19 พ.ค.2563 นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2563 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 5.29 หมื่นบาท หลังหักรายการพิเศษจากรายได้เงินปันผลที่จ่ายระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในขั้นตอนการควบรวมกัน โดยลดลง 7.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารยังทรงตัว โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.03% จาก 1.14% ในไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2.8 ล้านล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ที่ 18.7% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 7.19 แสนล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่ 143.3% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) ที่ 185.7%
สำหรับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจ มีสัดส่วน 64.8% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวที่ 3.3% ตามความต้องการใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายประเภทธุรกิจที่ส่วนหนึ่งกลับมาใช้สินเชื่อแทนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวน ส่งผลให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.3% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวเล็กน้อยที่ 0.2% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค มีสัดส่วน 35.2% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 5.6% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนในทุกประเภทสินเชื่อ
ในส่วนคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 ด้อยลงจากสิ้นปี 2562 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจัดชั้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 4.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.05% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.98% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ 7.70%
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การออกตราสารหนี้ในตลาดแรก มูลค่าการออกใหม่ของหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ โดยลดลงถึง 41% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เป็นผลจากผู้ออกหุ้นกู้หลายรายตัดสินใจเลื่อนหรือชะลอการออกหุ้นกู้ เพื่อรอสภาพตลาดที่ดีขึ้น รวมถึงบางรายหันไปใช้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์แทนในช่วงที่การออกหุ้นกู้มีความท้าทาย เนื่องจากความต้องการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากผู้ลงทุนประเภท บลจ. ที่มีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2563 มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมของไทยทั้งระบบ ลดลงประมาณ 8 แสนล้านบาท หรือ 15.30% มาอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับ NAV เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ขณะที่ในปีนี้ คาดว่า จะมีหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนออกใหม่จำนวนประมาณ 9 แสนล้านบาท ลดลงจากระดับเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2558