งานศิลปะร่วมสมัย”นางโควิด” เตือนสติไม่ประมาท โดยกฤษฎางค์ อินทะสอน
โควิด-19 ส่งผลกระทบวงกว้างทั่วโลก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมการสาธารณสุข ไวรัสนี้กำลังทำให้คนไทยและคนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิต หนึ่งในนั้นคือ การรักษาระยะห่างทางสังคมและการใช้สื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการทำงานเพื่อป้องกันแพร่ระบาด โอกาสนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร) กระทรวงวัฒนธรรม ชวนศิลปินและนักเขียนมาแชร์ความคิดและผลงานศิลปะเพื่อบันทึกเหตุการณ์ทางสังคม เป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์สำคัญของไทยและของโลก
ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กล่าวว่า ในช่วงโควิดวงการศิลปะทุกสาขาได้รับผลกระทบ เพราะกิจกรรมหยุดชะงัก ไม่มีการจ้างงาน และพื้นที่ศิลปะการแสดงหายไป เพื่อส่งเสริมโอกาสและบทบาทของศิลปินนักเขียนให้มีการสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง สศร.ริเริ่มกิจกรรม Workshop Work from Home โครงการศิลปินร่วมสมัยสู้ภัยโควิดด้วยจิตสำนึก(สาขาทัศนศิลป์) หรือ(Fighting Covid-19 with heARTS ภายใต้แนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานภายใต้Theme "Covid-19" โดยให้ศิลปินร่วมสมัยสาขาทัศนศิลป์สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยคนละ 1 ชิ้นตามความถนัด เทคนิค และเอกลักษณ์ของตน เพื่อถ่ายทอดความคิดและสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การพลิกฟื้นวิกฤต การปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตในมุมมองเชิงบวกและสร้างสรรค์ การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาในการดำรงชีวิต ฯลฯ เพื่อรวบรวมเป็นบันทึกประวัติศาสตร์และภาพความทรงจำสำหรับคนไทย ผลงานทั้งหมดที่สร้างสรรค์ขึ้นจะนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์การศึกษาด้านศิลปะร่วมสมัย
วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สศร. เดินหน้าสร้างโอกาสศิลปินร่วมสมัย
“ นอกจากเป็นโจทย์ที่ท้าทายศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่แล้ว กิจกรรมด้านทัศนศิลป์นี้ได้เชิญศิลปินแห่งชาติอาทิกมล ทัศนาญชลี,ปัญญา วิจินธนสาร,เดชา วราชุน,ทวีรัชนีกร,ปรีชา เถาทอง ร่วมสร้างผลงานใหม่ๆในช่วงทำงานที่บ้าน รวมถึงมีศิลปินศิลปาธรมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เช่นวสันต์ สิทธิเขตต์,สาครินทร์ เครืออ่อน,ดาววาสิกศิริ ส่งผลงานถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในภาวะวิกฤตนี้ด้วย “ ดร.วิมลลักษณ์ กล่าว
ผลงาน”Covid 19” โดยทวีศักดิ์ ศรีทองดี
เช่นเดียวกับโครงการ”โควิดเปลี่ยนเรา เรื่องเล่าเปลี่ยนโลก" โปรเจ็กต์ใหม่ที่ทาง สศร. จะพานักอ่านไปกับงานเขียน 3 รูปแบบ เพื่อสำรวจว่า หลังโควิดเข้ามา โลกเราเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างผ่านตัวอักษร
ดร.วิมลลักษณ์ กล่าวว่า สศร.เปิดกว้างให้ส่งผลงานวรรณศิลป์ ประกอบด้วยเรื่องสั้น สารคดี และกวีนิพนธ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผลงานเขียน ซึ่งสะท้อนสภาวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันภายใต้ข้อจำกัด โดยคณะกรรมการจะคัดสรรเพื่อลงเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ในเฟสบุ๊ค“โควิดเปลี่ยนเรา เรื่องเล่าเปลี่ยนโลก" ทุกวันเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-
กันยายนนี้ ประชาชนจะได้ใช้เวลาว่างช่วงกักตัวอยู่บ้านในการอ่านงานเขียนผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ นักเขียนจะได้รับค่าตอบแทนตามประเภทงานเขียน นักเขียนที่สนใจเปิดรับผลงานถึงวันที่20 พฤษภาคมนี้ผ่านอีเมล [email protected]รายละเอียดตามประกาศรับสมัครในwww.ocac.go.thหรือfacebook “สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” https://www.facebook.com/OfficeOfContemporaryArtAndCulture/
“ งานเขียนสามารถสะท้อนปรากฎการณ์และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ นักเขียนแต่ละคนมีปากกาเป็นอาวุธทมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ลึกซึ้ง มุมมองจะต่างกัน น่าสนใจว่า พวกเขาจะเล่าเรื่องอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือการปรับตัวเพื่ออยู่รอดจากโควิด งานวรรณศิลป์เป็นศิลปะอีกแขนงช่วยกระตุ้นให้คนฉุกคิด มีสติมากขึ้น รวมถึงให้กำลังใจสำหรับคนที่ท้อแท้ในสถานการณ์นี้“ ดร.วิมลลักษณ์ กล่าวถึงพลังวรรณศิลป์ทิ้งท้าย