรือใช้วิธีประท้วงเพื่อถ่วงเวลาดึงเกม ส.ส.คงรู้ดีว่าชาวบ้านจะลงโทษพวกท่านด้วยวิธีอะไร. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"